โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

​เสน่หาภาษาถิ่น


มีเพื่อนที่มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เราสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นของตน แต่ก็เข้าใจกันได้ แม้บางครั้งต้องมีคำอธิบาย และแปลความหมายกันบ้าง


ฝนตกพรำๆ ยาวนานหลายชั่วโมงเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังจากห่างไปนาน ทอดทิ้งแผ่นดินให้แห้งแล้งยาวนานหลายเดือนติดต่อกัน วันนี้แผ่นดินชุ่มน้ำ บางแห่งยังเห็นน้ำฝนเจิ่งนองหลุมบ่อตามริมถนนลูกรังสีแดง แปลกที่รุ่งเช้าวันถัดมา สีเขียวกลับมาปรากฏให้เห็นแบบง่ายดาย ทั้งที่มองหามายาวนานหลายเดือนติดต่อกัน แต่ไม่พบ วันนี้เพียงฝนสาดเม็ดลงสู่พื้นเมทนีดลแค่คืนเดียว สีน้ำตาลฝุ่นหายไป สีเขียวกลับคืนมาเหมือนภาพที่นิรมิตรขึ้นชั่วข้ามคืน รู้สึกชุ่มฉ่ำในหัวใจอย่างไรชอบกล คิดดูแล้วฤดูกาลมีผลต่อจิตใจของคนไม่น้อย

นึกถึงเรื่องภาษาถิ่นภาษาไทยแล้วพยายามสำรวจว่า มีเรื่องใดบ้างที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง เอามาเล่าแค่ให้เป็นเรื่องเกล็ดๆ พอสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ แค่เป็นเรื่องเล่าก็พอ ไม่ต้องเป็นเชิงวิชาการจนเกินไป เพราะจะทำให้เสียอรรถรสในการรับข้อมูลที่สำคัญ พบว่ามีเรื่องเกี่ยวกับภาษาหลายเรื่องเหมือนกัน น่าสนใจ

เมื่อทางโรงเรียนวังไกลกังวลเปิดสอนทางไกลผ่านดาวเทียมใหม่ๆ มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ให้เริ่มออกอากาศได้เลยทันทีโดยไม่ต้องรอความพร้อม เพราะมัวแต่รอ คงช้าออกไปอีกเรื่อยๆ ดั่งนั้น ขอให้ออกอากาศได้เลย ทางครูอาจารย์ที่มาสอนต่างตื่นเต้นกับการสอนผ่านทางไกลในครั้งแรกๆ กันมาก ต่างคนต่างเตรียมความพร้อมของตนอย่างรวดเร็ว อาจารย์ท่านหนึ่งเข้าชั้นเรียนแล้วหยิบนั้นจับนี่ เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เตรียมมาเข้าที่เข้าทาง แล้วกลับมายืนหน้าชั้นเรียน ช่างกล้องเห็นเช่นนั้นจึงเดินกล้องทันที อาจารย์นึกขึ้นได้ว่ายังขาดความพร้อมบางอย่าง จึงยกมือขึ้นแล้วร้องบอกว่า “เฮ้ยๆๆ เดี๋ยวรอก่อน” ปรากฏว่า คำว่า “เฮ้ยๆๆ เดี๋ยวรอก่อน” ออกอากาศไปถึงปลายทางเรียบร้อย อาจารย์บางคน เป็นคนท้องถิ่นหัวหิน ติดภาษาถิ่นหัวหินที่มักจะเติมสร้อยคำว่า “ดิ๊ หรือ ดุ๊” ต่อท้ายประโยคที่พูดบ่อยๆ เมื่อสอนออกอากาศผ่านทางไกล แน่นอนย่อมมีคำเหล่านี้ติดไปด้วยบ่อยๆ เช่น “นักเรียนหยิบสมุดขึ้นมาดุ๊” “ลองตอบคำถามนี้ดูดิ๊” ออกอากาศบ่อยเข้า ทางผู้ใหญ่ในวังไกลกังวลติดตามดูอยู่จึงสอบถามกลับมาแบบทีเล่นทีจริงว่า “คำว่า ดิ๊ หรือ ดุ๊ นี่ลดลงบ้างก็ดีนะ” หลังจากนั้น คำสร้อยเหล่านี้ลดลงไปบ้างเหมือนกัน แต่ว่า ไม่นานก็กลับคืนมา เพราะอิทธิพลของภาษาถิ่นหัวหินเป็นเช่นนั้นเอง

เมื่อหลายปีก่อน ที่ทำงานของผมมีเพื่อนร่วมงานจบ ดร คนหนึ่งสมัครเข้ามาทำงานในสาขาวิชาเดียวกัน ผมทราบว่าบ้านเดิมของเพื่อนคนนี้ อยู่ทางภาคใต้เลยสอบถามพูดคุยถึงสถานการณ์ทางภาคใต้ เพื่อนแจ้งว่า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นานพอสมควรแล้วผมจึงลองถามถึงเรื่อง “ภาษาไทยภาษาถิ่น” ทางใต้เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนว่า “ไม่เห็นเป็นอย่างไร สักเท่าไร แต่เมื่อมองให้ลึกๆ อาจค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจนเราไม่ค่อยจะรู้สึกก็เป็นไปได้ ” “เอ ลองมองดูดีๆ แล้วทบทวนให้ฟังหน่อย” เพื่อนมีสีหน้าครุ่นคิดอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ “วันก่อนลูกสาวเรียนจบเภสัชมาแล้ว มาต่อว่า ว่าไม่สอนภาษาปักษ์ใต้ให้เธอ” ผมรู้สึกงุนงงไม่เข้าใจว่า จะเรียนภาษาใต้ของคนใต้ไปเพื่อสิ่งใดอีก ในเมื่อเธอเป็นคนใต้ แม่ของเธอก็เป็นคนใต้ ครอบครัวทั้งหมดก็เป็นคนใต้ แล้วจะเรียนภาษาใต้ไปเพื่ออะไรอีก “ผมยังไม่เข้าใจว่า อยู่ครอบครัวของคนใต้อย่างนี้แล้วจะเรียนภาษาใต้อีกหรือ” เพื่อนพยักหน้าอย่างหงอยๆ ก้มหน้าลงเล็กน้อย เหมือนกำลังคิดถึงเรื่องราวหนหลังบางเรื่อง “คือเราเอง เห็นว่าภาษาใต้ของเราเอง ไม่ต้องเรียนก็พูดได้อยู่แล้ว เข้าใจได้อยู่แล้ว จึงอยากให้ลูกได้เรียนภาษาอังกฤษ ในสิ่งแวดล้อมอังกฤษ และก็เป็นไปตามความประสงค์คือ ลูกเก่งภาษาอังกฤษ สอบเข้าเรียนทำงานที่ไหนก็ได้ทั้ง แต่วันหนึ่งลูกสาวมาต่อว่าเลยไม่เข้าใจ ได้ถามกลับไปว่า ทำไมหรือลูก เธอตอบว่า “ตอนนี้เพื่อนล้อบ้าง ด่าบ้าง ว่าหนู อยู่ใต้ เป็นคนใต้เสียเปล่า พูดใต้ไม่ได้ ได้อย่างไร” “แล้วมีปัญหาอะไรมากหรือเปล่า” “เปล่าค่ะ แต่ว่า หนูพูดใต้ไม่ได้อายเขานะ” เราก็ได้แต่งง”

ผมฟังเรื่องนี้ที่เพื่อนเล่าให้ฟังแล้วคิดถึงเรื่องเล่าในกลุ่มการศึกษาขึ้นมาได้ จึงเล่าให้เพื่อนฟัง “ผมได้ยินเขาเล่ามาว่า พ่อคนหนึ่งมีความปรารถนาให้ลูกชายคนเดียวของเขาได้เรียนโรงเรียนที่เป็นสากล แม้จะมีราคาแพงสักหน่อย แต่เขาคิดว่าคุ้ม เพราะลูกจะได้เรียนภาษาอังกฤษ และแถมภาษาจีนไปด้วย จึงส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนสากลตั้งแต่เล็ก และลูกก็เรียนได้สมใจ เก่งภาษาอังกฤษและภาษาจีนมาก พ่อรู้สึกสมหวังมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกเขียนคำอวยพรวันเกิดให้พ่อตามประสาเด็ก “ในวันคล้ายวันเกิดของพ่อ ลูกขอให้พ่อแข็งแรงเหมือนควาย” (On your birthday I wish you strongest as a buffalo) คุณพ่อยิ้มด้วยความยินดีว่าลูกสามารถใช้งานภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ดี แต่ฉุกคิดเพราะการเปรียบเทียบว่าแข็งแรงเหมือนควายนั้น ภาษาไทยถือว่า ไม่ถูกต้อง มองให้ลึกลงไปแล้ว แสดงว่าลูกของาเขาเอง ได้อย่างหนึ่งคือด้านภาษา แต่เสียไปอย่างหนึ่ง คือด้านวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมติดมากับภาษาของแต่ละภาษา

เพื่อนเรื่องนี้แล้ว พยักหน้าด้วยความเข้าใจปัญหาของลูกสาวที่เจอ เพราะเปรียบเทียบกันได้ใกล้เคียง คิดชื่นชมประเทศญี่ปุ่นที่จัดการศึกษาด้านภาษาอย่างถูกต้อง โดยส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นจนแตกฉานเสียก่อนแล้วค่อยให้เรียนภาษาอื่น ไม่ว่าจะภาษาใดทั้งนั้น เพราะเห็นความสำคัญของภาษาแม่ และเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานสำคัญของความเป็น “ญี่ปุ่น”

สมัยผมยังเยาว์วัย หลังจบประถมศึกษาชั้นปีที่4 ครอบครัวให้ผมไปบวชเณรเรียนหนังสือที่วัดแห่งหนึ่งแถวจังหวัดกาญจนบุรี บ้านเกิด มีเพื่อนที่มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เราสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นของตน แต่ก็เข้าใจกันได้ แม้บางครั้งต้องมีคำอธิบาย และแปลความหมายกันบ้าง

เพื่อนคนหนึ่งมาจากทางเหนือ พูดให้ฟังว่า เขาเป็นชาวเหนือ ใช้ภาษาถิ่นเหนือคุยกับเพื่อนๆ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยไปอยู่ทางภาคอีสาน ตัวเขาเองพบว่า ภาษาเหนือ และภาษาถิ่นอีสานมีหลายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน การเจรจาพูดคุยเข้าใจกันได้ดี จนมีความสุขในการอยู่ในภาคอีสาน เสียดายที่อยู่ได้ไม่นานเท่าใดก็ต้องย้ายจากมาอยู่ที่วัดนี้ ยังประทับใจการอยู่ที่ภาคอีสานในช่วงหนึ่งของชีวิต

เติบโตขึ้นมาอีกหน่อย ผมมาอยู่กรุงเทพมหานครมีเพื่อนที่มาจากภาคต่างๆ เหมือนเดิม หลายคนเริ่มทำงานตามวิถีทางที่ตนเองเป็นคนเลือก เพื่อนคนหนึ่งทำงานเป็นผู้จ่ายยาในคลินิกรักษาโรคผิวหนังแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง หมอจ่ายยาให้กับคนไข้ที่เป็นโรคผิวหนังที่แขน ฟังสำเนียงการพูดจาแล้วน่าจะมาจากภาคอีสาน เพื่อนจึงต้องทำหน้าที่ช่วยอธิบายการใช้ยาทาอีกครั้ง หรือหลายครั้ง จนกว่าลูกค้าจะเข้าใจ ผ่านไปสองสัปดาห์ ลูกค้ารายนี้กลับมาหาอีกครั้ง เมื่อเพื่อนเห็นก็จำได้ จึงทักทาย “เป็นอย่างไรบ้าง ยาที่รับไป ทาแล้วได้ผลหรือไม่” คนไข้ทำหน้าเศร้า “ทาบ่โดนเลยจ๊ะ” เพื่อนแปลกใจมาก ไม่เข้าใจว่าทาไม่โดนได้อย่างไร จึงต้องอธิบายพร้อมสาธิตให้ด้วย “ต้องทาให้โดนนะ ทานอย่างนี้เลย” ว่าแล้วขยับแขนเสื้อขึ้น แล้วใช้นิ้วชี้แตะตัวยา และทาไปที่แขน “ต้องทาอย่างนี้นะคะ” ลูกค้าทำหน้าไม่เข้าใจอีก “ทาแล้วค่ะ แต่ทาบ่โดน” คราวนี้ เพื่อนงงเอง ว่าทาแล้ว แต่ทาไม่โดนมันจะเป็นไปได้อย่างไร “ไม่ได้เลยค่ะ ต้องทาให้โดน ทาไม่โดนก็ไม่หายซิ” ลูกค้าฟังแล้วงง จนคนที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ ทนไม่ไหว ช่วยอธิบายมาว่า “ทาบ่โดน หมายถึงว่า ยังทายามาไม่นานนะค่ะ คุณหมอ” เพื่อนยิ้มกว้างแบบเขินๆ “โถ่ แล้วก็ไม่บอกแต่แรก” เพื่อนนึกในใจ

เพื่อนอีกคนมาจากอีสานเข้ามาเรียนกรุงเทพเหมือนคนชนบทอื่นๆ ทั่วไป เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาไม่แน่ใจว่า เปิดเทอมใหม่ๆ อาจารย์จะเข้ามาสอนหรือเปล่าจึงบอกเพื่อนว่า "ไป “จอบ” อาจารย์สิ ว่ามาหรือเปล่า" เพื่อนเงียบทั้งห้อง ถามอะไรนะ เขาเองต้องอธิบายให้เพื่อนทุกคนได้รู้ว่า จอบ คือ แอบดู เป็นอันว่าเพื่อนทั้งห้องได้เรียนรู้ภาษาอีสานวันละหลายคำ

เรื่องภาษาถิ่นเป็นเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนได้ง่าย และยาวนาน เพราะภาษาถิ่นคือเสน่ห์อย่างแรงของการสื่อสารสัมพันธ์กัน เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องของตัวผมเอง เหตุเกิดเมื่องานวันแต่งงานของผมกับสาวเหนือแท้ ส่วนผมเป็นคนเหนือแต่ติดตามพ่อแม่มาอยู่ที่ภาคตะวันตั้งแต่เล็ก จึงพูดเหนือไม่ค่อยจะได้ วันเตรียมของสำหรับงานแต่งผมก็ไปช่วยทางฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมงานที่บ้านพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวที่เมืองเหนือ เหตุเกิดเมื่อทางแม่เจ้าสาวบอกมาว่า “เจ้าทิดเอ้ย ไปเอาเปลมาให้แม่หน่อยแม่จะมาหม่าข้าว ผมนิ่งงงสักครู่คิดอยู่ในใจ หม่าข้าวคืออะไร พยายามเดา เอ.........ทางเหนือนี่เขาทานข้าวเหนียวกัน หม่าก็น่าจะเป็นแช่ แน่ๆเลย อันนี้ผมเดาถูก ส่วนคำว่า “เปล” นี่นะสิ เดาไม่ออก จนปัญญาจริงๆ อยากจะถามใครสักคนก็ยังหาไม่เจอ หันหาว่าที่ภรรยา ก็ไปทำผมแต่งหน้า แม่ก็ไม่อยู่เวรแน่ๆ ต้องยอมอายไปถามว่าที่แม่ยาย “แม่ๆ เปลอยู่ไหนครับผมหาไม่เจอ” ว่าที่แม่ยายฟังแล้วอึ้งไปพักหนึ่ง พยายามสื่อสารกันต่ออีก แต่ก็ไม่เข้าใจเพราะแม่ยายอู้ได้แต่คำเมือง พูดกลางไม่คล่อง พอดีว่าที่ภรรยากลับมาพอดีช่วยกู้หน้า ฟังเรื่องราวแล้วเดินไปหยิบกะละมังที่เอาไว้แช่ข้าวมาให้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แต่เรื่องนี้ผมถูกนำมาเล่าขานจนอายไปหลายครั้งหลายคราว เรียกว่า ขำกันทั้งบ้านเลย

สายธารแห่งภาษาถิ่นยังมีเรื่องเล่าอีกมากให้ได้เรียนรู้มากมาย อีกเรื่องหนึ่ง คนภาคกลางแต่งงานกับสาวเหนือแล้วจึงตามกันไปอยู่ที่จังหวัดพะเยา วันหนึ่งอยากกินส้มตำ ฝ่ายภรรยาต้องการให้สามีไปซื้อให้ สามีเดินทางไปถึง “ส้มตำไทยใส่ปูถุงหนึ่ง” “ตำบ่ได้เจ้า หม่าก้วยเตทหมดเจ้า” แม่ค้าตอบกลับมา “ไม่เป็นไร มะเขือเทศหมดไม่ต้องใส่ก็ได้ครับ” “ตำบ่ได้หน่า หม่าก้วยเตทหมด จะตำได้จะไดเจ้า” “ไม่เป็นไรนี่ ไม่ต้องใส่มะเขือเทศ ผมกินได้” คนที่เข้าใจภาษาถิ่นที่ฟังอยู่จึงเข้ามาอธิบายว่า “หม่าก้วยเตท คือ มะละกอ” กว่าจะเข้าใจกันได้ก็เกือบจะทะเลาะกันในตลาด

เรื่องถัดมา คุณครูชาวเหนือสอบบรรจุเข้ารับราชการได้ที่ภาคกลาง แม้ว่าอยากจะกลับบ้านทางเหนือ แต่ก็ต้องรอเวลาและโอกาสอันเหมาะสม วันหนึ่งขณะสอนวิชาความรู้รอบตัวให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาห้องหนึ่ง “นักเรียนที่รักของครูทุกคน วันนี้เราจะเรียนความรู้รอบตัว” ครูจับอิฐมอญก้อนหนึ่งที่เตรียมมาแล้วสอบถามว่า “นักเรียนรู้จักไหมว่า นี่เรียกว่าอะไร” นักเรียนพากันเงียบ “เอ พวกเธอไม่รู้จักของสิ่งนี้กันหรือ ทำมาจากดินนะ เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน” นักเรียนยังนั่งงงกันอยู่ “ครูบอกให้ก็ได้ว่า มันคือ “ดินกี่” คราวนี้นักเรียนเงียบ ดูเหมือนว่าจะงงหนักขึ้นกว่าเดิม “ดินกี่ไม่รู้จักกันหรือค่ะ” ครูนิ่งคิดสักครู่คิดขึ้นได้ว่า ภาคกลางเขาเรียกอิฐมอญ ครูจึงพูดแก้เขินไปว่า “นักเรียน ที่บ้านครูเขาเรียก ดินกี่ แต่ที่นี่เขาเรียกอิฐ อิฐมอญนะ”

อีกเรื่องหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งเป็นคนภาคกลางสอบบรรจุรับราชการได้ทางภาคเหนือ หลังเลิกงานหาทางผ่อนคลายด้วยการออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ นั่งดื่มเหล้าที่ร้านขายของชำหน้าปากซอยจนดึกดื่น เจ้าของร้านเป็นสาววัยรุ่น อยากจะปิดร้านเพราะดึกมากแล้ว แต่ไม่กล้าบอกเพราะเป็นราชการเมืองกรุง จึงพูดอย่างเกรงใจว่า “อ้ายๆ ถอกก่อเจ้า” ข้าราชการหนุ่มนึกโมโหในว่า ยายคนนี้หน้าตาดีแต่ค่อนข้างทะลึ่ง จึงนั่งนิ่งอยู่สักครู่ แม่ค้ากล่าวต่อว่า “ อ้ายๆ ถอกก่อเจ้า” ซึ่งมีความหมายว่า รีบดื่มให้หมดจะได้ปิดร้าน ฝ่ายข้าราชการหนุ่มโมโหมากจึงตวาดว่า “เอ อย่างไรกัน เธอเป็นสาวเป็นแส้ มาถามผู้ชายได้อย่างไรว่า ถอกเถิกอะไรกัน” ร้อนจนญาติหญิงสาวเจ้าของร้านได้ยินเข้าจึงรีบออกมาห้ามทัพ “ขออภัยครับท่านครับ ถอกหมายถึงรินครับ” ข้าราชการจึงเริ่มเข้าใจ จึงเลิกแล้วกันไป

พูดถึงภาษาถิ่นของไทยมีเรื่องราวเล่าขานยาวนานไม่จบสิ้น ผมทำได้แค่เพียงรวบรวมเรื่องเล่ามาเล่าให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ ย้อนกลับคืนไปสู่จุดเริ่มต้นของภาษาไทย ซึ่งไม่รู้ว่าเริ่มมาแต่เมื่อใด จำได้เพียงแต่ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเจ้า รวบรวมหลักการทางภาษาจัดระเบียบให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงค่อยๆ มีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ภาษาไทยกลายเป็นความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยอย่างสำคัญยิ่ง

โสภณ เปียสนิท

หมายเลขบันทึก: 609300เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีเพื่อนหลากหลายภาคก็ดี นะคะ .... ได้เรียนรู้ภาษาดีดี ค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ได้อ่านเรื่องขำ ๆ จากภาษาถิ่นแต่ละภาคแล้ว ทำให้ผมระลึกถึงวันวานครับ

-ถือเป็นโอกาสดีของชีวิตที่ช่วงหนึ่่งตัวผมเองก็เคยไปศึกษาอยู่จังหวัดมุกดาหาร สุดเขตประเทศไทย 5 ปีที่อยู่ที่นั่น ได้ซึมซับวัฒธรรมทางภาษา การเป็นอยู่ อาหารการกิน จากจังหวัดนี้เป็นอย่างมากมาย...แม้ว่าจะเป็นภาคไหน ๆ แต่ละจังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็มีเอกลักษณ์ภาษาถิ่นที่แตกต่างกันนะครับ

-ปัจจุบันนี้ ตัวผมเองมาทำงานและกำลังลงหลักปักฐานที่จะอาศัยอยู่ที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอนี้ก็เป็นอีกอำเภอหนึ่งทีีมีเอกลักษ์ภาษาถิ่นเป็นของตนเอง จนเป็นทีี่รู้จักกันในวงกว้าง แถมยังมีคำขวัญประจำอำเภอพรานกระต่ายว่า"เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพราน ตำนานถ้ำกระต่ายทอง เห็ดโคนดองรสดี"น่ะครับ

-อ้อ..เคยมีท่านนายอำเภอพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งที่นี่ท่านเคยรวบรวมภาษาถิ่นของอำเภอพรานกระต่ายเอาไว้ด้วยน่ะครับ

-เกี่ยวกับเรื่องภาษาถิ่นนี่..มีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าศึกษาถึงรากเหง้าแห่งวิถีชุมชนได้มากทีเดียวนะครับ

-ณ เวลานี้..สำเนียงผมเริ่มจะเหมือนคนพรานกระต่ายบ้างแล้ว หรือนี่คือสิ่งที่บ่งบอกว่าผมพร้อมแล้วที่จะเป็นคนอำเภอพรานกระต่าย และต้อนรับครอบครัวเล็ก ๆของผมให้อยู่ในอ้อมกอดชุมชนเล็ก ๆ ที่อบอุ่นแห่งนี้

-ขอบคุณที่ได้อ่านบันทึกนี้และได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตช่วงหนึ่งครับ

-ด้วยความเคารพและระลึกถึงอาจารย์อยู่เสมอครับ..

ขอบคุณ เพชรน้ำหนึ่ง ที่แวะเวียนมาทักทายกัน พร้อมเรื่องเล่าประกอบ

ทำให้ข้อเขียนนี้มีคุณค่ามากขึ้น

สมเป็นเพชรน้ำหนึ่งจริงๆครับ


ขอบคุณ คุณหมอเปิ้ล

ที่มาให้กำลังใจเป็นประจำ

ในฐานะเพื่อนบ้านใกล้กัน นะครับ

อาจารย์เขียนสนุกจังค่ะ อ่านกลอนอาจารย์บ่อยๆจนเผลอเริ่มแบบจะอ่านให้เป็นกลอน ขำตัวเองเลยค่ะ

โอ๋-อโณ

ขอบคุณครับที่ติดตามอ่านผลงานกัน แสดงว่าเป็นนักอ่านจริงๆ

ผมนำเสนอกลอนมากกว่างานเขียนบทความจริงด้วยครับ

เรียน อาจารย์โสภณ

บทร้อยแก้วของอาจารย์ ช่างงดงามไม่แพ้ บทร้อยกรอง จริงๆ

ในความเห็น ภาษาและวัฒนธรรมไทย เป็นรากฐานของชาติไทย ปัจจุบัน ชาติไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะ ขาดรากฐานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสั่งสอนบุตรหลาน เยาวชน โดยขาดความตระหนัก กลายเป็นวิธีทำหมันชาติไทย ช่วยให้สิ้นชาติได้เร็วขึ้น มอญไม่เคยสิ้นชาติแม้สิ้นแผ่นดิน ปัจจุบันคล้ายกับพวกเราชาวไทยตั้งเป้าหมายให้สิ้นชาติ และสิ้นแผ่นดินไปพร้อมกัน

เรียน คุณลิขิตครับ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน วัฒนธรรมคือรากของชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทางด้านใด หากเราคนไทยรักษากันไว้สืบเนื่องกันไป น่าจะรักษาชาติศาสนาและพ่อหลวงที่รักของปวงชนด้วย หวังอย่างนั้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท