สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้เยาวชนบางกุ้ง สกัดนักสูบหน้าใหม่


สสส.หนุนจัดค่ายเยาวชนบางกุ้งสดใส ห่างไกลยาเสพติด ติดเข้มเด็กประถม อ.ห้วยยอด 45 โรงเรียน สร้างภูมิคุ้มกันบุหรี่และยาเสพติด พบเด็กนักเรียนสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ตั้งเป้าขยายเครือข่ายแกนนำครอบคลุมภาคใต้ตอนล่าง

นายณัฐวัฒน์ กิตติธนาชูพันธ์ ผู้รับผิดชอบโครงการเยาวชนบางกุ้งสดใส ห่างไกลยาเสพติด กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะในกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่พบว่ามีอายุเฉลี่ยน้อยลงอย่างมาก เด็กนักเรียนบางคนสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ สาเหตุมาจากความอยากรู้อยากลอง เพื่อนชักชวน ทำตามเพื่อน หรือสูบเพื่อนให้เพื่อนในกลุ่มยอมรับ รวมไปถึงครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คนในครอบครัวสูบบุหรี่จนเห็นเป็นเรื่องปกติ หรือสูบเพื่อเข้าสังคม อิทธิพลของสื่อโฆษณาชวนเชื่อ และชุมชนมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ

ทั้งนี้ในสถานการณ์การสูบบุหรี่ในพื้นที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กๆ จากการทำงานเราพบเด็กที่เริ่มหัดสูบบุหรี่อายุเพียง 8 ขวบ เท่านั้น ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากในคนพื้นที่นิยมดื่มน้ำกระท่อมซึ่งถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งโดยทำให้เขาคิดว่าบุหรี่ไม่น่ากลัวขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่บุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ได้ เพราะผู้ปกครองบางคนสนับสนุนให้ลูกมาต้มน้ำกระท่อมดื่มกินที่บ้านดีกว่าให้ไปดื่มข้างนอก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่งที่ว่า ห้ามไม่ได้ก็ให้มามั่วสุมที่บ้าน อีกทั้งน้ำกระท่อมมีต้นทุนต่ำกว่ายาบ้า เพราะใช้เงินแค่ 200 บาท สามารถผสมเป็นสูตร 4X100 ต้มดื่มได้เป็นหม้อ จึงเป็นที่นิยมกว่ายาเสพติดชนิดอื่นๆ

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและหยุดนักสูบหน้าใหม่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.ตรัง พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการ “เยาวชนบางกุ้งสดใส ห่างไกลยาเสพติด” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้น ป.5-ป.6 ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในอนาคต ครอบคลุม 45 โรงเรียน ด้วยการจัดค่ายอบรมให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่และยาเสพติด ร่วมกันผลิตคลิปวิดีโอที่สื่อถังภัยอันตรายของบุหรี่ ซึ่งทำไมเลือกอบรมเด็กช่วงวัยนี้ เพราะเด็กวัยนี้ยังพอพูดคุยได้และยังเชื่อฟัง เอื้อต่อการสร้างทัศนคติได้ ซึ่งหากเลือกเด็กวัยรุ่นที่อายุมากกว่านี้จะมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ค่อยเชื่อฟังทำให้การส่งผ่านความรู้ไม่ได้ผล

ด้าน นางไพรัช วัฒนกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เนื้อหาการอบรมจะนำเอาวิทยากรมาให้ความรู้แก่เด็กๆ ซึ่งมีทั้งประสบการณ์ตรงจากวิทยากรและสื่อวิดีทัศน์ที่สื่อให้เห็นอันตรายของบุหรี่ เพื่อให้เด็กๆ เกิดความกลัว ซึ่งเนื้อหาวิดีทัศน์ให้เหมาะสมตามช่วงวัยของเด็กที่อบรม เพราะบางครั้งการใช้สื่อที่แรงไปในกลุ่มเด็กเล็กๆ จะกลัวและร้องไห้จนไม่อยากเปิดรับอะไรอีก หรือทำให้โครงการดำเนินต่อไปไม่ราบลื่น

“เรามุ่งเน้นการอบรม การเตรียมตัวเด็กให้มีภูมิคุ้มกัน มีความหยั่งรู้ ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่และยาเสพติด ในส่วนปราบปรามเราจะไม่เข้าไปยุ่งปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ เราเพียงแค่ทำงานกับเยาวชนปลูกฝังให้เขาห่างไกลจากสิ่งไม่ดีจะดีกว่า จะประสบความสำเร็จเพียง 5 คน 10 คน ก็ยังดี แต่ถ้าเราไม่ทำเด็กทั้งโรงเรียนอาจจะก้าวสู่สิ่งไม่ดีก็เป็นได้ ขณะเดียวกันในชุมชนและในรั้วโรงเรียนก็มีการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ตามจุดต่างๆ อีกด้วย และประสานความร่วมมือให้ท้องถิ่นกำหนดนโยบายและรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ร่วมด้วย” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าว

นางไพรัช กล่าวด้วยว่า การอบรมให้ความรู้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าทำแล้วหยุดก็ได้แค่นั้น เด็กไม่เกิดจิตสำนึก ไม่มีสิ่งย้ำเตือนพอออกไปสู่สังคมก็จะเข้าสู่วังวนเดิม และมุ่งหวังให้มีการต่อยอดโครงการเกิดเป็นเครือข่าย เกิดแกนนำเรียนรู้กระบวนการเพื่อนำไปจัดอบรมในพื้นที่ของตัวเองได้ และให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างต่อไป

หมายเลขบันทึก: 610313เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท