เมตตาอย่างไรไม่สุมไฟเสน่หา


เมตตาอันเป็นองค์ธรรมหนึ่งในหลักพรหมวิหาร ๔ อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา จัดเป็นความรักประเภทหนึ่งที่กว้างขวางและเป็นคุณ ดังประโยคที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆว่า “เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก”

ชาวพุทธทราบว่าเมตตา หรือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข นอกจากจะเป็นองค์ธรรมหนึ่งในหลักพรหมวิหาร อันทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติมีธรรมประจำใจอันประเสริฐเป็นเครื่องอยู่แล้ว ยังเป็นธรรมหลักที่สำคัญมากในพุทธศาสนา เพราะเป็นธรรมที่ก่อให้เกิดกุศลธรรมต่างๆเป็นอันมากตามมา เช่น กรุณา มุทิตา ศีล ขันติ ปัญญา ฯลฯ เมตตายังก่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน เกิดการฝึกตนจนเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีต่อกันและกันอันเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาของสังคม ไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางธรรม

เพราะเมตตาสำคัญอย่างนี้ ชาวพุทธจึงควรอบรมเมตตาให้เกิด ให้มี ให้เจริญขึ้น

แต่ธรรมในโลกมีสองด้านเสมอ แม้เมตตาจะเป็นองค์ธรรมที่เป็นกุศลที่เราทุกคนควรอบรมให้มีขึ้นจนเจริญ ก็ยังต้องมีสติคอยตามระลึก ต้องมีโยนิโสมนสิการ ต้องมีการหมั่นตรวจสอบ เพื่อให้เป็นเมตตาที่มีปัญญารู้เห็นด้วยความเป็นกลางหรืออุเบกขาประกอบอยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นเมตตาที่เกิดขึ้นแล้ว อาจถูกอกุศลธรรมคือเสน่หาเข้าแทรกแซง หรือหากเมื่อเสน่หาแทรกแซงจนเกิดเป็นความหวังได้เพื่อตนแล้ว เมื่อไม่ได้สมดังที่ใจหวัง เมตตาก็อาจเสื่อมถอย จนกลายเป็นพยาบาทซึ่งเป็นธรรมที่เป็นคู่ปรับกับเมตตาไปเลยก็ได้ จึงทำให้นอกจากจะทำให้อบรมเมตตาไม่สำเร็จแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดทุกข์ทางใจ จนอาจก้าวล่วงออกมาทางกายวาจา เป็นการกระทำอันเป็นการเบียดเบียนต่อกันตามมา

ลองคิดดูเถิดว่า ถ้าเราทุกคนในสังคมต่างก็อบรมเมตตา แล้วหลายๆคนเกิดเสน่หาในตัวบุคคลเพศตรงข้ามที่เราเมตตาขึ้นมา สังคมโดยรวมจะวุ่นวายเพียงไร

ดังนั้น เราจึงควรศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่แท้ของเมตตาเพื่อจะสามารถอบรมเมตตาให้สมกับอานิสงส์ที่พึงได้ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น เพื่อให้เห็นความสำคัญของการใช้สติตามตามระลึก เพื่อไม่ให้เมตตาต้องมีอันกลับกลาย เพื่อให้การอบรมเมตตาที่เริ่มต้นด้วยกุศลฉันทะ (ความต้องการอันเป็นกุศล) ไม่ถูกเสน่หามารับช่วงต่อ รวมถึงศึกษาว่า หากเราหลงลืมจนเมตตากลายเป็นเสน่หาขึ้นมาแล้ว เราควรแก้ไขความเป็นไปในใจเราอย่างไร จึงจะสามารถกำจัดอกุศลธรรมที่เกิดสืบต่อจากเมตตานี้

เหตุที่เมตตากลับกลายเป็นเสน่หาได้ ก็เพราะความละม้าย ความใกล้เคียงกันระหว่างเมตตาและเสน่หานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เสน่หา จึงได้ชื่อว่าเป็นเหตุใกล้ของเมตตา บ้าง ศัตรูใกล้ของเมตตา บ้าง เสี้ยนในเมตตา บ้าง ตรงข้ามกับพยาบาท ที่ได้ชื่อว่าเป็นเหตุไกลของเมตตา บ้าง ศัตรูใกล้ของเมตตา บ้าง หรือ คู่ปรับกับเมตตา บ้าง

และเพราะความที่เมตตาและเสน่หาใกล้เคียงกันมากนี้ เวลาที่เสน่หาจรมาสู่ใจ เราจึงมักไม่รู้ หรือ รู้ได้ช้า ด้วยเข้าใจผิดว่าเสน่หาเป็นเมตตาเพราะต่างก็เป็นความปรารถนาดี ความปรารถนาเกื้อกูล เป็นความรักด้วยกันทั้งคู่ ธรรมทั้งสองนี้ต่างกันก็ที่ เมตตาเป็นความรักที่บริสุทธิ์ เสน่หาเป็นความรักเพื่อตน เมตตาเป็นความปรารถนาดี เป็นความเยื่อใยเพื่อความงามความเจริญแก่ชนทั้งหลาย เสน่หา เป็นความรักอิงกาม เพื่อให้ตนได้เสพกามคือความรื่นรมย์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ตัวอย่างความรักที่จัดได้ว่าเป็นเสน่หาก็เช่น ความรักของบิดามารดาที่มีต่อบุตร ความรักของสามีภรรยาที่มีให้แก่กัน เป็นต้น

สำหรับเหตุที่เมตตาสามารถกลายเป็นเสน่หาได้ก็เพราะ เมตตานั้นต้องมีการแสดงออกจึงจะเป็นเมตตาที่แท้ นั่นคือ เมื่อมีจิตเมตตาต่อใคร จึงต้องมีการกระทำออกมาเป็นรูปธรรมเสมอ โดยอาจแสดงออกทางกาย วาจา และ การพัฒนาตน ตามที่ปรากฏในหลักสังคหวัตถุ ๔ อันประกอบด้วยทาน (การให้) ปิยวาจา (การพูดจาต่อกันด้วยความอ่อนน้อม) อัตถจริยา (การขวนขวายช่วยเหลือ) และ สมานัตตตา (การมีตนเสมอ คือร่วมทุกข์สุข หรือ พัฒนาตนให้มีคุณธรรมเสมอเขา เพื่อความสุขในการคบหากัน) เป็นต้น

การมีเมตตาที่คิดแต่เพียงในใจโดยไม่มีการแสดงออกทางกาย วาจา (อันเป็นการอบรมเมตตาต่อผู้อื่น) ความพยายามในการพัฒนาตนเพื่อขจัดอกุศลธรรม (อันเป็นการเมตตาตนเอง) เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่จัดว่าเมตตาที่แท้ เป็นแต่เพียงความคิดว่าน่าเมตตาเท่านั้น เพราะไม่มีผลทำให้ผู้อื่นและตนเป็นสุขขึ้น อีกทั้งเมตตานั้นเกิดเพราะกุศลฉันทะ ซึ่งกุศลฉันทะจะบรรลุหรือดับได้ก็ด้วยการกระทำจนสำเร็จ ดังนั้น เมื่อมีเมตตา ปรารถนาให้เขามีความสุขก็เป็นเหตุให้มีการขวนขวายในด้านต่างๆ จึงต้องมีการกระทำต่างๆตามมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เสมอ

เมื่อต้องมีการกระทำด้วยเมตตาเพื่อวัตถุประสงค์คือความสุขของเขา จึงเฝ้าคิดหาหนทางว่าทำอย่างไรเขาจะมีความสุข การเฝ้าคิดหาหนทางช่วยเหลือด้วยเมตตา จำเป็นต้องคอยตามระลึกถึงฐานะ คอยสำรวมกาย วาจา ใจ เสมอ เพื่อให้เมตตาเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ ให้มีความเป็นไปคือเพื่อเกื้อกูลชนทั้งหลาย ให้ทำการคือน้อมประโยชน์เข้าไปให้เขา อันจะทำให้เห็นสภาพน่าเจริญใจของชนทั้งหลาย

หรือเมื่อเขามีทุกข์ ใจก็จะปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ด้วยกรุณาจึงต้องมีการขวนขวายช่วยเหลือ ก็จำเป็นต้องมีสติคอยกำกับด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น เราก็จะผูกพันกับความทุกข์จนกลายเป็นช่วยไปทุกข์ไป จนอาจเข้าไปผูกพันกับเขาด้วยโทมนัส ทั้งนี้เนื่องจากการที่เราคอยตามระลึกถึงใครสักคนเพื่อช่วยเหลือทำให้เรามีเขามาตั้งอยู่ในใจ ความเป็นเขาจึงจรมาปรากฏแก่จิตเสมอๆ เช่น ใบหน้า กิริยาท่าทางที่เคยเห็น คำพูดที่เคยได้ยิน ความทุกข์ที่เขามีในใจจนแสดงออกทางกายวาจา เมื่อคอยตามระลึกถึงภาพเหล่านี้ด้วยความเห็นใจหรือด้วยความคิดหาทางช่วยเหลือ ความผูกพันเกินธรรมดาจึงเกิดขึ้นได้ อันทำให้การช่วยเหลือซึ่งควรมีการเห็นทุกข์ภัย สภาพอนาถไร้ที่พึ่งของสัตว์และชนทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำเป็นปทัสถาน ก็กลับกลายเป็นเกิดความเศร้าใจไปแทน

หรือเมื่อเขาพ้นจากทุกข์ มีความสุขตามกำลัง ก็มีใจพลอยยินดีกับเขาด้วยมุทิตา ก็ต้องมีสติระลึกว่า ที่เราพลอยยินดีกับเขาด้วยนั้น เป็นเพราะได้เห็นความดี ความงาม ความเจริญของเขา และเพราะการเห็นนั้น เราจึงได้เข้าใจถึงสมบัติหรือความสำเร็จของสัตว์และชนทั้งหลาย ซึ่งในที่นี้ก็คือความสำเร็จการกระทำที่ได้ทำจบไปแล้ว ทั้งที่เราทำและที่เขานั้นเป็นผู้ทำด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การกระทำที่ได้ทำไปนั้น สักแต่ว่าเป็นการกระทำ ไม่เกิดความเห็นผิดว่าเป็นการกระทำที่เป็นตัวตนถาวร จนเรายึดไปว่าเป็นการกระทำของเรา อันทำให้ตามเสพด้วยความยินดีว่าตนเป็นคนทำ เพราะตนจึงความดีงามตามที่เห็นขึ้น ความดีงามเหล่านั้นเป็นผลงานของตน

หรือเมื่อได้ขวนขวายช่วยจนเต็มกำลังแล้ว หรือเมื่อเขาทำผิดที่ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ ก็ต้องวางใจเป็นกลาง หรือ มีอุเบกขา ด้วยการตามเห็นว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรมที่ตนทำ อันทำให้ไม่ก่อให้เกิดความเศร้าเสียใจในสิ่งที่ตนแก้ไขอะไรไม่ได้ หรือไม่ขวนขวายในทางที่ผิดธรรม

ด้วยการพิจารณาอย่างนี้ ทำให้ผู้อบรมพรหมวิหารไม่นิ่งดูดาย ขวนขวายช่วยด้วยความเข้าใจ กระทำในสิ่งที่ควรทำ ยินดีในการสละ เข้าใจถึงสภาพอันเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุปัจจัยของโลก เป็นสุขด้วยการสละโดยไม่มีความเป็นตน เป็นของตน ไม่ใช่มีตัวตนเข้าไปร่วมเสพสุขในความสุขหรือความสำเร็จของผู้อื่น

เพราะการทำงานอันเป็นไปตามธรรมใดๆที่ประสบผลสำเร็จ เราสมควรสุขใจกับความสำเร็จนั้น สุขอย่างนี้เอง ที่เรียกว่า สุขจากการให้ อันเป็นสุขที่ถูกธรรมอันทำให้ปัญญาเจริญขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการสุขจากการได้รู้ว่าจิตได้คลายตระหนี่ ได้รู้เห็นตรงตามสภาวะ สุขจากการสละอย่างนี้จึงสมควรที่จะเป็นอาหารให้แก่จิต ทั้งนี้เพราะกายนี้สามารถดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยอาหารที่ทานเข้าไป ส่วนจิตหรือใจ ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยปีติ สุข เพียงแต่ว่า เราจะหาสุขลักษณะใดมาเป็นอาหารให้แก่จิตเท่านั้น

และสุขอย่างนี้ เรายังสามารถตามระลึกถึงในภายหลังเพื่อน้อมให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้ ดังที่เรียกว่าการระลึกด้วยจาคานุสสติได้อีกด้วย

แต่หากเราไม่ ไม่น้อมลงสู่การปล่อยวาง เมื่อการระลึกถึงสิ่งดีๆที่ทำจบไปแล้วด้วยความเห็นว่าเป็นตนถาวร เป็นสิ่งที่เราทำ เป็นความดีของเราด้วยความสุข จึงเป็นการตามระลึกถึงแล้วเป็นสุขโดยไม่ใช้ปัญญา หากเป็นสุขจากการยึดถือมั่น ไม่ว่าจะยึดมั่นในการกระทำที่ดีที่จบแล้วว่าเป็นตน ยึดสิ่งที่เห็นว่าเป็นตนนั้นว่าเป็นของเรา กระทั่งตามยึดในผลคือความดีงามและความสุขที่เพิ่มขึ้นของเขา จนกลายเป็นความยึดมั่นในความดีและความยึดมั่นในผลของความดีขึ้นมาแทน

มีความเป็นธรรมดาอยู่ว่า เมื่อเรายึดมั่นในการกระทำความดีว่าเป็นของเรา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ย่อมมีความเห็นตามมาว่า เมื่อเราทำเราก็ควรได้รับผลตอบแทน เพราะเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในอะไร ก็นำความทุกข์มาให้ได้ทั้งนั้น

เพราะเมื่อได้ช่วยเขาแล้วจนเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความเดือดร้อนลดน้อยลง ไม่มีโรคภัย มีความสุขขึ้นจนเราสังเกตได้ บุคคลเมื่อพบสิ่งดีๆย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น มีน้ำเสียงที่รื่นเริงขึ้น มีสีหน้าที่อิ่มเอิบขึ้น มีผิวพรรณที่ผุดผ่องขึ้น ความเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ไม่ว่าวัตถุประสงค์ของฉันทะจะบรรลุแล้วหรือไม่ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีความสุข ยิ่งหากสามารถช่วยเหลือเขาจนสำเร็จ ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และเมื่อตามระลึกถึงความสุขของเราที่เราเห็นได้ทีไร เราก็มีความสุขใจทีนั้นกับเพราะสุขเป็นอาหารจิต จึงเป็นธรรมดาที่เราจะเสพสุขจากการตามระลึกถึงความเป็นเขาที่เลิศกว่าเดิม ความเป็นเขาจึงมาตั้งอยู่ในใจมากยิ่งขึ้น เราจึงผูกพันกับเขามากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นว่าได้มีตัวตนของเราเข้าไปร่วมเสพในความสุขของเขา จึงเกิดการปรารถนาตัวตนของเขามาเป็นวัตถุเพื่อการเสพสุขของเรา

ความรักเมตตาในเบื้องต้นจึงกลับกลายเป็นรักด้วยเสน่หาไปในที่สุด

ในชายหญิง แม้เมตตาจะกลายเป็นเสน่หาได้ก็คงไม่กลายเป็นเหตุวุ่นวาย หากทั้งสองฝ่ายมีใจตรงกัน และทั้งสองฝ่ายต่างยังไม่มีภาระผูกพันกับผู้อื่น แต่ถ้าไม่ ความเดือดร้อนก็อาจตามมาได้

หรือแม้ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีภาระผูกพัน แต่หากฝ่ายหนึ่งเกิดเสน่หาจนปรารถนาในตัวอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก แต่อีกฝ่ายไม่มีใจรักอย่างชู้สาวให้ ฝ่ายที่เกิดเสน่หาก็อาจกลายคิดน้อยใจ ว่าตนทำดีด้วยถึงเพียงนี้ ยังไม่รู้ใจกัน ยังไม่มีน้ำใจรักให้ ซึ่งนานๆไป เหตุไกลคือพยาบาทก็เกิดขึ้นแทนเมตตาได้เช่นกัน

การณ์ก็จะกลายเป็นว่า กุศลเป็นปัจจัยให้แก่อกุศล เพราะการที่ไม่มีสติคอยตามระลึกถึงถึงสภาวธรรม ไม่หมั่นตรวจสอบตนนั่นเอง

เมตตา ที่ชาวพุทธควรอบรมให้เกิด ให้เจริญ จึงต้องมีสติคอยกำกับ มีการพิจารณาคอยเกื้อหนุน เพื่อให้มีอุเบกขาร่วมด้วย เพื่อให้เมตตาธรรม เป็นธรรมที่ค้ำจุนโลกอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 616690เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2016 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2016 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุๆๆ เจ้าค่ะ..

มีดอกไม้มาฝาก มีรัก มามอบให้..เจ้าค่ะ

ขอบคุณคุณยายธีมากค่ะ

ต้องขอโทษด้วยค่ะ คำขอบคุณมาช้าถึงกว่า 5 เดือน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท