เทา-งามสัมพันธ์ : 2 ทศวรรษการเรียนรู้คู่บริการในมิติกิจกรรมนอกหลักสูตร


แต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นเจ้าภาพหลักในกิจกรรมแต่ละด้าน แต่บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมองค์ของแต่ละมหาวิทยาลัย และเน้นการเรียนรู้คู่บริการที่ประกอบด้วยการนำองค์ความรู้ในวิชาชีพของนิสิตนักศึกษาไปสู่การปฏิบัติการจริงผ่านการให้บริการต่อสังคม และดำเนินการแบบมีส่วนร่วม

ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม การเรียนรู้นอกห้องเรียนในวิถีของ “กิจกรรมนอกหลักสูตร” ยังมีความจำเป็นเสมอ เพราะเป็นกระบวนการเติมเต็มทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตแก่นิสิตนักศึกษา เพื่อให้เติบโตสู่การเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยและการเป็นพลเมืองของสังคมไทยและสังคมโลก

โครงการ “เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 20” เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้นอกหลักสูตรถือเป็นอีกนวัตกรรมของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นการเรียนรู้ในมติของการบริการสังคม หรือการเรียนรู้คู่บริการ ด้วยการผนึกกำลังนิสิตนักศึกษา ตลอดจนอาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอุดมศึกษา ทั้ง 5 สถาบัน (ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ทักษิณ ม.บูรพา ม.นเรศวร และ ม.มหาสารคาม) ไปจัดกิจกรรมบริการสังคมอย่างสร้างสรรค์หลากรูปแบบ บนฐานคิดอันสำคัญคือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนและการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หรือจิตอาสา-จิตสาธารณะ




โครงการเทา-งามสัมพันธ์ เกิดจากความผูกพันทางใจของคณะผู้บริหารและบุคลากรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ก่อเกิดจากต้นน้ำอันเป็นสายธารเดียวกัน คือ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันของผู้คนในสายกิจการนิสิตนั้นมีความกลมเกลียว รักใคร่ แน่นแฟ้นและเป็นหนึ่งเดียว เสมือนสายน้ำที่ตัดไม่ขาด มีกิจกรรมสานสัมพันธ์กันสืบมาตั้งแต่กีฬา 8 วิทยาเขตและศิลปวัฒนธรรม 8 วิทยาเขต กระทั่งในที่สุดเมื่อพลวัตเหลือเพียง 5 สถาบัน แต่ละแห่งได้เติบโตไปตามวิถีของตนเอง แต่ยังคงไว้ซึ่งสายสัมพันธ์ที่เป็นเสมือนสายธารที่ไม่เคยหยุดไหล จนก่อเกิดเป็นงาน “เทา-งามสัมพันธ์” ในที่สุด โดยเริ่มจากกีฬาและศิลปวัฒนธรรม ผสมผสานสู่ความเป็นวิชาการและความร่วมมือในมิติต่างๆ และหยัดยืนมาเป็นกิจกรรมบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการบริการสังคมเฉกเช่นปัจจุบัน




ในปีนี้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดโครงการเทา-งามสัมพันธ์ครั้งที่ 20 ภายใต้สโลแกนอันเป็นกรอบแนวคิด คือ “2 ทศวรรษ เทา-งามตามรอยพ่อ” ระหว่างวันที่ 24-31 มกราคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และโรงเรียนโนนศิลาไกรฤกษ์ราษฎร์อำนวย ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการสำคัญๆ เช่น

  • บำเพ็ญประโยชน์ : ซ่อมแซมสนามเด็กเล่น สร้างลาน BBL แปลงเกษตรวิถีพอเพียงตามรอยพ่อหลวงสู่อาหารกลางวันและการปลูกหญ้าแฝก
  • กีฬา : ซ่อมแซมสนามกีฬากลางแจ้ง สอนเสริมทักษะการเล่นกีฬาเทควันโด วอลเลย์บอล ฟุตบอล การแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษากับนักเรียน รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลกับทีมฟุตบอล VIP ของชุมชน



  • ศิลปวัฒนธรรม : ถ่ายทอดความรู้และทักษะการด้านศิลปะการแสดง 5 ภูมิภาคแก่เด็กและเยาวชน การสร้างสื่อการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม 5 ภูมิภาค
  • วิชาการ : การสอนเสริมความรู้และทักษะพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก การแนะแนวการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษา การจัดมุมเรียนรู้ในห้องสมุด การจัดมุมเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 การจัดทำป้ายนิเทศคำศัพท์และสำนวน 2 ภาษา การสร้างสื่อเรียนรู้วิถีประชาคมอาเซียน
  • ทัศนศึกษา : พิพิธภัณฑ์สิริธร วัดพุทธนิมิต พุทธสถานภูสิงห์ สะพานเทพสุดา ชุมชนต้นแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านกล้วยหอมและหาดสวนแก้ว




กิจกรรมข้างต้นจะมีลักษณะการบริหารจัดการในเชิงวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาร่วมสองทศวรรษ กล่าวคือ แต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นเจ้าภาพหลักในกิจกรรมแต่ละด้าน แต่บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมองค์ของแต่ละมหาวิทยาลัย และเน้นการเรียนรู้คู่บริการที่ประกอบด้วยการนำองค์ความรู้ในวิชาชีพของนิสิตนักศึกษาไปสู่การปฏิบัติการจริงผ่านการให้บริการต่อสังคม และดำเนินการแบบมีส่วนร่วม อันหมายถึงความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 สถาบันและความร่วมมือร่วมกับชุมชนและเครือข่ายภาคึของชุมชน






กิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การบริการสังคมเท่านั้น หากแต่มีการบูรณาการกิจกรรมไปสู่การเรียนรู้รากฐานอันเป็นวัฒนธรรมของชุมชน เป็นต้นว่า การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนในถนนไดโนโรด 2 กิจกรรมหลัก คือ “กินพาแลงเต้นคองค้า” ที่เป็นการละเล่นของไทยเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และกิจกรรมบนถนนสายบุญ คือ “นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 9 วัด” รวมถึงการร่วมวงเสวนา (โสเหล่) กับคณะกรรมการขับเคลื่อนถนนไดโนโรดของชุมชน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการและภูมิปัญญาร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับชุมชน เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาชุมชนผ่านกระบวนการต่างๆ บนทุนทางสังคมและปัญญาของชุมชนเป็นหัวใจหลัก




ในวิถีของการจัดกิจกรรม “ตามรอยพ่อ” นั้น ทุกๆ กิจกรรมในแต่ละด้านถูกออกแบบอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เน้นการถวายความอาลัยและการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงภูมิพลรัชกาลที่ 9 รวมถึงการออกแบบการแสดงศิลปวัฒนธรรมทั้ง 5 ภูมิภาคก็สื่อให้เห็นถึงการถวายความอาลัยและการน้อมนำพระราชปณิธานมาสู่การดำเนินชีวิต รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการแสดงแก่เด็กและเยาวชนในชุมชนก็ล้วนยึดโยงกับการจงรักภักดีต่อสถาบันอันสำคัญของสังคมไทย ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถต่อยอดการแสดงต่างๆ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบการศึกษาและวิถีวัฒนธรรมของชุมชน เพราะทุกมหาวิทยาลัยได้ส่งมอบสื่อการเรียนรู้พร้อมชุดการแสดงไว้ให้กับทางเด็กและเยาวชน หรือโรงเรียนและชุมชนอย่างเสร็จสรรพในตัว

นอกจากกิจกรรมการบริการสังคมผ่านวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรในแบบค่ายอาสาพัฒนาที่บูรณาการศาสตร์ หรือสหศาสตร์แล้ว ยังมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ในภาควิชาการเพื่อ “ติดอาวุธทางความคิด” แก่นิสิตนักศึกษาหลากหลายรูปแบบ เช่น การปาฐกถาเรื่อง “เทา-งามสัมพันธ์กับมิติการพัฒนานิสิตนักศึกษาในศตวรรษที่ 21” โดย รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2559 ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอดีตเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งกับการขับเคลื่อนโครงการเทา-งามสัมพันธ์มาแล้วเช่นกัน




รวมถึงการจัดเวทีเสวนาระหว่าง “ศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน” โดยศิษย์เก่าที่ได้รับเชิญมาร่วมเรียนรู้ก็คือ นายสมปอง มูลมณี อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และนายสัญญา พานิชยเวช นักเขียนอิสระเจ้าสำนักพิมพ์โรงนาบ้านไร่ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นนิสิตเทา-งามและเคยเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมเทา-งามมาในระยะหนึ่ง โดยต่างร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ชีวิตและการเป็นนักกิจกรรม ตลอดการสะท้อนข้อมูลย้อนหลังในเชิงของการร่วมชำระประวัติงานเทา-งามสัมพันธ์ไปในตัว เช่นเดียวกับการเสวนาของผู้บริหารทั้ง 5 มหาวิทยาลัยในประเด็น “ทิศทางของการยกระดับโครงการเทา-งามสัมพันธ์” ซึ่งเวทีวิชาการทั้งสามเวทีล้วนร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีของการพัฒนานิสิตนักศึกษาผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรที่กำลังยกระดับคู่บ่าเคียงไหล่กับกิจกรรมในหลักสูตร หรือกิจกรรมในวิชาชีพอย่างไม่ผิดเพี้ยน




นี่คืออีกหนึ่งภาพสะท้อนกรณีศึกษาของการพัฒนานิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างการเรียนรู้ในวิถีการศึกษารับใช้สังคม โดยการนำนิสิตนักศึกษา หรือบุคลากรไปสู่การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ต่อสังคม ซึ่งก่อให้เกิดมรรคผลอันหลากหลายทั้งในมิติการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรืออื่นๆ ควบคู่กันไปในแบบบูรณาการศาสตร์ และเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นมายาวนานกำลังยกระดับจากงานบริการสังคมสู่การบริการวิชาการแก่สังคมอย่างเต็มภาคภูมิ เสมอเหมือนการบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรและในหลักสูตรคู่กัน เพื่อให้เติบโตสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก



หมายเลขบันทึก: 622945เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2017 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2017 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

รอ อาจารย์แผ่นดิน อยู่ที่บ้านพ่อครูแล้ว เย็นนี้เจอกัน

รกความระลึกถึงมาถึงน้องอาจารย์แผ่นดินด้วยจ้

ฝาก...ใช้ iPad เป็นแบบนี้ พิมพ์ตก ๆ หล่น ๆ

-สวัสดีครับอาจารย์ฺ

-“นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 9 วัด”

-เพียงได้อ่านถ้อยคำนี้....ก็อบอุ่นใจครับ

-ขอบคุณครับ


สงกรานต์นี้..เจอกันดีไหม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท