แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่เกษตรผสมผสาน


แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่เกษตรผสมผสาน

5 มกราคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

จั่วหัวเรื่องยาวมาก แต่จะพยายามทำให้เป็นเรื่องเดียว “เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ” องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้คนไทยได้นำไปปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2517 และเมื่อคราววิกฤตเศรษฐกิจมาเยือนปี 2540 อันเกิดจากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของสังคมไทยใน “ยุคฟองสบู่” คนไทยก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระองค์ท่านมาแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ แม้แต่การสร้างเขื่อน ที่เป็นเรื่องใหญ่ พระองค์ท่านก็ทรงเคยดำรัสว่า เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน จึงขอนำเรื่องเก่าๆ มาเล่าเตือนใหม่

ที่มาแห่งพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่”

จากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2517 ว่า [2]

“..การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านกุดตอแก่น ตำบลกุดสินคุ้มใหญ่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ [3] ได้ทรงเห็นสภาพความยากลำบากของราษฎรในการทำการเกษตรในพื้นที่อาศัยน้ำฝน (ปลูกข้าวได้ประมาณ 1 ถัง / 1 ไร่) เพาะปลูกได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น มีความเสี่ยงในการเสียหายจากความปรวนแปรของดินฟ้าอากาศ และฝนทิ้งช่วง ซึ่งสภาพดังกล่าวคงเป็นสภาพปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าจะมีการขุดบ่อน้ำไว้บ้างก็มีขนาดไม่แน่นอน น้ำใช้ยังไม่พอเพียง รวมทั้งระบบการปลูกพืชไม่มีหลักเกณฑ์และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียว ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงศึกษา รวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์และได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก พระราชดำรินี้ ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” [4] อันเป็นแนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทรงทดลองเป็นแห่งแรก หรือมี “แบบจำลอง” [5] ที่วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี

เท้าความ “ความหมาย” [6]

“เศรษฐกิจพอเพียง” ความหมายกว้างกว่า “ทฤษฎีใหม่” โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการ และแนวทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” เพราะเป็น “การเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” ของเกษตรกรรายย่อยที่ถือครองพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน “แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่” หรือ “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางการพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นขั้นตอน เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรม ในพื้นที่ที่เหมาะสม

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ (1) แบบพื้นฐาน กับ (2) แบบก้าวหน้า เป็นความพอเพียงใน ระดับบุคคล และครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกรเป็น “เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน” เทียบได้กับทฤษฎีใหม่

การดำเนินงานตามทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน [7]

(1) ขั้นตอนการผลิต ให้พึ่งตนเองด้วยวิธีง่าย ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ให้พอมีพอกิน (2) ขั้นตอนการรวมพลังกันในรูปแบบ หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกัน ในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา และ (3) ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจโดยติดต่อ ประสานงาน จัดหาทุนหรือแหล่งเงิน

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น 30 : 30 : 30 : 10 [8]

เป็นขั้นตอนการผลิต โดยการแบ่งพื้นที่ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใน 4 ส่วน คือ 30 : 30 : 30 : 10

(1) พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำต่างๆ (2) พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ (3) พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย (4) พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่นๆ

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง

เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้าน (1) การผลิต ได้แก่ พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ) (2) การตลาด ได้แก่ ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่าย (3) การเป็นอยู่ ได้แก่ กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ (4) สวัสดิการ ได้แก่ สาธารณสุข เงินกู้ (5) การศึกษา ได้แก่ โรงเรียน ทุนการศึกษา (6) สังคมและศาสนา

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม

เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ (1) เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง ได้แก่ ไม่ถูกกดราคา (2) ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ ได้แก่ ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง (3) เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง (4) ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

วันนี้ต้นไม้ที่พ่อปลูกผลิดอกออกผลแล้ว

และในโอกาสที่ประไทยไทยกำลังจะก้าวหน้าพัฒนาไปสู่ ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) [9] ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการอาศัยความได้เปรียบ “เชิงการเกษตร” ดังกล่าว เพื่อการก้าวเข้าสู่สังคมโลกต่อไป ดังพระราชดำรัสของพระองค์ว่า “เราไม่จำเป็นต้องเป็นเสือ แต่เราจำเป็นต้องให้ประชาชน มีอยู่มีกิน เพราะถ้าประชาชนมีอยู่มีกิน ก็จะมีการศึกษา มีรายได้...”

ณ วันนี้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ แนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจชุมชน” ที่อยู่ในความคิดและประชาชนได้ลงมือทำกัน ได้เริ่มเห็นผลเป็นที่ประจักษ์แล้ว เรียกว่า “ต้นไม้ที่พ่อปลูกผลิดอกออกผลแล้ว” [10] คนไทยและแผ่นดินไทยจะสุขสมบูรณ์ หากทุกฝ่ายได้เริ่มร่วมกัน “พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร” ได้อย่างไม่ยากนัก ให้ประเทศได้ก้าวผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) [11] สู่ประเทศรายได้สูงต่อไป เพราะ ณ วันนี้ ทั่วทั้งแผ่นดินปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกำลังผลิดอกออกผล ขึ้นอยู่ว่าเราจะพัฒนาและแปรรูปมันได้อย่างไร ขอเพียงรัฐบาลมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนมุ่งมั่นนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ “ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร” โดยการสานต่อ “นำผลจากต้นไม้ที่พ่อปลูก” มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนอสู่สังคมโลกในอนาคตอันใกล้นี้



[1] PhachernThammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23263 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 6 – วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2560, หน้า 66

[2] ทฤษฎีใหม่กับเศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, http://agrinature.or.th/node/169

[3] ทฤษฎีใหม่กับเศรษฐกิจพอเพียง, ที่มาแห่งพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่”, 7 มีนาคม 2549, http://www.fpo.go.th/S-I/Source/Article/Article40....

[4] ทฤษฎีใหม่, เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ, 25 กุมภาพันธ์ 2551, http://peungnaruk.blogspot.com/

[5] ปราโมทย์ ไม้กลัด, ทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ, http://web.ku.ac.th/nk40/pramote.htm

[6] เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ, https://sites.google.com/site/mindmoy12090/sersthk...

[7] เกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่”, 30 พฤศจิกายน 2556, http://krasetmai.blogspot.com/2013/11/3331-3-1-2-3...

[8] ทฤษฏีใหม่ขั้นต้น, มูลนิธิชัยพัฒนา, http://chaipat.or.th/site_content/922-2010-06-02-0...

[9] บทสรุป รหัสประเทศไทย 4.0 คืออะไร, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, Manager Online, 25 สิงหาคม 2559, http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx...

& ประเทศไทย 4.0 Thailand 4.0 คือ, 24 กันยายน 2559, http://www.admissionpremium.com/news/1377

[10] ต้นไม้ของพ่อ, YouTube, วิดีโอสำหรับ ต้นไม้ที่พ่อปลูกผลิดอกออกผลแล้ว, อัปโหลดโดย ทิพรัตน์ แก้วอ่อน, 19 กุมภาพันธ์ 2556,

ต้นไม้ของพ่อ, ศิลปิน : เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์

นานมาแล้ว พ่อได้ปลูกต้นไม้ไว้ให้เรา เพื่อวันหนึ่งจะบัง ลมหนาว และคอยเป็นร่มเงา ปลูกไว้เพื่อพวกเรา ทุกๆคน พ่อใช้เหงื่อแทนน้ำรดลงไป เพื่อให้ผลิดอกใบ ออกผล ให้เราทุกๆคน เติบโตอย่างร่มเย็น ในบ้านเรา

ผ่านมาแล้วห้าสิบปี ต้นไม้นั้นสูงใหญ่ ลมแรงเท่าไร ก็บรรเทา ออกผลให้เก็บกิน แตกใบเพื่อให้ร่ม เงา คอยดูแลเรา ให้เรายังมีวัน ต่อไป

จนวันนี้ ใต้เงาแห่งต้นไม้ ต้นใหญ่ ลูกได้อยู่ได้คอย อาศัย แผ่นดินยังกว้างไกล แต่เหมือนว่าหัวใจ พ่อกว้างกว่า ลูกที่เกิดตรงนี้นั้นยังอยู่ และยังอยู่เพื่อคอย รักษา จะรวมใจเข้ามา จะมีเพียงสัญญา ในหัวใจ

จากวันนี้สักหมื่นปี ต้นไม้ที่พ่อปลูก ต้องสวยต้องงดงาม และยิ่งใหญ่ สืบสานและติดตาม จากรอยที่พ่อตั้งใจ เหงื่อเราจะเทไป ให้ต้นไม้ ของพ่อ ยังงดงาม

จากวันนี้สักหมื่นปี ต้นไม้ที่พ่อปลูก ต้องสวยต้องงดงาม และยิ่งใหญ่ สืบสานและติดตาม จากรอยที่พ่อตั้งใจ เหงื่อเราจะเทไปจากหัวใจ เพื่อเราจะเทไป ให้ต้นไม้ ของพ่อ ยังงดงาม...

[11] กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap), 8 มีนาคม 2559, https://laymaneconomicsblog.wordpress.com/2016/03/...

“กับดักรายได้ปานกลาง” คือ สภาพของประเทศสามารถพัฒนาจากประเทศยากจนที่มีรายได้ต่ำเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ก็ต้อง “ติดหล่ม” อยู่ในสภาพรายได้ปานกลาง โดยไม่มีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

& กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap), Siam Intelligence Unit, 24 พฤศจิกายน 2554, http://www.siamintelligence.com/middle-income-trap...

“กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” คือสภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มถีบตัวจากความยากจน สร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก จนทำให้ประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวย (high income countries) ได้ เหตุเพราะไม่สามารถสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิผลในการผลิต เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้

หมายเลขบันทึก: 621051เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2017 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2017 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท