สัมผัสแห่งการตื่นรู้ :กึ๋น สมอง และหัวใจในจิตตปัญญาศึกษา


จุดเริ่มต้นของจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่เรื่องของสร้างกฏเกณฑ์ ค่านิยมทางสังคม ความเป็นเลิศทางวิชาการ ความคาดหวังทางศีลธรรม หรือกระทั่งความสูงส่งทางจิตวิญญาณ แต่กลับเป็นเรื่องง่ายๆอย่างการให้ความเคารพแก่ศักยภาพแห่งการเรียนรู้ของคนทุกคนอย่างไร้อคติ ปราศจากการแบ่งแยกอายุ สูงต่ำ ดำขาว มีจน ดีชั่ว ถูกผิด หัวใจของการศึกษาด้านใน มีเพียงกระบวนการการเรียนรู้และเส้นทางการฝึกตนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ค้นหาศักยภาพภายในตนเอง จนกลายเป็นตัวของตัวเองที่สมบูรณ์อย่างที่ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับใคร

สัมผัสแห่งการตื่นรู้ :กึ๋น สมอง และหัวใจในจิตตปัญญาศึกษา       
เขียนโดย เชอเกียม ตรุงปะ ดลใจ วิจักขณ์ พานิช เขียน
  


 
(๑)

               ในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้ ดูเหมือนการศึกษาในตะวันตกจะถูกปกคลุมเต็มไปด้วยเมฆหมอกแห่งอวิชชา  ครูอาจารย์ นักวิชาการได้เพิกเฉยต่อการเข้าถึงความจริงแห่งชีวิต พวกเขาได้กลายเป็นพวกขี้ขลาด แถมยังพยายามจะปลูกฝังความขี้ขลาด ไม่กล้าที่จะเรียนรู้ไปสู่นักเรียนที่เขาสอน นักการศึกษาส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะไม่ตั้งคำถาม แม้เขาจะยังจำได้ดีว่า การศึกษาที่เขาเคยผ่านมา แสนจะไร้สาระและน่าเบื่อเพียงไร  อีกด้านหนึ่งนักการศึกษาหัวก้าวหน้าบางคนได้เลือกที่จะประดิษฐ์ “การศึกษาเพื่อความบันเทิง” มาใช้ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าลูกหลานของเขาจะไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในรั้วโรงเรียนเหมือนอย่างที่เขาเคยประสบมาในวัยเด็ก  การศึกษาจึงเป็นไปในลักษณะการหยิบยื่นของเล่นให้แก่กัน ด้วยความเชื่อที่ว่าของเล่นเหล่านั้นจะทำให้คุณฉลาดเหมือนคนอื่น “เธอไม่ต้องเรียนอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องท่องจำอะไรให้เหนื่อย  ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องครุ่นคิด ไม่ต้องตั้งคำถาม ไม่ต้องพยายาม เธอแค่เล่นของเล่นให้สนุกก็พอแล้ว”

           นั่นเป็นปรัชญาการศึกษาที่เรานำมาใช้ในการเรียน ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาการทั้งหลายในโรงเรียน และดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะรู้ดีแก่ใจว่า การศึกษาไม่ได้เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จักชีวิตของตนเองมากขึ้นเลยสักนิด  คุณจบการศึกษา ได้ปริญญามาพร้อมกับของเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียนราคาแพงที่แทบจะไม่ได้พลิกอ่าน สมุดโน้ตที่มีไว้จดสิ่งที่จะเอาไปใช้ทายปัญหาในห้องสอบ ใบปริญญาที่ทำหน้าที่เป็นบัตรผ่านสู่ของเล่นชิ้นต่อไป แต่กระนั้นเราก็ยังเลือกที่จะพึ่งพาการศึกษาแบบนี้กันต่อไป เพราะมันได้ชื่อว่าเป็นระบบที่ง่าย ต่อการที่จะชักจูงให้คนส่วนใหญ่ได้ทำอะไรตามๆกัน

             จริงๆแล้วแนวคิดของการศึกษาเพื่อความบันเทิงที่ว่านี้เกิดมาจากเจตนาที่ดี แต่มันไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเช่นนี้อาจจะนำไปสู่ความเสื่อมถอยและการล่มสลายของของกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ได้เลยทีเดียว

                ในอดีต มหาวิทยาลัยแนวพุทธอย่าง นาลันทา วิกรมศีลา และอื่นๆ นักเรียน นักวิชาการ หรือนักปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ต่างมารวมตัวกันเพื่อการเรียนรู้อย่างแน่วแน่ พวกเขาไม่มีแนวคิดที่จะมาเรียนๆเล่นๆ หรือ เรียนเพื่อความเท่ โอ้อวดเอาปริญญาอะไรเทือกนั้น แม้แต่ความคิดที่จะสร้างภาพของความเป็นคนดี มีศีลมีธรรม มีภูมิมีเกียรติ ก็ไม่ใช่ประเด็น

                 พวกเขาเพียงต้องการมาเรียนรู้และฝึกฝนตนเองเพื่อการเข้าถึงความจริงแห่งชีวิต สำหรับพวกเขาการศึกษาคือชีวิตที่แท้ คือจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ความเข้าใจที่ว่า ชีวิตคือเส้นทางการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้เอาแต่พร่ำเพ้อวาดฝันจินตนาการลมๆแล้งๆ  พวกเขาทุ่มเท ฝึกฝนปฏิบัติอย่างแน่วแน่ เขียน อ่าน ท่องจำตำราได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถแสดงถึงสิ่งที่เขาเรียนรู้มาให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างไม่เขินอาย

                 หากนักวิชาการ นักการศึกษาคิดที่จะปฏิรูปการศึกษากันอย่างจริงจัง นักเรียนอยากที่จะร่ำเรียนเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ครูบาอาจารย์อยากที่จะมีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจจริง เราคงต้องเริ่มต้นกันใหม่ ด้วยการละเลิกการศึกษาหลอกเด็กอย่างที่เป็นอยู่  หากเรายังอยากที่จะให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าต่อผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง ทุกคนต้องพร้อมที่จะเริ่มต้นที่ตัวเราเอง เราจะต้องกล้าพอที่จะแหวกออกมาจากภาพลวงตาของระบอบปริญญาศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ สู่การเรียนรู้ความจริงแห่งชีวิต ...หากคุณไม่เริ่มก็อย่าไปหวังที่จะรอให้ใครมาหยิบยื่นรูปแบบการศึกษาสมบูรณ์แบบให้คุณเลย  เพราะมันจะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  เลิกหวังเสียทีว่าจะมีใครมาหยิบยื่นคำตอบให้กับชีวิตของคุณ เลิกฝันถึงอัศวินม้าขาว พระผู้เป็นเจ้า นางฟ้าเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่จะโปรยความรู้จากฟากฟ้ามาลงบนหัวสมองของคุณ แล้วจู่ๆคุณก็จะตรัสรู้ กลายเป็นคนฉลาดหลักแหลมด้วยกระดาษบางๆเพียงใบเดียว เพราะหากคุณฉลาดพอคุณจะรู้ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้

 

(๒)

                  การศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักพุทธธรรม เป็นรูปแบบการศึกษาที่กลับมาให้ความสำคัญต่อศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ที่ว่า  การเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้เข้าถึงหัวใจของกระบวนการการฝึกฝนตนเอง การเคารพในความสามารถและภูมิปัญญาของผู้อื่น และ ความเต็มใจที่จะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด และความทุกข์ยากลำบากของชีวิตอย่างเปล่าเปลือย เป็นประสบการณ์ตรงบนเส้นทางการเรียนรู้แห่งชีวิต อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในของทั้งผู้เรียนและผู้สอน

                     จะขอย้ำกันให้ชัดเจนอีกครั้งว่า contemplative education การศึกษาด้านใน การศึกษาแนวพุทธ หรือจิตตปัญญาศึกษาหาใช่เป็นเรื่องของการสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน และไม่ใช่ความพยายามที่จะสร้างภาพให้คนภายนอกรู้ว่าผู้เรียนและผู้สอนเป็นพวกเคร่งศาสนา ยึดมั่นศีลธรรม ธัมมะธัมโม อะไรทำนองนั้น เราไม่ได้ต้องการจะเป่าหูนักเรียน แล้วบังคับให้เขาเปลี่ยนศาสนามากราบไหว้พระพุทธรูป  แม้กระทั่งเรื่องของการปฏิบัติภาวนา ก็ไม่ใช่การบังคับให้นักเรียนเข้าใหม่ต้องฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ๗ วัน ๘ วันโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เรื่องของความประพฤติก็ไม่ใช่เรื่องของการบังคับให้นักเรียนพูดช้าๆ เดินช้าๆ ประพฤติสุภาพเรียบร้อย เลิกกินเหล้า เลิกสูบบุหรี่ แต่ประการใด

                    เพราะจุดเริ่มต้นของจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่เรื่องของสร้างกฏเกณฑ์ ค่านิยมทางสังคม  ความเป็นเลิศทางวิชาการ ความคาดหวังทางศีลธรรม หรือกระทั่งความสูงส่งทางจิตวิญญาณ แต่กลับเป็นเรื่องง่ายๆอย่างการให้ความเคารพแก่ศักยภาพแห่งการเรียนรู้ของคนทุกคนอย่างไร้อคติ  ปราศจากการแบ่งแยกอายุ สูงต่ำ ดำขาว มีจน ดีชั่ว ถูกผิด หัวใจของการศึกษาด้านใน มีเพียงกระบวนการการเรียนรู้และเส้นทางการฝึกตนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ค้นหาศักยภาพภายในตนเอง จนกลายเป็นตัวของตัวเองที่สมบูรณ์อย่างที่ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับใคร

                กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจที่ว่า ธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คือ ธรรมชาติแห่งการตื่นรู้หรือพุทธสภาวะ ซึ่งกระบวนการศึกษาจะนำผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการใคร่ครวญด้วยใจ การขบคิดด้วยปัญญาจากการบ่มเพาะและให้คุณค่าพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ด้านใน  การลองผิดลองถูกด้วยประสบการณ์ตรง เพื่อเป้าหมายของการตระหนักรู้ถึงพุทธสภาวะที่มีอยู่แล้วในตนเองอย่างเป็นกระบวนการตามธรรมดาของชีวิต

                    ในขณะเดียวกันจิตตปัญญาศึกษาก็ไม่ใช่รูปแบบการศึกษาที่นุ่มนิ่ม ที่ผู้เรียนผู้สอนเอาแต่พูดแสดงความรู้สึก และประสบการณ์อย่างเลื่อนลอย อย่างที่ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือ ไม่ต้องท่องจำตำรา ไม่ต้องสอบ พื้นฐานของการฝึกฝนจิตใจก็ไม่ใช่เพื่อที่จะกลายเป็นคนเชื่อง ติ๋ม เงียบ อ่อนไหวไร้การตอบสนอง จิตตปัญญาศึกษาจะต้องคงไว้ซึ่งรากฐานแห่งความพากเพียรมุมานะกับการแสวงหาความจริง หากกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเข้าใจตนเอง เข้าใจโลกและเข้าใจผู้อื่นได้ผลจริง ผู้เรียนและผู้สอนยิ่งจะต้องมีความกระตือรือล้นที่จะค้นคว้าหาความรู้มากตามไปด้วย

                  เมื่อรากฐานทางปรัชญาของการคิดใคร่ครวญมีความมั่นคง ผสมผสานกับการฝึกฝนด้านในเพื่อบ่มเพาะจิตใจให้เปิดกว้าง ไร้การยึดมั่นถือมั่นต่อหลักตรรกะนั้นๆ  ทุกครั้งที่เราอ่านหรือได้ยินความรู้ใหม่ๆ กระบวนการคุ่นคิดไตร่ตรองด้วยหลักการและเหตุผลจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ นั่นคือเราจะไม่เชื่ออะไรอย่างหลับหูหลับตา รู้จักที่จะแสดงความคิดเห็น อภิปราย ถกเถียง เพื่อการสังเคราะห์ความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันกระบวนการใคร่ครวญนั้นจะเกิดขึ้นอย่างครบวงจรก็ต่อเมื่อทั้งข้อมูลที่ถูกนำเสนอ และผู้รับข้อมูลนั้นได้เข้าสู่กระบวนการไปพร้อมๆกัน  นั่นก็หมายความว่าเราได้เรียนรู้จักข้อจำกัดในตัวเราเองไปด้วยในทุกๆขั้นตอน ผลก็คือความรู้ไม่ถูกมองเป็นวัตถุนอกตัวที่แยกขาดจากกระบวนการใคร่ครวญด้วยใจ ค้นหาความหมายที่มีต่อชีวิต ขณะเดียวกันการเรียนเพื่อรู้จักตัวเองก็ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่ามายาภาพของบุคคลที่เราเคยยึดมั่นว่าเป็นตัวเรานั้นดูจะไม่สัมพันธ์กับศักยภาพแท้จริงที่เรามีเลยแม้แต่น้อย 

                  กระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผู้เรียนรู้จักใคร่ครวญ ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งชีวิตของเขาทั้งชีวิตกลายเป็นเส้นทางการแสวงหาความรู้ (“the path is the goal”)  การศึกษาเช่นนี้จะเปี่ยมไปด้วยความชัดเจน สมบูรณ์ และแม่นยำ แทบจะไม่มีที่ว่างของการตัดสินผิดถูก ให้ข้อสรุปกับตัวกูของกูเลยก็ว่าได้ เพราะทุกประสบการณ์ได้ถูกหลอมรวมเข้าสู่กระบวนการการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ชีวิตกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่เต็มเปี่ยม เลื่อนไหล เติบโต ผลิบานอย่างไม่มีข้อจำกัด

                  ในวิถีแห่งพุทธะ เราเข้าใจกันดีว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั่นคือ บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ไม่มีใครจะมาช่วยเราได้นอกจากเราจะช่วยตัวเราเอง เราสามารถที่จะเข้าถึงความดี ความงาม และความจริงแห่งชีวิตได้ ก็ด้วยการฝึกฝนตนเอง ค้นพบศักยภาพภายในแห่งความเป็นมนุษย์ อันเป็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของพื้นที่การเรียนรู้ภายในอันไร้ขีดจำกัด การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญจะเป็นหนทางที่จะทำให้เราได้รู้จักตัวเอง และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ อย่างที่ไม่ต้องอาศัยอมยิ้ม หรือเกมกดมาล่อ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองเท่านั้น ว่าจะมีกึ๋นพอ กล้าพอ (และบ้าพอ) ที่จะฝึกฝนตนเองในกระบวนการสลายความยึดมั่นแห่งตัวตนอันคับแคบ จนกระทั่งชีวิตที่แข็งทื่อของเราค่อยๆคลี่และคลาย กลายเป็นพลังแห่งการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ ได้ในทุกๆลมหายใจเข้าออก

 

(เขียนจากแรงบันดาลใจที่ได้จากบทความ “Hearty Discipline” โดย เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ)
 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 62468เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท