(135) Best Practice : การดูแลผู้ป่วย ‘กลืนลำบาก’ รับประทานอาหาร


เราถึงกับต้อง ‘แบ่งพูด’ ผู้ป่วยเพื่อสะดวกในการดูแลให้รับประทานอาหาร .. ผู้ป่วยเรียนรู้ได้ ปรับตัวเร็ว เราจะเสริมแรงโดยเลื่อนถาดอาหารให้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่เป็นตามนี้ ก็ให้รอสักหน่อย สำเร็จทุกมื้อ

11 ส.ค. 59 วันนี้ดิฉันเดินสายจนเหนื่อย ไปพบคุณสุทธยาที่หน่วยรับใหม่-ส่งต่อ ไปร่วมกิจกรรมตามรอย (Clinical Tracer) กับ Care Team โรคสมองเสื่อม แล้วย้อนกลับมาพบพี่ราตรี พิมพานิช พยาบาลหอผู้ป่วยจิตเวชหญิง 3 ซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรังหญิง .. นี่คือ ส่วนขยายหรือผลพวงที่พ่วงมากับรถพุ่มพวง แท้ๆ เชียวค่ะ

หอผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังหญิง ที่มีผู้ป่วยสูงอายุ สมองเสื่อม พิการซ้ำซ้อน มีพยาธิสภาพหลายโรค!!

ดิฉันโชคดีมาก ที่มาทันเวลาผู้ป่วยรับประทานอาหารเย็น เมื่อถึงหน้าตึก พี่ราตรีกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่ที่เตียงผู้ป่วย เมื่อทราบว่าดิฉันมาถึงแล้ว เธอก็หันมาร้องทักแล้วบอกให้ดิฉันรอสักครู่

“รอเดี๋ยวนะ ผู้ป่วยกำลังชัก”

อ้าว! ดิฉันเป็นพยาบาลโดยสายเลือดนะคะ เป็นพยาบาลมืออาชีพระดับชำนาญการ(นานเป็นพิเศษ) เชียวนะ จะทนรอได้อย่างไร เมื่อสิ้นเสียงสั่งให้รอ ดิฉันก็กระโดดถึงข้างเตียงผู้ป่วย แต่ไม่ทันแล้วค่ะ .. อย่าคิดมาก ผู้ป่วยหยุดชักแล้ว

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีสภาพร่างกายเสื่อมลง ตามอายุที่มากขึ้น

เมื่อผู้ป่วยปลอดภัยดีแล้ว พี่ราตรีก็จูงมือดิฉัน พามาหาผู้ป่วยกลุ่มที่กำลังรับประทานอาหารเย็นอยู่ ดิฉันเห็นแล้วรู้สึกขำจนอดหัวเราะไม่ได้ เมื่อได้พบผู้ป่วยที่เคยดูแลหลายคน คนที่เคยก้าวร้าว เอาแต่ใจ วางตัวเป็นมาเฟียในสมัยก่อน แต่สภาพในตอนนี้ต่างออกไปมาก เธอมีลักษณะแบบ ‘ไปไหนไม่รอด’ กล่าวคือ ร่างกายเสื่อมถอยจนต้องนั่งรถเข็น ใส่ผ้ากันเปื้อนคนละผืน กำลังรับประทานอาหารเย็น คนที่จำดิฉันได้ก็ร้องทักเสียงดัง พร้อมกับยกมือไหว้ คนที่จำไม่ได้ไม่ต้องพูดถึง เธอไม่รับรู้ว่าใครมา

ผู้ป่วยมีปัญหาการกลืนลำบาก (dysphagia)

พี่ราตรีบอกว่าพวกเธอเหล่านี้มีปัญหาการกลืน สำลักง่าย จึงสำลักบ่อย เมื่อสำลักแต่ละครั้งจะไอเป็นชุด กว่าจะอิ่มอาหารแต่ละมื้อก็เหนื่อยอ่อน ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล

รับประทานอาหารบดเพื่อความปลอดภัย

โภชนากรของเราน่ารักมาก บดอาหารทุกอย่างให้จนเป็นวุ้น ตัวอย่างอาหารมื้อนี้ได้แก่ ข้าวบด ไข่บด กล้วยสับหรือบด สรุปแล้วทุกอย่างสับหรือบดมาทั้งหมด

สอนวิธีกลืนที่ปลอดภัย

ธรรมชาติของอาหารที่บดผสมน้ำ คือ เมื่อเวลาผ่านไป กว่าจะส่งถึงผู้ป่วย อาหารก็ขึ้นอืดแน่นภาชนะเป็นวุ้น ดิฉันสังเกตว่าผู้ป่วยตักอาหารใส่ปากไม่เป็นคำ ตักอาหารใส่ปากรัวเร็วเหมือนวิดน้ำรดต้นไม้ .. ดิฉันแนะนำผู้ป่วยให้รับประทานช้าๆ และสร้างความมั่นใจให้ว่าจะได้รับประทานจนหมด ไม่มีใครแย่งหรือเก็บออกไปก่อน .. ไม่ได้ผลค่ะ

ทำให้อาหารไม่เกาะตัวเป็นก้อน โดยเติมน้ำอุ่นลงในอาหารเล็กน้อย

มาตรการต่อไป ดิฉันขอเติมน้ำอุ่นลงในอาหารเล็กน้อย คนให้เข้ากัน ให้อาหารเหลวมากขึ้น แต่ไม่เหลวมากจนไหลลงคอก่อนจะตั้งใจกลืน คาดหวังว่าเธอจะตักได้แค่เต็มช้อน แต่ไม่พูนออกด้านข้างจนหกเลอะเทอะและสำลักอีก .. มาตรการนี้ก็ยังไม่ได้ผลค่ะ ผู้ป่วยตักอาหารได้น้อยลง แต่รีบกลืนจนสำลัก ไอเป็นชุด พี่ราตรียืนสังเกตการณ์อยู่ รำพึงออกมาว่า

“พี่ไม่รู้จะแก้อย่างไร ตู่มีประสบการณ์กับผู้ป่วยชาย ช่วยหน่อยละกัน!!”

ตักอาหารคำเล็กๆ โดยใช้ช้อนชงกาแฟ

ยกยอกันขนาดนี้แล้ว ขอลองอีกครั้งก็แล้วกัน มาตรการที่สาม คราวนี้ดิฉันขอช้อนชงกาแฟของพยาบาลมาหนึ่งคัน ส่งช้อนให้ผู้ป่วยตักอาหาร .. คราวนี้ได้ผลนะคะ แต่ผู้ป่วยหงุดหงิด ที่ตักอาหารได้ไม่มากเท่าที่เคย (ฮา) ดูเหมือนจะมีคนหงุดหงิดอีก เมื่อพี่ราตรีบอกว่า

“อย่างนี้ อีกนาน”

จะนานก็ต้องรอ!! ไม่มีข้อกำหนดบังคับจับเวลาว่าต้องเร็ว รีบ เร่ง ผู้ป่วยตายได้ มีแต่เป้าหมายให้ผู้ป่วยปลอดภัย ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ตามสภาพ เท่านั้น!!

จัดผู้ป่วยเป็นกลุ่มตามความสามารถในการรับประทานอาหาร แล้วดูแลทีละกลุ่ม

ดิฉันปลอบใจว่า ผู้ป่วยหญิงยังดูแลรับประทานอาหารได้ง่ายกว่าผู้ป่วยชาย สำหรับผู้ปวยชาย เราถึงกับต้อง ‘แบ่งพูด’ ผู้ป่วยเพื่อสะดวกในการดูแล

‘แบ่งพูด’ ในภาษาอีสานหมายถึง การจัดเป็นกลุ่มๆ เมื่อใกล้เวลาอาหาร เราจะจัดแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ ตามความสามารถในการรับประทานอาหาร เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง เขียนเป็นแผนผังใส่ชาร์จไว้เลยนะคะ เพราะเราปฏิบัติงานเป็นเวรหมุนเวียนกัน จะได้ปฏิบัติเหมือนกันทุกคน

กลุ่มแรก ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้เองตามปกติ ก็ให้เขารับประทานอาหารเอง ไม่ต้องดูแล

กลุ่มที่ 2 รับประทานมูมมาม แย่งอาหารกัน ก็แยกไปปูเสื่อนั่งรับประทานที่สนามหญ้าหน้าตึก อาหารที่หกเรี่ยราดก็เป็นอาหารของนก ซึ่งมาเตร็ดเตร่รอคิวอยู่ก่อนแล้ว นกพวกนี้ตอบแทนน้ำใจโดยช่วยทำความสะอาดให้โดยอัตโนมัติ เราก็จัดให้ผู้ป่วยนั่งห่างกัน ‘คนละมุม’ ในระยะที่แย่งกันไม่ได้

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่ควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยวิ่งไปวิ่งมา อยู่ไม่นิ่ง ผู้ป่วยพยายามหลบหนี ในทุกสถานการณ์ หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่รับประทานอาหาร หาโอกาสตักอาหารของตนให้ผู้ป่วยอื่นอยู่เสมอ ฯลฯ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องแยกไว้ก่อน รอให้ทุกคนรับประทานเสร็จหมดแล้วจึงจัดอาหารให้รับประทาน มีเจ้าหน้าที่เฝ้าไว้จนกว่าจะอิ่ม

กลุ่มที่ 4 รับประทานมูมมาม เคยสำลักอาหาร จนหยุดหายใจมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง เราจะผูกเอวผู้ป่วยหลวมๆ ไว้กับที่นั่ง ปล่อยให้แขน-ขาเป็นอิสระ สุขสบาย วันไหนมีท่าทีสงบก็ไม่ผูกเอว พยาบาลจะนั่งต่อหน้าผู้ปวย วางถาดอาหารคั่นกลางไว้ เลื่อนถาดอาหารให้ผู้ป่วยตักรับประทานเอง เมื่อตักอาหารใส่ปากคำหนึ่ง เราจะเลื่อนถาดอาหารออกมาให้ไกลเกินเอื้อมครั้งหนึ่ง ผู้ป่วยต้องเคี้ยวอาหารให้หมด อ้าปากให้ดู จึงจะเลื่อนถาดอาหารให้ตักคำต่อไป ใช้เวลานานมาก อดทนสักหน่อย แต่ได้ผลทุกครั้งนะคะ

ผู้ป่วยเรียนรู้ได้ ปรับตัวเร็ว ถ้าผู้ป่วยตักอาหารแต่พอคำ เคี้ยวช้าๆ เราจะเสริมแรงโดยเลื่อนถาดอาหารให้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่เป็นตามนี้ เช่น ต่อรองหรือแย่งชิง เราจะเดินไปแจกยาหลังอาหารผู้ป่วยอื่นก่อนสักคนสองคน ให้รอสักหน่อย .. สำเร็จทุกมื้อ เธออดทนรอไม่ได้หรอกค่ะ หลายปีผ่านไป ทราบว่าปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มนี้เลื่อนระดับเป็นกลุ่มที่ 1 หมดแล้ว .. ปัจจัยของความสำเร็จคือ ออกแบบระบบดีๆ ที่เหลือ้ก็แค่ ‘มีใจ’ (มีใจ ทำอะไรก็สำเร็จ) และ ‘อดทน’ เท่านั้นเอง

เราพยายามช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองมากๆ ตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็มค่ะ ถ้านอกเหนือจากนี้ก็ไม่ใช่ ทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม

หมายเลขบันทึก: 612289เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2016 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2017 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท