ระบบขนส่งมวลชลของเมืองโอ๊คแลนด์ (Auckland Transportation)



โอ๊คแลนด์เป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ดังนั้นถ้านั่งรถเข้าเมืองแทบจะนับตึกสูงได้เลยว่ามีน้อยมาก ผมลองนับดูตึกสูงๆ เท่าที่มองเห็นจากนอกเมือง จะมีตึกสูงๆ ที่เคียงคู่ สกายทาวเวอร์มีแค่ประมาณ ๑๐ ตึก ลักษณะภูมิประเทศของโอ๊คแลนด์เป็นภูเขา เนินเขาสลับไปสลับมาในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งในเมือง พื้นที่ปลูกตึกก็จะอยู่บนเนินสูงชัน ลาดลงไปหาทะเล บ้านแต่ละหลังจะเป็นทรงบ้านชั้นเดียว สองชั้น ไม่เกินนี้ ผมเดินสำรวจบริเวณรอบๆ บ้าน และทางลงไปชายหาด บ้านที่นี่จะไม่มีรูปแบบของบ้าน รั้วบ้านซ้ำกันเลย แต่ละบ้านจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ต่างกันกับบ้านในประเทศฉัน เราจะมีทาวเฮ้าน์ หลังคาสีเดียวกันเป็นร้อยๆ หลัง แต่ละหลังจะมีรูปทรงเหมือนกัน เป็นเหมือนยูนิฟอร์มที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้คนที่นี่รักในภูมิอากาศ และการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน การเดินทางจึงนิยม ใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่ที่นี่ก็มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี อย่าง รถไฟ รถเมล์ และเรือเฟอรี่ ระบบการขนส่งมวลชนของที่นี่ดำเนินการโดย Council ซึ่งผมยังไม่เข้าใจว่าคือเทศบาลเมืองเหมือนเมืองไทยใช่หรือไม่ เค้าเรียกระบบขนส่งที่นี่ว่า AT หรือ Auckland Transportation ซึ่งทั้งสามระบบเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยใช้ระบบเดียวกัน สามารถขึ้นลง เชื่อมต่อเดินทางต่อกันได้ ซึ่งสะดวกสำหรับ คนพลัดถิ่นอย่างผม

อยู่ที่นี่ผมใช้รถเมล์เป็นพาหนะในการไปเรียน ช่วงแรกที่ผมมาอยู่ก็นำความคุ้นชินของเมืองที่ผมอยู่อย่างพิษณุโลก และกรุงเทพเมืองฟ้าอมรมาปรับความเข้าใจ เชื่อมโยงประสบการณ์ และปรับใช้ที่นี่ แต่เปล่าเลย ที่นี่คุณต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เรียนรู้ใหม่ บางอย่างอาจปรับใช้ได้ บางอย่างไม่สามารถใช้ได้เลย อย่างเช่น รถเมล์ที่นี่ไม่จอดทุกป้าย ถึงแม้ว่าป้ายรถเมล์จะอยู่ใกล้ๆ กัน รถเมล์ไม่มีทุกเวลา ตลอดเวลาเหมือนบ้านเรา ที่นี่ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ ทุกอย่างดำเนินการโดยใช้ระบบ หรือพนักงานขับรถเป็นผู้ดำเนินการ แต่รถเมล์ที่นี่ใช้ลีลาในการโบกเพื่อส่งสัญญาณบอกพนักงานขับรถ ว่าฉันต้องการคุณนะ เหมือนเมืองไทย สังเกตุได้จากเค้าจะเขียนไว้ที่หน้ารถว่า “Please Signal to driver to stop” ในวันแรก โฮสต์แสนใจดีของผมมาส่งผมถึงที่เรียนเป็นตัวอย่างให้เข้าใจว่ามาอย่างไร กลับอย่างไร วันแรกผมและโฮสต์ก็เดินผิดทางในการหาที่เรียน เพราะหลงทิศ หนึ่งวันก่อนจะไปเรียนผมได้รับคำแนะนำจากโฮสต์ ว่าผมจะขึ้นรถเมล์สายไหนได้บ้าง เธอแนะนำรถเมล์สาย 85x และตรวจสอบเวลาโดยเธอโทรไปถามลูกชายของเธอว่ามีรถเมล์สายไหนบ้าง มีเวลากี่โมง เพราะเธอเองก็ไม่คุ้นเคยกับวิธีค้นหาจากทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผมก็จดใส่สมุดไว้ เธอบอกว่าผมต้องเดินอย่างไร ไปข้ามไฟแดงตรงไหน ไมใช่ซิต้องเรียกว่าไฟเขียวสำหรับ Pedestrian หรือคนเดินเท้าอย่างผม เพราะเธอบอกว่าตอนเช้าๆ ถนนสายนี้จะเปลี่ยนจากถนนที่เงียบสงบเป็นถนนที่สับสนวุ่นวายในการเดินทาง


รถเมล์ที่ลงท้ายด้วย X ก็คือรถเมล์ Express ซึ่งหมายถึงรถเมล์สายด่วน ทำให้ผมนึกถึงรถเมล์สายด่วนนรกอย่างสาย ๘ ที่ลือชื่อของบ้านเรา มันจะเป็นอย่างนั้นไหมหนอ ชิดในหน่อยเพ่ ในว่างจนจะเตะตะกร้อได้วงหนึ่งแล้ว เข้าในหน่อย เบียดในหน่อย แต่ที่นี่ไม่เหมือนกัน สายด่วนไม่ได้หมายความว่าขึ้นทางด่วน แต่สายด่วนที่นี่จะวิ่งออกอีกทางหนึ่ง ใช้ชั่วโมงเร่งรีบ (Rush Hours) ไปสู่จุดหมายเดียวกัน และจะมีเฉพาะเวลาเร่งด่วนเท่านั้น ในหน้าหนาวอย่างนี้รถเมล์เริ่มเวลา ๖.๔๕ หมดเที่ยวสุดท้าย ๘.๓๕ มีแค่ ๖ เที่ยว ในตอนเช้า และ อีก ๕ เที่ยวจากในเมืองตอนเย็น ถ้าพลาดรถด่วนคุณต้องรอรถช้า ซึ่งรถช้าก็จะวิ่งไปตามตรอกซอกซอยในหมู่บ้านต่างๆ และไปเชื่อมที่สถานีใหญ่เหมือนกัน มีอยู่วันหนึ่งผมผมนั่งรถผิด เพราะตอนเช้าผมขึ้นสายนี้ จากหน้าบ้าน แต่ขากลับไม่วิ่งผ่านหน้าบ้าน แต่ออกไปอีกทางหนึ่ง และผมก็ยังผิดซ้ำอีกโดยการขึ้นรถเมล์อีกสายหนึ่งกลับด้านแทนที่จะวิ่งกลับบ้าน กลับวิ่งออกไปคนละทิศกัน และยังใช้ประสบการณ์จากเมืองไทยว่าเมื่อรถวิ่งไปที่อู่สุดท้าย ก็จะมีรถเมล์วิ่งย้อนกลับมาในอีกไม่นาน แต่เปล่าเลย ที่รถเมล์ป้ายสุดท้าย เป็นแค่ม้านั่งผุๆหนึ่งตัว กับเสาไฟหนึ่งต้น ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น และคุณต้องรออีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงในช่วงค่ำถึงดึก เพราะรถเมล์จะน้อยลง ทิ้งระยะห่างมากขึ้น และรถเมล์เที่ยวสุดท้ายมีแค่ ๒๒.๒๐ น.หลังจากนั้นคุณต้องใช้แท็กซี่ซึ่งมีราคาแพง


ราคารถเมล์ต่อเที่ยว จะขึ้นอยู่กับระยะทาง จากบ้านผมไปเรียน ราคา ๕ บาท ๕๐ สตางค์ ไปกลับ ๑๑ บาท “โอเคไม่เท่าไร !!!” “โอ้พระเจ้าช่วย กล้วยทอด” มันไม่ใช่บาท มันคือดอลล่าห์ เอา ๒๕ คูณ มันคือวันละ ๒๘๖ บาท “พระเจ้าช่วยกล้วยทอดด้วยน้ำมันค้างเก่า” มีคนแนะนำผมว่าถ้ามาที่นี่อย่าคูณด้วย อัตราแลกเปลี่ยนเงินไทยไม่งั้นคุณจะซื้ออะไรไม่ลง เพราะที่นี่ ค่าอาหารกลางวัน ๑๑-๑๔ ดอลล่าห์ น้ำ ๓.๕ ดอลล่าห์ แล้วมนุษย์เงินเดือนจากเมืองไทยอย่างผมจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าคูณ ๒๐ วันเข้าไป ๕,๘๐๐ บาทเฉพาะค่ารถเมล์ ต้องหาทางประหยัดแล้ว ที่นี่ถ้าคุณเป็นนักเรียน นักศึกษา คุณสามารถสามารถซื้อตั๋วเดือนในราคานักเรียนได้ แต่ ไมใช่สำหรับผม เพราะถ้านักเรียนเฉพาะกิจอย่างผมอยู่ไม่ถึง ๑๔ สัปดาห์ คุณไม่ได้รับสิทธินั้น แต่ก็ยังไม่เลวร้ายนัก ยังมีทางออกอื่นอีกคุณสามารถเลือกซื้อตั๋วเดือนได้ในราคา ๒๐๐ ดอลล่าห์ ซึ่งสำหรับคนบ้านไกลอย่างผมดูแล้วเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า แต่สำหรับบางคน เลือกเติมเงินในบัตรและหักเป็นรายครั้งจะคุ้มค่ากว่า เราเรียกบัตรรถเมล์ว่า Hop card เวลาขึ้นรถเราก็จะนำบัตรไปแตะที่จุด Tag On และ Tag Off เวลาลง หรือจะเลือกจ่ายเป็นเงินสดก็ได้จ่ายผ่านพนักงานขับรถ แต่คุณต้องเตรียมตังค์ให้พอดีเพราะไม่เช่นนั้นคุณอาจไม่ได้รับสตางค์ทอน

ระบบความยุติธรรม และระบบเรียงคิว ต้องใช้คำว่าเข้าแถวซิ แถวบ้านผมจะเห็นได้ชัดว่าใครมาถึงป้ายรถล์ก่อนจะได้สิทธิขึ้นรถเมล์ก่อน และขณะขึ้นรถเมล์ถ้ามีคนหนึ่งจ่ายตังค์ด้วยเงินสดอยู่ถึงแม้ว่าเราจะจ่ายด้วยบัตรอัติโนมัติ แต่เค้าก็จะยืนคอยให้คนแรกจ่ายเงินใหเสร็จก่อน แล้วเราก็จะขึ้นตามต่อไป ไม่แซงคิวกัน เมื่อมาถึงป้ายรถเมล์ คุณต้องดูที่ตู้บอกสายรถเมล์ ว่ารถเมล์เที่ยวไหนจะมาเวลาเท่าไร แถวบ้านผมค่อนข้างไกล ตู้บอกสายรถจะใช้ระบบไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตู้จะบอกเวลาปัจจุบัน บอกสายรถที่จะมาถึง คิวที่เท่าไร เวลาประมาณที่จะมาถึง ผมนึกถึงรถเมล์ที่เมืองพิษณุโลก เราเรียกรถเมล์พิษณุโลก ว่ารถเมล์บ้านเรา ผมนึกภูมิใจในรถเมล์บ้านเรา เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่แล้ว รถเมล์ได้รับความนิยมน้อยกว่ารถสองแถวแดง ตอนผมไปเรียนที่กรุงเทพฯ ผมจะเล่าให้เพื่อนๆ และอาจารย์ฟังถึงความภูมิใจที่บ้านของผมมีรถเมล์วิ่ง เพราะผมรู้สึกว่ารถเมล์ปลอดภัยกว่า ขับสุภาพกว่า และไม่หนาว ไม่ร้อน เมื่ออยู่บนรถ บางคันจะมีแอร์ให้นั่งเวลาอากาศร้อน แต่แล้ว ๒๐ ปีผ่านไป หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง ราคาน้ำมัน ความนิยมของผู้ใช้บริการ ทำให้รถเมล์บ้านเราถึงกับการล่มสลาย รถเมล์แปลงร่างเป็นสองแถวสีม่วงแทน ผมมองรถเมล์ที่โอ๊คแลนด์ด้วยความรู้สึกว่าใครนะช่างวางระบบรถเมล์ได้อย่างน่าสนใจ ดูแล้วไม่ใช่สิ่งง่ายๆ เลยที่จะลงทุนในระบบขนส่งมวลชนแบบนี้ ผมคุยกับโฮสต์ เค้าบอกว่าถึงแม้เค้าจะไม่ค่อยได้ใช้รถเมล์ แต่เค้าก็ต้องจ่าย อย่างน้อย ๕๐ ดอลล่าห์ต่อเดือนสำหรับ Council เป็นค่าสาธารณะประโยชน์ ผมสังเกตุดูระบบของรถเมล์ที่นี่ มีการออกแบบวางระบบที่ดี ตั้งแต่รูปแบบรถ ตัวรถ จะมีระบบปรับอากาศ มีฮีทเตอร์ มีป้ายไฟหน้ารถเป็นแอลอีดี เมื่อรถวิ่งมาจะบอกหมายเลขรถ บอกว่าขาไปไปไหน ขากลับไปไหน และเมื่อคนบนรถเต็ม ก็จะบอกว่า Sorry Bus Full และที่ผมเจอมาก็คือ “Sorry Not in a Service” หรือบอกว่ารถนี้เป็นรถเฉพาะกิจ เช่น ตอนเช้าๆ รถเมล์จะกลายร่างเป็น School Bus นอกจากนี้ที่นี่แต่ละป้ายรถเมล์(Bus stop)จะมีหมายเลขเฉพาะ ทุกที่นั่งจะมีปุ่มกด Stop เมื่อกดแล้วก็จะมีป้ายไฟขนาดใหญ่บริเวณตู้หลังคนขับสว่างวาบไปทั้งรถบอกว่า Bus Stop ทำให้ทุกคนบนรถทราบว่ารถจะจอดป้ายหน้า และสว่างค้างไว้อย่างนั้นจนถึงป้ายที่จอดจึงจะดับไป ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงกดกริ่งซ้ำๆ เหมือนรถเมล์บ้านเรา


Tag on Tag Off

รถเมล์จะมีเลนรถเมล์โดยเฉพาะ ในชั่วโมงเร่งด่วน ตอนรถเมล์วิ่งเข้าเมือง ในช่วงบัสเลนรถเมล์จะวิ่งฉิวในขณะที่รถอื่นๆ จอดติดในเลนตนเอง ผมรู้สึกภูมิใจที่ฉันไปได้เร็วกว่าในเลนนี้ รถเมล์วิ่งเร็วมากในช่องบัสเลน ผมรู้สึกว่าเค้าไม่กลัวที่จะมีรถอื่นตัดเข้ามาในช่องรถเมล์บ้างเลยรึ ที่บ้านฉันคงชนกันสนั่นแน่เลย เพราะเราก็มีบัสเลนแต่แยกไม่ออกเพราะรถหลายคันก็วิ่งเข้ามาที่ช่องรถเมล์ แต่ที่นี่ไม่ ถ้ามีช่องทางขวาว่าง ส่วนช่องทางซ้ายติดยาวมาก แต่น่าแปลกใจไม่มีใครแซงออกไปเลย ผมถึงบางอ้อว่า นี่เป็นเลนเลี้ยวขวา แต่คนที่นี่ปฏิบัติตามระเบียบไม่มีใครแซงออกมาปาดเข้าซ้ายเหมือนแทกซี่บ้านเรา ในช่องบัสเลนก็เช่นกันไม่มีใครล้ำเข้ามา ที่นี่ค่าปรับแพงมาก คุณไม่สามารถใช้เส้น ฝากเพื่อน หรือใครช่วยลดค่าปรับได้ นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งในการปฏิบัติตามกฏจราจร แต่ผมว่าด้วยความมีระเบียบวินัยในตัวคนที่ถูกระบบครอบครัว และสังคมฝึกมาตั้งแต่เด็กเป็นตัวขับเคลื่อนความเท่าเทียมกัน เรื่องการคอรัปชั่นของที่นี่ได้รับการยอมรับจากจากทั่วโลกว่านิวซีแลนด์เป็นเมืองที่มีการคอรัปชั่นน้อยที่สุดในโลก สิ่งเหล่านี้คงเกิดจากระบบสังคมพื้นฐานโดยสังเกตได้จากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ


รถเมล์จะมีระบบจุดเชื่อม เหมือน สถานีขนส่ง บขส. บ้านเรา ใช้ชื่อว่า AT Metro มีเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่จำหน่ายตั๋ว แต่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ มีแผ่นพับแผนที่ ตารางเวลา ที่นี่แบ่งเป็นโซน โซนเหนือ โซนใต้ โซนในเมือง โซนตะวันออก และโซนตะวันตก ที่นี่ใช้ระบบ Application ชื่อ AT Public Transport สามารถค้นหาสถานที่ไป ค้นหาป้ายรถเมล์ เวลารถเมลแบบ Real Time แต่ผมว่ายังไม่ดีสู้ใช้ Google Map เชื่อมกับ Google Navigation ไม่ได้ พนักงานขับรถที่นี่จะแต่งกายด้วยชุด Uniform มีหลากหลายเชื้อชาติมาก มีทั่งฝรั่ง จีน อินเดีย และเมารี รถเมล์ที่นี่จะค่อยๆ จอดไม่รีบร้อน เหมือนรถเมล์สายวัดโบสถ์บ้านนอกบ้านผม ผมจำได้ตอนผมมาอยู่ที่วัดโบสถ์ใหม่ๆ ผมนั่งรถเมล์เข้าเมือง ยายคนหนึ่งโบกรถเมล์ข้างทาง หลังจากยายโบกเสร็จ ผมมองไปเห็นยายตะโกนขึ้นมาบนรถว่า “เออ ! เดี๋ยว กูกินหมากคำนึงก่อนว่ะ” โชว์เฟอร์ผู้แสนนุ่มนวลก็ไม่ว่าอะไร จอดรถรอยายตำหมากจนเสร็จแล้วจึงค่อยเยื้องย่างขึ้นรถอย่างใจเย็น สบายอุรา ผมเลยหายสงสัยเลยว่าระยะทางแค่ ๒๕ กิโลเมตร ทำไมรถเมล์วัดโบสถ์จึงใช้เวลาวิ่งเป็นชั่วโมง เช่นกัน รถเมล์ที่นี่ก็ไม่รีบร้อน คนส่วนใหญ่กดกริ่งเมื่อรถหยุดแล้วถึงค่อยๆ เดินออกมาแตะบัตร และกล่าวขอบคุณก่อนลงรถ ดูเหมือนเค้าจะใส่ใจเรื่องความปลอดภัย มากกว่าความรีบเร่ง รถเมล์ที่นี่บางครั้งต้องยืนเวลาเร่งด่วน ถ้าคนแน่น คนขับก็จะเปิดสัญญาณไฟ บอกผู้โดยสารว่ารถเต็ม แต่คำจำกัดความของคำว่า ”รถเต็ม” ที่นี่ไม่สามารถนำไปปรับใช้กับเมืองไทยได้ เต็มของที่นี่ไม่ได้เบียดเสียดยัดทะนาน เหมือนบ้านเรา โอ้!!!! ลืมไป เผลอใช้คำโบราณ บ่งบอกอายุไปอีกแล้วเรา คำนี้ผมขอยืมคำของยายทวดผมมาใช้ ซึ่งหมายถึง เบียดกันแน่น อัดกันแน่น เช่น คนแน่นเหมือนแป้งยัดทะนาน ทะนานหมายถึงกะลาสำหรับตวงข้าว เอ้า กลับมา ออกนอกเรื่องอีกแล้วเรา รถแน่นที่นี่จึงไม่แน่นมาก สังเกตุได้ว่ารถที่นี่ไม่มีราว มีแต่เสาสีเหลือง ให้จับ กับหูจับบริเวณที่นั่ง พร้อมด้วยข้อความเขียนกำกับไว้ว่า “Please hold on the safety rail” ตัวใหญ่ๆ และมีข้อความตัวเล็กๆ ว่า “Your safety is important to us” โอ้ ได้ใจฉันไปเลย “ความปลอดภัยของคุณสำคัญสำหรับเรา” การกระทำสำคัญกว่าคำพูด คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นที่นี่ ไม่ใช่พูดเสียสวยหรู แต่ตอนกระทำ การกำหนดนโยบายไม่ได้ทำอย่างที่พูดเลย อ้าว !!! เริ่มเหน็บแนมนักการเมืองบ้านเราอีกแล้ว ผมว่ากิจการขนส่งมวลชลบ้านเราก็เริ่มไปสู่ระบบและแนวทางที่ดีแล้วในหลายๆ เรื่อง ทั้งรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน เหลือเรื่องรถเมล์ที่ยังต้องจัดระบบให้ดี เท่านั้น คนก็จะหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน

คำศัพท์ที่ควรรู้

  • Public Transport ขนส่งสาธารณะ
  • Real Time เวลาจริง
  • hold จับ ถือ
  • Rush Hours ชั่วโมงเร่งรีบ



หน้าตาทะนาน

หมายเลขบันทึก: 611571เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2016 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2016 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบใจรถบ้านเขาตรงเวลา

ผมเคยกลับบ้านแล้วหลับ

รถเลยป้ายไปถึง cascade เลยครับ

เดินกลับมาเรื่อยๆ

แต่เจอ host มารับกลางทาง 555

ทั้งมืดทั้งหนาว

มาฮาต่อที่รูปสุดท้ายนี่ด้วยค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท