ไอคิโดกับการพัฒนาปัญญาฐานกาย และปัญญาทางธรรม


สองปีก่อน ผมเคยเขียนบันทึกใน gotoknow เรื่องศิลปะป้องกันตัว : หนึ่งในวิธีการเจริญสติในชีวิตประจำวันของผม เป็นการเล่าถึงระดับการฝึกศิลปะป้องกันตัวที่เรียกว่า "ไอคิโด" ที่ เราจะอินกับการคว่ำคู่ต่อสู้ลงได้ ด้วยท่าทางที่พริ้วไหว สวย สง่างาม


ถึงไอคิโดจะไม่มี แพ้-ชนะ แต่ลึกๆ แรกฝึก เวลาเราทุ่มเขาล็อคเขาก็ยังมีความลำพองคะนองใจอยู่ พอฝึกต่อมาอีกระดับสายสูงขึ้นๆ ก็จะมองเห็นว่าเป็นการฝึกเพื่อสร้างภาวะด้านใน คือความมีวินัย และความอ่อนโยน ไม่ตอบโต้ผู้อื่นด้วยความรุนแรง หากแต่เป็นกระจกสะท้อนเบี่ยงเบนแรงปะทะจากอีกฝ่าย (ตรงนี้ เริ่มจะไม่ใช้คำว่า "คู่ต่อสู้" ละ แต่มองเขาเป็นคนแบบกลางๆมากขึ้น นำแรงปะทะจากอีกฝ่าย หมุนวนกลับไปสู่การทุ่ม การล็อค การยุติลงด้วยความสงบ สันติและสมดุล ไอคิโดเริ่มเป็นวิถีการเจริญสติ)


หลักการนี้ ผมได้นำมาใช้กับชีวิตการงาน และครอบครัว ทั้งที่รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมมากขึ้นๆ




15 ปีแห่งการฝึกฝน กับสามปีของการได้สายดำ ผ่านไป ไอคิโด (Aikido) ได้กลายเป็นรูปแบบของการเจริญสติของผมแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นในโดโจ (สถานที่ฝึก) ในพื้นที่ห้องทำงานเล็กๆ หรือโรงรถที่บ้าน ผมก็จะพยายามฝึกไอคิโดเท่าที่โอกาสจะอำนวย ไม่ให้ข้อจำกัดเรื่องคู่ซ้อมที่หาได้ยากลำบาก มาเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้


โชคดีที่สมัยนี้ มีคลิปให้ดูในเน็ตเยอะแยะ คลิปเหล่านี้ รวมถึงเฟซบุ๊ค ไลน์กลุ่มสังคมไอคิโดต่างๆ มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นเหมือนติวเตอร์ให้ผมเป็นอย่างดี แต่แน่ละ ฝึกคนเดียวไม่มีทางจะเรียนรู้อะไรได้มากมาย ผมจึงต้องหาโอกาสไปฝึกตามโดโจต่างๆเท่าที่จะทำได้


อยากจะบอกคนที่รักในการเรียนไอคิโด รวมถึงศิลปะแขนงอื่นว่า อุปสรรคใหญ่ไม่ใช่ความห่างไกลจากครูบาอาจารย์ แต่เป็นความเกียจคร้าน และการต่อต้านที่มาจากกิเลสภายในตัวเราเอง


การฝึกไอคิโด เหมือนกับศิลปะอีกมากมาย ที่ 10% เป็นทฤษฎี แต่อีก 90% เป็นการลงมือทำ ทำ ทำ และทำ ยิ่งพักหลัง ผมอ่านงานเขียนในแนวเซน กับเต๋า มากขึ้น ยิ่งพบความน่าสนใจ ความลุ่มลึกของไอคิโด



อย่าง ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ อดีตวิศวกรนาซาที่มาเขียนเรื่องเซน เรื่องการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน แม้ท่านจะไม่ใช่นักไอคิโด แต่ก็มองว่า ไอคิโดเป็นปัญญาฐานกายที่สำคัญที่นำไปสู่การรู้ตัว ทั่วพร้อม การตื่นรู้ เพื่อฝึกสติและสังเกตความคิดที่แว่บเข้ามา เป็นอุบายที่ใช้ขัดเกลากิเลสตัวเราได้ แสดงว่าเราเริ่มมาถูกทางแล้ว


เรื่องปัญญาสามฐานนี่สำคัญ เป็นเรื่องที่สองปีมานี้ ผมได้ไปเรียนรู้กับเครือข่ายคนทำงานสุนทรียสนทนาเพื่อคนพิการ ทำให้เห็นว่า เราสาละวนอยู่กับปัญญาฐานคิดมากเกินไป โดยเฉพาะงานวิชาการที่เป็นอาชีพหลักทำให้ติดยึดไปที่การใช้ความรู้ ปัญญาที่มาจากการคิดไคร่ครวญ การเน้นหนักไปที่ปัญญาฐานคิด ทำให้ถูกแทรกแซงโดยกิเลสได้ง่าย เพราะกิเลสมันเกาะเนียนละออไปกับความคิดที่เรามักปรุงแต่งเสมอโดยเราไม่รู้ตัว




การกลับมารู้ตัว จึงเป็นการ Back to Basic กลับสู่การเรียนรู้พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของเรา คือ รู้กาย รู้สึกตัว รู้ลมหายใจ รู้ความเคลื่อนไหว รู้สึกถึงการสัมผัสของอีกฝ่าย รู้สึกถึงแรงที่เขาเข้ามากระทำ อ่านแรงไปด้วย ดูอารมณ์ของตัวเองไปด้วย ไม่ต้องตั้งใจว่าจะฝึกสวยไม่สวย ท่าล้มจะนุ่มนวลหรือไม่ หากฝึกด้วยจิตกลางๆ จิตโล่งๆ เป็นการฝึกให้จิตว่าง รู้ละเอียดถึงสัมผัสกายที่มากระทบ คุมความคิดได้ มีสติต่อเนื่อง เป็นปัญญาฐานกาย (Body Sensing) เป็นศิลปะป้องกันตัวขั้นสูงที่มากไปกว่าแพ้ชนะ แต่เป็นการเข้าถึงปัญญาทางธรรม หรือความคิดอันลุ่มลึกที่เกิดขึ้นตอนจิตว่าง โดยไม่มีความตั้งใจที่จะคิดเช่นนั้นมาก่อน หากแต่เกิดขึ้นจากความเข้าใจด้วยตัวเอง ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า "ซาโตริ"



รุกรับอย่างกล้าหาญ

สอดประสานวิญญาณกาย

จิตโล่ง โปร่งสบาย

สติ กาย ว่างจัดวาง


ตัวตนคนต่อสู้ หลอมรวมสู่ผู้สะสาง

รักษาเรา - เขาด้วยทาง

สันติสร้าง อย่างใสเย็น


สร้างกลมกลืน จากขัดแย้ง

ไม่ปรุงแต่ง จากตาเห็น

ใช้ใจ จัดใจเป็น

ศิลป์เกิดเช่น เห็นทางธรรม


เท่าทันเขา-เรา รู้ทั่ว

เห็นความกลัว-กล้า กระหน่ำ

จิตว่าง กระจ่างธรรม

ศิลปกรรม นำปัญญา


ทั้งหมดนี้ ภาษาพุทธว่าเป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น รู้ได้จากการปฏิบัติลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจังเท่านั้นครับ

หมายเลขบันทึก: 612648เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2016 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2016 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท