อดีตของความสุขอันฝังลึกในวัยเด็ก


ไปส่งวัวเสร็จ อาบน้ำในเหมืองในคลอง กระโดดสองสามตูม แบบไม่เคยเจอสบู่ ถูตัวกับดินเหนียว ล้างตัวเสร็จ กลับบ้านกินข้าวแต่งตัวไปโรงเรียน

                            ในหลายเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแม้กะทั่งการพูดคุยกันอย่างปกติในชีวิตประจำวัน  เมื่อเอ่ยถึงความเป็นไปของอดีตในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งหรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ละแวกบ้านใดบ้านหนึ่ง การบอกเล่าถึงวิถีชีวิตประสบการณ์ที่ผ่านมามักจะมีความภาคภูมิใจ ความสุขใจ และมักจะแย่งกันนำเสนออย่างกระตือรือร้นเสมอ   

                             อันดับต้นๆในการบอกเล่าก็คือความรักความผูกพันของคนในหมู่บ้าน การได้ร่วมกันทำกิจกรรมการประกอบอาชีพอย่างการทำนา ทำสวน   ความอุดมสมบูรณ์ ของข้าวปลาอาหาร แม่ตำเครื่องแกงส้มรอไว้ในเวลาเดียวกันพ่อก็ไปหาปลา ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ได้ปลาได้กบมา กับข้าวกับปลาก็เสร็จหอมกลิ่นแกงส้มมะขามกับบอนเต่า   อิ่มกันทั้งบ้านและอาจจะตักไปบ้านนี้ถ้วย  บ้านนั้นถ้วย เรียกว่าแกงถ้วย ตามประสาคนบ้านนอก    ผู้เฒ่าผู้แก่หน่อย  ก็จะเล่าว่าถ้าหน้านาก่อนไถพ่อบ้านก็จะไปเฝ้านายช่างทำผานไถนาหรือเรียกว่าหัวหมูในภาษาถิ่นพัทลุง    เพราะกลัวว่านายช่างจะทำให้คนอื่นก่อนเดี๋ยวจะไม่ทันหน้าปักดำ    อีกทั้งช่างทำผานคันไถนาเทียมวัวก็มีไม่มาก ทำไม่ดีไม่เข้าหลัก  ก้อนไถมันไม่พลิก ไถไม่ได้(มันแวงราดแล้วไม่ได้เทือก)   

                             ตื่นตีห้าหัวรุ่งจูงวัวไปส่งพ่อที่นา   พ่อก็แบกคันไถตามหลัง แม่ลุกขึ้นหุงเข้าตั้งแต่ตีสี่  ไก่ขันหลายครั้งแล้วน้องสาวยังไม่ตื่น คุณยายตื่นก่อนใครเพื่อนเพราะนอนไม่หลับนั่งยน(ตำ)หมาก ดังก๊อกๆๆๆ  เหมือนนาฬิกาปลุก เคี้ยวหมากพลางตะโกนปลุกคนโน้นคนนี้ ให้ลุกขึ้นมาก่อไฟหุงข้าว  เรียกชื่อหมดตั้งแต่ลูกหัวปียันคนท้ายปี   บางครั้งบางทีเรียกไปถึงชั้นหลาน ที่แกเรียกอย่างนั้นไม่ใช่อะไรหรอก  มีลูกหลายคนแกจำชื่อไม่ได้ก็เลยเริ่มที่คนแรกคนหัวปีไปตามลำดับ ไปตรงชื่อใครคนนั้นก็ตื่นพอดี

                            ไปส่งวัวเสร็จ อาบน้ำในเหมืองในคลอง กระโดดสองสามตูม แบบไม่เคยเจอสบู่ ถูตัวกับดินเหนียว ล้างตัวเสร็จ กลับบ้านกินข้าวแต่งตัวไปโรงเรียน   บางทีหรือบ่อยครั้งทีมงานเพื่อนๆก็มารอเดินไปโรงเรียนพร้อมกัน เรื่องรองเท้าไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มี ถึงมีก็ไม่ใส่ จะใส่ก็ตอนอยู่ ม. 1 โรงเรียนในเมือง  ก่อนถึงโรงเรียนแวะที่หลวงพี่ในวัด  กะให้พระฉันข้าวเช้าเสร็จพอดี ยกมือไหว้พร้อมกัน  ได้ขนมดีๆมาแบ่งกัน      เรื่องไปโรงเรียนสายนั้นไม่มีเพราะเดี๋ยวจะโดนครูใหญ่ตีหน้าแถว ใครโดนครูใหญ่ตีก็จะเจ็บมาก เป็นครูใหญ่ก็ต้องตีเจ็บกว่าครูคนอื่น ที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าพ่อรู้ว่าโดนคุณครูตีจะผิดจะถูกไม่ต้องพูดกัน   พ่อจะตีซ้ำโทษฐานทำตัวไม่เหมาะสมประพฤติไม่ดีจนต้องถูกครูตี  ถามว่าพ่อรู้ยังไงว่าโดนครูตี  ก็น้องสาวตัวดีหรือเพื่อนสนิทจะเป็นคนบอก ตอนพ่อตีก็จะอยู่กันพร้อมหน้า พ่อจะถามว่าให้ตีกี่ที ให้ประมาณโทษทัณฑ์เอาเองตามความหนักเบาของความผิดส่วนมากจะตอบว่า  3 ที  และให้ไปหักไม้มาเอง ถ้าพ่อโมโหตีเกิน 3 ยายก็จะตวาด มาจากนอกชาน  ทุกอย่างก็จะสงบสงครามในบ้านก็จะจบลงด้วยความเงียบเข้าสู่ภาวะปกติ

                             ถามว่ามีความสุขมั๊ย........เมื่อย้อนนึกถึงความทรงจำเหล่านี้ หลายคนในยุคสมัยวัยเด็กของเราจะตอบว่ามีความสุขมากๆและจะเป็นเรื่องเล่าในวงสนทนาในยามที่มีโอกาสเจอกัน

                             ถามอีกว่า.....อยากให้บรรยากาศแบบนี้หวนกลับมาอีกหรือเปล่า กลับมาปลูกฝังค่านิยมที่ฝังลึกกับเด็กไทยเด็กชนบท บ้านนอกอันมีความสุข   หรือว่าความสุขเหล่านี้ไม่มีวันหวนกลับมา ชนบทกำลังล่มสลายจริงหรือ พิษภัยโลกาภิวัฒน์บ่อนทำลายสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน การรุกรานทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยังคงอยู่ต่อไป เราเคยรู้เท่าทันมั๊ย แล้วเด็กไทยในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร

                        

หมายเลขบันทึก: 60939เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2006 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เหมือนยายผมเลย
  • คุณยายตื่นก่อนใครเพื่อนเพราะนอนไม่หลับนั่งยน(ตำ)หมาก ดังก๊อกๆๆๆ 
  • ไม่ได้ฟังภาษาพัทลุงนานมากครับ
  • คิดถึงความสุขในชนบท ในอดีตมีความสุขดีครับ
  • อยากให้พี่หรอยเขียนอีกครับ ชอบอ่าน
  • ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณมากครับ  อาจารย์ขจิต

              อาจารย์ขจิต  เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บันทึกผมเสมอ 

                         พี่หรอย

  • ขอบคุณพี่หรอยมากครับ
  • อยากไปพัทลุงครับ
  • ถ้าว่างจะไปเที่ยว

ยินดี....ต้อนรับครับ

ทุกเวลาเลยครับ มีโอกาสแวะเวียนมาคนพัทลุงจะดีใจมาก

 

  • อ่านแล้วทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน เป็นเรื่องที่ดังมาก เห็นบรรยากาศของท้องทุ่ง วัฒนธรรม การดำรงชีวิต แบบไม่เปื้อนฝุ่น
  • ค่านิยมที่ฝังลึกกับเด็กไทย เด็กชนบทแบบเดิม ๆ คงหายากแล้วค่ะ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาแทรกซึม 
  • รออ่านบันทึกหน้าค่ะ

 

ผมอ่านแล้ว นึกถึงภาพตาม เป็นภาพของบรรยากาศสุนทรีย และยิ้มน้อยๆทุกครั้งที่พูดถึง

มีความสุขครับ มีความสุขจริงๆ

ในอนาคต อีกไม่กี่เดือน ผมอาจทำงานที่เกี่ยวพันกับภาคใต้...

ไว้ผมจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับพี่และได้ร่วมทำงานครับ

ต่อจากนี้ผมขออนุญาติเรียกคุณ อนุกูล ว่า "พี่หรอย" นะครับ

ภาพดังกล่าวที่พี่หรอยเล่ามา เป็นภาพครอบครัวที่แสนอบอุ่น ตามแบบฉบับของความสำพันธ์ของคนในครอบครัวบ้านเรา(ในอดีต) 

ดูแล้วเป็นความสำพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันหมดเลยนะครับ ตั้งแต่บ้าน โรงเรียน หรือ เด็ก กับ ผู้ใหญ่

อ่านแล้วชอบมากครับพี่หรอย

    ขอบคุณครับ

 

เรียน   คุณเลอสรรค์

             ขอบคุณมากครับ

             เป็นมุมหนึ่งของชีวิตที่มีความสุข อยากเป็นแบบนั้นอีก.........เป็นเด็ก(ฮา.....)

                          พี่หรอย

เรียน........คุณจตุพร

               ผมดีใจและภูมิใจมากครับที่หลายๆคนมีความสุข

                แวะเวียนลงมาทางใต้ยินดีต้อนรับครับ.....มีงานหรือกิจกรรมอะไรคงจะได้แลกเปลี่ยนและร่วมงานกันครับ

                                พี่หรอย

เรียน  คุณอ้อ

           วัฒนธรรมท้องทุ่งมีคุณค่าและงดงามเสมอ

            ผมกลัวมากครับในวันข้างหน้า คนไทจะทิ้งแผ่นดินและชนบทอาจจล่มสลาย

                 ขอบคุณครับ

  • แวะมาสวัสดีปีใหม่ท่ามกลางอากาศหนาวๆที่ชายแดนกาญจนบุรีครับผม
  • ขอบคุณพี่หรอยมากครับที่แวะไปทักทาย
  • อ่านแล้วมีความสุขไปด้วยค่ะ
  • เอ !!! แล้วที่เขาว่า คนอายุเยอะๆ จะชอบ "เล่าเรื่องเก่า กินของขม ชมเด็กสาว" พี่หรอยเริ่มเป็นแบบนั้นแล้วเหรอคะ (ยิ้มๆ ค่ะ)

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณบันทึกดีๆอันนี้ครับ
  • เคยคิดว่าจะเขียนเล่าในแบบของพี่เช่นกันครับแต่ก็ยังไม่แน่ใจหรือมั่นใจที่จะเล่า
  • เรื่องราวทุกอย่างที่พี่เล่า  ก็คล้ายกับการเล่าเรื่องของผมช่วงวัยเด็กเลยครับ

             ขอบคุณครับ  น.พ.สุพัฒน์  Kmsabai

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท