(150) TK : 'ผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ของ 'คนพระศรี'


หากมีผู้ที่มี TK 'เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' อีก ก็จะมีพฤติกรรมในรายละเอียดแตกต่างออกไป เมื่อรวบรวม TK ลักษณะพฤติกรรมที่ 'เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา'​ จากบุคลากรโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ทั้งหมด เราจะได้โมเดล 'ผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' ของ​โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์​เชียวนะคะ

เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ดิฉันขอทบทวนคำว่า "คุณลักษณะที่พึงประสงค์" เสียก่อนนะคะ

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กล่าวว่าคุณลักษณะ หมายถึง เครื่องหมายหรือสิ่งที่ชี้ให้เห็นความดีหรือลักษณะประจำตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าคือ สิ่งซึ่งบ่งชี้ถึงพฤติกรรมของบุคคล คุณลักษณะที่พึงประสงค์ จึงหมายถึง พฤติกรรมที่คาดหวังให้เกิดกับบุคคล ซึ่งจะต้องเป็นพฤติกรรมที่ดี และเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง

9 พ.ย.59 ช่วงนี้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ที่ดิฉันสังกัดอยู่ กำลังจัดทีมคุณภาพต่างๆ ประจำปีงบประมาณ 2560 ใหม่ เป็นการปรับจากทีมเดิมของปี 2559 ให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งทีม KM ที่ดิฉันเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีดิฉันอยู่ในทีมนี้แล้ว

วันนี้ดิฉันไปประสานงาน KM เรื่องเดิมที่ค้างอยู่ ได้รับเอกสารถอดบทเรียนฉบับหนึ่งจากคุณขนิษฐา กอแก้ว พร้อมความเห็นที่เจตนาเชิญชวนให้เปิดเอกสารดูว่า

"พี่ตู่ ถอดบทเรียนแล้วได้ TK แบบในตัวอย่างนี้ก็ดีนะคะ"

ดิฉันมองตาผู้พูด แล้วตอบด้วยสายตาว่า "ขอบคุณมาก พี่จะเปิดดูเดี๋ยวนี้ละ!" (ฮา) ดิฉันอ่านรายงานการถอดความรู้ที่เป็น TK (Tacit Knowledge) บางตัวอย่าง ความว่า

"การสอบถามข้อมูลจากผู้ป่วย Tacit Knowledge : สอบถามในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง ความสามารถในการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้การพยาบาลผู้ป่วย"

อ่านแล้วรู้สึกว่า สำหรับดิฉันนั้นมัน 'ยังไม่ถึง' เพราะไม่เฉพาะเจาะจง ใครๆ(พยาบาล)ก็ปฏิบัติเช่นนี้ทั้งนั้น รวมทั้งดิฉันด้วย เธอถามกลับมาทันควันว่า

"แล้วแบบไหนเรียกว่า 'ถึง' "

เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ดิฉันบอกให้เธอยกตัวอย่าง TK อะไรก็ได้ แล้วดิฉันจะแปลงเป็น TK ที่ 'ถึง' หรือมีความเฉพาะเจาะจงในรูปแบบของดิฉัน เธอขออนุญาตยกตัวอย่างดิฉันว่าเป็นคนชอบจดบันทึก

"พี่ตู่ชอบจด เห็นอะไรก็จดหมด บางทีก็วาดภาพด้วย"

จากตัวอย่างดังกล่าว นำมาแปลงเป็น TK ดังนี้

"พี่ตู่เป็นผู้รักการเรียนรู้ตลอดเวลา มีพฤติกรรมช่างสังเกต แม้ในสถานการณ์ปกติประจำวันก็สามารถมองหาสิ่งดีๆ ที่ควรเรียนรู้ แล้วจดบันทึกหรือเขียนเป็นแผนภาพไว้ ใช้สำหรับอ้างอิงในภายหลังได้" ละเอียดหน่อยนะคะ เจ้าตัวให้ข้อมูลเองและต้องการให้ดูดี (ฮา)

โดยแนะนำว่าเธอสามารถดูตัวอย่างเชิงประจักษ์ได้ จากบทความ '(12) อยากเรียน ป.เอกให้ประสบความสำเร็จอย่างมีความสุข เชิญอ่านทางนี้ : ตอนที่ 1 มีความมุ่งมั่น' มีประเด็นพฤติกรรมที่สะท้อน 'เทคนิควิธีที่ทำให้รักการเรียนรู้ตลอดเวลา' เช่น .. จดโน๊ตสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆ ลงในสมุดเล็กๆ ที่พกติดตัวเอาไว้ตลอดเวลา (ดังนี้)


นี่คือตัวอย่าง TK ที่มีความเฉพาะเจาะจง มีรูปแบบเฉพาะตัว หากมีผู้ที่มี TK 'เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' อีก ก็จะมีพฤติกรรมในรายละเอียดแตกต่างออกไป เมื่อรวบรวม TK ลักษณะพฤติกรรมที่ 'เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' จากบุคลากรโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ทั้งหมด ก็จะได้โมเดล 'ผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' ในรูปแบบของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เชียวนะคะ

น่าคิดนะคะ.. ถ้าดิฉันเป็นคณะกรรมการ KM ปีงบประมาณ 2560 ต่อละก็ จะถอดลักษณะของ 'ผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' ใน version โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เป็นตัวอย่างสักหนึ่งเรื่อง (ฮา)

หมายเลขบันทึก: 618306เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รออ่านเรื่องนี้เลยครับ

'ผู้เรียนรู้ตลอดเวลา' ใน version โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เป็นตัวอย่างสักหนึ่งเรื่อง (ฮา)..

มีหยอกด้วยนะคะอาจารย์ขจิต คงไม่มีโอกาสทำเอง แต่ทั้งหมดนี้เขียนเพื่อเป็นแนวทางคร่าวๆ ให้คณะกรรมการชุดใหม่ค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ สำหรับกำลังใจส่งให้เสมอมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท