ชีวิตที่พอเพียง : 2839. ราชการด้านการเรียนรู้



เช้าวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ ผมฟังเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสยามกัมมาจลเล่าเรื่องการลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี ที่ผมเล่าไว้ ที่นี่ ที่ลงไปเยี่ยมก็เพื่อเตรียมให้โรงเรียนมานำเสนอใน เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ ซึ่งจัดในหัวข้อ พลังภาคเอกชนกับการปฏิรูปการเรียนรู้


ดังเล่าแล้ว โรงเรียนบ้านนอกเล็กๆ ที่ชื่อโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม มีผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนสูงมากอย่างน่าแปลกใจ เราจึงเชิญผู้อำนวยการโรงเรียน และครูมาเล่า ว่าสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นการเรียนรู้จาก Good Practice น่าจะถือเป็น KM เล็กๆ ได้


ทีมของมูลนิธิสยามกัมมาจลไปทำวีดิทัศน์เพื่อเอามาเสนอในที่ประชุม ให้ใช้เวลาสั้นๆ เข้าใจว่าความสำเร็จยิ่งใหญ่ของโรงเรียนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงต้องพูดคุยกับ ผอ. และครู ลงรายละเอียดมากมาย ฟังแล้วชื่นใจในตัว ผอ. ที่เข้าไปสังเกตห้องเรียนแล้วช่วย feedback ให้ครูได้เรียนรู้และปรับวิธีการจัดการเรียนของศิษย์ น่าจะถือเป็น ผอ. นอกกรอบได้ เพราะได้ข่าวว่าในกระทรวงศึกษาธิการเขายึดถือกันต่อๆ มาว่า ผอ. โรงเรียนไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการเรียนของนักเรียน และไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก


ทีมที่ไปเยี่ยมโรงเรียนบอกว่า ครูกระตือรือร้น เอาใจใส่นักเรียนมาก แต่ยังสอนแบบเก่า คือเน้นสอนเนื้อหา ถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งติว ให้เด็กสอบได้คะแนนดี ทำให้ผมมีคำถามว่า ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ / สพฐ. ทำอะไรกันอยู่ งบพัฒนาครูประจำการ ที่ผมได้ยินมาว่าปีละเป็นหมื่นล้าน เอาไปใช้ทำอะไร ครูในโรงเรียนดีๆ เช่นนี้จึงยังเข้าไม่ถึงการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสได้รับการศึกษาที่ทันสมัย และได้พัฒนาครบด้านตามหลักการศึกษาสมัยใหม่


ที่จริงการประชุมเช้าวันที่ ๑๐ มกราคม นั้น เป็นการประชุมเกี่ยวกับ ConNext Ed หรือการศึกษาประชารัฐ ทำให้เกิดความคิดว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนในโครงการประชารัฐการศึกษา น่าจะทำประโยชน์ได้สูงสุด ไม่ใช่เข้าไปโดยตรงที่โรงเรียน ไม่ใช่เข้าไปที่ครู เพราะนั่นเป็นการทำงานแบบ micro โครงการประชารัฐด้านการศึกษาน่าจะทำงานด้าน macro ด้าน futuristic / disruptive / change management ที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ถนัด คือร่วมมือกับลุงตู่ปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนแปลงในระดับ disruptive ซึ่งหากไม่ทำ ประเทศไทย ๔.๐ จะเกิดไม่ได้


วิจารณ์ พานิช

๑๑ ม.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 622000เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2017 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2017 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นโรงเรียนที่ไม่ไกลจากที่ผมอยู่เลยครับ

ที่นครปฐม มีโรงเรียนชื่อ โรงเรียนบ้านรางอีเม้ย ผลสัมฤทธิ์ ONET สูงกว่าระดับประเทศ และเป็นที่หนึ่งในจังหวัดครับ คล้ายกับของ โรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม ขอของ ผอ นายสมัค ชินบุตร

ผอ ท่านแรกที่อยู่ประมาณ 30 ปีชื่อ ผอ สุเทพ ชมสุวรรณ ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท