การสืบต่อชีวิตทางสังคม


ประนมหัตถ์นมัสการไตรรัตนะ....คือพุทธะธรรมะอริยสงฆ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วหล้าอุดมมง-.....คลปู่สงฆ์ปู่ทวดพ่อท่านคล้าย

เจ้าฟ้าขัตติยาผู้เลิศคุณ...........เปี่ยมการุณเหนือสถิตย์นิมิตหมาย

บรรพชนกอร์ปเกื้อเสริมใจกาย...ประณตกราบตราบวางวาย ณ ทุกผู้

ขอนอบน้อมดีร้ายที่รายเรียง.....เกิดสลับคู่เคียงให้เรียนรู้

ธรรมชาติสานเสริมที่มีอยู่........น้อมเคารพทุกผู้ทุกนามเอย

อนึ่ง กายวาจาใจอันใดล่วง.....จะคือบ่วงกรรมขังชีวิตเหย

กราบประทานงดโทษอภัยเอย...อุดมสุขมากเหลยสงบงามฯ

แนวคิดแบบพุทธศาสนายืนยันความไม่ยั่งยืนถาวรด้วยว่า "อนิจจตา" ยืนยันการเปลี่ยนสภาพของสิ่งทั้งหลายว่า "ทุกขตา" และยืนยันความว่างเปล่าและ/หรือความไม่อาจคงรูปแบบเดิมอยู่ได้ "อนัตตา" แนวคิดแบบนี้นอกเหนือจากการแสดงถึงความจริงของสรรพสิ่งแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นการกระตุ้นเตือนบุคคลไม่ให้ยึดติดตรึงแน่นอยู่กับสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นเรียงรายอยู่รอบตัวทั้งในฐานะสิ่งมีชีวิตและสิ่งไร้ชีวิต

ชีวิตทางสังคมไม่แตกต่างจากสิ่งที่แนวคิดแบบพุทธยืนยัน เราไม่อาจคงความยั่งยืนของชีวิตทางสังคมได้ อย่างน้อยการได้อ่านหนังสือหนึ่งบรรทัดก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนสภาพของสมอง ความเข้าใจ ตลอดถึงสารต่างๆของร่างกายที่ต้องเปลี่ยนไปตามอารมณ์จากการอ่าน ในความเป็นจริงของชีวิตทางสังคม ข้อมูลต่างๆนอกเหนือจากเนื้อหาแต่ละบรรทัดบนหน้าหนังสือ ยังมีสิ่งต่างๆรอบตัวให้บุคคลได้เรียนรู้ ส่งเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางสังคมทั้งสิ้น

ดังนั้น ชีวิตทางสังคมจึงไม่อาจหยุดนิ่งได้ แม้แต่สิ่งที่ตายไปแล้วที่ดูเหมือนจะหยุดนิ่ง แท้จริงแล้วหาได้หยุดนิ่งไม่ สิ่งนั้นมีการเปลี่ยนสภาพอยู่ตลอดเวลา แนวคิดแบบพุทธเรียกสภาพแบบนี้ว่า "การสืบต่อ (สันตติ)" ซึ่งอมความจริงของ "การเกิดขึ้น (อุปปาทิ) การตั้งอยู่ (ฐิติ) และการแตกทำลาย (ภังคะ)" อยู่ภายใน "การสืบต่อ" ทั้งหมดเพื่อโยงไปถึง "การไม่ยึดติดตรึงแน่นกับสิ่งที่เกิดขึ้น" เช่นกัน

อนึ่ง เนื้อความที่กล่าวมาในสายของวันนี้ เป็นการเบิกฤกษ์กับการสืบต่อชีวิตทางสังคม หลังจากเปลี่ยนชีวิตการทำงานทางสังคมจากหน่วยงานเก่าที่ใช้ชีวิตมามากกว่า ๑๐ ปี ซึ่งยังคงระลึกถึงจนวินาทีนี้ มาเริ่มต้นการปฏิบัติงานในเส้นทางอาชีพเดิมกับหน่วยงานใหม่ห่างไกลกันเกือบพันกิโล อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเริ่มต้นใหม่กับชีวิตที่น่าจะแตะปลายๆมัชฌิมวัย หากแบ่งชีวิตออกเป็น ๓ ช่วงคือ แรกเกิด- อายุ ๒๕ ปี เป็นช่วงของการเรียนรู้ตามระบบ อายุ ๒๕-๕๐ ปี เป็นช่วงของการสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้จากการทำงาน สร้างสิ่งต่างๆเพื่อรอการสานต่อในรุ่นถัดไป อายุ ๕๐-๗๕ ปี เป็นช่วงของการเตรียมสละสิ่งต่างๆ หาความสงบให้กับชีวิตในบั้นปลาย หากพิจารณาจากหลักอาศรม ๔ ของแนวคิดแบบพราหมณ์-ฮินดู จะเพิ่มมาอีกช่วงหนึ่งคือหลังอายุ ๗๕ ปี ที่จะต้องปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างลง มีชีวิตอย่างไม่หนักอึ้ง เป็นหลักทางปัญญาในการเข้าใจโลกและชีวิตให้กับคนรุ่นหลัง

"งานคือชีวิต ชีวิตคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ควบคู่การทำงาน"


หมายเลขบันทึก: 612114เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2016 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2016 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท