ชาว “แม่สรวย” ร่วมใจปลอดจากภัยบุหรี่ ด้วยมาตรการควบคุมยาสูบโดยชุมชนเป็นฐาน


“การที่เด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของคนในท้องถิ่นเข้าไปพูด และขอร้องให้ลด ละ เลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ผลที่ตามมาคือชาวบ้านเกิดความตระหนักมากกว่าเจ้าหน้าที่ หรือ กลุ่ม อสม. เข้าไปพูด แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเด็กที่มีต่อผู้ใหญ่ และสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้” สาธารณสุขอำเภอแม่สรวย กล่าว


ภาพชินตาที่เห็นพ่อแม่สูบบุหรี่ ทั้งขณะที่กำลังทำงาน และพักผ่อนภายในบ้านมาตั้งแต่จำความได้ ทำให้ไม่มีใครฉุกคิดว่าควันโขมงที่ออกมาจากบุหรี่ มีสารพิษปะปนหลายร้อยชนิด และยังเป็นโทษต่อร่างกายอย่างมหันต์ ซึ่งภาพที่ว่านี้ เป็นเหมือนๆ กันทุกหมู่บ้านในชนบท และอาจเป็นภาพเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยในรอบหลายทศวรรษ

สถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 11.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20.7 แยกเป็นเพศชาย 10.75 ล้านคน และเพศหญิง 6.17 แสนคน ซึ่งช่วงวัยอายุที่สูบบุหรี่มากที่สุด คือตั้งแต่ 25-59 ปี และมีแนวโน้มของผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งคราวมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนภูมิภาคที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนิยมบุหรี่มวนมากกว่าบุหรี่โรงงานถึง 60% อัตราเฉลี่ยสูบบุหรี่ 11.5 มวนต่อวัน

รศ.ดร.มณฑา เก่งการพินิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สนับสนุนโดย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า

"แม้ทุกคนจะรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ แต่ก็ยังเกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุมาจากความอยากรู้อยากลอง เพื่อนชักชวน ทำตามเพื่อน หรือสูบเพื่อนให้เพื่อนในกลุ่มยอมรับ รวมไปถึงครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คนภายในครอบครัวและชุมชน มองว่าเป็นเรื่องปกติ

แม้ขณะนี้ทางภาครัฐจะออกมาตรการควบคุมบุหรี่มากมาย แต่พบว่ามาตรการต่างๆ นั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะยังมีปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น แต่โรงงานผลิตบุหรี่ก็จะผลิตยี่ห้อใหม่ที่มีราคาถูกลงเพื่อเอาใจคนสูบบุหรี่ที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันบุหรี่เถื่อนที่เต็มท้องตลาดโดยเฉพาะจังหวัดติดชายแดน"


“การจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องทำงานเชิงลึกมากกว่านี้ เช่น ระบบบริการเลิกยาสูบโดยมีชุมชนเป็นฐาน ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเชิงลึก” อาจารย์มณฑา กล่าว


ที่ตำบลเจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ปกาเกอะญอ อาข่า ลาหู่ เมี่ยน ไทยใหญ่ ลีซอ และคนพื้นเมือง ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายร่วมกับสสส. ดำเนินโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยมีเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอแม่สรวยเป็นผู้ดำเนินการ

ภูริภัทร์ ธีระลักษณ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย เล่าว่า โครงการดังกล่าว ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ชุมชนปลอดบุหรี่ของตำบล ขณะเดียวกันก็ติดป้ายสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ในเขตตำบลเจดีย์หลวงตามกฎหมายคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ ประชาสัมพันธ์ถึงพิษภัยบุหรี่และแจ้งแหล่งให้คำปรึกษาช่วยเลิกบุหรี่ผ่านสื่อเสียงตามสายในหมู่บ้าน ขอความร่วมมือเจ้าภาพกิจกรรมงานต่างๆ งดเลี้ยงยาเส้น และบุหรี่ รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบของตำบลเจดีย์หลวง

หากมีการฝ่าฝืนข้อห้ามจนครบ 5 ครั้ง คณะกรรมการหมู่บ้านจะรวบรวมข้อมูลแจ้งต่อที่ประชุมหมู่บ้าน ให้ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน แจ้งแก่ผู้ฝ่าฝืนการสูบบุหรี่และครอบครัวทราบ เพื่อขอความร่วมมือให้เจ้าตัวบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชน 1 วัน แล้วเข้ารับบริการช่วยเลิกบุหรี่ ที่ รพ.สต.เจดีย์หลวง


สำหรับหลักการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐานนั้น ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1.ชุมชนต้องจัดเวที ทำนโยบายร่วมกัน เพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ในชุมชน

2.ต้องจัดสิ่งแวดล้อม สถานที่ต่างๆ ตามกฎหมายต้องมีป้ายห้ามสูบบุหรี่ 100% รวมถึงร้านค้ามีป้ายไม่จำหน่ายให้กับเด็กและมีการอบรมกฎหมายให้ผู้ขายด้วย

3.ต้องเข้าถึงคนสูบบุหรี่และช่วยเลิก ตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรมบุคคล

4.ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง อบรมแกนนำ ให้เข้าไปช่วย มีความรู้ร่วมกัน อบรมพัฒนาศักยภาพร่วมกัน เช่น นวดกดจุด สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ เป็นต้น และ

5.ต้องปรับระบบบริการ นำเอากิจกรรมการเลิกสูบบุหรี่เข้าไปร่วมด้วย

ทุกๆ ขั้นตอน ทางเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอแม่สรวย และสาธารณสุขอำเภอแม่สรวย ได้ดำเนินการทุกมาตรการ จึงขยายผลจากตำบลเจดีย์หลวงไปยังตำบลอื่นๆ ในอำเภอแม่สรวย เช่น ที่ตำบลป่าแดด เน้นใช้แนวทางของทันตสาธารณสุข กระตุ้นให้มีการเลิกสูบบุหรี่ โดยกลุ่มเป้าหมายที่สูบบุหรี่ทุกราย ต้องผ่านการตรวจสุขภาพในช่องปาก เมื่อพบปัญหาก็จะนัดมาติดตาม ทำการรักษา ส่วนตำบลท่าก๊อ ใช้กระบวนการบำบัดโดยการแพทย์แผนไทยและทางเลือก พัฒนาตำรับยาสมุนไพร ให้สามารถใช้ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ที่ตำบลแม่พริก ใช้กระบวนของชุมชนเป็นฐาน เน้นกลุ่มพระสงฆ์ ผู้สูงอายุ ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และที่ตำบลศรีถ้อย เน้นกระบวนการตามหลักจิตวิทยาเพื่อสกัดกั้นนักสูบหน้าใหม่ ดึงกลุ่มเด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม


เฉลียว นัยนา นายก อบต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย บอกว่า ได้ชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. เข้ามาเป็นแกนนำหลักเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวบ้าน และเมื่อแกนนำเลิกแล้วก็มีการประชุมทำบันทึกความเข้าใจกับชาวบ้าน (MOU) ให้เลิกสูบบุหรี่ในที่สาธารณะหรือในวัด จนทุกวันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว

“ตอนนี้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง จากเดิมประมาณ 50% เหลือเพียง 20% บนภูเขา และในพื้นราบไม่เกิน 10% การเลิกบุหารี่ยังทำให้เศรษฐกิจในครัวเรือนดีขึ้น ลดรายจ่ายอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญทำให้สุขภาพดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานได้เป็นอย่างดี” นายก อบต.ศรีถ้อย กล่าว

ขณะที่ นรุตม์ชัย แก้วสอน สาธารณสุขอำเภอแม่สรวย กล่าวว่า เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารกับผู้ใหญ่ถึงพิษภัยของบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นตัวของผู้สูบ หรือผู้ที่อยู่แวดล้อมที่จะได้รับพิษจากบุหรี่มือสอง แม้จะไม่ใช่ผู้สูบเอง แต่การได้รับควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมา หรือควันบุหรี่ที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่ระหว่างการสูบ ก็คือการรับสารพิษมากกว่า 250 ชนิดเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งควันบุหรี่มือสาม ที่เป็นสารพิษตกค้างตามเสื้อผ้า ของใช้ หลังจากบุหรี่ดับแล้ว ก็ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“การที่เด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของคนในท้องถิ่นเข้าไปพูด และขอร้องให้ลด ละ เลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ผลที่ตามมาคือชาวบ้านเกิดความตระหนักมากกว่าเจ้าหน้าที่ หรือ กลุ่ม อสม. เข้าไปพูด แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเด็กที่มีต่อผู้ใหญ่ และสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้” สาธารณสุขอำเภอแม่สรวย กล่าว

จะเห็นได้ว่ามาตรการเลิกสูบบุหรี่โดยให้ชุมชนเป็นฐานจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึง และประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายระดับประเทศ เพียงแต่ให้กฎระเบียบของชุมชนดำเนินควบคู่กันไปดังเช่นที่อำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย


กิจกรรมวัดความจุปิด



ที่มา : http://www.northpublicnews.com/

หมายเลขบันทึก: 609318เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท