สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ติดอาวุธความรู้ “5 เรื่อง” สำคัญที่เด็กไอทีควรรู้ก่อนทำโครงงาน…เพื่อพัฒนาผลงานสู่ผู้ใช้จริง


มูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จับมือกับเนคเทค ระดมพี่เลี้ยงติดอาวุธความรู้ 5 เรื่องสำคัญให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ รุ่นที่ 4 ยกระดับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และไอทีให้สามารถต่อยอดผลงานนวตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ผู้ใช้จริง




คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชน


คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงหัวใจของโครงการฯ ว่า“โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ดำเนินงาน โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และปีนี้นับเป็นปีที่ 4 ของโครงการฯ ที่มีเยาวชนผ่านการคัดเลือกรอบแรกเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ประจำปี 2559 จำนวน 33 ทีม จึงได้มีการปฐมนิเทศอบรมความรู้พื้นฐาน 5 เรื่องที่สำคัญให้กับเยาวชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ผลงานของเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนพัฒนาผลงานของตนเองให้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้ผลงานได้จริง”






ในเวทีการปฐมนิเทศครั้งนี้เยาวชนทั้ง 33 ทีมที่เข้าร่วมอบรม ได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆจากเนคเทค ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงประจำโครงการ 5 เรื่องสำคัญด้วยกัน ประกอบด้วย 1.การตั้งโจทย์ทำงาน จากปัญหาที่แท้จริงเป็นการเสริมทักษะให้เยาวชน“ตั้งโจทย์จากปัญหา”ที่แท้จริงจากUSER เสียก่อน แล้วจึงค่อยนำผลงานไปต่อยอด จะทำให้การแก้ปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด 2.การค้นหา Passion (ความชอบ)ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าหากน้องและสมาชิกในทีมมี Passionที่ตรงกัน จะส่งผลให้พวกเขามองเห็นทิศทางคุณค่าและเป้าหมายของการทำโครงการร่วมกันจะทำให้พวกเขาทำโครงงานจนสำเร็จลุล่วงไปได้







นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่3.การวางกลยุทธ์พื้นฐานในการนำสินค้าลงสู่ตลาดที่คุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาพ หน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ( )และพี่เลี้ยงประจำโครงการฯ กล่าวว่า“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเด็กๆจะได้รับความรู้ในเรื่องการสร้างผลงานให้มีความแตกต่าง มองจุดแข็ง จุดเด่นของผลงาน หรือการกำหนดโปรโมชั่นบางอย่างที่จะทำให้ผลงานมีความโดดเด่นและน่าสนใจก่อนที่จะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เรื่องที่ 4.สร้างสรรค์งานภายใต้ข้อแม้เป็นเรื่องที่สอนเกี่ยวกับมุมมองการคิดงานที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง โดยนำข้อจำกัดนั้นๆ มาเป็นตัวช่วยคัดกรองและพัฒนาไอเดียเพื่อสร้างผลงานต่อไปได้อย่างถูกทิศทางและเรื่องที่5. คือ การสร้างBrandingสอนเกี่ยวกับการออกแบบและสร้างแบรนด์ให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง โดยทั้ง 5 เรื่องข้างต้นผู้เชี่ยวชาญได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดในรูปแบบการบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่ได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นด้วย อาทิ การเล่นเกม การตั้งคำถาม การคิดวิเคราะห์ การทำงานกลุ่มร่วมกัน เป็นต้นเพื่อสร้างความเข้าใจ ให้กับเยาวชนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมองเห็นวิธีการในการพัฒนาผลงานของตนเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น





น.ส.จิตรานุช ไชยราช อายุ 17 ปี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

เยาวชนที่เข้าร่วมการปฐมนิเทศครั้งนี้ได้ร่วมสะท้อน อาทิ .ส.จิตรานุช ไชยราช อายุ 17 ปี (ผลงานนวัตกรรมเครื่องกรองน้ำจากวัสดุเหลือใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียปนเปื้อนโลหะหนัก) จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย .ลำปาง“…เวทีนี้ทำให้หนูได้รู้แนวทางในการพัฒนาผลงาน จากเดิมที่คิดเอาไว้ว่าเป็นแค่โครงงานวิจัยทำให้เราจะมุ่งพัฒนาแต่งานของเราให้สำเร็จเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้มองเรื่องการวางแผน การตลาด ดังนั้นการมาอบรมครั้งนี้ทำให้เราได้มุมมองใหม่ในการพัฒนาผลงานว่าเราต้องเข้าใจผู้ใช้ด้วย และต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะมีความรู้สึกท้อบ้าง แต่ก็อยากจะสู้ต่อ…”



น.ส.ดลยา ชูจันทร์ อายุ 15 ปี โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง

.ส.ดลยา ชูจันทร์ อายุ 15 ปี (ผลงานอุปกรณ์ขึ้นต้นมะพร้าว) จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง “….ประทับใจหลายกิจกรรม แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะนำมาเป็นประโยชน์กับการทำโครงงานของหนูได้นั้นคงเป็นเรื่องของการวางกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งการทำโครงงาน หรือพัฒนาผลงาน เราต้องมองหาจุดเด่นเพื่อสร้างความแตกต่าง และการหาเป้าหมาย เพื่อจะได้รู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงในการนำมาเป็นโจทย์สร้างงานนั้นจะเป็นอย่างไร จากเดิมการวางเป้าหมายของหนูนั้นกว้างเกินไป และทำให้แก้ไขไม่ถูกจุด แต่พอเข้ามาอบรมครั้งนี้ทำให้หนูกำหนดเป้าหมายให้แคบลง เพื่อที่จะได้พัฒนางานให้ดีที่สุดรวมทั้งยังได้ทักษะการนำเสนองาน อันนี้เป็นผลพลอยได้จากการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ เพราะเมื่อก่อนหนูเป็นคนไม่ค่อยกล้าแสดงออกเท่าไหร่ พอได้พูดอธิบายเกี่ยวกับการนำเสนอ ทำให้หนูมั่นใจขึ้น…”



“…เนื่องจากเยาวชนที่เข้ามาในโครงการฯยังขาดการมองมุมเรื่องอื่นในการพัฒนาผลงาน ดั้งนั้นการปฐมนิเทศครั้งนี้ จะเป็นเวทีเติมความรู้และพัฒนาศักยภาพพื้นฐานให้เยาวชนสายไอทีได้เห็นมุมมองด้านอื่นในการทำโครงงานที่นอกเหนือแค่การพัฒนาผลงานเพียงอย่างเดียว โดยทั้ง 5 เรื่องที่น้องๆได้เรียนรู้ไปนั้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พวกเขาต้องนำกลับไปใช้ตลอดระยะเวลาในการพัฒนาผลงาน ก่อนที่จะกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกเข้ารอบตัดสิน 15 ทีมสุดท้ายในการรับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานต่อไป…ที่สำคัญโครงการเรานี้ไม่มุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อให้ได้รางวัล แต่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของน้องๆ ในด้านความคิดสร้างสรรค์ผลงาน ที่น้องๆจะต้องแข่งขันกับตัวเองในการพัฒนาผลงานออกมาให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ผลงานได้อย่างแท้จริง” คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย









เวทีนี้ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกในการติดอาวุธความรู้พื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาผลงานตั้งแต่แรกให้เยาวชนสายไอทีไปปรับใช้กับโครงงานของตนเอง ให้ยกระดับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในรูปแบบขั้นพื้นฐานให้กลายเป็นผลงานที่ไปตอบโจทย์และแก้ปัญหาของคนในสังคมได้จริงๆ เรามาร่วมเป็นกำลังใจเยาวชนเหล่านี้ในเวทีครั้งต่อไป ระหว่างวันที่ 24 – 31 พฤษภาคม การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดผลงานและพิจารณาคัดเลือกผลงานเพื่อรับมอบทุนพัฒนาต่อยอดผลงาน (Workshop1) ที่ใกล้จะถึงนี้ และหลังจากการอบรมดั่งกล่าวจบลงจะมีการคัดเลือกเยาวชนให้เหลือเพียง 10-15 ทีมเท่านั้น

---------------------------------------------------------------------------

ติดตามรายละเอียดของโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่และโครงการอื่นๆของเยาวชนได้ที่

https://www.scbfoundation.com/ หรือแฟนเพจเฟสบุค

https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION/

หมายเลขบันทึก: 609317เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2016 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท