ความทรงจำ เป็นชาวนาเมื่อเยาว์วัย


เครดิตภาพ..จากใน internet ขออภัยที่หาที่มาไม่เจอ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ

ภาพความทรวงจำ ..พี่คนโตบังคับรถไถนาเดินตาม ไถพลิกหน้าดินตลบเรียงเป็นแนวยาว พวกเราเด็ก ๆ เดินตามรถเพื่อคอยจับปลา พวกปลาไหล ปลาช่อน ปู กบ เขียด ความสนุกอยู่ตรงการไล่ปล้ำจับปลา แย่งกับเพื่อนๆ ใครมือไว ใครจับเก่ง ก็ได้ไป แต่ที่เหมือนกันหลังจากเหนื่อยอ่อนกันหรือรถไพหยุดพัก ยืนเรียงบนคันนาคือสภาพมอมแมม ทั้งตัว เสื้อผ้าเคลือบด้วยโคลนหัวจรดเท้า

เริ่มโตระดับประถมปลาย สามารถมีส่วนร่วมในการถอนต้นกล้า ที่เตรียมก่อนหน้านี้มัดเป็นพวง ใช้มีดคมเฉือนส่วนปลายออก ก่อนกระจายไปตามนา ทีมงานลงแขกเรียงหน้ากระดาน ดึงออกทีละสาม สี่ต้น บรรจงฝังรากลงใปในโคลนผ่านการไถคราดอย่างละเอียด ด้วยระยะห่างที่เหมาะสม

แล้วต้นข้าวก็เริ่มชูช่อแทงใบ แล้วก็เริ่มสูงขึ้น ใบข้าวอ่อนสีเขียวจะกลายเป็นคลื่อนไหวเป็นคลื่นจังหวะดนตรี เมื่อลมพัดผ่านเป็นจังหวะๆ ในระหว่างนี้ต้องคอยรกหญ้าเป็นระยะ เพราะการเจริญเติบโตไม่ได้มีเพียงแค่ต้นข้าว ต้นหญ้าก็โตมาป็นเพื่อนด้วยเช่นกัน ต้องคอยตรวจตราคันนาก็เป็นรูจากการเจาะขุดรูของหนู ปู รวมถึงเจ้าตูบที่ขูดหาหนู ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้

ปลายๆ เดือนตุลา เริ่มๆ กันยายน ต้นข้าวเริ่มชูช่อ ออกรวง ช่วงระยะปลายฝน ท้องฟ้า จะสีฟ้าเป็นพิเศษ แมลงปอ ตั๊กแตน แมลงชนิดต่างๆ ชอบบินเล่นคลื่นลมและแสงอาทิตย์ และแล้วพวกนกไล่จับแมลงก็บินตามมา

รวงข้าวสีเหลืองโน้มคอลงมา เคลื่อนไหวเป็นจังหวะช้าๆ เป็นจังหวะที่ลมหนาวจะเริ่มเข้ามา มนุษย์ที่ไร้ชีวิตที่เราเรียกว่าหุ่นไล่กา จะเริ่มมายืนทำหน้าที่คอยไล่นก สิ่งกังวลสุดคือการเกิดพายุ เพราะต้นข้าวที่ถ่วงด้วยรวงเมล็ด จะนอนราบกับพื้น โชคดีก็นอนซ้อนๆ ไป โชคไม่ดีก็แนบนิ่งบนโคลนบนน้ำ ต้องรีบพยุงมัดกอรวม เพื่อยืนขึ้นอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะได้กินข้าวงอกแทน

คน 30-40 คน จากการลงแขกเกี่ยวข้าว บางทีเจ้าหนึ่งใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวัน ชาวบ้านจะจัดสรรปฏิทินการเกี่ยวข้าวกัน วันนี้เป็นของคนนั้น วันนั้นเป็นของคนนี้ มือจับเคียวจะตวัดไปสอง สามทีได้ต้นข้าวมาเต็มมือ เหน็บเคียวได้รักแร้ มือซ้ายจับรวง มือขวาดึงใบแก่ ๆ มาทำแทนเชือกผูกรวงข้าวเป็นมัดๆ ในเวลาแค่ไม่กี่วินาที

รวงข้าวสีทองอร่ามจะถูกก่อเป็นกำแพง ไก่คู่หนึ่ง เหล้าสักขวด เจ้าแม่โพสพ ปีนี้ขอให้ได้ปริมาณเพิ่มๆขึ้น รวงข้าวแห้งกรอบกระทบแท่นไม้ เมล็ดข้าวเปลือกกระเด็นแยกออกจากขั้วอย่างง่ายดาย แล้วต้นข้าวไร้เมล็ดก็ถูกโยนออกนอกวงเป็นกองฟาง และก็เป็นสวรรค์ให้กับเด็กๆ ดั่งเช่นสนามเด็กเล่น

ใบพัดสานจากไม้ไผ่ สะบัดแรงเหวี่ยงไปมาพัดกองข้าว ทำให้เมล็ดลีบกระโดดแยกออกจากอง ข้าวดีบรรจุงลงกระสอบขาว บรรทุกขึ้นรถ เตรียมพร้อมไว้แล้วสำหรับยุ้งที่บ้านรอการเติมเต็มของเมล็ดข้าวในปีนี้ ข้าวยุ้งนี้ทำให้อุ่นใจและเพียงพอของ คนในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน.............

..............................

ภาพความทรงจำ สำหรับการทำนา ได้ผุดขึ้นมาในยามที่ข่าวราคาข้าวตกต่ำ ณ วันนี้วิธีการก็เปลี่ยนไปจากเดิม ตามยุคสมัยที่เปลี่ยน แต่วัตถุประสงค์หลักของการทำงานยังคงเป็นเพียงแค่การบริโภคเช่นเดิม และแนวโน้มที่ลดพื้นที่ทำนาลง โดยแบ่งพื้นที่ทำนาเดิมบางส่วนไปปลูกผัก ปลูกพืชอื่น เพื่อการจำหน่ายแทน ทั้งนี้เพราะการจัดการ พันธุ์ข้าวและปุ๋ยบำรุง ทำให้ปริมาณข้าวได้เพิ่มขึ้นในขณะที่พื้นที่น้อยลง

แมล็ดข้าวขาว หอมกรุ่นให้ทุกคนได้กินอิ่ม แต่ไม่เคยทำให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวได้หลุดพ้นแห่งความข้นแค้น ยิ่งทำยิ่งถลำลึกด้วยหนี้สินที่พอกพูน

“หรือเป็นเพียงวาทะกรรม ปลอบประโลมให้ ว่าเป็นกระดูสันหลังของชาติ

หรือ “ชาวนา” คือความหมาย เรียกแทนแห่งความยากไร้ ของแผ่นดิน

จะร้อยวัน ร้อยเดือน หรือร้อยปีผ่านมา ........ผู้ไม่เคยหลุดพ้น เป็นชนผู้รากหญ้า

เหมือนเคยมีคลับคล้าย คลับคลา ..ว่ามีมือโอบยื่นให้ลูกขึ้นยืนได้

แต่มีมือปีศาจ เป่านกหวีดกรีดร้อง ชี้นิ้วจิ้มตัวเองว่าเป็นคนดีระงมขัดขวาง

เชื่อทีเถอะ จะอีกร้อย หรือพันปี โซ่ตรวนความจนและหนี้สินยังคงพันธนาการ

เพราะตราบที่ ความข้นแค้นเกาะกินเลือดเนื้อคนกลุ่มหนึ่ง...จะมีคนอีกคนอ้วนพีสมบูรณ์..(เสมอ)

หรือการทำนา ไม่ควรเป็นอาชีพ แต่เป็นมรดกเพียงพอเลี้ยงชีวิน .

เพื่อการส่งออกและเป็นหนึ่ง ให้ทุนใหญ่ เกษตรอุตสาหกรรมว่ากันไป ”

บางทีข้าว เราอาจจะต้องเป็นชาวนาเพื่อการบริโภค (ภายในประเทศ) เท่านั้น ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจเพื่อการจำหนายส่งออกไปขายต่างประเทศ การได้ชื่อว่าผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่ง อาจทำให้ใครบางคนได้ประโยชน์ แต่ไม่เคยทำให้ชาวนาผู้ใช้แรง ปาดเหงื่อลืมตาอ้าปากได้เลย

กลไกตลาดไม่เคยมีตามธรรมชาติ มีแต่กลไลที่คอยถูกกำหนดจากใครบางคน (บางกลุ่ม) เพราะฉะนั้นการผลิตข้าวเพือจำหน่ายเป็นหลักของชาวนาไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอาชีพเกษตร แต่ขอให้เป็นชาวนาที่เพื่อการบริโภค และเหลือพอจำหน่ายให้พอการบริโภคภายในประเทศเป็นพอ อย่างเผื่อแผ่ไปคนต่างประเทศเลย

แล้วให้ระบบการส่งออกข้าวจำหน่ายต่างประเทศเป็นหน้าที่ของ โรงสี บริษัทใหญ่ ๆ ดำเนินการทำนา ปลูกข้าว ในรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ เพื่อการส่งออกต่างหากเอา

เครดิตภาพ :

หมายเลขบันทึก: 617690เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2016 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2016 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท