๔๖๙..นิทาน ๕ บรรทัด..แบบฝึกหัดการเขียน


ดังนั้น..ครูต้องเป็นนักคิดนักสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ ไม่ใช่สอนหลักการเพียงผิวเผิน ก็ให้แบบฝึกหัดมากมาย แล้วเด็กก็เรียนแบบอ่อนล้าและนำไปใช้ไม่ได้

วันนี้...ผมสอนการเขียน ป.๓ กับ ป.๕ ได้คำตอบว่า การสอนเขียนอาจไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ครูต้องออกนอกกรอบบ้างและไม่ใช้หนังสือเรียนมากเกินไป

ลองให้ ป.๓ คัดลายมือจากเนื้อหาในหนังสือภาพนิทานคนละ ๑ หน้า หรือประมาณ ๓ – ๕ บรรทัด แล้วปิดหนังสือ ซึ่งเหลือหน้าที่ยังไม่ได้คัดหรือยังไม่ได้อ่านอีกหลายหน้า..ครูขอหนังสือคืนด้วย

บอกนักเรียนว่า..ช่วยไปเขียนเล่าเรื่องต่อเป็นการบ้าน..เล่าให้จบเลย คนละไม่ต่ำกว่า ๓ บรรทัด เขียนเล่าตามใจชอบ ผมเชื่อว่า..ถ้านักเรียนเขียนต่อได้ เรื่องนี้จะจบในใจเขา และ เขาจะจดจำไปอีกนานและรักการเขียนมากขึ้น..สำหรับ ป๓ คงต้องติดตามกันต่อไป

ส่วน ป.๕ ผมใช้วิธีการเดียวกัน ตั้งชื่อกิจกรรมว่า..นิทาน ๕ บรรทัด..แต่ให้นักเรียนลงมือทำทันที นักเรียนแต่ละคน คัดลอกนิทานจำนวน ๑ หน้า ๕ บรรทัด จากเรื่องเดียวกัน ..ที่สุดแล้ว นักเรียนเขียนเล่าเรื่องต่อจนจบไม่เหมือนกันเลย ผมตรวจผลงานแล้ว ให้อ่านรายงานทีละคน เพื่อให้เขารู้สึกภูมิใจในผลงานการเขียนของตนเอง

กิจกรรมนี้ได้ทั้งการอ่านและการเขียน ที่สำคัญ..ไมมีเด็กคนไหนเลย เขียนต่ำกว่า ๕ บรรทัด เพราะเด็กเขามีสิ่งเร้า(เรื่องเดิม)มาเป็นปัจจัยพื้นฐาน กระตุ้นให้อยากไปต่อ ตลอดจนมีปัจจัยภายใต้จิตสำนึกให้อยากเขียนอยู่แล้ว..

ดังนั้น..ครูต้องเป็นนักคิดนักสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ ไม่ใช่สอนหลักการเพียงผิวเผิน ก็ให้แบบฝึกหัดมากมาย แล้วเด็กก็เรียนแบบอ่อนล้าและนำไปใช้ไม่ได้

การสอนคำมูล คำประสม ประโยค สำนวน โวหาร หรือ คำสมาส สันธานฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อครูเน้นย้ำหลักการแล้ว คงไม่ใช่เพียงเลือกเติมคำลงในช่องว่างเท่านั้น ครูต้องคิดออกมาเป็นเรื่องราวหรือสถานการณ์ ที่ไม่ต้องยืดยาวมากนัก ให้เด็กสังเกต เลือก วิเคราะห์ แยกแยะ..ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจในเชิงลึกมากกว่าที่จะให้การบ้านหรือแบบทดสอบมากมายก่ายกอง...เป็นภาระของครูและผู้ปกครอง ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด

ลองใช้วิธีที่ผมแนะนำนี้ไปใช้ดูบ้าง..เผื่อบรรยากาศการสอนภาษาไทย..จะดีขึ้น..ขอให้ครูมีความเชื่อว่า..ตำรา..หรือแบบฝึก..คนอื่นเขาเขียน ใครจะมารู้จักเด็กของเรา ได้ดีเท่าครู..ออกแบบกิจกรรมหรือเครื่องมือด้วยตัวครูเองบ้างเถอะ..การเรียนรู้จะง่ายขึ้น..

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 620771เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2016 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2016 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท