พุทธปรัชญาเถรวาท: ความสำคัญของธาตุในฐานะเป็นองค์ประกอบของโลก เอกภพ และจักรวาล


ธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาท

ความสำคัญของธาตุในฐานะเป็นองค์ประกอบของโลก เอกภพ และจักรวาล

แนวคิดทางด้านปรัชญาหรือสำนักปรัชญาได้เสนอความสำคัญของธาตุไว้หลากหลายแง่มุม ทั้งที่มา และลักษณะ คือ ในตะวันตกสมัยแรกเป็นไปในการพิจารณาโลกที่เป็นปรากฏการณ์ภายนอกดังที่ ธาเลสอ้างว่าน้ำเป็นปฐมธาตุ อแน็กซิมานเดอร์บอกว่า สสารที่เป็นอนันต์ อแน็กซิเมนิส ว่าคืออากาศ พวกไพธากอเรียนบอกว่า คือ จำนวน พวกฮีเลียติก บอกว่า คือสัต เฮราคลิตุส บอกว่าคือไฟ เอมพีโดเคลสบอกว่า ธาตุสี่ เดโมคริตุสบอกว่าปรมาณู แนวคิดของนักปรัชญาสมัยโบราณของกรีกจึงเป็นการเริ่มต้นของปรัชญาด้วยการตั้งคำถามต่อสิ่งปรากฏการณ์ภายนอก ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเรื่องปฐมธาตุของโลกคืออะไร “ความสงสัยใคร่รู้ทำนองนี้เหมือนกันกับความสงสัยของนักวิทยาศาสตร์...อาจกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์เริ่มแตกหน่อในยุคนี้”

ในส่วนปรัชญาตะวันออกที่โดดเด่นมีหลากหลายโดยสรุปกล่าวคือ อชิตะ เกสกัมพล เชื่อว่า“มนุษย์คือที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ เมื่อสิ้นชีวิต ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมผันแปรไปเป็นอากาศธาตุ” ปกุธะ กัจจายนะ มีแนวคิดว่า สภาวะ ๗ กอง คือ กองแห่งธาตุดิน กองแห่งธาตุน้ำ กองแห่งธาตุไฟ กองแห่งธาตุลม กองสุข กองทุกข์ กองชีวะ” จารวากมีแนวคิดว่า โลกประกอบด้วยวัตถุ ๔ อย่างคือ “ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม” เชนมีแนวคิดว่า ความจริงของโลกมี ๒ อย่างคือ “ชีวะและอชีวะ” โยคาจารมีแนวคิดว่า “ความจริงมีอย่างเดียวคืออาลยวิญญาณ” นยายะเชื่อว่าธาตุสี่คือ ดิน น้ำ ไฟลม เป็นสิ่งแม้ถาวรแต่เมื่อประกอบเป็นรูปร่างแล้วเป็นสิ่งไม่เที่ยง” ไวเศษิกะกล่าวว่าทรัพยะ (substance) ๙ ชนิดคือ ปฐวี อาโป เตโช วายุ อากาศ กาล เทศะ อัตตา(อาตมา) และมนัส สางขยะเชื่อว่า“ประกฤติ เป็นมูลเหตุของโลก” โยคะเชื่อในประกฤติ กับปุรุษะว่าเป็นมูลเหตุการเกิดของโลก มีมางสาเชื่อในธาตุ ๔ และเห็นว่ากฎแห่งกรรมเป็นสิ่งมีอิทธิพลเหนือทุกสิ่ง เวทานตะเชื่อว่าทุกสิ่งมาจากพรหม เป็นต้น

แม้แต่ในปรัชญาจีนอย่างขงจื้อก็ได้อธิบายการสร้างสรรค์ของจักรวาลในเชิงการวิวัฒนาการเช่นกันคือ

ก่อนที่ฟ้าและดินจะเกิดเป็นรูปร่างขึ้นมานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เลือนลางและยังไม่มีรูปร่างแน่นอนเลย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ การเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่สร้างความว่างเปล่าขึ้นมา และความว่างเปล่าก็ได้สร้างจักรวาลขึ้นมา จักรวาลได้สร้างพลังทางวัตถุซึ่งมีจำนวนจำกัดขึ้นมา สิ่งซึ่งสว่างไสวและเบาก็ได้ลอยขึ้นไปเป็นฟ้า สิ่งซึ่งหนักและแข็งอย่างมืดมนก็กลายมาเป็นดิน เป็นการง่ายที่วัตถุที่ละเอียดบริสุทธิ์จะมารวมเข้าด้วยกัน แต่เป็นการยากอย่างที่สุดที่จะทำให้วัตถุหนักๆ มืดมนรวมกันได้ เพราะฉะนั้นฟ้าจึงเสร็จสมบูรณ์ก่อนแล้วดินจึงได้มีรูปร่างขึ้นมาทันที...อย่างไรก็ตามมีธาตุ ๕ ธาตุ และเป็นที่ยอมรับกันว่าธาตุทั้งหลายได้ดำเนินไปตามระเบียบซึ่งจะสร้างหรือ “ให้กำเนิด” กันและกัน คือธาตุไม้สร้างธาตุไฟขึ้นมา ธาตุไฟสร้างธาตุดินขึ้นมา ธาตุดินสร้างธาตุโลหะขึ้นมา ธาตุโลหะสร้างธาตุน้ำขึ้นมา ฯลฯ

จากข้อเสนอของแนวคิดต่างๆ เชื่อว่า "ธาตุ" นั้นมีความสำคัญในฐานะเป็นองค์ประกอบ เป็นมูลฐานของสรรพสิ่ง หากแต่ในการรวมกันเข้า จะไม่ปรากฏลักษณะให้เห็นอย่างเด่นชัดก็ตาม ซึ่งสื่อให้เห็นความเป็นรูปธรรมและนามธรรม แต่ยังคงมีธาตุต่างๆ อีกมาก ที่เมื่อมีการรวมกันแล้วมีการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติ หรือทำให้มีสภาวะบางอย่างตามไปด้วย เช่น H2O คือ ไฮโดรเจน ๒ อะตอม กับออกซิเจน ๑ อะตอม เมื่อทำการรวมกันหรือทำปฏิกิริยาทางเคมีแล้ว จะเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำ เมื่อเป็นน้ำแล้วก็ย่อมมีคุณสมบัติใหม่ หนึ่งในนั้นคือดับกระหายได้ หรือดับไฟได้ เป็นต้น ในขณะที่ยังเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน คุณสมบัติดังกล่าวไม่มีปรากฏ

แนวคิดของจักรวาลวิทยาเชื่อว่า จักรวาลเมื่อเกิดแล้วย่อมที่จะมีวันดับ เป็นวัฏจักร และเกิดขึ้นใหม่ได้อีกจาก ๕ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ ๑ ยุคแรกเริ่ม (primordial era) ขั้นที่ ๒ ยุคที่ดาวฤกษ์เริ่มส่อง (stelliferous Era) ขั้นที่ ๓ ยุคแห่งความเสื่อมถอย (degenerate era) ขั้นที่๔ ยุคหลุมดำ (black hole era) และขั้นที่ ๕ ยุคมืด(dark era)

ในทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเอกภพได้เกิดขึ้นเมื่อ “ประมาณ ๑๔,๐๐๐ ล้านปีที่ผ่านมา และค่อยๆ วิวัฒนาการไปเรื่อยจนก่อเกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมา” ในจักรวาลวิทยาแบบอินเฟลชั่นได้อธิบายว่า “ในช่วงแรกของเอกภพมีสสารต่างๆ กระจายตัวกันอย่างสม่ำเสมอ ทั่วทั้งอวกาศ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หลุมดำเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานหรือสสารแหล่งสำคัญคือ “ภาวะเอกฐานและสสารระหว่างดวงดาวจะถูกซ่อนเร้นอยู่ภายในเส้นขอบฟ้าของหลุมดำ” และที่มีการกล่าวถึงสสารไว้ว่า

สสารซึ่งอยู่ภายในสิ่งมีชีวิตบนโลกทุกชนิดประกอบด้วยสารเคมีเพียงสี่ชนิดเป็นส่วนใหญ่คือ ไฮโดรเจน ออกซิเจน คาร์บอนและไนโตรเจน นอกจากธาตุหลักทั้งสี่รวมทั้งฟอสฟอรัสปริมาณเล็กน้อย ซึ่งจัดเป็นธาตุที่สำคัญที่สุดและจำเป็นต่อรูปแบบของสิ่งที่มีชีวิตส่วนใหญ่ร่วมกับปริมาณซัลเฟอร์ โซเดียม แมกนีเซียม คลอรีน โพแทสเซียม แคลเซียม และเหล็กที่น้อยกว่า” ในเอกภพจึงมีธาตุต่างๆ เช่นคาร์บอนซึ่งสามารถสร้างขึ้นมาโดยการสังเคราะห์จากธาตุที่เบากว่าภายในดวงดาวแล้วในที่สุดก็รวมตัวกัน...แรงในส่วนต่างๆของธรรมชาติต้องมีลักษณะที่ทำให้ธาตุที่หนักกว่าโดยเฉพาะคาร์บอนสามารถเกิดขึ้นได้จากธาตุพื้นฐาน และยังคงเสถียรต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อยหลายพันปี ธาตุหนักเหล่านั้นได้ถูกสร้างขึ้นในเตาเผาที่เราเรียกว่าดวงดาว...แต่การดำรงอยู่ของดวงดาวและของธาตุต่างๆ ที่สร้างขึ้นเป็นตัวเรา ซึ่งอยู่ภายในดวงดาวต้องเป็นไปในทำนองที่ในที่สุดดวงดาวบางดวงจะระเบิดแตกไป ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการระเบิดแบบแม่นยำเสียด้วยในลักษณะที่สามารถทำให้เกิดธาตุที่หนักขึ้นในห้วงอวกาศ...สิ่งมีชีวิตขึ้นกับธาตุที่ซับซ้อนกว่านี้ คาร์บอนเป็นธาตุที่สำคัญที่สุดในหมู่ธาตุทั้งหลายอันเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเคมีอินทรีย์ทั้งหมด

ส่วนสมภาร พรมทา เห็นว่าธาตุทั้งห้ารวมกับอากาสธาตุ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในเอกภพ...ปฐมเหตุของเอกภพ คือ อากาสะนี่เอง สรรพสิ่งที่มีอยู่ในเวลานี้เมื่อสาวกลับไปจนถึงที่สุดย่อมไปจบลงที่อากาสะ

พุทธปรัชญาที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายมีวิวัฒนาการจากบางสิ่งเกิดขึ้นจากความว่างและเมื่อเกิดขึ้นย่อมค่อยๆ เสื่อมและตั้งต้นใหม่ขึ้นได้อีก ดังนั้นความว่าง อาจพิจารณาว่า เป็นพลังงานบางอย่างจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์คงได้ สสารที่ค้นพบว่ามีส่วนในการก่อให้เกิดทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ยังคงเป็นส่วนหนึ่ง เพราะว่ายังปรากฏว่ามีพลังงานมืดเป็นจำนวนมาก ถึงร้อยละ ๗๓ ที่เป็นพลังงานส่วนใหญ่

สสารที่มีธาตุเป็นองค์ประกอบโดยนักวิทยาศาสตร์จำแนกเป็น ๒ ประการสำคัญ คือ ๑.วัตถุที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (heterogeneous) และ๒.วัตถุที่เป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous materials) นี้ เป็นการจำแนกด้วยกรอบความคิดของวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ ด้วยเหตุที่วิทยาศาสตร์ยอมรับเพียงสิ่งที่พิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าเป็นสิ่งที่จริง แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายฟิสิกส์ที่เห็นว่า ในธาตุ (elements) มีสิ่งที่เล็กๆ อย่างอะตอมเป็นองค์ประกอบที่เล็กลงไปเรียกองค์ประกอบพื้นฐานของสสารว่า “อนุภาคมูลฐาน (fundamental particle หรือ elementary particle) ที่ค้นพบโดย เจ.เจ.ทอมสัน หรือมีแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น ดาลตัน ที่กล่าวว่า ธาตุ (elements) ทุกชนิดย่อมประกอบด้วยอะตอม (atoms) และธาตุชนิดเดียวกันย่อมประกอบด้วยอะตอม ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมากที่ได้เสนอโครงสร้างของอะตอมว่ายังมีสิ่งที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานภายในอีกหลากหลาย เช่น ทอมสัน(Thomson) ได้เสนอแบบจำลองของอะตอมไว้ว่า อะตอมคือมวลที่มีประจุบวกและมีประจุลบฝังอยู่ทั่วไป ส่วนรัทเทอร์ฟอร์ด (Rutherford) ได้เสนอแบบจำลองของอะตอมไว้ว่า อะตอมมีนิวเคลียส (nucleus) เล็กมากประกอบด้วยอนุภาคที่มีประจุบวก และไม่มีประจุ และอิเล็กตรอน (electrons) ซึ่งมีประจุลบวิ่งรอบนิวเคลียส รัศมีวงโคจรของอิเล็คตรอนมีขนาดประมาณหมื่นเท่าของรัศมีนิวเคลียส โบร์ (Bohr) ได้เสนอแบบจำลองของอะตอมไว้ว่า อะตอมคล้ายกับระบบสุริยะ มีนิวเคลียส เหมือนกับมโนภาพของรัทเทอร์ฟอร์ด แต่มีการจัดเรียงอิเล็กตรอนในระดับต่างๆ ด้วยพลังงานที่ต่างกัน และมีวงโคจรเป็นรูปวงกลมหรือวงรี และในปัจจุบันแบบจำลองที่ยอมรับกันว่าเป็นอนุภาคมูลฐาน มี ๓ กลุ่มคือ

๑. กลุ่มอนุภาคมูลฐานของสสารเรียกว่าเลปตอน

๒. กลุ่มอนุภาคมูลฐานของสสารเรียกว่าควาร์ก

๓. กลุ่มอนุภาคพาหะของแรง ๔ แรง

แต่กระนั้นก็ตามย่อมสนับสนุนด้วยกันว่า “ธาตุ” ที่นักปรัชญาอย่างเดโมคริตุส นักปรัชญากรีกที่กล่าวว่า “อะตอม” ที่แบ่งแยกออกไม่ได้อีกแล้ว ย่อมผิดไปด้วยจากข้อเสนอของนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน

แนวคิดของวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องวัตถุนิยม ที่พิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์จากประสาทสัมผัสทั้ง ๕

ประเด็นในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่า “ธาตุ” เป็นเพียงกรอบบางอย่างที่ยังมีสิ่งที่ “ธาตุ” ได้ห่อหุ้มไว้ อาจกล่าวเบื้องต้นในที่นี้ได้ว่า “ธาตุ” ในขณะนี้เป็นเช่นเปลือกที่ห่อหุ้มสสารหรือพลังงาน ภายในบางอย่างเอาไว้ แม้ในปัจจุบัน ปี ค.ศ.๒๐๑๒ จะมีการค้นพบอย่างอนุภาคฮิกส์โบซอน (higgs bosson) ว่าเป็นอนุภาคพระเจ้า ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เล็กดังที่ ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ และ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ฮิกส์โบซอนอนุภาคพระเจ้า จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติครั้งใหม่” ไว้ว่า “มีการค้นพบอนุภาคตัวใหม่ที่ CERN จากเครื่องเร่งอนุภาค LHC และได้รับการยืนยันจาก ๒ กลุ่มการทดลองที่ทำการศึกษาอย่างอิสระต่อกัน คือ CMS และ ATLAS ว่าได้ค้นพบอนุภาคใหม่ที่เป็นโบซอนที่มีมวลประมาณ 125 GeV/c2 อย่างไม่ต้องสงสัย”

ดังนั้น ธาตุบางอย่างจึงเป็นสิ่งที่เป็นธาตุมูลฐานดั้งเดิมที่มีตั้งแต่ครั้งการระเบิดครั้งใหญ่ (big bang) ว่าเป็นสสารที่สำคัญ ในขณะเดียวกันมนุษย์ยังได้ค้นคิด พัฒนาและผสมสสารบางอย่างขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน ดังตารางธาตุ มีการจัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๙๙ ตารางธาตุมีธาตุถึง ๑๑๓ แต่เมื่อเรียงตามเลขอะตอมจะมีตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๑๔ เนื่องจากธาตุที่มีเลขอะตอม ๑๑๓ ไม่เสถียร และ ๔ ธาตุสุดท้ายยังไม่มีชื่อธาตุเป็นทางการ

ตารางธาตุแบ่งออกเป็น ๑๘ คอลัมน์ ซึ่งหมายถึงหมู่ของธาตุ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ หมู่ A เป็นหมู่หลัก (representative) และหมู่ B เป็นธาตุทรานสิชั่น (transition) ตารางธาตุประกอบด้วยแถวนอน ๗ แถว (seven rows) ด้วยกัน เรียกว่า คาบ (periods) ในคาบที่ ๑ มี ๒ ธาตุ คาบที่ ๒ และที่ ๓ มีคาบละ ๘ ธาตุ คาบที่ ๔ และ ๕ มีคาบละ ๑๘ ธาตุ คาบที่ ๖ มี ๓๒ ธาตุ และคาบสุดท้ายมี ๒๗ ธาตุ และยังไม่มีสิ้นสุด

ธาตุในปัจจุบันมีการค้นพบได้ถึง ๑๑๘ ซึ่งจากตารางธาตุดังกล่าวทำให้เห็นว่า “ธาตุ” ในธรรมชาติแต่ละชนิดทำให้ตัวเองโดดเด่นจากธาตุอื่นโดยเลขอะตอมที่ไม่เท่ากันหรือแตกต่างกัน แต่ธาตุที่สำคัญอย่างโดดเด่นก็มีไฮโดรเจน ฮีเลียม ลิเทียม คาร์บอน ออกซิเจน ไนโตรเจน โซเดียม ไททาเนียม เหล็ก แกลเลียม เทคนีเทียม อิริเทียม ฟอสฟอรัส เซเลเนียม ซีเรียม พาลลาเดียม พลูโตเนียม เป็นต้น ซึ่งเป็นทั้งธาตุที่บริสุทธิ์และผสม

ธาตุดังกล่าวจึงมีความสำคัญ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามกระบวนการทางธรรมชาติในแนวคิดของวิทยาศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันนักปรัชญา หรือนักศาสนายังคงถกเถียงอย่างกว้างขวางต่อไปว่า สิ่งที่เป็นสิ่งแรกเริ่มดังกล่าวคืออะไร แต่ถึงอย่างไรก็ตามย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วเบื้องต้นว่า ธาตุนั้นมีความสำคัญแม้จะมีนัยแตกต่างกันออกไประหว่างนักปรัชญา นักศาสนาและวิทยาศาสตร์ แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ การดำรงอยู่ของธาตุนั้นเป็นไปได้อย่างไร จึงพอเหมาะพอดีที่ก่อให้เกิดฐานะของสิ่งที่มีชีวิตอย่างมนุษย์ สัตว์ และพืช ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างโลก เอกภพ และจักรวาล ก็เป็นไปเช่นเดียวกัน ทำไมจึงพอเหมาะพอดีจนสามารถดำรงอยู่ได้ จนทำให้มีการถกเถียง โต้แย้งกันอย่างหลากหลายว่า ย่อมมีบางสิ่งบางอย่าง อย่างเช่นพระเจ้าว่าเป็นผู้สร้าง หรือ ธรรมชาติเป็นสิ่งกำหนดตัวของมันเองหรือ โลกนี้ออกแบบมาด้วยเงื่อนไขด้วยการดำรงอยู่ของมนุษย์

............................................

อ้างใน พระจาตุรงค์ อาจารสุโภ (ชูศรี), วิเคราะห์แนวคิดเรื่องธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาท (AN ANALYTICAL STUDY OF THE CONCEPT OF DHÂTU IN THERAVÂDA BUDDHIST PHILOSOPHY) วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 619704เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2016 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท