เก็บตกวิทยากร (31) : ความเข้าใจเบื้องต้นการดำเนินงานโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ


โดยสรุปแล้วสิ่งที่ผมสะท้อนนั้นเกี่ยวโยงกับความเป็นมาของการดำเนินงานโครงการฯ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการยกกรณีศึกษาที่สำเร็จและไม่สำเร็จให้องค์กรนิสิตได้รับรู้ร่วมกันจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้มีฐานความรู้และเกิดความท้าทายในการที่จะขับเคลื่อนใหม่อย่างจริงจังและเต็มไปด้วยพลัง

วันนี้ (วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2559) มีโอกาสได้ทำหน้าที่วิทยากรอีกครั้ง เพื่อสะท้อนภาพรวมการดำเนินงานโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ระดับอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จวบจนบัดนี้ก็ดำเนินการมาแล้ว 6 ครั้งและกำลังเคลื่อนขยับเข้าสู่ปีที่ 7 หรือครั้งที่ 7






อันดับแรกผมเกริ่นกล่าวให้นิสิตได้รับรู้ความเป็นตัวตนของโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ผ่านประเด็น “นิยามความหมายและสถานะ” ของโครงการฯ เป็นต้นว่า

  • เป็นโครงการมุ่งแก้ปัญหาความเสื่อมถอยของศีลธรรมและการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม หรือการสร้างภูมิต้านทานแก่นิสิตนักศึกษา
  • เป็นโครงการ (Project) หรือโครงงาน (Project Approach) ที่เกี่ยวข้องกับการ “ทำความดี” เพื่อพัฒนาตัวเองคู่กับคนอื่น (ทีม) และสังคม
  • เป็นโครงการที่ใช้หลักธรรมและพระราชดำรัส หรือพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน หรืออื่นๆ
  • เป็นโครงการเป็นโครงการที่เน้นการทำต่อเนื่อง ไม่ใช่วันเดียว (ตูมเดียว) แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2 เดือน
  • เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือกิจกรรมในหลักสูตร หรือกิจกรรมอันเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย
  • เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนในรูปแบบวิจัยปฏิบัติการ (Action research) และหลักอริยสัจ 4 (ค้นปัญหา ค้นสาเหตุของปัญหา กำหนดเป้าหมายและวิธีการดำเนินงาน)
  • เป็นโครงการที่ดำเนินการบนหลักคิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • เป็นโครงการสัมพันธ์กับหมุดหมายการพัฒนานิสิตของมหาวิทยาลัย เช่น ปรัชญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยม หรือวิถีการศึกษา เพื่อรับใช้สังคม




นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงแนวคิดสำคัญๆ ที่สามารถนำมาบูรณาการใช้กับหลักธรรมของพระพุทธศาสนา รวมถึงพระราชดำรัส พระราชดำริ พระบรมราโชวาท ซึ่งต่างล้วนสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยในมิติการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม เช่น

  • การมีส่วนร่วม (participation)
  • บวร (บ้าน-วัด-ราชการ)
  • การจัดการความรู้ (Knowledge management)
  • PDCA (Plan,Do,Check,Act)
  • PDSA (Plan-Do-Study-Act)
  • ชุมชนคือฐานการเรียนรู้ (Community-based Learning : CBL)
  • เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Active Learning & Learning by doing)





เช่นเดียวกับการสะท้อนให้นิสิตได้รับรู้ถึงประเด็นเชิงพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนมาเป็นระยะๆ ทั้งในรูปของกลุ่มอิสระ กลุ่มสโมสรนิสิตคณะ โดยแยกแยะให้เห็นว่าองค์กรใดทำเรื่องอะไรมาบ้างแล้ว มีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างไร เกิดผลลัพธ์อย่างไร เช่น

  • ภายในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดการขยะ วินัยจราจร บุหรี่ โลกร้อน
  • ภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น ระบบสุขภาพชุมชน ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ปลูกต้นไม้ แนะแนวการศึกษา สื่อการเรียนรู้ สนามกีฬา ซ่อมแซมอาคาร บริจาคสิ่งของและเงินทุน หลักธรรม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดนตรี นาฏศิลป์ สมุนไพร ผู้ติดเชื้อ HIV





ไม่เพียงแต่เฉพาะเท่านี้ ผมยังสื่อสารให้นิสิตได้รับรู้เกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นเชิงแนวคิด งบประมาณ หรืออื่นๆ โดยทั้งปวงนั้นก็มิได้มาจากผู้บริหารเสียทั้งหมด แต่นิสิตมีส่วนในการกำหนดทิศทางของตนเองเหมือนกัน ทั้งประเด็นการขับเคลื่อนของตนเอง รวมถึงประเด็นงบประมาณที่องค์กรนิสิตมีมติเห็นชอบจัดสรรเป็นเงินฐานอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนการเชื่อมโยงสู่ประเด็นเชิงรุกการพัฒนานิสิตทั้ง 5 ประเด็น เพื่อให้นิสิตได้มองเห็นองค์รวมของส่วนต่างๆ มิใช่การมองและตัดสินอะไรๆ โดยปราศจาก “ราก” หรือ “ข้อมูล”




โดยสรุปแล้วสิ่งที่ผมสะท้อนนั้นเกี่ยวโยงกับความเป็นมาของการดำเนินงานโครงการฯ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการยกกรณีศึกษาที่สำเร็จและไม่สำเร็จให้องค์กรนิสิตได้รับรู้ร่วมกัน เพื่อให้มีฐานความรู้และเกิดความท้าทายในการที่จะขับเคลื่อนใหม่อย่างจริงจังและเต็มไปด้วยพลัง มิใช่ทำๆ เพียงแค่ตอบโจทย์ตัวชี้วัดจนไม่มีชีวิตชีวา

ในทำนองเดียวกันก็บอกย้ำให้นิสิตได้เข้าใจว่าโครงการดังกล่าวคือกระบวนการฝึกให้นิสิตได้วิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา และใช้หลักธรรมทางศาสนาบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง พัฒนาคนรอบข้าง และสังคมอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการหักมุมลงที่วาทกรรมสำคัญ เช่น จิตอาสา จิตสาธารณะ สำนึกรักษ์บ้านเกิด ความผูกพันต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์


หรือแม้แต่การสะท้อนให้นิสิตได้รับรู้ตรงกันว่า ถึงแม้โครงการดังกล่าวฯ จะมีเวทีประกวดในระดับภูมิภาคก็เถอะ แต่ผมก็ยืนยันหนักแน่นว่าเน้นที่การสะท้อนผลการดำเนินงาน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวร่วมกับคณะต่างๆ รวมถึงเครือข่ายต่างสถาบัน เพื่อนำชุดความรู้จากเวทีดังกล่าวกลับไปพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กรและสังคมต่อไป


นี่คือห้วงเวลาที่ผมต้องรับผิดชอบในเวทีครั้งนี้ ที่เหลือคือการส่งต่อไปยังวิทยากรท่านอื่นๆ เช่น ผศ.ดร.ฉลอง พันธ์จันทร์ อดีตรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มาบรรยายเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "หลักธรรมกับการดำเนินชีวิตและกิจกรรม"


ผลการประกวดโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ระดับอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา 2558

รางวัลชนะเลิศ

โครงการ/กิจกรรม

สถาบัน/องค์กร

ชนะเลิศ

โครงการโฮมฮัก ถักทอสายใยจากวัยใสสู่วัยสูงอายุ ปี 2 (HOME HUG 2)

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

รองชนะเลิศ อันดับ 1

โครงการคุณธรรมจริยธรรม Street ARCH

สโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์(มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

รองชนะเลิศ อันดับ 2

โครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ : วิศวกรรมศาสตร์ แบ่งปันโอกาสทางสังคมช่วยผู้เหลือผู้ป่วย (HIV)

สโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ชมเชย

โครงการสำนึกรักบ้านเกิด ตอน "หมู่บ้าน
ตามรอยเท้าพ่อ อย่างพอเพียง ปี2"

มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

โครงการ Gen A พลังพลเมือง อ่านเปลี่ยนเมือง ปีที่1 “พี่ชวนน้อง อ่าน เขียน สร้างสุข”

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

โครงการปลูกฝังหลักธรรมเด็กรุ่นใหม่ใส่ใจจริยธรรม

สโมสรนิสิตคณะเทคโนโลยี (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ชมเชยพิเศษ

โครงการค่ายเคมีอาสาพัฒนาเพื่อน้อง

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

โครงการพี่แนะนำ น้องทำดู นำสู่บวร

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์


หมายเหตุ : ภาพ/กราฟฟิก โดย พนัส ปรีวาสนา สุริยะ สอนสุระ

หมายเลขบันทึก: 620458เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2016 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์

-"บวร"บ้าน/วัด/ราชการ

-ขอบคุณบทความนี้ครับ..


ไวมากเผลอหน่อยเดียว

โครงการนี้เข้าปีที 7 แล้ว

ชื่นชมทีมทำงาน

ที่ส่งเสริมคุณธรรม

ขอบคุณมากๆครับ

ครับ
อ.เพชรน้ำหนึ่ง

บวร : บ้าน วัด โรงเรียน หรือส่วนราชการ คืออีกหนึ่งกระบวนการที่เน้นมากในกลุ่มองค์กรที่ขับเคลื่อนกิจกรรมโดยใช้ชุมชนนอกมหาวิทยาลัยเป็นฐานการเรียนรู้ โดยการมีส่วนร่วม เราก็มิได้มุ่งไปแค่เรื่องงบประมาณ แต่หมายรวมถึงทุกสิ่งอย่างที่ทุกส่วนหนุนเสริมเข้ามา ไม่เว้นแม้แต่กำลังใจ ครับ---

ครับ

ดร. ขจิต ฝอยทอง

ปีนี้เริ่มขับเคลื่อนแล้วครับ เวทีครั้งนี้ก็เหมือนทบทวนแผน และสะท้อนผลการดำเนินงานจากปีที่แล้วไปในตัว พร้อมๆ กับการลงมือวางแผนการดำเนินการ โดยจะมีเวทีกระบวนการของการพัฒนาโจทย์อย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนมกราคม 2560 ...

สรุปคือเวทีครั้งนี้ก็เสมือนการทบทวนอดีต ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท