คืนเหย้าชาวดิน : หนังสือที่พี่ถือมา


มาพบปะสังสรรค์กันทั้งที ไม่เพียงแค่สนองกิเลสบนฐานใจอันเป็นความรักความผูกพัน หรือ ความศรัทธา-เชื่อมั่นที่มีต่อกัน หากแต่สร้างมรรคผลคืนกลับต่อสังคมอย่างชวนคิดตาม

ย้อนกลับไปยังงานคืนเหย้าชาวดิน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2559 ที่รูดม่านปิดฉากลง เป็นการปิดตัวลงเพื่อก่อให้เกิดเรื่องราวใหม่ๆ ในหลายๆ เรื่องอย่างเกินคาดหมาย

ชาวดิน ในที่นี้ ผมหมายถึง ‘พรรคชาวดิน’ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกเป็นทางการก็คือ “กลุ่มนิสิตชาวดิน” ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนิสิตเพื่อจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่อตนเองและสังคม ประกอบด้วยสโลแกน 'ศรัทธา เชื่อมั่น' และปรัชญา 'กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า'

กิจกรรมที่ว่านั้นคือ ‘กิจกรรมนิสิต’ หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตร กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนิสิต ตามแต่พึงใจจะเรียกขาน





พรรคชาวดิน เป็นพรรคแรกที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ซึ่งยุคนั้น คือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม (มศว มหาสารคาม) โดยจัดตั้งขึ้นในยุคที่นิสิตโหยหาประชาธิปไตย หรือกระทั่งเสรีภาพที่ยึดโยงมาตั้งแต่ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 จนมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2521 ก่อนจะมายุบตัวลงเมื่อสักประมาณ 5-6 ปี

กระทั่งกลับมาจดทะเบียนใหม่ในปีการศึกษา 2559 และได้รับการประกาศให้มีสถานะเป็นองค์กรนิสิตเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559







-1-


งานคืนเหย้าชาวดินที่จัดขึ้น หลักๆ แล้ว ‘คนที่มา’ เกินครึ่งร้อยล้วนเป็นศิษย์เก่าชาวดิน ทั้งที่เป็นศิษย์เก่าจาก มศว.มหาสารคามและศิษย์เก่ายุค มมส

ขณะที่น้องๆ รุ่นปัจจุบัน มีไม่ถึงครึ่งร้อย เพราะ ‘ใหม่’ กันจริงๆ

ยืนยันว่าผมพูดไม่ผิด น้องมีไม่เยอะครับ เพราะเพิ่งรวมกลุ่มกันได้ไม่กี่วันไม่กี่เดือน

แถมยังจัดตั้งเป็นองค์กรนิสิตไม่ได้ จึงไม่ค่อยสบายใจที่จะป่าวประกาศเรียกคนเข้ามาร่วม ‘แจม’ ร่วม ‘จอย’

ที่สุดจึงมาแต่เฉพาะคน ‘มีใจ’ .... มีใจที่จะ ‘ทำกิจกรรม’ ในชื่อ ‘ชาวดิน’






งานคืนเหย้าครั้งนั้น ผมใช้วาทกรรม 2 วาทกรรมหลักเป็นตัวชูประเด็นว่า ‘คืนเหย้าชาวดิน : เก่าใหม่ในศรัทธา’ และ ‘ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้’

โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่างานนี้ ‘มหัศจรรย์มาก’

มหัศจรรย์ราวกับเป็นพรหมลิขิตที่ขีดเส้นไว้ในหลายๆ เรื่อง เช่น ทำให้คนที่ห่างหายจากกันร่วม 20 ปีได้กลับมาสวมกอดและบอกรักกันอีกรอบในแบบตัวเป็นๆ ไม่ใช่ส่งสติ๊กเกอร์กอดและหอมผ่านไลน์ผ่านเฟชบุ๊คเหมือนที่ทำๆ กันอยู่ในทุกวัน

และนั่นยังรวมถึงการกลับมาเยือนบ้านหรือมหาวิทยาลัยฯ ในรอบ 20-30 ปีเลยก็มี





-2-


งานคืนเหย้าชาวดิน ไม่ใช่งานบันเทิงเริงรื่นเหมือนที่พบทั่วไป อะไรๆ ก็ยังคงมีกลิ่นอายความเป็นชาวดินที่เป็นนักคิดนักฝันและนักพัฒนาเหมือนเก่าก่อน

ที่สำคัญคือเป็นไปอย่างเรียบง่าย สอดรับกับวาทกรรมที่ผมเคยเขียนและพร่ำพูดจนติดหูน้องๆ ชาวดิน หรือกระทั่งนักกิจกรรมอื่นๆ ในยุคหนึ่งว่า ‘เรียบง่าย...แต่งดงาม’

ทุกอย่างเน้นความง่ายงาม แต่ก็ยืนยันว่าทำกันด้วยใจและมากันด้วยใจ !

ความเรียบง่ายแต่งดงามที่ว่านั้นซ่อนตัวในมุมนิทรรศการเล็กๆ ทั้งภาพเก่าเล่าเรื่อง- หนังสือและเอกสารเก่าๆ ในแต่ละยุค มีมุมบันทึกภาพเพื่อจารึกความทรงจำร่วมกันอีกครั้ง มีคลิปวีดีโอทวนบรรยากาศเก่าก่อน มีรำบายศรีและพาแลงแบบเรียบงาม มีเพลงที่ได้ร่วมกันร้องและเพลงที่ร่วมกันฟังในแบบของคนชาวดิน ฯลฯ

เช่นเดียวกับการแลเกปลี่ยนความรู้ความคิดห่งการผ่านร้อนผ่านหนาว ทั้งในวิถีการเรียน กิจกรรม และวิถีปัจจุบันต่อกันและกันอย่างเป็นกันเอง --

แน่นอนครับ, กันเองทั้งๆ ที่หลายต่อหลายท่านเพิ่งพบหน้ากันเป็นครั้งแรก

นี่กระมังคืออารมณ์และความหมายที่ผมพูดว่า 'ไม่ใช่ญาติ ก็เหมือนญาติขาดไม่ได้'

ไม่ได้คลานมาจากครรภ์มารดาเดียวกัน และกลับมีเลือดเนื้อวิญญาณ หรือ DNA อันเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างมหัศจรรย์





-3-


งานคืนเหย้าชาวดินครั้งนี้ เกือบทั้งปวงรุ่นพี่เอาใจแบกรับงบประมาณทั้งหมด เหมือนลงขันสร้างหนังและซื้อตั๋วมาดูหนังด้วยตนเอง แถมยังซื้อตั๋วเผื่อน้องๆ ด้วย

จริงๆ จะเรียกว่าน้องก็คงไม่ถูกนัก เพราะหากยึดเอารุ่นพี่ในยุค มศว.มหาสารคามเป็นจุดเริ่มต้น พวกเขาในยุคปัจจุบัน ย่อมอยู่ในสถานะรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่ต้องกังขา (ไม่ได้หมายถึงมีคนแก่และคนยังไม่แก่นะครับ 5555)

งานนี้เรียกแบบบ้านๆ เลยก็คือ ‘รุ่นพี่จ่ายหมด..." ประหนึ่งรุ่นพี่ปิดธนาคารมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

อ้อ ! จ่ายหมดแล้วยังไม่หนำใจ ยังมีเงินมอบเป็นเงินก้นถุงให้ทายาทใหม่ได้นำไปใช้เป็นเสบียงเลี้ยงฝันอีกต่างหาก ---

(กรี๊ดๆๆๆๆๆๆๆๆ.....ปกติผมไม่กล้ากรี๊ดอะไรง่ายๆ หรอกนะครับ)

นอกจากนี้แล้ว ในวันนั้นรุ่นพี่ก็มิได้มากันมือเปล่า หลายต่อหลายท่านถือหนังสือมาท่านละเล่มสองเล่ม

พี่บางคนไม่ถือมาก็มาซื้อเอาหน้างานนั่นเลย

ผมเรียกกิจกรรมนั้นว่า ‘หนังสือที่พี่ถือมา’

กิจกรรมนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ผมแค่แชร์ความคิดว่าหากพี่ๆ สะดวกก็อยากให้นำหนังสือมาคนละเล่มสองเล่มเพื่อบริจาคเข้าสำนักวิทยบริการของมหาวิทยาลัยฯ เสมือนการนำกับมากราบสักการะสถาบันที่ประสิทธิประสาทวิชาให้แต่ละท่านนั่นแหละ

บางคนถือมาเล่มสองเล่ม บางคนไม่ถือมาก็ไม่ผิด
บางคนขนมาเป็นยี่สิบสามสิบเล่มเลยก็มี โดยเฉพาะ (นกกวี) สัญญา พานิชยเวช บก.ใหญ่เจ้าสำนักโรงนาบ้านไร่สำนักพิมพ์ แทบจะยกมาทั้งโรงพิมพ์เลยทีเดียว

สรุปคือ หนังสือที่พี่ถือมานั้น พี่ๆ ส่งมอบให้น้องๆ ได้พิจารณาใช้ประโยชน์ตามอัธยาศัย จะไม่มอบให้กับสำนักวิทยบริการก็ได้ จะเก็บไว้อ่านเองก็ไม่ผิด หรือจะส่งมอบไปยังส่วนอื่นๆ ในวิถีจิตอาสาของนักกิจกรรมก็สุดแท้แต่น้องๆ จะเห็นควร




-4-

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ภารกิจดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เนื่องเพราะวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 (ประธานพรรค) นายณัฐพล ศรีโสภณ และคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 2 ท่าน (นายปฏิภาณ ประทุมวันและนางสาวสุมาลี พันธุ) ได้นำหนังสือจำนวนหนึ่งไปส่งมอบให้กับสำนักวิทยบริการ

นี่คือแบบฉบับคนชาวดินที่จัดงานอะไรสักอย่างมันต้อง ‘‘บันเทิงเริงปัญญา’

และสำคัญคือ ‘เรียบง่ายแต่งดงาม’ เพราะไม่ใช่แค่การสังสรรค์พบปะกันเฉยๆ หากแต่เป็นมรรคเป็นผลต่อคนอื่นเหมือนเช่นปรัชญาของพรรคชาวดินที่ประกาศไว้อย่างหนักแน่นและยาวนานว่า ‘กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า’

ครับ-มาพบปะสังสรรค์กันทั้งที ไม่เพียงแค่สนองกิเลสบนฐานใจอันเป็นความรักความผูกพัน หรือ ความศรัทธา-เชื่อมั่นที่มีต่อกัน หากแต่สร้างมรรคผลคืนกลับต่อสังคมอย่างชวนคิดตาม

ถึงแม้จะน้อยนิดนัก แต่ก็ถือว่ายิ่งใหญ่และทรงคุณค่าเ
สมอ ---





หากแต่ในมุมของผมนั้น ผมไม่รู้หรอกว่านิสิตรุ่นปัจจุบันจะเข้าใจวิถีคิดเช่นนี้แค่ไหน ทั้งการให้จากพี่ถึงน้อง การให้จากศิษย์เก่าสู่สถาบัน การแบ่งปันสูู่อื่นบนฐานคิดจิตอาสา หรือการพัฒนาชีวิตผ่านการอ่าน รวมถึงการบ่มเพาะสู่การเรียนรู้ให้นิสิตได้ติดต่อประสานงานส่วนต่างๆ ในมหาวิทยาลัยฯ

เช่นเดียวกับการแฝงแนวคิดว่าเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว พวกเขาจะเผยแพร่ 'หนังสือที่พี่ถือมา' อย่างไร

ผมว่าทั้งปวงมีโจทย์ให้เรียนรู้และคิดตามเสมอ ...





หมายเลขบันทึก: 618295เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านเนื้อหาที่น้องพนัส เขียนแล้ว รู้สึกมีความสุขใจมาก
พี่เป็นชาวดิน คนหนึ่ง รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันปลูกต้นกล้าชาวดิน ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในความเป็นชาวดินของพวกพี่ๆ เราร่วมมือรวมใจกันอย่างเหนียวแน่น ไม่มีการแบ่งแยกด้วยสถานะและชนชั้นใดๆ ไม่เคยมีใครแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของพรรคชาวดิน และไม่เคยมีใครแสดงตนว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในพรรคชาวดิน พวกเราอยู่กันอย่างพี่และน้อง คอยช่วยเหลือจุนเจือกันทุกๆ อย่าง ทั้งการทำกิจกรรม การเรียน รวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย
หวังว่าน้องๆ ต้นกล้าชาวดิน รุ่นใหม่จะเติบโตอย่างมีคุณธรรม ใช้ปัญญาอย่างมีสติ สร้างความสุขความเจริญให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคม ตลอดไป

ศรัทธา เชื่อมั่น
พี่เจริญ


ความสุขไม่ได้มีอยู่แล้ว ต้องสร้างเอง ครับ การให้และการได้มีโอกาสพบกับพี่น้องคนหัวใจเดียวกันนั้นเป็นความสุข และนั่นคือความสุขที่เราสร้างร่วมกัน
ต่อจากนี้...
ก้าวต่อไป...

เราจะทำอะไร อย่างไร เดินหน้าไปสู่ทิศทางใด เป็นเรื่องที่ท้าทาย
พีงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และ พึงค้นหาความจริงแท้ ที่ไม่ต้องให้คนอื่นบอก

คนทำงานย่อมรู้เอง
ฝากไว้ว่า โลกไม่จำ คนไม่จริงครับ

ผมเชื่อเสมอว่า เราเกิดมามีภารกิจสำคัญคนละอย่างที่ต้องทำและฝากไว้ในโลกใบนี้
ว่าแต่ใครจะค้นพบและลงมือทำมันอย่างจริงจัง
มีความสุขกับการเดินทางชีวิตครับ

ศรัทธา เชื่อมัน
นกกวี

งดงามและน่าศรัทธามาก

ได้พบกัน หลังจากแยกย้ายจากไปนานๆ

เขียนได้ดีมากค่ะ ยอดเยี่ยมมาก ภาษาและเรื่องราวที่งดงาม น่าอ่านมากๆ ค่ะ ดีใจค่ะที่เราได้เกิดมามี DNA เดียวกัน เลือดชาวดินเลยเข้มข้น ^__^"


เรียบง่าย แต่งดงาม จริงๆ ครับ

ศรัทธา เชื่อมั่น

ต้น พัฒน์พงษ์ บุญเลิศ

ชอบในความเป็นครอบครัวชาวดินครับ

ศรัทธา-เชื่อมั่น

มนตรี ยาทองไชย

ชาวดิน'40

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท