กฎหมาย : จากไหน ทำไม อย่างไร และเพื่อใคร


ในวันนี้ กฎหมายที่ถูกกระบวนการนิติบัญญัติให้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ได้มีแต่เพียงการนำขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมอันดีของประชาชนมาบัญญัติหรือเขียนขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ยังเป็นการบัญญัติ หรือ กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาทางเทคนิค ที่ต้องการความรวดเร็ว ไม่อาจรอเกิดการปฏิบัติจนเป็นประเพณี แล้วค่อยนำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เหมือนกระบวนการนิติบัญญัติในยุคแรกๆ

กฎหมาย : จากไหน ทำไม อย่างไร และเพื่อใคร

               หากพูดถึงคำว่า “กฎหมาย” หลายต่อหลายคนคงนึกภาพของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในประเทศ กฎหมายอาญา ซึ่งมีผลใช้บังคับต่อการกระทำความผิดที่จุดมุ่งหมายเพื่อปราบปรามผู้กระทำความผิด ตลอดจน ลงโทษให้ผู้กระทำความผิดเกิดความหลาบจำ และไม่กล้ากลับมาลงโทษอีก และในมโนภาพของคนอีกหลายต่อหลายคน ก็จะนึกถึง กฎหมายจราจร (พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับการสัญจรไปมาบนถนนหนทาง และในกลุ่มนักธุรกิจก็จะรู้จักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน (เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.๒๕๒๒) รวมไปถึง กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน  เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน และอื่นๆอีกมากมาย
 

           อันที่จริงเรารู้จักกฎหมายในฐานะของ กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และมีความมุ่งหมายเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขและเป็นธรรม จนมีคำว่ากล่าวว่า ที่ใดที่สังคมที่นั่นมีกฎหมาย
 ย้อนหลังกลับไป ในยุคกรีก-โรมัน ชาวโลกรู้จักกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ที่สถิตอยู่ในธรรมชาติ และโดยเบื้องหลังของการอธิบายความถึงการรับรู้และยอมรับถึงกฎหมายธรรมชาติดังกล่าว ถึงแม้จะแตกต่างกันไป ตามยุคสมัยและความเชื่อทางศาสนา แต่แก่นของกฎหมายธรรมชาติไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพรากฎหมายธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติ เช่น การไม่เอาลูกเมียของคนอื่นมาเป็นของเรา การไม่ทำร้ายผู้อื่น การรักษาคำมั่นสัญญา เป็นต้น
 

           นอกจากนั้นแล้ว ในยุคสมัยต่อมา การอธิบายถึง กฎหมาย เกิดขึ้นจาก จิตวิญญาณประชาชาติ ของคนในชาติที่ประพฤติปฎิบัติและเห็นพ้องต้องตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งเหล่านั้น จะได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมาย
 

        จะเห็นได้ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นกฎหมายเป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่สังคมใช้บังคับระหว่างกัน ซึ่งแน่นอนยอมหลีกหนีไม่พ้น ผู้ปกครองในการใช้กฎเกณฑ์บังคับกับสังคมปกครองของตนเอง

         อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ในยุคเริ่มต้นของประวัติศาสตร์นั้น เกิดขึ้นจาก ความต้องการให้สังคมของมนุษย์อยู่ในความสงบสุขและเป็นธรรม

         กฎเกณฑ์ในยุคแรกๆจึงเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและแนวประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ในสังคม
 

       กฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของสังคมในยุคเริ่มต้น จึงวางอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวพันกับ ความเชื่อ ความดี ความชั่ว หรือ ในที่สุดเราเรียกว่า ศีลธรรม  และกฎเกณฑ์ดังกล่าวเริ่มขยายขอบเขตออกไปสู่ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการดำรงชีพ โดยเฉพาะเรื่องของการค้า แต่อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ซับซ้อน เพราะสังคมในยุคนั้น ไม่มีความซับซ้อน
 

           สังเกตได้ว่า ในยุคแรกเริ่มของกฎหมายนั้น เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่มีพลังทางศีลธรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซ้อนอยู่เกือบทั้งหมด เราเรียกกฎหมายเหล่านี้ “กฎหมายประเพณี” และเมื่อสังคมเจริญขึ้น ผู้คนมีตัวหนังสือ อ่านออกเขียนได้ กระบวนการทำกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่รู้จักกันว่า “กระบวนการนิติบัญญัติ” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำให้กฎเกณฑ์ต่างถูกทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงถูกใช้เป็นกระบวนการของฝ่ายปกครองเพื่อทำหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้บังคับกับคนในสังคม ดังนั้น การนิติบัญญัติจึงเป็นการแปรรูปประเพณี ศีลธรรม วัฒนธรรม ของสังคม มาสู่ลายลักษณ์อักษร

            ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในศีลห้า ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด ในสังคมใด การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับนับถือว่าเป็น จารีตประเพณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ถือได้ว่า เป็นกฎหมายประเพณี ที่มีค่าบังคับอย่างเด็ดขาด เมื่อ กระบวนการนิติบัญญัติ เจริญงอกงามขึ้น การฆ่าคน จึงได้รับการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของประมวลกฎหมายอาญา 
 

            เมื่อสังคมเจริญขึ้น มีประชากรมากขึ้น ความก้าวหน้าของสังคมในมิติต่างๆ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ มิติของเทคโนโลยี มิติของการเมือง มิติของการศึกษา  ทำให้ ความสัมพันธ์ของมนุษย์เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาทางเทคนิคของสังคมเริ่มมีมากขึ้น เช่น เมื่อมีรถยนต์ ความสัมพันธ์ของ ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ กับ รัฐ ในฐานะ เจ้าของดินแดน ที่จะทำถนนหนทางให้รถยนต์วิ่ง ความสัมพันธ์ในการกำหนดช่องทางการเดินรถ การกำหนดเครื่องหมายจราจร  การพยายามแก้ปัญหาทางเทคนิค เช่น การกำหนดให้รถยนต์วิ่งทางฝั่งซ้าย การให้สัญญาณไฟสีแดงหมายถึง ให้รถหยุด สัญญาณไฟสีเขียวหมายถึง ให้รถแล่น เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับศีลธรรมอันดีงาม หรือ ความดี ความชั่ว

            ในวันนี้ กฎหมายที่ถูกกระบวนการนิติบัญญัติให้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ได้มีแต่เพียงการนำขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมอันดีของประชาชนมาบัญญัติหรือเขียนขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ยังเป็นการบัญญัติ หรือ กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาทางเทคนิค ที่ต้องการความรวดเร็ว ไม่อาจรอเกิดการปฏิบัติจนเป็นประเพณี แล้วค่อยนำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เหมือนกระบวนการนิติบัญญัติในยุคแรกๆ
 

            เมื่อวันเวลาผ่านไป สังคมมีความซับซ้อนและขยายตัวอย่างรวดเร็ว กระบวนการนิติบัญญัติที่บัญญัติกฎเกณฑ์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเริ่มมีมากขึ้น เช่น ปัญหาอันเกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต ปัญหาที่เกิดจากขึ้นเกมคอมพิวเตอร์ ฝ่ายปกครองในฐานะผู้ทำการนิติบัญญัติ ต้องบัญญัติกฎหมายที่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ จนดูประหนึ่งว่า วันนี้ กฎหมายได้แยกตัวออกห่างจาก พื้นฐานทางศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งดีงามโดยสิ้นเชิง
 

             แต่ทว่า หากพิเคราะห์ถึง เจตนารมณ์หลักพื้นฐานของกฎหมายให้ดี ว่า ในความซับซ้อนในปัญหาทางเทคนิค ความพยายามในการสร้างความเป็นธรรม เพื่อนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคม เป็นเป้าหมายหลักของกฎหมาย ถึงแม้กฎหมายบางฉบับ บางมาตรา บางเรื่อง จะดูประหนึ่งว่าไม่มีพลังทางศีลธรรมซ้อนอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหมายของกฎหมายที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุข คือ สังคมอยู่อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม เกิดความยุติธรรมในสังคม จึงเป็นอีกรากฐานหนึ่งในการคิดค้นและบัญญัติกฎหมาย วันนี้ ภารกิจของกฎหมาย ก็คือการจัดการปัญหาในสังคม และเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างสังคมให้น่าอยู่
 

             สิ่งที่สำคัญมากไปกว่ากฎหมายก็คือ การยอมรับบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะไม่ว่ากฎหมายจะมีบทลงโทษหนักเพียงใด ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นวัฒนธรรมที่ถูกมองข้ามจากสังคมไปโดยสิ้นเชิง
 

             วันนี้และวันหน้า การฝ่าฝืนกฎจราจร การลักทรัพย์ การฆ่า การข่มขืน หรือแม้แต่การประกอบธุรกิจสื่อลามกอนาจารถึงแม้จะมีบทกำหนดโทษหนักและรุนแรงเพียงใด แต่เราก็มักจะได้เห็นข่าวประเภทนี้อยู่ตลอดทุกวัน ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมตลอดเวลา ไม่ใช่เพราะว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ทว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ และคนในสังคม มองข้ามว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควร การมองข้ามคำว่า “ศีลธรรมและความดี” ทำให้สังคมต้องตามมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการจับกุมและลงโทษ ไม่ได้ป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 

           ในทุกวันนี้ เราจึงชาชินกับกฎหมายเพื่อการลงโทษ แต่ กฎหมายเพื่อการส่งเสริมให้สังคมเกิดความสงบสุข กฎหมายในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสังคม กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็ง กฎหมายที่ส่งเสริมให้วัฒนธรรมในด้านต่างๆ เช่น วัฒนธรรมในการใช้เทคโนโลยีที่ดี วัฒนธรรมในการเสพสื่อที่ดี ยังไม่เจริญงอกงามเท่ากับกฎหมายเพื่อการปราบปรามและลงโทษ เพราะสังคมกฎหมาย ถูกเข้าใจและมองว่าเป็นเพียงการลงโทษเท่านั้น ซึ่ง ความจริงภารกิจของกฎหมายมีมากกว่านั้น ทั้งในแง่ของการส่งเสริม และการป้องกัน
 

               วันนี้  เราจึงต้องรีบทำให้ ภารกิจของกฎหมาย ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการส่งเสริม และการป้องกัน อีกทั้ง การเสริมพลังให้กับกฎหมาย ด้วยการลงไปปลูกวัฒนธรรมของความเชื่อในสิ่งดีงาม ที่จะนำไปสู่การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ให้กับภาคประชาชน จึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญและต้องเอาใจใส่มากกว่า

              การบัญญัติกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเสียอีก เพราะ เราอย่าลืมว่า กฎหมายประเพณีหรือกฎหมายชาวบ้านที่ได้รับการยอมรับและบังคับใช้จากสังคม จะมีความศักดิ์สิทธิ์แม้จะไม่ได้มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ก็ได้รับการยอมรับและบังคับใช้จากสังคมมาเป็นเวลาช้านาน และไม่มีทีท่าจะเสื่อมคลายไปจากสังคม

 หมายเหตุ  บทความนี้เผยแพร่ในสารเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ เดือน กันยายน ๒๕๔๙ หน้า ๒-๓

อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว ม.มหิดล

 

หมายเลขบันทึก: 62252เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใครเป็นผู้คิดค้นกฎหมายค่ะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท