​แนวพระราชดำริแก้มลิง


​แนวพระราชดำริแก้มลิง

10 พฤศจิกายน 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่าน ทรงริเริ่มโครงการก่อสร้าง “ฝายเก็บน้ำขนาดเล็ก” ให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมเรียกว่า “โครงการแก้มลิง” (Kaem Ling Project) [2] เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วม ซึ่งเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำไม่พอใช้ตลอดปีไปในตัวด้วย จึงเป็นนิมิตรหมายให้พสกนิกรชาวไทยได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย วันนี้มาดูแนวคิดพระราชดำรินี้

หลักการแก้มลิง

ทรงมีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ เพราะ “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” [3]

จากแนวคิดดังกล่าว มาสู่ “พื้นที่หน่วงน้ำ” (detention basin) ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood management) โดยสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ “แก้มลิง” เพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก กล่าวคือ การจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นบึงพักน้ำในหน้าน้ำ อันเปรียบได้กับแก้มลิง ที่เก็บน้ำเหล่านั้นจะทำหน้าที่รองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ [4]

อรรถประโยชน์จากโครงการ

เป็นหนึ่งในทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ได้ผล ที่เกิดจากแนวคิดที่ทรงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ด้วยพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ “โครงการแก้มลิง” จึงเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาวิกฤต และความเดือดร้อนจากน้ำท่วมรอบกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้เบาบางลงไปได้ โดยอาศัยเพียงแค่วิธีการทางธรรมชาติ

ในสมัยอดีตกาลมาแต่โบราณ พื้นที่บริเวณภาคกลาง ตั้งแต่บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงไปจนถึงกรุงเทพ สมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่น้ำหลาก น้ำท่วม โดยเฉพาะในฤดูฝน เพราะ เป็นพื้นที่ต่ำราบลุ่ม เป็นปัญหาที่ประสบมาแต่โบราณ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2538 จึงมีพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป จึงสามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้ [5]

นอกจากนี้ผลพลอยได้โครงการแก้มลิงได้ผสานแนวคิดอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะเข้าไปเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองให้จางลง แล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อไป

โครงการแก้มลิงมี 3 ขนาด [6]

คือขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกในเวลาต่อมา เป็นได้ทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชน

(1) แก้มลิงขนาดใหญ่ ( Retarding Basin) คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ พื้นที่เก็บกักน้ำเหล่านี้ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น

(2) แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น

(3) แก้มลิงขนาดเล็ก (Regulating Reservoir) คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง

ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิงปัจจุบัน [7]

ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล จากนั้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ เหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดในผังการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เขียวลาย ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่ว กรุงเทพ กว่า 20 จุด

โครงการแก้มลิงแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ (1) โครงการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้คลองที่ตั้งอยู่ชายทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำ ตั้งแต่จังหวัด สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร (2) ส่วนที่สอง [8] คือคลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน ทำหน้าที่เป็นคลองรับน้ำในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แล้วระบายลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร

จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน เราสามารถนำหลักการแนวคิดนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ เพราะ เป็นการบริหารจัดการน้ำให้สมดุล ท้องถิ่นพื้นที่ต่าง ๆ ในชนบท ที่มีพื้นที่กว้างขวาง มักมีปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วมขังเหมือนกัน แม้ในฤดูน้ำหลาก หรือในฤดูน้ำแล้งน้ำน้อยก็ตาม การนำหลักการแนวคิดของพระองค์ท่านไปปรับใช้ จึงสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23208 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2559, หน้า 66

[2] สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.), โครงการแก้มลิง, http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/28 & แก้มลิง, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/แก้มลิง

มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ &

[3] รู้หรือไม่ “โครงการแก้มลิง คืออะไร”, ข่าวสดออนไลน์, 20 กุมภาพันธ์ 2555, https://my.dek-d.com/angeltvxq/blog/?blog_id=10152153

[4] รู้หรือไม่ “โครงการแก้มลิง คืออะไร”, ข่าวสดออนไลน์, 20 กุมภาพันธ์ 2555, อ้างแล้ว & โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำไม่พอใช้ตลอดปี, by Dhammachard, 28 พฤษภาคม 2557, http://www.kasedtakon.com/130

[5] โครงการแก้มลิง, ความเป็นมาของโครงการแก้มลิง, เวบเรารักพระเจ้าอยู่หัว, http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=content&type=view&cat=17&id=193

[6] โครงการแก้มลิง, ความเป็นมาของโครงการแก้มลิง, เวบเรารักพระเจ้าอยู่หัว, อ้างแล้ว

[7] โครงการแก้มลิง, ความเป็นมาของโครงการแก้มลิง, เวบเรารักพระเจ้าอยู่หัว, อ้างแล้ว & ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง, ทฤษฏีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม, https://sites.google.com/site/waterinthaikub/thvsti-kar-kaekhi-payha-na-thwm/laksna-laea-withi-kar-khxng-khorngkar-kaem-ling

[8] ดู โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย,ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร, 1 กรกฎาคม 2539, http://www.rid.go.th/royalproject/index.php?option=com_content&view=article&id=479:2009-11-04-03-30-11&catid=57:2009-05-04-07-27-55&Itemid=7

หมายเลขบันทึก: 618308เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท