เรื่องรักๆ หนักใจมั้ย (บทที่ 2 รักอย่างหญิงชาย)


อย่ามองการเสพสุขจากกันและกันในเรื่องของเพศรสเท่านั้นนะคะ เราสามารถเสพสุขจากกันและกันได้ในทุกๆเรื่อง..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/609451

บทที่ 2 รักอย่างหญิงชาย

ดังที่เรียนไว้ในบทแรกแล้ว ว่าดิฉันมองความรัก ว่าหมายถึงความผูกพันของใจกับคุณสมบัติและสภาวะต่างๆ และจากธรรมในพุทธศาสนาที่สอนว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนที่แท้จริง ทุกอย่างในโลกเป็นเพียงการรวมตัวเข้าด้วยกันของธาตุ ดังนั้น ที่เห็นว่าเป็นตัวเราก็ไม่มีอยู่จริง เมื่อตัวเราไม่มี ความรักของเรา จะมีจากที่ไหน

ความรักเป็นผลรวมของหลายๆเรื่องดังที่ได้เล่าไว้แล้ว รักจึงไม่เป็นปริมาณที่จะบอกใครๆได้ว่ามากมายแค่ไหน ไม่ใช่ก้อนอะไรสักอย่างที่มอบให้หรือตัดแบ่งเป็นส่วนๆเพื่อแบ่งปันมอบให้ใครต่อใคร และยิ่งไม่ใช่ส่วนที่ใครสามารถกีดกัน หวงกั้น ไม่ยอมแบ่งปันให้ใครอีกเช่นกัน

เป็นเพราะความต้องการได้รับความสุขอยู่เสมอกับความต้องการในการสืบเผ่าพันธุ์ จึงได้เกิดความรักในแบบชายหญิงขึ้น ความรักในแบบนี้เกิดจากการที่คุณสมบัติที่เราพอใจ ที่ทำให้เรามีความสุขเป็นส่วนใหญ่มีอยู่ในใครสักคนที่เป็นเพศตรงข้าม เพราะเราอยากรับรู้ความสุขหรือก็คือได้เสพสุขบ่อยๆ เราจึงปักใจในตัวใครคนนั้น เกิดความผูกพันกับทั้งตัวเขาและคุณสมบัติต่างๆของเขา

และเพราะความผูกพันกับทั้งตัวเขาและคุณสมบัติที่ทำให้เขาดูงดงาม ดูดีในสายตาเรา เราจึงอยากทำสิ่งดีๆให้เพื่อที่เขาจะได้คงคุณสมบัติที่ดีงามนั้นไว้ รวมทั้งมีความดีงามที่ยิ่งๆขึ้นไป เพื่อเขาจะได้มีความสุขจากการมีการได้สิ่งดีๆทั้งหลาย

ความสุขของเขาทำให้เขายิ่งงดงาม ดังนั้น การมีความสุขของเขาจึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย ความรักจึงทำให้เรายอมทำทุกอย่างให้คนที่รักมีสุข

ดังที่ได้เรียนแล้วว่า สุข เป็นอาหารของจิต และเพราะคนทั้งสองได้อาหารจิตจากการได้ทำอะไรเพื่อกันและกัน จากการทำอะไรร่วมกัน ที่สุด จึงตกลงใจใช้ชีวิตเป็นคู่ อยู่ด้วยกันเพื่อได้มีความสุขร่วมกัน เสพสุขจากกันและกันตลอดไป


อย่ามองการเสพสุขจากกันและกันในเรื่องของเพศรสเท่านั้นนะคะ เราสามารถเสพสุขจากกันและกันได้ในทุกๆเรื่อง

อย่างเช่น สมมติว่าเรารักความซื่อสัตย์ จึงมีความสุขที่ได้รับรู้เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ความรักในความซื่อสัตย์ก่อให้เกิดแรงขับในการสวงหาคนรักที่มีความซื่อสัตย์ เมื่อพบและเกิดความรักต่อกัน เราก็มีความสุข

หรือ เราชอบคนที่มีรอยยิ้มสดใส จึงมองหาคนรักที่มีลักษณะดังกล่าว เมื่อพบและมีความรักต่อกัน เราจึงได้รับรอยยิ้มสดใสอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้มีความสุข

เหล่านี้ เป็น ความสุขในขั้นแรก หรือก็คือความสุขที่เกิดจากการได้เสพสิ่งที่ต้องการ

ความสุขที่เกิดจากการได้เสพในสิ่งที่ต้องการนี้ แม้จะเป็นความตั้งใจดี แต่บางทีก็เกิดโทษได้ค่ะอย่างเช่น เราอยากสร้างฐานะให้ทัดเทียมคนรัก จึงทำงานหนักเกินกำลังจนร่างกายทรุดโทรม หรือหากมีความอยากมากจนขาดสติก็อาจรักษาความซื่อสัตย์เอาไว้ไม่ได้ กลายเป็นกระทำการฉ้อฉล

หรือหากหลงใหลในการเสพมากเกินไปก็เป็นโทษได้อีกเช่นกันค่ะ

กลับมาสู่เรื่องที่เราสมมติไว้ต่อนะคะว่าเรารักความซื่อสัตย์ เพราะเราสุขใจที่ได้รับรู้ ได้เห็นการกระทำที่แสดงออกถึงความซื่อสัตย์ เราจึงสนับสนุนการกระทำของคนที่เรารัก ให้เขาคงคุณค่าของความซื่อสัตย์ไว้ หรืออาจจะสนับสนุนให้ความซื่อสัตย์นั้นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ (ถ้าเป็นคุณลักษณะอื่นๆอาจหมายถึงการทำให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมตตา ความเพียร เป็นต้น) เนื่องจากอีกเหตุของความสุขคือการที่ได้รู้ว่าการกระทำของตนมีผลเป็นความสำเร็จ เมื่อเขาทวีการแสดงออกถึงการมีจิตใจที่ดีด้วยความซื่อสัตย์มากยิ่งขึ้นตามที่เราอยากให้เป็นและเราได้รู้ว่าเขามีความมั่นใจในการกระทำ ได้รู้ว่าความซื่อสัตย์มั่นคงในใจเขา ได้รู้ว่าเขามีความสุขในการกระทำ ก็แสดงว่าการสนับสนุนของเรานั้นเป็นผลสำเร็จ ดังนั้น เมื่อเขาประสบความสำเร็จจนมีความสุขเราจึงสุขตาม ความสุขที่เกิดขึ้นในภายหลังจึงเป็นความสุขในขั้นที่สอง ซึ่งเป็นสุขที่ประณีตกว่าสุขในขั้นแรก

สุขขั้นแรกเป็นความสุขที่ตนเองอยากเสพจึงต้องมีการเสาะแสวงหา มีการกระทำอันเป็นเหตุ แต่สุขในขั้นที่สองนี้ เป็นความสุขที่เสพโดยไม่ต้องอยาก แต่เป็นผลของการทำเหตุในทางที่ดี เป็นสุขที่ได้เสพเองจากการที่ใจได้รับรู้ ได้พลอยยินดีกับความงดงามของสิ่งอื่น บุคคลอื่น

สุขที่พลอยยินดีกับความสำเร็จ ความสุข ในสิ่งต่างๆที่ผู้อื่นมีและได้นี้ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า มุทิตา อันองค์เป็นธรรมหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ (อันประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาให้เขามีสุข กรุณา ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตา พลอยยินดีที่เห็นเขามีความสุขหรือประสบความสำเร็จ และ อุเบกขา การวางใจเป็นกลางและการฝึกฝนให้เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นองค์ธรรมที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง)

แม้สุขเพราะมุทิตาอันเป็นสุขในขั้นที่สองจะประณีตกว่าสุขจากการได้เสพอันเป็นสุขในขั้นแรก ก็ยังมีเรื่องต้องระวังค่ะ ว่าที่เรามีมุทิตา พลอยยินดีกับความดีงาม ความสำเร็จของเขานั้น เป็นเพราะเราพลอยได้ประโยชน์ตามไปด้วยหรือเปล่า หรือว่าเราพลอยยินดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่างเช่น เราสนับสนุนให้เขาคงความซื่อสัตย์ เป็นเพราะเพื่อเขาจะได้คงความงาม คงความดีที่เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาและสังคมอย่างแท้จริง หรือว่าเป็นเพราะเราพลอยได้รับประโยชน์ด้วย คือเมื่อเขาได้รับการยกย่องเพราะการกระทำที่ดีของเขา เราที่เป็นคู่รักก็พลอยได้รับการยกย่องตามไปด้วย หรือที่เราสนับสนุนให้เขาซื่อสัตย์ เพราะเราจะได้เสพสุขจากคุณสมบัติอื่นๆของเขาโดยไม่ต้องมีอะไรให้ระคายใจ ไม่ต้องลำบากใจที่มีผู้พูดถึงเราว่ามีคู่เป็นหัวขโมย อย่างนี้เป็นต้น การแอบหวังผลตอบแทนลึกๆแก่ตนอย่างนั้นจะทำให้เราเคี่ยวเข็ญคนรักมากเกินไป และอาจกลายเป็นเหตุให้ทุกข์ใจกันทั้งสองฝ่าย

เพราะที่เราควรทำคือทำเหตุที่จะให้เกิดผลด้วยความเพียร แต่ไม่ควรหวังผลที่เกิดจากเหตุ หรือก็คือที่พระท่านว่าให้ไม่สันโดษในเหตุ แต่สันโดษในผลนั่นเองค่ะ แถมต้องสันโดษในผลในขั้นเต็มความปรารถนาด้วย คือไม่ตั้งความปรารถนา เมื่อไม่ปรารถนา ได้เท่าไรก็เต็มทันที

ดังนั้น ความสุขที่เกิดจากความรักไม่ว่าในขั้นไหนๆ ก็ต้องมีสติคอยคุมใจ เพื่อให้ความรักเป็นความงดงาม เป็นพลังที่สร้างและขับเคลื่อนโลกอย่างแท้จริง

และเพื่อจะรักษาการใช้ชีวิตร่วมกันไว้ เราจึงต้องมีการขัดเกลาตนเพื่อที่จะนำสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับความรักออกไป มีความเพียรในการรักษาสิ่งดีๆที่เรามีอยู่แล้วนอกจากจะไม่ให้สูญหายแล้วยังยิ่งเพิ่มความดี ความงดงามมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีคุณธรรมเท่าเทียมหรือเป็นแบบอย่างแก่คนรักและแก่ผู้สืบสายโลหิต

ครอบครัวเป็นสังคมหน่วยย่อยที่สุด หากคนในครอบครัวมีการฝึกตนให้มีคุณธรรมมากขึ้น ให้มีคุณธรรมเทียมกัน ครอบครัวก็งดงาม เมื่อสังคมในส่วนย่อยงาม สังคมที่ใหญ่ขึ้นก็งามตาม หรือก็คือ ขยายเหตุที่จะสร้างความสุข แบ่งปันความสุขที่คนทั้งสองมีออกไปในให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ไปสู่สมาชิกอื่นในสังคมที่ขยายวงกว้างขวางขึ้น เช่น แก่บุคคลที่ต้องติดต่อด้วย บุคคลที่อยู่ในถิ่นฐานใกล้กัน บุคคลที่เรารู้จัก กระทั่ง แก่สาธารณะ เมื่อบุคคลในสังคมพลอยเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของกันและกัน บุคคลในโลกจึงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและใช้สภาพแวดล้อมที่ดีนี้ในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้ยิ่งๆขึ้นไป

ถ้าดีอย่างยิ่งตามคติทางพุทธศาสนา ก็คือขัดเกลาตน จนค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็นตน เป็นของตนลง แม้การอยู่เป็นคู่ไม่อาจบรรลุธรรมสูงสุดคือนิพพานที่ไม่ขึ้นกับกาลได้ แต่ก็เป็นการสร้างปัจจัยในการเห็นคล้อยตามสภาวะ กระทั่งพบนิพพานในระดับต้นๆเช่นสันทิฏฐิกนิพพาน (ขอเล่าในภายหลัง) ไปเรื่อยๆ จนอาจบรรลุธรรมสูงสุดได้ในโอกาสใดโอกาสหนึ่งในกาลอันยืดยาวข้างหน้า

หมายเลขบันทึก: 609451เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 04:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท