อหิวาต์เทียม




เป็นประเด็นร้อนกับการพบการปนเปื้อนของ "เชื้ออหิวาต์เทียม" หรือ เชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio Parahaemolyticus) ในเลือดไก่ข้าวมันไก่บริเวณเขตจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารหลายราย จากสถานการณ์นี้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ผลิตเลือดไก่อีกด้วย

พบเชื้ออหิวาต์เทียมได้ที่ไหนบ้าง?

สามารถพบเชื้ออหิวาต์เทียมได้ในสัตว์น้ำทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย ได้แก่ กุ้ง หอย ปลา และปูบางชนิด เชื้อนี้เคยระบาดครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น (ค.ศ.1950) จากการบริโภคปลาดิบชิราสุ (Shirasu) และอีกหลายๆ ประเทศ เชื้ออหิวาต์เทียมจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีเกลือ NaCl 0.5-8% เจริญได้ในช่วงอุณหภูมิ 9.5-45 องศาเซลเซียส และที่ค่า pH 5-11

ซึ่งเป็นไปได้ว่าเลือดไก่อาจจะมีการปนเปื้นเชื้ออหิวาต์เทียมได้ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตเลือดไก่ มีการใส่เกลือป่นลงไป ทำให้เกิดสภาวะที่ทำให้เชื้อนี้สามารถเจริญเติบโตได้ และอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อระหว่างการปรุงอาหาร ในเรื่องวัตถุดิบสดทะเลปนกับเลือดไก่ อีกทั้งค่านิยมและความเข้าใจผิดๆ ในการบริโภคเลือดไก่ คือ นิยมบริโภคเลือดไก่แบบนิ่มๆ และมักเข้าใจว่าเลือดไก่ได้ถูกทำให้สุกมาแล้ว จึงละเลยไม่ทำให้เลือดไก่สุกก่อนบริโภค สำหรับสาเหตุของการติดเชื้ออหิวาต์เทียมสู่เลือดไก่นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

ความปลอดภัยของผู้บริโภคอยู่ที่ไหน? มั่นใจได้อย่างไรว่าสามารถบริโภคเลือดไก่ได้อย่างปลอดภัย?

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเชื้อนี้จะเจริญเติบโตได้ในสภาวะแบบใด ดังนั้นผู้บริโภครวมไปถึงผู้ประกอบการควรตระหนักในขั้นตอนการประกอบอาหารเป็นอย่างมาก ควรแยกวัตถุดิบสดออกจากอาหารที่สุกแล้ว แยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับอาหารทะเลออกจากอุปกรณ์อื่นๆ และที่สำคัญควรปรุงอาหารโดยเฉพาะเลือดไก่ให้สุก (รวมไปถึงอาหารทะเลทุกชนิด) ที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 60 องศาเซลเซียส นานกว่า 15 นาที

อีกข้อที่ควรรู้ เชื้ออหิวาต์เทียมนี้ยังสามารถถูกทำลายด้วยกรดมะนาว (Citric acid) หรือ PH 4.4 ในเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น

คำสำคัญ (Tags): #kmpprep
หมายเลขบันทึก: 615639เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2016 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2016 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท