เมื่อแปลงร่างเป็นบอส...ไปซื้องานอีเว้นท์


ผู้ประกอบการเอง เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มองเห็นลู่ทางไว้ก่อน ศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นส่วนสำคัญในทุกๆสาขาวิชา

ผมได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสอบ Final โครงงาน วิชาการจัดการการแสดง ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ เด็กๆนำเสนอได้ดี เรื่องของแนวคิด/ไอเดีย ของการวางแผนการจัดการแสดง/ Event ทำให้เห็นว่า ความคล้ายคลึงกันของ 2 วิชา คือ ความรู้ขั้นแนะนำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบริการและอีเว้นท์ ที่ผมสอน กับวิชาการจัดการการแสดง ในส่วนของการนำเสนอโครงการ/Project มีมิติที่เหมือนกันอยู่มาก แนวคิด วิธีการ กระบวนการเรียนรู้ และเมื่อให้นักศึกษาได้นำเสนอโครงงานแล้ว ก็เห็นมุมสะท้อนอยู่มาก ทั้งในแง่ของสิ่งที่ "ผู้สอน" ต้องปรับปรุง และปรับวิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด “ผู้เรียน” เป็นเรื่องใหญ่ที่ “ผู้สอน” ต้องค่อยๆปรับให้เขาใฝ่เรียนรู้บนพื้นฐานของความเป็นจริงบนโลก ที่หมุนเร็วด้วยเทคโนโลยี และข้อจำกัดที่เปลี่ยนไปทุกขณะ ความคิดอันบรรเจิดของนักศึกษาในความสร้างสรรค์ เป็นช่องทางสร้างการเรียนรู้ แต่เมื่อคิดเลยเถิดไปไกลจนลืมพื้นฐานของความเป็นจริง “ผู้สอน” จึงเป็นผู้ขมวดแนวคิดเหล่านั้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้ “ผู้เรียน” ได้ฉุกคิดบ้าง เพรา “ผู้สอน” มิใช่จะถูกเสมอไป เพราะองค์ความรู้มีมากมายนัก แต่ “ผู้สอน” มีหน้าที่ “อำนวยการ” ให้ “ผู้เรียน” มองเห็นช่องทางที่ “กว้าง” และ “ลึก” และเห็นความซับซ้อนของสังคม


เรื่องที่ได้จากการไปร่วมเป็นกรรมการสอบ “เห็น” ว่านักศึกษายังไม่ได้หลุดกรอบความคิดของการเป็นนักศึกษากับครู แท้ที่จริงนักศึกษาจะต้องนำเสนอในบริบทที่ต้องเป็นผู้ประกอบการ เพราะสำคัญว่าตอนนี้เราต้องทำให้นักศึกษามีหัวคิดเชิงประกอบการมากขึ้น เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก การเป็นลูกจ้างเป็นวิถีหนึ่งที่จะช่วยให้ได้เรียนรู้ระบบบางอย่างหรือหลายอย่าง แต่การเป็นผู้ประกอบการเอง เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มองเห็นลู่ทางไว้ก่อน ศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นส่วนสำคัญในทุกๆสาขาวิชา “ศิลปะการแสดง” หรือ “ศิลปะแขนงอื่น” ก็จำเป็นที่เรื่องในเชิงพาณิชย์จะเข้าไปเกี่ยวข้อง การประกอบการจะหนีไม่พ้น แต่มิได้จะหมายถึงเฉพาะการหวังผลกำไรเพียงถ่ายเดียว หากแต่ให้เขามองให้เห็น รายรับ/รายได้ ต้นทุน/รายจ่าย กำไร ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน เพราะหลายองค์กรก็เป็นองค์กรที่ไม่ได้หวังผลกำไร หรือแม้แต่บริษัทเอกชนก็ใช้งบประมาณเพื่องาน CSR สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในสังคม การใช้ทุนทางสังคม/ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการประกอบการ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ เอาเป็นว่า จริงๆ ผู้สอนอย่างผม ก็ต้องค่อยๆปรับกระบวนทัศน์ของตน เพื่อให้ “ผู้เรียน” สนุกกับการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพื่อจะได้ใฝ่เรียนรู้ และการสร้างเงื่อนไขจำลองที่ชัด จะช่วยให้ผลของแนวคิดที่ “ผู้เรียน” นำเสนอออกมาชัดเจนขึ้น

ขอบพระคุณ ผศ.ธรณัส หินอ่อน อาจารย์ผู้สอนวิชาการจัดการการแสดง ที่เชื้อเชิญให้ไปร่วมในครั้งนี้ ได้ความรู้และมุมมองกลับมาพอสมควร เพื่อพัฒนานักศึกษาให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ทุกมุมโลก และอยู่ได้ในชุมชนและสังคมอย่างเป็นสุข

ณ มอดินแดง

23 ธันวาคม 2559





หมายเลขบันทึก: 620599เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2016 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2016 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท