การเพิกถอนสิทธิผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน


เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีนิติกรหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ได้มาส่งสำนวนคดีแพ่งให้ว่าต่างกรณีบริษัทเอกชนถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐

นิติกร ที่มีอำนาจหน้าที่ในการรับสำนวนคดีแพ่ง ได้ตรวจสอบสำนวนเบื้องต้นแล้ว ปรากฏว่า สำนวนคดีดังกล่าวมีความบกพร่อง กล่าวคือ สำนวนขาดเอกสารสำคัญหลายประการ จำเป็นต้องขอให้นิติกรคนดั่งกล่าวนำสำนวนคืนไปก่อน เพื่อรวบรวมเอกสารให้สมบูรณ์ครบถ้วน

ปัญหาจึงมีว่า นิติกรมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสำนวนคดีแพ่ง กรณีถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนอย่างไรบ้าง ?

เห็นว่า เนื่องจากการดำเนินคดีภาษีศุลกากร กรณีถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ มีเอกสารใช้ประกอบการพิจารณาจำนวนมาก และตามกฎหมายดังกล่าวมีการนับอายุความแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป เมื่อได้รับสำนวนคดีจากตัวความแล้ว นิติกร ของสำนักอำนวยการ สำนักงานคดีภาษีอากร จึงได้จัดทำคู่มือการตรวจสอบสำนวนเบื้องต้นในคดีภาษีศุลกากร กรณีถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐

สาเหตุที่ต้องให้พนักงานอัยการดำเนินคดี เนื่องจากในกรณีผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ได้ให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดหรือบางส่วนได้

หากผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนถูกสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ได้รีบแจ้งการประเมินภาษีอากรจากกรมศุลกากรแล้ว ไม่ชำระภาษีอากรให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย กรมศุลกากร จะเป็นหน่วยงานที่จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการว่าต่างคดีให้ คือ การฟ้องเรียกค่าภาษีอากร

ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่พอใจ ในการประเมินภาษีอากรของเจ้าหน้าที่ประเมิน จึงอุทธรณ์การประเมิน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว แต่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงนำคดีมาฟ้องศาลภาษีอากรกลาง กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็จะส่งเรื่องมาให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้

หลักเกณฑ์การตรวจสอบสำนวนเบื้องต้น มีหลักเกณฑ์พอสรุป ได้ดังนี้

1. การตรวจสอบอายุความและระยะเวลาครบกำหนดยื่นคำให้การ

ตรวจสำนวนเบื้องต้นว่า คดีขาดอายุความเมื่อใด ในกรณีว่าต่างคดี และครบกำหนดยื่นคำให้การเมื่อใดในกรณีรับว่าต่าง

กรณีว่าต่างคดี โดยปกติสิทธิที่จะเรียกอากรที่ขาดมีอายุความสิบปี นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งออก ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา ๑๐ วรรคสาม เว้นแต่กรณีที่มีการหลีกเลี่ยงอากร การฟ้องคดีต้องกระทำภายในกำหนดเวลาและอายุความตามกฎหมาย

แต่การนับอายุความในการดำเนินคดีกรณีถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐ ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร สำหรับของที่นำเข้าหรือส่งออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๕๕ ) การนับอายุความกรณีนี้จะยาวกว่าอายุความกรณีปกติ

นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังอายุความหรือระยะเวลาที่สั้นกว่าอายุความปกติ เช่น กรณีฟ้องเรียกหนี้ภาษีอากรจากบริษัทที่ได้มีการเลิกบริษัท และได้มีการ และได้มีการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว มีกำหนดอายุความ ๒ ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี(ป.พ.พ.มาตรา ๑๒๗๓)

กรณีแก้ต่างคดี วันครบกำหนดยื่นคำให้การของจำเลยคือ สิบห้าวันนับจากวันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโจทก์โดยตัวจำเลยเองหรือรับแทน และสามสิบวันนับจากวันที่รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโจทก์โดยวิธีปิดหมาย( พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.๒๕๒๘ มาตรา ๑๗,ป.วิแพ่ง ม.๗๙,๑๗๗ )

2. การตรวจสอบเอกสารทั่วไปในการดำเนินคดี

ตรวจสอบเอกสารทั่วไปที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำฟ้อง หรือ ยื่นคำให้การต่อศาลภาษีอากรกลาง ได้แก่

  • ใบแต่งทนายความ พร้อมเอกสารแนบท้ายใบแต่ง ได้แก่ คำสั่งมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ของผู้ถูกดำเนินคดี และตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของตัวความ
  • หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง พร้อมเอกสารท้ายฟ้อง
  • บันทึกสรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของสำนวนคดีนั้น ๆ

3. การตรวจสอบเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินคดี

  • บัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  • หนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พร้อมหลักฐานการรับแจ้ง
  • หนังสือแจ้งการประเมินให้ไปปฏิบัติพิธีการชำระภาษีอากร ที่ขาดให้ครบถ้วนของกรมศุลกากร พร้อมหลักฐานการรับแจ้ง
  • ใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมเอกสารแนบท้ายใบขน
  • คำแปลภาษาเอกสารต่างประเทศ
  • คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (ถ้ามี)

4. การตรวจสอบรายชื่อผู้ประสานงานคดีและพยาน

ตามปกติในหนังสือของตัวความที่ขอให้ดำเนินคดีจะระบุราชื่อผู้ประสานคดีของตัวความอยู่แล้ว แต่สำหรับรายชื่อพยานผู้ทราบเรื่องดีต้องตรวจสอบจากเอกสารในคดีตัวความที่ส่งมาให้ หรือ แจ้งให้นิติกรผู้ประสานคดีให้ตรวจสอบ ซึ่งจะมีพบยานที่จำเป็น ดังนี้

  • นิติกรประสานงานคดี
  • พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ประเมินภาษี
  • พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เร่งรัด
  • พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์
  • เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบสำนวนเบื้องต้น มีข้อปลีกย่อยอีกมาก จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะ จากปฏิบัติงานมาเป็นเวลาพอสมควร ก็จะทำให้การปฏิบัติงานมีความชำนาญมากยิ่งขึ้น

หลักเกณฑ์การตรวจสอบสำนวนเบื้องต้นดังกล่าว เป็นเพียงแนวทางของนิติกรในการรับสำนวน ซึ่งหากได้รับการเผยแพร่ คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน อันจะส่งเสริมให้หน่วยงานของเราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 617300เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท