​การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท


ณรงค์วรรษ บุญมา

หน่วยวิจัยพุทธพัฒน์, ศูนย์บริการวิชาการธรรมสุทัศน์

สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ความทั่วไป

การสวดมนต์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา ที่มีอยู่ในทุกศาสนา แต่อาจจะแตกต่างกันออกไปในเรื่องวัตถุประสงค์ของการสวด เช่น สวดเพื่ออ้อนวอน สวดเพื่อขอพร สวดเพื่อปัดเป่าหรือขับไล่สิ่งชั่วร้าย สวดเพื่อเพิ่มบุญเพิ่มบารมี สวดเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ สวดเพื่อเป็นการจดจำคำสอนหรือสืบทอดคำสอน สวดเพื่อยังความเครียดวิตกกังวลที่มีอยู่ให้สงบระงับลง หรือสวดเพื่อยกย่องสรรเสริญบูชาสิ่งที่ตัวเองเคารพนับถือ เป็นต้น

ชมพูทวีปหรืออินเดียปัจจุบัน ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิ ศาสนา และสำนักปรัชญาต่างๆ ทางตะวันออก การสวดมนต์ที่มีแบบแผน ต้องยกให้ศาสนาพราหมณ์เป็นต้นกำเนิด ศาสนาพราหมณ์ถือเป็นศาสนาเก่าแก่ที่มีความโดดเด่นเรื่องการสวดมนต์ อันได้แก่ คัมภีร์พระเวท เป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

คำว่า เวทนั้น หมายถึง ความรู้ มาจากธาตุ วิทฺ (กริยา = รู้) คัมภีร์พระเวท มี 4 เล่ม ประกอบด้วย

1. ฤคเวท เป็นบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า

2. สามเวท เป็นบทสวดในพิธีกรรมถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า

3. ยชุรเวท เป็นระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายัญและบวงสรวงต่างๆ และ

4. อาถรรพเวท เป็นที่รวบรวมคาถาอาคมหรือเวทมนตร์

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่กล่าวว่า คัมภีร์พระเวท เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ สำหรับส่วนที่ใหม่สุดของพระเวท ซึ่งมีอายุราวๆ พุทธกาล สำหรับ 3 คัมภีร์แรก มีอายุราว 1,000 ปีก่อนพุทธกาล นักภารตวิทยาเชื่อว่า เนื้อหาของคัมภีร์เหล่านี้ได้มีการท่องจำกันมาซึ่งก็เป็นการบันทึกอีกทางหนึ่งที่สมัยนั้นจะทำได้ (สมัคร บุราวาศ, 2516 : 159 -160)

พระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญต่อการสวดมนต์เช่นเดียวกัน แต่จะมีจุดมุ่งหมายเหมือนหรือต่างจากศาสนาอื่นอย่างไรนั้น เป็นประเด็นที่บทความนี้จำนำมากล่าว




ความหมายคำว่า “สวดมนต์”

คำว่า “สวดมนต์” มี 2 หน่วยคำ คือ “สวด” กับ “มนต์” สวด เป็นคำกิริยาแห่งการท่องบ่น หรือสาธยายที่เป็นจังหวะหรือทำทอง ทางพระพุทธศาสนา การสวดมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. สวดเพื่อทรงจำคำสอนรักษาสืบทอดพระศาสนา

2. สวดเพื่อปัดเป่า ป้องกัน และคุ้มครอง ไม่เกิดภยันตรายทั้งปวง

การสวดอย่างแรก เป็นการท่องจำคำสอนไว้มิให้สูญหายไป เพราะในยุคนั้นยังไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยการท่องจำแล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมาที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” ส่วนการสวดอย่างที่ 2 เป็นการสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันอันตราย เรียกว่า “สวดพระปริตร” (ปะริด, ปะหฺริด ) มีการสวดเพื่อตัวเอง สวดเพื่อผู้อื่น สามารถทำได้ตามสมควร

ส่วน คำว่า “มนต์” ได้แก่ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ มีความเข้มขลังในตัวเอง, เป็นคำสวดหรือบทสวดเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่คำสวดหรือบทสวดนั้นหากมีการบริกรรมพร่ำบ่นให้ขึ้นใจพร้อมกับเพิ่มศรัทธาเติมความเชื่อมั่นลงไปให้เต็มเปี่ยม ยิ่งจะทำให้เกิดฤทธานุภาพมาก (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514 : 207)

นอกจากนี้ คำว่า “มนต์” หากแปลตามตัวอักษรหรือโดยพยัญชนะมี 3 ความหมาย ด้วยกัน คือ

1. มนต์ แปลว่า ปัญญา มีคำวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้

1) มนฺติ ชานาติ มนฺตา แปลว่า “ปัญญาที่รู้ ชื่อว่า มนต์ (อภิธาน (ไทย), 153/205)

2) มนฺติ เอตายาติ มนฺโต แปลว่า ปัญญาเครื่องรู้ ชื่อว่า มนต์ (อภิธาน (ไทย), 352/449)

2. มนต์ แปลว่า พระเวท มีคำวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้ติกํ เวเท มุนาติ ชานาติ ธมฺมํ อเนนาติ มนฺโต แปลว่า วิชาที่ช่วยให้รู้ข้อปฏิบัติ หมวด 3 ในคัมภีร์พระเวท ชื่อว่า มนต์ (อภิธาน (ไทย), 108/160) 3. มนต์ แปลว่า อำนาจ มีคำวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้ มนฺตา วุจฺจติ ปญฺญา, สา เอตสฺมึ วิชฺชติ ตาย นิปฺผา เทตพฺพตฺตาติ มนฺโต แปลว่า “ปัญญา ท่านเรียกว่า มนต์ มนต์นั้น มีอยู่ เพราะเป็นอำนาจที่ช่วยให้ทำอะไรสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า มนต์”(อภิธาน (ไทย), 351/449)

กล่าวสรุปได้ว่า คำว่า “มนต์ หมายถึง คำศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจในตัวเองที่จะทำให้ผู้สวด ผู้ได้ฟัง หรือผู้ที่เจาะจงถึง เกิดสมาธิ จิตใจตั้งมั่น มั่นคง มีความสงบสุข เกิดปัญญา มีสุขภาวะทางจิตที่พิเศษกว่าคนทั่วไป

จุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท

จุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทพบว่า มีวิวัฒนาการและพัฒนาการไปตามกาลสมัยตามเหตุการณ์ มีสภาพปรับตัวได้เสมือนน้ำที่ปรับเปลี่ยนไปตามอากาศ ภาชนะ หรือวัตถุที่บรรจุ และมีสภาพไม่ต่างไปจากสิ่งที่มีชีวิต ถึงอย่างไรก็ตาม การสวดมนต์นั้นก็สามารถที่จะจำแจกตามจุดมุ่งหมายของการสวดได้อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

1. สวดเพื่อรักษาสืบทอดพระธรรมคำสอน

เริ่มแรกการสวดมนต์ก็เพียงเพื่อทรงจำรักษาและสืบทอดพระพุทธวจนะอันเป็นพระธรรมคำสอนให้ดำรงอยู่ พระสงฆ์สาวกช่วยกันจดจำพระธรรมคำสอนโดยวิธีการช่วยกันท่องบ่น เรียกว่า“มุขปาฐะ” มีการสาธยาย ท่องบ่นจนจำขึ้นใจ ทรงจำได้แล้วก็บอกกันต่อ ๆ ไป ดำเนินไปในทำนองว่า บอกให้ท่องไปวันละเล็กละน้อยตามกำลังสติปัญญาของผู้ทรงจำนั้นๆ เมื่อได้รับบอกไปแล้วต้องไปท่องจนกว่าจะคล่องปากขึ้นใจมีการกล่าวกันว่าบางท่านสามารถสวดทั้งอนุโลม (สวดไปตามลำดับ) และปฏิโลม (สวดย้อนกลับ) ได้ และมีการสวดทวนกันอยู่เป็นระยะๆ ไม่ขาดสาย เพื่อป้องกันการลืมอันจะเป็นเหตุให้ขาดหายหรือตกหล่นไป

2. สวดเพื่อจำกัดสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงและยังความสวัสดีให้บังเกิดขึ้น

ต่อมาการสวดก็ถูกพัฒนาขึ้นโดยได้รับพระพุทธานุญาตให้นำมาสวดเพื่อปัดเป่า ทุกข์ ภัย โรค ขับไล่ สิ่งชั่วร้าย อมนุษย์ทั้งหลาย โดยบทสวดที่เริ่มใช้สวดคือ รัตนสูตร สวดที่เมืองเวสาลี (ไวสาลี หรือ ไพสาลี สุดแต่จะเรียก) รัตนสูตร เป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก หมวดขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ และยังปรากฏในหมวดสุตตนิบาต เป็นพระคาถาจำนวน 17 บท แต่ปรากฏในพากย์ภาษาสันสกฤตจำนวน 19 บท ดังที่มีอยู่ในคัมภีร์มหาวัสตุอวทานของนิกายโลโกตตรวาท และนิกายมหาสังฆิกะ พระสูตรนี้พรรณนาคุณของพระรัตนตรัย และป่าวประกาศความยิ่งใหญ่ และคุณลักษณะของพระอริยะเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นอาทิ จุดประสงค์ของการประกาศพระสูตรนี้ก็เพื่อโปรดชาวเมืองเวสาลีให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลวยทั้งปวงที่กำลังรุมเร้าเมืองแห่งนี้ และเพื่อยังให้ชาวเมืองทั้งหลายได้มีดวงตาเห็นธรรม

ตามวรรณคดีพระบาลีมีการกล่าวไว้ว่า เมื่อคราวเมืองเวสาลี (ไพสาลี ,ไวสาลี) เกิดโรคระบาดที่เรียกว่าโรคห่าทำให้คนและสัตว์ตายไปเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระองค์แล้วนำไปสวดเพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับชาวกรุงเวสาลี ซึ่งมีทั้งโรคระบาด อันตรายจากภูตผีปีศาจ ความอดอยากล้มตาย พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ระลึกถึงคุณพระรัตนะ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ทำสัจกิริยาแล้ว ประพรหมน้ำพระพุทธมนต์ให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ชาวกรุงเวสาลี ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนสูตรนี้ ภัยพิบัติร้ายแรงได้สงบระงับลงอย่างฉับพลัน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สวดรัตนสูตรเพื่อรักษาเมืองเวสาลีจากภัย 3 ประการ คือ 1) ความแห้งแล้ง2) ทุพภิกขภัย และ 3) โรคระบาด (ขุ.ขุ. (ไทย) 25/1-18/9-14)

รัตนสูตรได้รวมเอาหลักธรรมเรื่องความเมตตาและสัจจะไว้ด้วยกันโดยได้ยกเอาคุณพิเศษของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มากล่าวไว้ว่าเป็นสัจจะอันประเสริฐที่สุด ทำให้นำมาซึ่งพรอันประเสริฐด้วยอำนาจของพระรัตนตรัย

หลังจากนั้น การสวดมนต์ก็มีเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และความจำเป็นที่นำมาสวดในทำนองของรัตนสูตร มีการเลือกบทที่จะสวดให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการในแต่ละครั้งในแต่ละเหตุการณ์ไป เช่น สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระมหากัสสปะอาศัยอยู่ที่ปิปผลิคูหา พระมหากัสสปะบังเกิดโรคาพาธอย่างแรงกล้า อาการหนักขึ้นทุกวัน ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จทรงสถิตอยู่ในสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว จึงทรงมีพระกรุณาโปรด เสด็จไปเยี่ยมอาการไข้ของพระมหากัสสปะเถระ และได้ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการโดยการสวดให้ท่านพระมหากัสสปะได้รับฟัง เมื่อการสวดจบนั้น พระมหากัสสปะ มีจิตโสมนัสยินดีรื่นเริงในธรรม ลุกขึ้นกราบลงที่ฝ่าพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หายจากอาการไข้โดยพลัน

อีกคราวหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธอยู่ในลักษณะเดียวกันกับพระมหากัสสปะ หลังจากนั้นก็พบว่า พระโมคคัลลานะก็หายจากโรคาพาธเช่นเดียวกัน

เรื่องราวที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เองทรงประชวร พระองค์ก็ทรงโปรดให้พระจุนทเถระสวดโพชฌงค์ปริตรถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงหายจากอาการประชวร (สํ.ม. (ไทย) 19/197/130-131) ต่อมาภิกษุทั้งหลายไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า ถูกพวกอมนุษย์รบกวน กลับมาเข้าเฝ้าและกราบทูลเรื่องนั้นแด่องค์สัมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงโปรดให้พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเรียนกรณียเมตตาสูตรแล้วให้กลับบำเพ็ญสมณธรรมเหมือนเดิม โดยให้สวดกรณียเมตตาสูตร ณ สถานที่บำเพ็ญสมณธรรมนั้น หลังจากนั้นภัยทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มี (ขุ.ขุ. (ไทย) 25/1-10/20-22)

การสวดมนต์เพื่อให้เกิดพลานุภาพหรือเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์นั้น มีองค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญ (ธนิต อยู่โพธิ์, 2535 : 31) ดังนี้

1) บทสวดนั้นต้องเป็นพระพุทธพจน์ที่ไม่ได้แต่งขึ้นในภายหลัง

2) บทสวดนั้นต้องมีเนื้อหาสอดคล้องตรงตามความมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดผล

3) ผู้สวดต้องมีศีลบริสุทธิ์ มีจิตแน่วแน่มั่นคง เป็นสมาธิ และมีจิตเมตตา

4) ต้องสวดให้ถูกต้อง ชัดเจน อักขระไม่วิบัติ

5) ต้องสวดด้วยความเคารพในพระพุทธพจน์

3. สวดเพื่อสรรเสริญบูชาพระรัตนตรัย

การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญบูชาพระรัตนตรัย เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น มีลักษณะสืบเนื่องจากประเพณีการรักษาพระศาสนาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานพระองค์ได้มอบพระธรรมวินัย หรือที่อยู่ในรูปของพระไตรปิฎกภาษาบาลีในปัจจุบัน ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ จึงเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทจะต้องศึกษาเล่าเรียน ท่องบ่นสวดหรือสาธยายพระพุทธพจน์เหล่านั้นแล้วนำมาสั่งสอนสืบต่อกันมา และในวันสำคัญๆ เช่น วันวิสาขบูชา มาฆะบูชา และอาฬาหบูชา เป็นต้น

การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญบูชาพระรัตนตรัยนั้นสามารถที่จะพัฒนากาย จิต และสติปัญญาของผู้สวดมนต์ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

1) สถานที่สวดต้องสัปปายะ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการยกระดับจิต ไม่วุ่นวาย

2) ขณะสวดต้องสวดออกเสียงดังๆ พอประมาณ ให้ได้ยินเสียงตัวเอง จะช่วยให้ปอดได้ทำงาน เมื่อปอดทำงานดี เลือดลมก็จะเดินสะดวก เมื่อเลือดลมเดินสะดวก ร่างกายก็จะสดชื่น กล้ามเนื้อคลายความเครียดลง

3) ขณะสวดมนต์ต้องมีสติจดจ่ออยู่กับบทสวด ทำให้สมองไม่กังวลในเรื่องใดๆ เกิดการผ่อนคลายทางอารมณ์ ไม่มีความเครียด ก่อให้เกิดจิตว่าง สว่าง สบงบ เย็น สบาย

4) เมื่อปฏิบัติตาม 2 ข้อเบื้องต้นได้แล้ว จะได้ขันติธรรมขึ้นในกายในใจของผู้สวด

5) ขณะสวดให้พิจารณาธรรมะตามบทสวดจะก่อให้เกิดสติปัญญา เข้าใจแจ่มแจ้งในธรรม แล้วน้อมนำมาปฏิบัติให้บังเกิดผลดีในการดำเนินชีวิตได้

6) ขณะสวดผู้สวดได้ฝึกลมหายใจเข้า – ออก โดยไม่รู้ตัว อันจะเป็นพื้นฐานในการฝึกจิตให้ได้ผลเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ หลังการสวดมนต์ จึงนิยมให้ฝึกจิตต่อเนื่องไป ที่เรียกว่า จิตภาวนา หรือ ทำสมาธิ

7) เนื่องจากการสวดมนต์ ต้องสัมพันธ์กันทั้งกายกับจิต ระยะเวลาในการสวดควรให้เป็นไปตามความเหมาะสมจากน้อยไปหามากตามลำดับ

- ไม่เคยสวดมนต์เลย เริ่มแรก ให้ใช้เวลา 5 - 10 นาที

- ระยะที่ 2 เคยสวดมาบ้าง ให้ใช้เวลา 10 - 15 นาที

ระยะที่ 3 สวดทุกวันพระวันโกน ให้ใช้เวลา 15 - 20 นาที

- ระยะที่ 4 สวดอยู่บ่อยๆ เกือบทุกวัน ให้ใช้เวลา 20 – 30 นาที

- ระยะที่ 5 สวดเป็นประจำ ให้ใช้เวลา 30 – 45 นาที ขึ้นไป

ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละท่าน พัฒนาได้เร็วหรือช้าเป็นปัจเจกบุคคล สำคัญอยู่ที่ใจ พร้อมที่จะฝึกหรือพัฒนาหรือเปล่า ถ้าพร้อมก็ไปไว และสามารถสวดเป็นชั่วๆ โมง หรือ หลายๆ ชั่วโมง หรือเป็นวันๆ ได้ บางคนสวดไม่นานต่อครั้ง แต่สวดบ่อย เช่น วันหนึ่ง สวดอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ เช้า เที่ยง และเย็น หรือบางท่านก็ 2 เวลาต่อวัน คือเช้า กับ เย็น สำหรับบางท่านก็สวน 1 เวลา คือ เย็น (ก่อนนอน) ทีเดียว

4. สวดเพื่อความเป็นสิริมงคลเสริมสร้างกำลังใจ

ศตวรรษที่ 3 หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้เริ่มเข้าสู่ลังกา เมื่อประมาณปี พ.ศ.236 (สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2543 : 135-150) ในคราวครั้งนั้น พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงอุปถัมภ์ให้ทำการสังคายนา ครั้งที่ 3 ที่ประเทศอินเดีย ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมองการณ์ไกลถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในอนาคต ได้ส่งศาสนทูตมีพระเถรานุเถระผู้ที่รอบรู้แตกฉานและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมวินัยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ที่ไม่ใช่อินเดีย รวม 9 สาย 1 ใน 9 สายนั้น นำโดยพระมหินทเถระได้มายังเกาะลังกา อันได้แก่ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน โดยสมัยนั้น พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะซึ่งเป็นพระสหายรักของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ครองเมืองลังกา

เมื่อพระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ลังกา ชาวสิงหลได้เกิดความเลื่อมใสในบทสวดมนต์ที่ได้ยินพระสงฆ์สาธยายท่องจำ ต่างพากันอนุโมทนา และถือกันว่าการได้ยินพระสงฆ์สวดสาธยายเช่นนั้นเป็นสิริมงคล และยังสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้อีกด้วย จึงได้มีการอาราธนาพระสงฆ์ให้ไปสวด เพื่อความเป็นสิริมงคล อวยชัยให้พร ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ตามแบบที่มีพระพุทธานุญาตให้สวดในสมัยพุทธกาล จึงก่อเกิดการสวด “พระปริตร” ขึ้น จัดเป็น 7 บทบ้าง 12 บทบ้าง แต่ละละบทจะมีเรื่องราวหรือมีตำนาน จึงถูกเรียกว่า 7 ตำนานบ้าง หรือ 12 ตำนานบ้าง

ต่อมาประเทศต่างๆ รวมไปถึงประเทศไทยก็ทำบ้าง เมื่อปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาราธนาพระสงฆ์สวดเพื่อสิริมงคล เพื่อเจริญธรรมะสังเวช ปรารภเหตุต่างๆ กันออกไป เมื่อมีความนิยมการสวดมนต์มากขึ้น ต่อมาก็เลยนิยมเป็นพิธีทั้งในพระราชพิธีรัฐพิธีและพิธีของประชาชนทั่วไป ก่อเกิดเป็นประเพณีการสวดพระปริตรขึ้นอย่างมีรูปแบบ หรือแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน



บทสวดพระปริตรที่นิยม

การสวดสาธยายเพื่อจดจำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” บางส่วนก็ได้กลายมาเป็นบทสวดเพื่อมุ่งให้เกิดฤทธานุภาพ ป้องกัน ปัดเป่า จำกัดภยันตราย สร้างเสริมความเป็นสิริมงคล ตลอดถึงความสำเร็จ สุขสมหวังในชีวิต โดยเฉพาะการสวดมนต์พระปริตร คำว่า “พระปริตร” ซึ่งมาจากภาษาบาลี ก็คือ “ปริตฺตา” ความหมายตามรูปศัพท์คือ การป้องกัน รักษาคุ้มครอง คำอาราธนาเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สวดนั้น จึงได้มีการระบุเป้าหมายของการสวดมนต์ไว้อย่างชัดเจน มี 3 ประการ คือ

1. เพื่อป้องกันความวิบัติทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้น

2. เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง

3. เพื่อกำจัดทุกข์ ภัย และโรคทั้งปวงให้พินาศไป

การสวดมนต์พระปริตรนั้นนิยมสวดกัน 2 ประเภท (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514 : 207) คือ

1. จุลราชปริตร (เจ็ดตำนาน) มีจำนวน 7 ปริตร ประกอบด้วย มงคลปริตร, รตนปริตร, เมตตปริตร, ขันธปริตร, โมรปริตร, ธชัคคปริตร และอาฏานาฏิยปริตร

2. มหาราชปริตร (สิบสองตำนาน) มีจำนวน 12 ปริตร ประกอบด้วย มงคลปริตร, รตนปริตร, เมตตปริตร, ขันธปริตร, โมรปริตร, วัฏฏกปริตร, ธชัคคปริตร, อาฏานาฏิยปริตร, องคลีมาลปริตร, โพชฌงคปริตร, อภยปริตร, ชยปริตร

พลานุภาพของพระปริตร

พระปริตรแต่ละบทก็จะมีอานุภาพที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. เมตตปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเป็นสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคลไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน

2. ขันธปริตร ป้องกันภัยจากอสรพิษ และสัตว์ร้ายอื่นๆ

3. โมรปริตร ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย

4. อาฏานาฏิยปริตร ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดี และมีความสุข

5. โพชฌังคปริตร ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง

6. ชัยปริตร ทำให้ประสบชัยชนะ และมีความสุขสวัสดี

7. รัตนปริตร ทำให้ได้รับความสวัสดี และพ้นจากอุปสรรคอันตราย

8. วัฏฏกปริตร ทำให้พ้นจากอัคคีภัย

9. มังคลปริตร ทำให้เกิดสิริมงคล และปราศจากอันตราย

10. ธชัคคปริตร ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย การตกจากที่สูง

11. อังคุลิมาลปริตร ทำให้คลอดบุตรง่าย และป้องกันอุปสรรคอันตราย

12. อภยปริตร ทำให้พ้นจากภัยพิบัติ และไม่ฝันร้าย


พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ได้กล่าวในหนังสือ 9 มนต์เพื่อความก้าวหน้าว่า การสวดมนต์นั้นมีประโยชน์มากมายนับอเนกประการ สามารถสรุปเป็นข้อได้ 7 ข้อ ดังนี้

1. ทำให้เข้าใจพระธรรมคำสอนอย่างแจ่มกระจ่าง

2. ทำให้รื่นเริงเบิกบานใจ

3. ทำให้อิ่มเอิบใจ

4. ทำให้กายสงบระงับ

5. ทำให้มีความสุข

6. ทำให้จิตเป็นสมาธิ

7. เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส

บทสวดมนต์อันเป็นหลักธรรมหรือพระพุทธพจน์ซึ่งเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้มีการนำมาเปลี่ยนเป็นปริตรธรรมในภายหลังพบว่ามีอานุภาพมาก ดังปรากฏในมิลินทปัญหาที่สวดบริกรรมพระปริตรนั้น (ปุ้ย แสงฉาย (แปล), 2530 : 216 - 221) ดังนี้

1. งูที่มุ่งจะกัดก็ไม่กัดและปากที่อ้าไว้ก็หุบลง

2. แม้โจรที่มุ่งหมายจะทำร้ายได้ทำการยกก้อนหินจะทุ่มใส่ก็ไม่ทุ่ม โยนก้อนหินทิ้งแล้วเปลี่ยนใจกลับมารัก

3. ช้างที่ดุร้ายครั้นวิ่งมาถึงก็หมอบสงบลงอยู่ใกล้ๆ

4. แม้กองไฟมหึมาที่ลุกโชติช่วงอยู่นั้น ครั้นไหม้ลามเข้ามาใกล้ก็ดับลง

5. ยาพิษขนานแรงเมื่อกินเข้าไปแล้วก็กลับกลายเป็นยาถอนพิษ หรือกลายเป็นอาหารที่บำรุงร่างกายไป

6. ฆาตกรที่มุ่งมาดจะฆ่า ครั้นเข้ามาใกล้ก็ภักดียอมตัวเป็นทาส

7. แม้แต่บ่วงดักสัตว์ที่เขาดักไว้ พอเหยียบลงไปก็ไม่รูดรัดเท้า

บทสวดมนต์หรือพระพุทธมนต์นั้นจะมีพลานุภาพมากก็ต่อเมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยหลัก 3 ประการ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร (วงศ์ชะอุ่ม), 2549 : 207) คือ

1. มีจิตใจให้มีเตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง

2. ต้องสวดไม่ผิด ออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และรู้ความหมายของบทสวด

3. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่ามารดา บิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท

คุณค่าและประโยชน์ของการสวดมนต์

คุณค่าหรือประโยชน์ของการสวดมนต์นั้น พอที่จะแจกแนกเป็นข้อได้ ดังนี้

1. เกิดคุณค่าภายในจิตใจ เป็นคุณค่าภายในเกิดความสุขใจที่เป็นปัจจัตตัง ผู้สวดจะรู้ได้เฉพาะตน บางครั้งการสวดมนต์ก็ไม่ได้หวังผลใดๆ จากการสวด หากแต่เพียงอยากสวดหรือชื่นชอบในการสวด เมื่อได้สวดแล้วก็เกิดความสุขใจทุกครั้งที่ได้สวด หรือไม่ก็เกิดความสงบขึ้นภายในจิตใจ อันเนื่องมาจากจิตขณะสวดมนต์ จดจ่ออยู่กับคำสวด สิ่งเร้าภายนอกไร้ช่องทางเข้าก่อกวนจิต ความวิตกกังวลที่มีอยู่ก่อนมีกำลังอ่อนลง ถูกทอดทิ้งเสมือนหนึ่งไม่มีค่าใดๆ ที่ควรแก่จิตใจจะให้ความสำคัญเหมือนเก่าก่อนเมื่อจิตมีสภาวะรวมเป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่แต่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จิตก็กลับมีพลังขึ้นมาเหนือความไม่ดีทั้งปวง ความสุขแห่งจิตก็โผล่พ้นขึ้นมาให้ปรากฎแก่ผู้ที่จิตอาศัยอยู่ เป็นความละเอียดอ่อนที่จะรู้ได้เฉพาะตน

2. จิตเป็นสมาธิง่าย การสวดมนต์เป็นพื้นฐานของการฝึกสมถะกัมมัฏฐาน คือ จิตเกิดสมาธิง่าย คนที่มีสมาธิสั้นให้ฝึกสวดมนต์ก่อนที่จะให้ลงมือปฏิบัติสมาธิ จะส่งผลให้ผู้สวดใจเย็นลง มีสติการระลึกรู้มั่นคงมากขึ้น

3. ปอดแข็งแรง สุขภาพกายดี การสวดมนต์ที่ดี ไม่ควรสวดในใจ ต้องสวดเปล่งเสียงออกมา จะทำให้ปอดแข็งแรง ช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพกายดีไปด้วย การสวดมนต์อาจจะสวดในใจได้ แต่ไม่ควรสวดในใจ เพราะการสวดเปล่งเสียงจะทำให้ปอดของผู้สวดแข็งแรง อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพกายได้

4. ทำให้เข้าใจความหมายของหลักธรรมในบทสวด หากสวดมนต์แปล จะทำให้ผู้สวดได้รู้ถึงความหมายของบทสวดและทำให้เข้าใจหลักธรรมในบทสวดนั้นๆ ได้เรียนรู้ธรรมะหลักธรรมต่างๆ กัมมัฏฐาน หลักธรรมใดที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะได้รู้และเข้าใจ ที่รู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็จะทำให้รู้และเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป

5. มีโอกาสเข้าถึงธรรมได้ง่าย ผู้สวดเมื่อสวดบ่อยๆ ซ้ำๆ โอกาสที่จะทำให้น้อมนำคำสอนในบทสวดนั้นมาปฏิบัติก็มีตลอดเวลา โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อเดินทางไปสู่ความดีอันสูงสุดคือพระนิพพาน ก็ใกล้เข้ามา การสวดมนต์เป็นการขัดเกลาจากข้างนอกสู่ข้างใน กล่าวคือ ขัดเกลาพฤติกรรมภายนอกคือความประพฤติดี ปฏิบัติดี สู่ภายในจิตใจคือ สงบ เยือกเย็น เป็นสมาธิ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงสัจจธรรมในที่สุด

6. มีสภาพไร้โทษ ให้คุณตามสมควรแก่การปฏิบัติ บทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีเนื้อหาที่ไม่ทำให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นเดือนร้อน หากแต่เต็มไปด้วยความดีงามทั้งหลาย สามารถป้องกันหรือต้านทานภัยวิบัติทั้งปวงให้หายไป สามารถยังความสำเร็จของสมบัติทั้งหลายให้เกิดขึ้นได้ และสามารถกำจัดทุกข์ภัยและปลอดภัยทั้งปวงได้ ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีโทษใดๆ เลย

สรุป

การสวดมนต์หรือสาธยายมนต์นั้น เป็นการรักษาและสืบทอดคำสอนเชิงมุขปาฐะ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514, 208) การสวดมนต์ในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการสวดเพื่อรักษาพระพุทธศาสนา ต่อมาได้นำสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตรายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วจำกัดให้หมดไป พร้อมกันนั้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลก่อให้เกิดความสำเร็จในสมบัติทั้งปวงที่ปรารถนา จึงสรุปได้ว่าการสวดมนต์ตามแนวพรพุทธศาสนาเถรวาทนั้น จะต้องเป็นการสวดที่เป็นไปใน 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1. สวดหรือสาธยายพระธรรมคำสอนเพื่อรักษาพระศาสนา

2. สวดพระปริตรเพื่อจะคุ้มครองป้องกันภยันตราย

3. สวดเพื่อสรรเสริญบูชาคุณพระรัตนตรัย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสวดมนต์ในพระพทธศาสนา จะต้องไม่เป็นไปในลักษณะ ดังนี้

1.สวดเพื่ออ้อนวอนเทพเจ้า

2. สวดเพื่อทำร้ายผู้อื่น เช่น เสก เป่า เวทมนต์ หวังสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่น


เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ

ราชวิทยาลัย. เล่มที่ 3, 4, 6, 7, 11, 19, 21, 25, 39. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สมัคร บุราวาศ. (2516). ปรัชญาพราหมณ์ในพุทธกาล. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2514). ตำนานพระปริตร. กรุงเทพฯ : รุ่งเรือง.

ธนิต อยู่โพธิ์. (2535). อานุภาพพระปริตร. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2543). ตำนานปริตร. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา.

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2514). ตำนานพระปริตร. กรุงเทพฯ : รุ่งเรือง.

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (วงศ์ชะอุ่ม). (2549). พุทธานุภาพ. กรุงเทพฯ : เพลสแอนด์ดีโซด์.

พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี). (2553). 9 มนต์เพื่อความก้าวหน้า. กรุงเทพมหานคร : สถาบันวิมุตตยาลัย.

ปุ้ย แสงฉาย (แปล). (2530) มิลินทปัญหาพร้อมด้วยอรรถกถาฎีกา. กรุงเทพมหานคร : ส.ธรรมภักดี.

พระมหาสุนทร สิริธมฺโม (เนเรียะ). (2545). “การศึกษาวิเคราะห์กรณีเมตตสูตร”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตร

มหาบัณฑิต บันทิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 625043เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2017 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2017 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย