คอนเสิร์ตนกฮูก ๒๕๕๙


“โรงเรียนนกฮูก มีธรรมชาติที่ดี

Discovery learning โรงเรียนเดียวที่มี

โรงเรียนนกฮูก มีความผูกพันที่ดี

Discovery learning สร้างคนเก่งมากมาย

เมื่อเพื่อนมีปัญหา เราจะผ่านมันไปด้วยกัน

เมื่อเพื่อนมีความทุกข์ เราจะอยู่และเคียงข้างกัน

เมื่อเพื่อนมีความสุข มันแสนสุขและเริงฤทัย

เรียนดี กีฬาเด่น ดนตรีเลิศ นั่นคือ

โรงเรียนธำรงวัฒนา พัฒนาเยาวชน

เต็มไปด้วยกิจกรรมและสันทนาการ ทุก ๆ คนชอบมาโรงเรียน

โรงเรียนธำรงวัฒนา พัฒนาเยาวชน

ทุก ๆ คนมีความกล้าหาญ นี่แหละนักเรียนธำรง”

ผมเก็บกระดาษที่มีเนื้อเพลงประจำโรงเรียนของลูกสาวขึ้นมาอ่าน แล้วก็ถามเจ้าของลายมือนั้นว่า เขียนเพลงใส่กระดาษไปทำไม เจ้าตัวก็ตอบว่า จะเอาไปสอนน้อง ๆ ในโรงเรียนให้ร้องให้เป็น

นี่คือเพลงประจำโรงเรียน ที่รุ่นพี่ ป.๖ เมื่อ ๒ ปีที่แล้วแต่งขึ้นมา โดยมีคุณครู Akiko เป็นผู้อำนวยและเกื้อหนุน จนสามารถนำมาร้องในคอนเสิร์ตโรงเรียนได้เมื่อ ๒ ปีก่อน ผมยังคงจำวันนั้นได้ วันที่ผู้ปกครองนั่งฟังเพลงและมีหลายคนถึงกับน้ำตาซึม และเหงื่อตก (เพราะในห้องแสดงคอนเสิร์ตไม่สามารถสร้างความเย็นได้เท่ากับปริมาณคนที่เข้ามาร่วมฟังดนตรี) ผมเคยเขียนไว้ใน www.gotoknow.org/posts/575157

และปีนี้ก็เป็นเฉกเช่นปีก่อน ๆ ที่ทางโรงเรียนจะเปิดห้องดนตรี ให้โอกาสเด็ก ๆ ได้มาแสดงความสามารถทางด้านดนตรี เขาใช้ชื่อว่า “Ensemble Concert 2016” นั่นคือ คอนเสิร์ตเป็นฝูง


เด็กใช้เวลาช่วงว่างจากการเรียนมาฝึกซ้อมกันเป็นคู่ ๆ ชุด ๆ เชื่อไหม ว่าพวกเขาซ้อมกันตั้งแต่เปิดเทอมช่วงแรก ๆ กันเลยทีเดียว น้องจ้าของผมเริ่มซ้อมเป่าขลุ่ยในเพลงประกอบการ์ตูนญี่ปุ่นที่แสนหวาน เริ่มร้องเพลงฝรั่งโบราณที่พ่อก็ชักงงว่ามันไปฟังมาจากที่ไหน เธอเริ่มให้พ่อฟังเพลงเพราะ ๆ ที่ไม่เคยคุ้นหูใน youtube บ่อย ๆ ตามมาด้วยการนั่งซ้อมอูเค่ที่บ้านและที่โรงเรียน มานั่งเล่นให้พ่อฟังในรถขณะไปส่งที่โรงเรียนทุกเช้าต่อเนื่องกันมาเกือบเดือน เธอบอกว่า เธอและเพื่อนได้ไปออดิชั่นมา และครูบอกว่า ให้นำมาเล่นในคอนเสิร์ตได้

นี่คือการสร้างอารมณ์ร่วมให้พ่อทีละน้อย ทีละน้อย

นั่นอย่างไรครับ อดีตพี่ ป.๖ เขาแต่งเพลงได้ตรงกับความเป็นจริงที่สุด เมื่อไม่ต้องเรียนคาบตอนเย็นจนเลิก ๕ โมงเย็น ไม่ต้องรีบไปเรียนคาบศูนย์แต่เช้าตรู่ ไม่ต้องรีบไปเรียนพิเศษ กิจกรรมยามว่างก็คือกีฬาและดนตรี ลองไปแอบเดินเล่นแถวโรงเรียนสิครับ เด็ก ๆ ที่นี่นตัวเหม็นหืนเหม็นเปรี้ยวกันแทบทุกคน

๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ ปีนี้ นอกจากเป็นวันสุดท้ายในชีวิตราชการของหลาย ๆ คน มันยังเป็นวันสุดท้ายของภาคการศึกษาแรกของเด็กนกฮูก และ “Ensemble Concert 2016” ก็ถูกจัดขึ้นในห้องดนตรีเล็ก ๆ ห้องประจำแห่งนั้น

เด็กที่บ้านผมเริ่มมีอาการตื่นเต้น อยากให้ถึงวันศุกร์มาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน และถึงพี๊คก็เมื่อเย็นวันพฤหัสก่อนการแสดง เธอและเพื่อน ๆ ต่างกุลีกุจอจัดห้องการแสดงกันดูชุลมุน เก้าอี้ถูกยกเข้าห้องแสดงและจัดอย่างมีระเบียบ ซึ่งแน่นอนว่า จัดมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะห้องขนาดเท่าสิงโตฝูงหนึ่งดิ้นได้ ต้องรองรับปริมาณนักเรียนที่มาแสดง มาชม และพ่อแม่ที่มาร่วมดูอีก น่าสนใจมากว่าพวกเขาจะจัดการกันอย่างไร

ก่อนเวลาแสดงราวครึ่งชั่วโมง พ่อแม่เริ่มมาออกันที่หน้าห้องดนตรี

ถึงเวลาเปิดห้อง ผมรีบเข้าเป็นคนแรก เพื่อที่จะได้จับจองที่นั่งสบาย ๆ และบรรยากาศแรกที่รับรู้ได้จากการเข้ามาในห้องก็คือ “กลิ่นเปรี้ยว” หรืออาจจะเป็นเพราะผมนั่งบนพื้นกับเด็ก ๆ จึงได้กลิ่นแรงเป็นพิเศษ ลองหันมาถามเมียและเพื่อน ๆ ที่นั่งเก้าอี้ ก็แสดงสีหน้าคล้าย ๆ กันเป็นการตอบคำถาม


แม่เจ้า ไอ้ลูก ๆ ของพวกเรามันสร้างกลิ่นได้ถึงขนาดนี้ นั่นแสดงว่า ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย มันคงวิ่งสร้างเหงื่อกันมากมาย ปล่อยเวลาให้แบคทีเรียได้หมักและสร้างกลิ่นออกมาได้พอเหมาะพอเจาะกับช่วงเวลาที่ต้องมารวมกลุ่มกันในห้องแอร์ในช่วงบ่ายแก่ ๆ และพ่อแม่ได้มาร่วมกันดม ขอ “แม่เจ้า” อีกที

แต่เอาเหอะ เรามาโฟกัสกันที่งานแสดงคอนเสิร์ตกันดีกว่า ดีมั้ย

ว่าด้วยพิธีกร พิธีกรรม


พี่มั่นกับรัน ถูกคัดเลือกให้มาเป็นพิธีกรคู่ของงาน คู่ที่สร้างให้บรรยากาศในห้องผ่อนคลาย มุขเล็กมุขน้อยของพี่มั่นดูน่ารัก อาการเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่ของรัน เรียกรอยยิ้มได้ตลอดงาน ทั้งคู่เริ่มต้นด้วยกติกาของการร่วมงาน นั่นคือการแจ้งว่าการแสดงจะไม่มีลำดับ เขาจะใช้วิธีการจับฉลาก งานนี้ใครได้แสดงก่อนก็จะหมดความกดดันก่อน หรืออาจจะไม่หมดหากตัวเองได้แสดงหลายเพลงและต้องมานั่งรอการถูกจับฉลากได้อีกครั้ง และเรื่องที่สำคัญมาก ๆ นั่นคือความเงียบเมื่อมีการแสดง ใบเหลืองใบแดงจะถูกแจกหากผู้ชมไม่ปฏิบัติตามกติกา และจะมีคนหามออกจากห้อง หากได้ใบแดงแล้วไม่ยอมออกไป ฟังดูขึงขังและน่ากลัวยิ่งนัก และยิ่งน่ากลัวมากขึ้น เมื่อทุกคนหันไปดูที่ประตูและพบการ์ดร่างใหญ่ผิวคล้ำประจำชั้น ป.๖ ยืนคุมอยู่ ผมนึกไปไกลถึง “แจ๊ค แฟนฉัน”

เพลงประจำโรงเรียนถูกร้องขึ้นก่อนการแสดง เพื่อเป็นการบอกว่า “เริ่มแล้วนะ” เสียงเพลงก้องไปทั้งห้อง นักเรียนตัวใหญ่ตัวเล็กต่างก็ร้องได้ โดยเฉพาะเมื่อเพลงมาถึงท่อนฮุค พ่อแม่ก็ร่วมร้องด้วย เพราะได้ฟังมาระยะหนึ่งแล้ว นักเรียนใหม่ก็ร้องได้ เพราะเพื่อน ๆ เขียนเนื้อมาช่วยกันสอน กลายเป็นว่า หากใครร้องเพลงนี้ได้ คำว่าเพื่อนใหม่เพื่อนเก่าไม่มีความสำคัญอีกต่อไป

การแสดงชุดแรกที่ถูกจับฉลากได้ คือการแสดงของ ๓ สาว ฟ้า มิว และเหมย เธอทั้งสามมาร้องเพลง “I’m yours” น้องมิวเล่นกีต้าร์ อีก ๒ สาวร้องเพลงที่แสดงถึงทักษะ English tongue ได้อย่างยอดเยี่ยม


มาถึงชุดที่ ๒ ที่เจ้าพิธีกรรันถึงกับเก็บอารมณ์ไว้ไม่ได้ ทุกคนในห้องถึงกับเดาใจได้ถูกเผง ว่าคงเป็นเจ้าตัวเองที่ต้องมาแสดง ทีมนี้มี รัน ปลายฝน และจ้า เขาเล่นเพลง “Danse de la fee dragee” หากลองเข้าไปฟังใน youtube ก็จะอ๋อ เพราะมันคือเพลงของ “Nut cracker” นั่นเอง


จบชุดนี้ ก็มีการคั่นรายการด้วยการแสดงของรุ่นน้อง ป.๒ และ ป.๓ มันเป็นสิทธิ์พิเศษของความเป็นรุ่นน้องที่ไม่ต้องจับฉลาก ได้เล่นชุดแรก ๆ ทีม ป.๒ ยกห้องมาเล่นเมโลเดี้ยนเพลงจิงเกิ้ลเบล ส่วน ป.๓ เล่นเพลง “ไกลแค่ไหน คือ ใกล้” น่ารักมากครับ มันน่ารักที่สีหน้าท่าทาง ความตื่นเวที และกิริยาโล่งใจเมื่อแสดงจบ



ชุดต่อไปคือการแสดงของทีมโรงพยาบาลแอกชน ฮ่า ฮ่า ที่ผมเรียกอย่างนั้นก็เพราะว่า เจ้ามิว ป.๕ ฮาฟิซ และพี่ฮาร์ท เป็นลูก ๆ ของคนที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน พวกเขาไปซุ่มซ้อมการแสดงกันในโรงพยาบาลเอกชน ไม่รู้เหมือนกันว่าได้แสดงในโรงพยาบาลบ้างหรือไม่ แต่ผมรู้ว่า ฝีมือการเล่นกีต้าร์ของมิวและฮาร์ทดีระดับหนึ่ง และเสียงร้องของฟิซ นักร้องผู้ตื่นเวที ยื่นตรงเป๊ะประหนึ่งกำลังเคารพธงชาติ (ไม่รู้เหมือนกัน ว่าตอนเคารพธงชาติทุกเช้า มันจะยืนได้ตรงแบบตอนนี้หรือไม่ ข่าวแว่วมาว่า ไม่ ฮิฮิ) มันสะกดคนฟังในห้องได้ทั้งห้อง เพลง “ไม่เคย” สำเนียงลูกทุ่งนิด ๆ ไพเราะอย่างมีเสน่ห์ เสียงไม่หลง ไม่หล่นคีย์เลยแม้แต่น้อย


ต่อด้วยการแสดงของแขกรับเชิญจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ผู้ซึ่งถือกำเนิดมาจากโรงเรียนนกฮูกตั้งแต่ชั้นเนิร์สเซอร์รี่ “น้องหนุน” เพื่อนที่แสดงเปียโนคู่กับแป้งมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปีนี้เธอมาร้องเพลงแสดงพลังเสียงถึง ๒ เพลงในภาษาอิตาเลียน และเพลงของเยอรมัน ผมจำชื่อไม่ได้หรอกครับ รู้แต่ว่า เพลงภาษาเยอรมันมันแปลว่า “ไอ เลิฟ ยู๊”


ชุดต่อไปคือการแสดงของ ฟ่าง มั่น รัน ในเพลง “Smoke on the water” แบบว่า ตัดอารมณ์กันสุดโต่ง และมาสุดอีกโต่งหนึ่ง เมื่อ น้องเนย ทีนี่ ไอซ์ และวุฒิ ถูกจับฉลากออกมาร้องเพลง “คนมีเสน่ห์” ของพี่ป้าง งานนี้ ป้างก็ป้างเหอะ เพราะด้วยฝีมือของทั้ง ๔ คน ทำให้คนฟังในห้องนั่งฟังกันเงียบกริบ จะช่วยร้องคลอไปด้วยก็ไม่กล้า อาการลุ้นจนใจแทบไม่กล้าเต้นเป็นอย่างไร ก็ได้รู้ในคราวนี้ (แหม เว่อร์ไปนิด) เมื่อเสร็จการแสดง พี่ฮาร์ทก็ตะโกนบอกน้องทั้ง ๔ ว่า “คราวหลัง หากต้องการความช่วยเหลือจากพี่ ก็บอกได้นะน้อง” เอ๊ะ หมายความว่าไง


ชุดต่อไป เป็นการแสดงของ ป.๕ ปีของเจ้าจ้านี่แหละ เขาแสดงเพลงด้วยการเป่าขลุ่ยในเพลง “Le solie” เป็นเพลงสำเนียงญี่ปุ่น เธอบอกว่าเป็นเพลงประกอบการ์ตูนเรื่อง “Cat symphonica” เพลงนี้เป็นแนวหวานซึ้ง แต่การฟังเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่อินไปกับเพลงเท่ากับการได้ฟังที่ไปที่มาของเพลงจากลูก


อีกเพลงที่ผมชอบมาก ๆ ในการแสดงครั้งนี้ “Puff the magic dragon” ซึ่งพิธีกรนายมั่นประกาศว่า เป็นการแสดงของ ๒ พี่น้องตระกูลหอม นั่นคือ แก้มหอมและข้าวหอม ทั้ง ๒ คนเริ่มบรรเลงด้วยเปียโนไปได้ระยะหนึ่ง จู่ ๆ เจ้าออรินและรันก็วิ่งออกไปหน้าห้อง บอกว่าขอเล่นด้วย กลายเป็นเปียโน ๘ มือ และอีกเพียงอึดใจ พี่มั่น ปลายฝน และจ้าก็วิ่งออกไปสมทบ พี่มั่นเล่นไวโอลิน และ ๒ สาวเป่าขลุ่ย มันเป็น Puff ในเวอร์ชั่นที่เวทีโค้กมิวสิคอะวอร์ดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ อาจจะต้องอาย


มาถึงการแสดงต่อมา คือเพลงที่ถูกกรอกหูในรถทุกเช้า นั่นคือ “Count on me” ที่จ้ากับรันเล่นอูเค่ และแก้มหอมนั่งร้องเพลง เล่นไปเล่นมา แก้มก็บอกว่า ช่วยกันร้องหน่อยค่ะ เท่านั้นแหละ เด็ก ๆ และพ่อแม่ก็ช่วยกันร้องเสียงดังกระหึ่ม ประหนึ่งว่า รออยู่แล้ว อยากร้องร่วมด้วยเต็มที โดยเฉพาะท่อนฮุค

อันที่จริงยังมีอีก ๓-๕ ชุดที่ผมไม่ได้เขียนลงมา เพราะจำชื่อเพลงไม่ได้ มีการแสดงของน้องตัวเล็ก ๆ กับครูพี่แนน คู่ของฟ่าง แก้ม คู่ของมั่น เอม เอลลี่ และมาจบที่การแสดงสุดท้ายที่รู้สึกชื่นชมมาก ๆ คือ เฟิร์สกับรัน เรื่องนี้มีที่มา

จ้าบอกว่า เฟิร์สอยากมาแสดงด้วยมาก ๆ เลยไปบอกกับรัน เพื่อขอให้เขามาเล่นเป็นคู่ เขาเลือกเพลง “Turkish march” และไปขอออดิชั่นกับครู เมื่อครูตอบตกลง เขาก็ซ้อมกัน ๒ คนโดยที่ครูไม่ต้องเข้ามาสอนเลย และเขาทั้งคู่ก็แสดงออกมาได้อย่างดีทีเดียว ผมนี่ขนลุกซู่


สรุปว่างานแสดงคอนเสิร์ตคราวนี้ดูน่ารักตามแบบยี่ห้อเด็กนกฮูก ดูใส สดชื่น ผมเชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่ที่มานั่งดูต่างมีความสุข ผมยังมีความเชื่ออีกว่า พ่อแม่ที่เข้ามาไม่ได้ เพียงแต่ยืนมองจากกระจกนอกห้องก็รับรู้ถึงความสนุกและความสุข (แถมยังไม่ร้อนอีกด้วย ด้านนอกลมโกรก) ยัง ยังมีความเชื่ออีกเหลือเฟือ ว่าเรารู้สึกว่าลูก ๆ มีความสุขที่ได้เรียนที่นี่ พวกเขาได้แสดงออกหน้าชั้นเรียนอย่างเต็มที่ สามารถออกมาดำเนินรายการหน้าชั้นเก่งทุกคน คนที่เล่นดนตรีเก่งก็แสดงได้อย่างมืออาชีพ คนที่เพิ่งเล่นก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ฟังอย่างแนบเนียน

เสียอย่างเดียว

เหม็นเหงื่อเหลือเกิน

แต่หากจะพูดให้ดูหอมก็ได้

มันช่างหอมหึ่งรัญจวนใจยิ่งนัก

ธนพันธ์ ชูบุญ บันทึกไว้ให้น้องจ้าและพี่แป้งอ่านเมื่อยามวัยรุ่น (และเก็บไว้อ่านเองยามเกษียณ)

๓๐ ก.ย. ๕๙



หมายเลขบันทึก: 616357เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2016 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2016 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท