พุทธปรัชญาเถรวาท: ความสำคัญของธาตุในฐานะเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์ และพืช


ธาตุในฐานะเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์ และพืช

ความสำคัญของธาตุในฐานะเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์ และพืช

โดยนัยของธาตุ (Element) ตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์ย่อมประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ ประการคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับพุทธปรัชญา หากแต่พุทธปรัชญาเห็นว่ายังมีจิต เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญร่วมด้วยในฐานะเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตอย่างเช่นมนุษย์ ดังที่วัชระ งามจิตรเจริญ ได้อ้างว่า “ธาตุในแนวคิดของพุทธปรัชญาเถรวาทไม่ได้มีความหมายเหมือนกับธาตุ (Element) ในวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงองค์ประกอบพื้นฐานของสสาร...แต่ยังหมายถึงสภาวะบางอย่าง และพฤติกรรม หรืออาการของมนุษย์ได้ด้วย” ซึ่งคล้าย พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ที่ได้กล่าวไว้ว่า คำว่า “ธาตุ ในพระพุทธศาสนา ท่านให้คำจำกัดความว่า คือสิ่งที่ทรงสภาพของตนไว้ หมายความว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ล้วนเป็นเช่นนั้นเองตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ชีวะ หรืออาตมัน ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคล สสารทั้งหลายในโลกเกิดจากการรวมตัวกันของธาตุ ๔ ไม่มีแก่นสารที่ควรยึดมั่นว่าเป็นตัวตนหรือของตน ส่วนคำว่า ธาตุ (Element) ในวิทยาศาสตร์มีคำจำกัดความว่า คือ สสารที่ไม่อาจย่อยให้เป็นสารอื่นที่เล็กกว่า หมายความว่าธาตุต่างๆ เช่น ทอง เหล็ก เป็นสิ่งที่ไม่อาจลดทอนลงไปเป็นธาตุอื่นๆ” ธาตุ ๔ ไม่เพียงเป็นองค์ประกอบของสิ่งที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น หากแต่ยังเป็นองค์ประกอบของสิ่งที่มีชีวิตอย่างมนุษย์ สัตว์ และพืชด้วย

เห็นได้ว่า ความเชื่อในธาตุโดยทั่วไปดังกล่าวที่ยอมรับธาตุ ๔ เท่านั้นว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของมนุษย์ เป็นการยอมรับโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับเพียงสิ่งที่สามารถพิสูจน์ ได้ด้วย ผัสสะ ๕ เท่านั้น แม้จะมีกระบวนการทดลองก็ตามที ฟริตจอฟ คราปา ได้กล่าวถึงฟิสิกส์ไว้ว่า

ในฟิสิกส์ การอธิบายความหมายของการทดลองนั้นเรียกว่าแบบจำลอง (Model) หรือทฤษฎี (Theory) และความเข้าใจว่าแบบจำลองและทฤษฎีทั้งหมดเป็นประมาณการ (Approximation) นั้น ถือเป็นพื้นฐานของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์...การศึกษาปรากฏการณ์ที่จำกัดอยู่ในบางกลุ่ม อาจหมายความถึงการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของมันในขอบเขตที่จำกัดอันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทฤษฎีเป็นเรื่องของการประมาณ

ในอัคคัญญสูตร พบว่า ธาตุบางอย่างเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว เช่น น้ำ และจักรวาลก็เช่นกัน ทั้งยังเป็นเหตุทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สัตว์” ขึ้นมาอีก และด้วยการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นเหตุให้เกิดสิ่งต่างๆ เป็นลำดับสืบมา

พุทธทาสภิกขุเสนอว่า สิ่งมีชีวิตนั้นล้วนแต่มีการอิงอาศัยกันเกิดขึ้นในรูปแบบของวิวัฒนาการทางกาย ทางจิตและปัญญา ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

วัตถุคือสิ่งที่ไร้ชีวิต เช่นสสารต่างๆ ที่ยังไม่มีชีวิต ยังไม่เป็นเซลล์ที่มีชีวิต มีแต่ปรมาณู มีอณูที่ไม่มีชีวิต...มีน้ำ มีความหมักหมมในน้ำ ทำให้เกิดเป็นเซลล์ที่มีชีวิตหนึ่งๆ ขึ้นมา เรียกว่าสัตว์เซลล์เดียว...ต่อมาเซลล์เหล่านั้นเกิดรวมกันเข้าหลายๆ เซลล์เป็นหนึ่งหมู่และหลายๆหมู่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มีชีวิต จนกระทั่งมีมากมายนับไม่ถ้วน เป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมาหรือว่าเป็นต้นไม้ ...เป็นกายของต้นไม้ เป็นกายของสัตว์ เป็นกายของมนุษย์

แนวคิดของพุทธทาสภิกขุดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า จิตนั้นเกิดแต่สสารในฐานะที่เป็นมูลทำให้เกิดในแง่ของสิ่งแรกเริ่มทั้งของพืช สัตว์และมนุษย์ ซึ่งการอธิบายกระบวนการดังกล่าวของท่าน ใช้กระบวนการอธิบายจากกรอบของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าวัตถุหรือสสารก่อให้เกิดสิ่งที่มีชีวิต วัตถุเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แรกเริ่มของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งแนวคิดของพุทธทาสภิกขุดังกล่าว ในทางชีววิทยาส่วนใหญ่ก็เชื่อกันเช่นนั้น ว่าชีวิตทุกชีวิตนั้นวิวัฒนาการมาจากจุลอินทรีย์สมัยดึกดำบรรพ์ แล้วค่อยๆ วิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ซึ่งคล้ายกับราธกฤษณันที่เชื่อในวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดหรืออุบัติวิวัฒนาการ..ที่ว่าสสารวิวัฒน์เป็นจิต ซึ่งมีนัยคล้ายกับแนวคิดอิทัปปัจจยตาดังกล่าวของพุทธทาสภิกขุ

พุทธทาสภิกขุแม้มีแนวคิดว่า “อิทัปปัจจยตา” นั้นเป็นกฎที่ครอบคลุมสิ่งทั้งหลาย และยังสามารถอธิบายได้ครอบคลุมวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ด้วย โดยเห็นว่า วิทยาศาสตร์เน้นความสำคัญเพียงการวิวัฒนาการเชิงรูปธรรมเท่านั้น หากแต่อิทัปปัจจยตาในพุทธศาสนานั้นเห็นเชิงความสัมพันธ์ทั้งนามธรรมหรือจิต

มิชิโอะ คากุ (Michio Kaku) ได้กล่าวไว้ว่า “วิวัฒนาการนั้นเห็นแก่สิ่งที่มีชีวิตที่ปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างดีที่สุด บางทีการผสมผสานของมนุษย์กับคุณสมบัติเชิงกลสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นไปได้ในการอยู่รอดที่เหนือกว่า” สตีเฟ่น ฮอกิง และ เลียวนาด โมร์ดินอพ เห็นว่า การพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดจำเป็นต้องมีอุณหภูมิของดวงดาวที่ “เหมาะพอดี” แม้แต่ในอัคคัญญสูตรได้กล่าวไว้เชิงวิวัฒนาการว่า

ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านานโลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระนึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกายเที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น

สสารที่พุทธทาสภิกขุกล่าวถึงเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความสำคัญของธาตุ ในการเป็นพื้นฐานต่อสิ่งที่มีชีวิต แม้จะเป็นข้ออ้างของพุทธทาสภิกขุที่เชื่อมโยงกับพุทธปรัชญาร่วมกับชีววิทยาก็ตาม ฉะนั้นในแนวคิดอื่นก็ยังคงไม่เห็นด้วยทั้งหมดว่า ข้อเสนอที่ว่าสิ่งทั้งหลายหากปราศจากสิ่งที่ดำรงอยู่บางอย่างก่อนแล้ว สิ่งอื่นๆ จะเริ่มต้นมาจากอะไร ดังนั้นด้วยคำถามเช่นนี้จึงมีคำตอบมากมายว่า ย่อมที่จะต้องมีในเชิงอภิปรัชญา จึงมีการถกเถียงกันด้วยกรอบความคิด ๓ ประการคือ จิตนิยม วัตถุนิยม และธรรมชาตินิยม ว่าเป็นที่มาของความจริงสูงสุดด้วยกันทั้งสิ้น การอธิบายด้วยกรอบ ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นที่นิยมมากมายในการศึกษาในประเด็นต่างๆ

ความสำคัญของธาตุในฐานะเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์ และพืช นั้นย่อมเชื่อได้ว่าเป็นไปได้จริง ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในข้อเสนอว่า “มนุษย์” เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ถือได้ว่าประเสริฐสุดหรือเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุด หรือสมบูรณ์สุดก็ตามในบรรดา สิ่งที่มีชีวิต ระหว่าง สัตว์ และพืช ด้วยกันนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะร่วมกันของข้อเสนอมากมาย

มนุษย์ สัตว์ และพืชจึงต้องมีที่มาจากอะไรบางอย่างว่าเป็นพื้นฐาน การอาศัยข้อมูลจากประสาทสัมผัส อย่างวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับในสิ่งที่เป็นวัตถุหรือธาตุ ๔ หรือองค์ประกอบทางเคมีของชีวิต คืออะตอม และกระบวนการเคมีต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ มีการวิวัฒนาการอย่างยาวนานด้วยทฤษฏีการเกิดของโลกและจักรวาลที่กล่าวว่าเกิดแต่การระเบิดครั้งใหญ่ (Big bang) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักชีวดาราศาสตร์เชื่อว่าการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั่วทั้งเอกภพนั้นต้องการสิ่งต่อไปนี้คือ ๑.แหล่งกำเนิดพลังงาน ๒.ชนิดของอะตอมที่ทำให้โครงสร้างอันซับซ้อนดำรงอยู่ได้ ๓.ตัวทำลายของเหลวที่โมเลกุลสามารถเคลื่อนที่และทำปฏิกิริยาได้ และ๔.เวลาที่มากพอสำหรับสิ่งมีชีวิตในการถือกำเนิดขึ้นและวิวัฒนาการ แต่ในพุทธปรัชญาสิ่งมีชีวิตล้วนอาศัยการประกอบจากรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างกรรมไว้

ฉะนั้นการเกิดของสิ่งที่มีชีวิตจึงเป็นมวลรวมแห่งการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานทั้งในเชิงพุทธปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะมีสมมุติฐานอย่างชัดเจนของเวลาก็ตามที หากแต่มิได้หมายความว่า ในอนาคตสิ่งที่ยอมรับกันเช่นนี้นั้น จะต้องไม่แปรเปลี่ยนไป ด้วยเหตุที่ว่า ข้อสรุปดังกล่าว ย่อมอิงด้วยประสบการณ์และข้อมูลที่เป็นประจักษ์ และด้วยเครื่องมือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมามีศักยภาพเพียงแค่นี้ ย่อมทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่ทำให้สรุปได้ว่า ในขณะนี้เป็นจริงเท่านั้น

..................................

อ้างใน พระจาตุรงค์ อาจารสุโภ (ชูศรี), วิเคราะห์แนวคิดเรื่องธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาท (AN ANALYTICAL STUDY OF THE CONCEPT OF DHÂTU IN THERAVÂDA BUDDHIST PHILOSOPHY) วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๖.

หมายเลขบันทึก: 619705เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2019 04:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท