หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วยผลลัพธ์การจัดการเรียนรู้คู่บริการโดยสังเขป


เกิดการบูรณาการชุดความรู้ใหม่เข้ากับชุดความรู้อันเป็นภูมิปัญญาของชุมชน (intelligence of locality) ในประเด็นสำคัญๆ เช่น ระบบสุขภาพชุมชน การท่องเที่ยว การบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปการศึกษา พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมเกษตร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ อาหาร เทคโนโลยี

ใครสักคนหนึ่งกล่าวไว้ยาวนานว่า “มหาวิทยาลัยเป็นเสมือนตู้วรรณกรรมของชุมชน” กล่าวคือมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาคือองค์กรที่อุดมไปด้วยความรู้อันมากมายหลากหลายศาสตร์ ซึ่งควรค่าต่อการนำพาชุมชนไปสู่วิถีความเจริญงอกงาม โดยการขับเคลื่อนผ่านความรู้และคุณธรรม ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อมโยงมาปรัชญาการศึกษาอันท้าทายว่า “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม” หรือกระทั่ง “งานวิชาการเพื่อสังคม” ซึ่งโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ในวิถีการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็มองเรื่องดังกล่าวเป็นความท้าทายอย่างที่สุด โดยเฉพาะความท้าทายของการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้สอนและผู้เรียนควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ที่มุ่งให้เกิดความเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์และมีพลังร่วมกัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว






ตลอดระยะเวลาของการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” มาเกือบๆ จะครบวาระ 5 ปีก่อเกิดเป็นมรรคผลหลากมิติ ดังรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้


ผลลัพธ์ระดับมหาวิทยาลัย

1.ผลลัพธ์ที่มีต่อนิสิต (ผู้เรียน)




2..ผลลัพธ์ที่มีต่อมหาวิทยาลัย (ผู้สอนและสถาบัน)

  • เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน และเกิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนหลากหลายมิติ
  • เกิดการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ในแบบ 3 มิติ ประกอบด้วย 1) ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2) ชุมชนเป็นห้องเรียน และ 3) เรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงงาน
  • เกิดการจัดการเรียนรู้ในแบบบูรณาการศาสตร์ และการจัดการเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม (การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม) อย่างเป็นรูปธรรมโดยบูรณาการผ่านภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย
  • เกิดกระบวนการเรียนรู้คู่บริการที่มีประสิทธิภาพผ่านการผสมผสานความเชี่ยวชาญ (Sharing of Expertise) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งที่เป็นผู้สอน นิสิต ชาวบ้าน และภาคีอื่นๆ
  • เกิดการบูรณาการการเรียนรู้ระหว่างกิจกรรมในวิชาชีพ (curricular) กับกิจกรรมนอกวิชาชีพ (extracurricular) ของฝ่ายพัฒนานิสิต
  • เกิดการบูรณาการกับรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปที่มีทั้งที่บังคับเลือก และเลือกเสรี เช่น วิชาภาวะผู้นำ วิชาพัฒนานิสิต และวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
  • เกิดการบูรณาการชุดความรู้ใหม่เข้ากับชุดความรู้อันเป็นภูมิปัญญาของชุมชน (intelligence of locality) ในประเด็นสำคัญๆ เช่น ระบบสุขภาพชุมชน การท่องเที่ยว การบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปการศึกษา พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมเกษตร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ อาหาร เทคโนโลยี
  • เกิดชุดความรู้ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าต่อมหาวิทยาลัยและชุมชน เช่น การแปลงเพศปลานิล การผลิตสีผงธรรมชาติ การลดต้นทุนการผลิตผักปลอดสารและข้าวปลอดสาร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชน การจัดการเรื่องน้ำ การจัดการป่าชุมชน การจัดทำกังหันลม น้ำหมักชีวภาพ คราม การท่องเที่ยวในชุมชน ภาษาและอาเซียน
  • เกิดงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในชั้นเรียน ทั้งที่เป็นงานวิจัยของผู้สอนและงานวิจัยของนิสิต ควบคู่กับงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคม
  • เกิดการเผยแพร่ผลงานวิชาการรับใช้สังคมในรูปแบบของบทความในวารสารวิชาการต่างๆ เช่น วารสารการวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่
  • เกิดกรณีศึกษา หรือการเป็นต้นแบบโดยมีบทความ 5 เรื่องตีพิมพ์ในหนังสือ “ประมวลบทความวิชาการเพื่อสังคม” (SOCIALLY-ENGAGED SHOLARSHIP) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมเวที
  • เกิดชุดความรู้ว่าด้วยระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมในมหาวิทยาลัย ยังผลให้อาจารย์ตื่นตัวที่จะทำงานวิชาการในสายรับใช้สังคมมากขึ้น





ผลลัพธ์ที่มีต่อชุมชน

  • เกิดชุมชนเรียนรู้ (Learning Community) หรือชุมชนต้นแบบในประเด็นต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงมิติความเข้มแข็งและยั่งยืน เช่น ชุมชนไอที ชุมชนแปลงเพศปลานิล ชุมชนย้อมคราม ชุมชนผู้สูงอายุ ชุมชนธนาคารข้าว ชุมชนการแปรรูปปลา ชุมชนกังหันลม ชุมชนนาโยน ชุมชนธนาคารขยะ ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ชุมชนบ้านดินและพลังงานทางเลือก
  • เกิดวิทยากรชุมชนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในชุมชนและต่างชุมชนในเขตจังหวัดมหาสารคาม เช่น การทำนาแบบโยนกล้า การผลิตข้าวฮาง การกำจัดหอยเชอรี่ (อ.กันทรวิชัย) การจัดทำบัญชีครัวเรือน การสกัดพลังงานจากกระทงลาย (อ.วาปีปทุม) โรงเรียนชีววิถีอีสาน (อ.กุดรัง) การแปรรูปสมุนไพร (อ.นาดูน)
  • เกิดชุดความรู้ในกลุ่มเยาวชนที่สะท้อนจากจิตวิญญาณ (Spiritual) และผลิตโดยชุมชน เช่น สารคดี หนังสั้น ละครเวที เพลง ที่เกี่ยวกับปัญหาเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมถึงมัคคุเทศก์ชุมชนในเรื่องบรรพชีวิน (ไดโนเสาร์) OTOP ในชุมชน ยุวดินโพน อย.น้อย (อาหารและโภชนาการ)
  • เกิดแผนพัฒนาในระดับท้องถิ่นและจังหวัด เช่น วาระ 150 ปีเมืองมหาสารคาม 1 ใน 3 เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย (กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
  • เกิดเป็นชุมชนต้นแบบและมหาวิทยาลัยต้นแบบในโครงการรากแก้ว และมูลนิธิปิดทองหลังพระที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะ และการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนาชุมชน (ทำนาแบบโยนกล้า)
  • เกิดหลักสูตรท้องถิ่นในชุมชน เช่น การเรียนรู้ผู้สูงอายุ (อำเภอกันทรวิจัย จังหวัดมหาสารคาม) บรรพชีวิน (อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์) ดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน (อำเภอนาเชือก อำเภอเมือง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) การทอผ้ากี่มือ (อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม)
  • เกิดมิติการจัดการเรียนรู้ในชุมชนในแบบ “บวร” ที่เน้นการมีส่วนร่วมทั้งที่เป็น บ้าน –วัด-โรงเรียนและส่วนราชการ
  • เกิดการรวมกลุ่มในชุมชน หรือการเป็นนักวิชาการชุมชน โดยสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง เช่น การขอรับงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ ทั้ง สสส. จังหวัด สกว. ฯลฯ




นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนโดยสังเขปของการขับเคลื่อนงานบริการวิชาการในชื่อหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในวิถีของงานวิชาการเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่พอจะมองเห็นภาพของผลลัพธ์ หรือความสำเร็จในบางแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติ “ความคิด” ที่เพียรพยายามจะปฏิรูปการจัดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์จากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อผู้สอน ผู้เรียนและชุมชนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นที่จะยกระดับงานบริการวิชาการบนฐานวัฒนธรรมชุมชนและฐานความรู้อันเป็นศาสตร์เฉพาะทางของแต่ละหลักสูตรไปสู่การวิจัย เพื่อได้มาซึ่งความรู้ใหม่ต่อการเรียนการสอน และการรับใช้สังคมควบคู่กันไป


หมายเหตุ

เขียนโดย ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา / พนัส ปรีวาสนา

เผยแพร่ครั้งแรก เวทีการบรรยายการบูรณาการบริการวิชาการกับการเรียนการสอน การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
26 ตุลาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี




หมายเลขบันทึก: 620676เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2016 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2016 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท