​แลแหล่งคนใต้



วัฒนธรรมคือรากเหง้าของความเจริญงอกงามที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์เอาไว้ในอดีตสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมจึงกลายมาเป็นวิถีชีวิตหลอมรวมอยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา เมื่อย้อนทวนอดีตที่ปรากฏเป็นหลักฐานบันทึกไว้ให้ได้ศึกษาทั้งที่เป็นเรื่องนามธรรมไม่สามารถจับต้องได้ อย่างหลักคติธรรมในทางศาสนาที่มนุษย์ได้นำมาเป็นเครื่องเจริญสติปัญญาเพื่อไม่ให้เกิดความประมาทในการดำเนินชีวิต และในส่วนที่เป็นวัตถุธรรมที่มนุษย์สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ประการคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย อย่างการใช้ดวงตาสัมผัสศาสนวัตถุมี องค์เจดีย์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และโบสถ์ หอไตร หอระฆัง ล้วนเป็นศิลปะที่เกิดจากผลผลิตทางปัญญาของบรรพบุรุษได้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นไว้ตามความรักความศรัทธาของกลุ่มชนเหล่านั้น โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านจิตใจให้มนุษย์ได้เรียนรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์และสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ทั้งหลาย การมีความศรัทธาตามหลักธรรมทางศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตเพราะ “...การขาดระบบความเชื่อที่เป็นศาสนาจึงเป็นภัยอย่างมหันต์แก่มนุษย์ชาติ เพราะศาสนาคือสิ่งที่จรรโลงการอยู่กันของมนุษย์ในสังคม ซึ่งก็คือการจรรโลงความเป็นมนุษย์นั่นเอง.” ( ศรีศักร วัลลิโภดม.2543:85 )

ในวัฒนธรรมด้ามขวานทองของไทยถือว่าเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่เป็นภูเขานั้นมีป่าไม้นานาชนิดเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่งต่าง ๆ มีธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีพทั้งพืชและสัตว์ บนที่ราบลุ่มอันเป็นที่อาศัยทำมาหากินของมนุษย์ใช้เลี้ยงสัตว์บ้างปลูกพืชผักสวนครัวบ้าง โดยเฉพาะในถิ่นที่มีแหล่งน้ำอันอุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดอย่างเช่น ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุงและจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทะเลสาบสงขลามีสภาพทางภูมินิเวศวิทยาที่สลับซับซ้อนมาก ทั้งนี้เพราะเนื่องมาจากแหล่งกำเนิดของต้นน้ำไหลมาจากหลายลำคลองอีกทั้งยังมีปากทางแห่งสายน้ำไหลเข้าออกสู่ฝั่งทะเลอ่าวไทยในหลายพื้นที่ซึ่งส่งผลให้เกิดมีความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามตามธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์ไว้อย่างลงตัวและปากทะเลสาบถือว่าเป็นท่าเรือน้ำลึกสำคัญที่สุดในภาคใต้ ( จรูญ หยูทอง ( บรรณาธิการ ).2547:27 ) และน้ำ คือ พื้นที่ตั้งของทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบ 3 น้ำ ที่ประกอบไปด้วยน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ( นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. 2544 : 17 ) และ “...บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบมีฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ 400 มิลลิเมตรต่อเดือน ( ตุลาคม – ธันวาคม ) ดังนั้นน้ำจืดในทะเลสาบจะมีปริมาณมากที่สุดในฤดูฝนและน้อยที่สุดในฤดูแล้ง.” ( สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์.2548 : 214 )

ตามหลักฐานทางภูมิศาสตร์นั้นถือได้ว่าปักษ์ใต้ “...เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ที่แสวงหาสินค้าขายทางเรือในอดีตด้วย...ทำเลที่ตั้งภาคใต้เป็นคาบสมุทรตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยธรรม คือ จีน อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย และชวา-มลายู เป็นดินแดนที่อยู่ในเส้นทางการค้าขายทางทะเล.” ( สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์.2544 : 41 )

เมื่อมองตามรอยอดีตดูกลุ่มชนในพื้นที่คาบสมุทรที่เป็นชาวน้ำหรือชาวเรือต่างมีความชำนาญในการเดินเรือด้วยการเรียนรู้จากธรรมชาติสายลมแสงแดดแสงแห่งดวงดาวสีของเมฆหมอกที่เปลี่ยนแปรไปและคลื่นกระแสน้ำที่ไหลไป การสังเกตจากนกนานาชนิดที่บินไปมาบนท้องฟ้า การวัดระยะความห่างไกลจากการลอยลำเรือกับเกาะแก่งกลางทะเลนับว่า “...ความเชี่ยวชาญและชำนาญในการเดินเรือไปทั่วน่านน้ำเช่นนี้เองส่งผลให้ในเวลาต่อมาเกิดการนำสินค้าจากที่หนึ่งเพื่อทำการค้าขายและแลกเปลี่ยน.” ( เริงวุฒิ มิตรสุริยะ.2557 :63 ) และเกิดเมืองท่าเรือสำคัญในคาบสมุทรสะทิ้งพระมีผู้คนหลายชาติพันธุ์ต่างเดินทางไปมาค้าขายและนำวิทยาการใหม่ ๆ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สั่งสมกันตลอดมาในวิถีชุมชนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งเดียวบนผืนแผ่นดินไทยที่ใช้ชื่อว่าทะเลสาบและเป็นแหล่งทรัพยากรห่วงโซ่ทางอาหารอันสำคัญยิ่งต่อสรรพชีวิตให้ดำเนินอยู่ได้จนมาถึงทุกวันนี้และเป็นแหล่งเรื่องเล่าขานตำนานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำนานอาณาจักรลังกาสุกะ ตำนานอาณาจักรศรีวิชัย ตำนานนางเลือดขาว ตำนานนางมโนราห์ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ตำนานนครพาราณสีสะทิ้งปุระ และตำนานหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และด้วยแผ่นดินแถบนี้ได้ยื่นลงไปในทะเลจึงถูกเรียกว่าดินแดนแหลมทองหรือสุวรรณภูมิล้วนมีเรื่องเล่ามากมาย

สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญยิ่ง ที่อนุชนรุ่นหลังจักได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อสืบค้นหารากเหง้าของตนเอง โดยไม่หลงลืมกำพืดของตนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และเพื่อน้อมรำลึกถึงความกตัญญุตาทิคุณต่อบรรพบุรุษและไม่ลืมบุญคุณของแผ่นดินที่ให้เกิดมาสำนึกรักบ้านเกิด ของตนเอง

ดังนั้น บทความนี้จึงถือว่าเป็นการเปิดประตูสู่คาบสมุทรสะทิ้งพระเพื่อบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมวิถีชีวิตคนบนคาบสมุทรดังกล่าวและถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพของมวลนิสิตในหลักสูตร กศบ. สังคมศึกษา เพื่อให้มีความสนใจใฝ่รู้และได้ร่วมกันทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นปักษ์ใต้นั้นแล.

...............................................

บรรณานุกรม

จรูณ หยูทอง. ( บรรณาธิการ ) . (2547 ). ปากคำคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา. โครงการเครือข่ายเพื่อการการเรียนรู้ชุมชนและท้องถิ่น ฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว . (2544 ). อนุทินทะเลสาบ. กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ.

เริงวุฒิ มิตรสุริยะ. (2557 ). “ อุษาคเนย์.” ประวัติศาสตร์อาเซียน ฉบับประชาชน. กรุงเทพ ฯ : ยิปซี.

ศรีศักร วัลลิโภดม. ( 2543 ) . มองอนาคต : บทวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางประเทศไทย / ศรีศักร วัลลิโภดม , เอกวิทย์ ณ ถลาง และนิธิ เอียวศรีวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 5 . กรุงเทพ ฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา .

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ . ( 2544 ). โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา. กรุงเทพ ฯ : กองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว. ).

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ . ( 2548 ). รักทักษิณ .กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ .

หมายเลขบันทึก: 617924เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2016 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท