บริบทของ "ปลาทู" กับความรู้ที่เหมาะสมกับบริบท


บันทึกนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบันทึกดี ๆ ของท่าน ดร. แสวง รวยสูงเนิน ในบันทึก ปลาทูกับการจัดการความรู้ ที่ท่านได้กล่าวถึงสภาพการกินปลาทูที่แตกต่างกันของคนกรุงเทพฯกับคนภาคอีสาน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการใช้ความรู้ในแต่ละบริบทของประเทศได้อย่างดียิ่งเลยครับ

ซึ่งเรื่องนี้ ผมก็เคยพบประสบการณ์ปลาทูแบบคนรวยในกรุงเทพฯเหมือนกันครับ วันนั้นเป็นงานบุญขึ้นบ้านใหม่ที่พี่สาวครับ เราก็ไปซื้อปลาทูที่ตลาด อตก. กัน เดินไปเห็นปลาทูกรุงเทพฯแล้วตกกะใจครับ ตัวละ 70 บาท หรือถูก ๆ ก็สองตัวร้อย

ครั้นนำกลับมาทำน้ำพริกปลาทูถวายพระ พระก็ฉันไปนิดเดียวครับ สิ่งนั้นสื่อถึงความลำบากในการที่พระจะฉันในบริบทนั้น ปลาตัวใหญ่ ๆ จะฉันต่อหน้าญาตโยมสะดวกได้อย่างไร ที่ดีที่สุดก็คือหั้นเป็นชิ้นพอคำ แต่ถึงกระนั้นจะซื้อตัวใหญ่มาทำไม ในเมื่อต้องมาหั่น สู้ซื้อตัวเล็ก ๆ ดีกว่า

ซื้อตัวใหญ่มาเพื่อโชว์ว่าดูดี แต่ผลประโยชน์ในการใช้จะดีหรือไม่ดีก็ไม่เป็นไร สร้างภาพให้ดูดีเฉย ๆ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดในเรื่องของการพัฒนาและการจัดความรู้เมืองไทยเหมือนกันครับ

เพราะบางครั้งเราไปซื้อปลาทู (ความรู้) สำเร็จรูปต่าง ๆ จากต่างประเทศ หรือให้ทุนส่งคนชั้นหัวกะทิของประเทศไปเข้ากระบวนการผลิตและปลูกฝังความรู้ในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ดีมาก (สำหรับประเทศอื่น) แต่ไม่เหมาะสมกับบริบทของเรา นำมาคิดมาใช้มาปรับปรุงและพัฒนาประเทศอยู่ "ทุก ๆ วัน"

จนมีคำกล่าวที่เป็นตลกร้ายทางการบริหารเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในอเมริกา เดินทางมาเจริญเติบโตที่ญี่ปุ่น และมาถึงปั้นปลายชีวิตและตายที่เมืองไทย

"สำลักความรู้และทฤษฎี" คำ ๆ นี้เป็นคำที่จำกัดความได้ค่อนข้างดีในบริบทของประเทศที่เปิดกว้างในการรับสรรพทฤษฎีที่เกิดขึ้นรอบโลก Around the world ทฤษฎีที่ไหนที่ใครว่าดี "พี่ไทยรับมาหมด" ทฤษฎีเก่า นโยบายเก่าเพิ่งเรียนรู้ ยังไม่ค่อยเข้าใจดีเลย เปลี่ยนใหม่ ใช้ทฤษฎีใหม่ "อีกแล้ว"

หลาย ๆ ครั้งที่ผมเองได้ไปพบกับสภาพการณ์แบบนี้ในชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องของการเห็นชุมชนเป็นเสมือนหนูทดลอง ซึ่งเข้ากับ Trend หรือยุคที่ต้องการให้ข้าราชการลงไปสัมผัสใกล้ชิดกับชุมชน มีการนำทฤษฎีต่าง ๆ ไป "ทดลอง" ใช้ศึกษาวิจัยต่าง ๆ มากมาย

เมื่อเข้าไปถึงแน่นอนครับว่า "คุณต้องเลิกใช้ทฤษฎีเก่าก่อน" หันมาลองใช้ทฤษฎีที่ฉันนำเข้ามา ภายใต้ชื่อที่สวยหรูงดงามว่า "กลุ่มนำร่อง" กลุ่มหรือชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ที่คนภายนอกมองว่า "น่าจะทำงานด้วยได้ง่าย" คนในชุมชนเหล่านั้นแทบจะไม่ได้มีเวลาทำมาหากินเลย จนมีคำพูดนึงที่ผมถึงกับสะอึกเมื่อผู้นำตำบลวังแดง ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้พูดว่า "ไปที่อื่นกันบ้างนะครับ ปล่อยให้เราได้ทำมาหากินกันบ้าง จะทำอะไรก็ลงไปศึกษาทดลองที่วังแดง ขอให้เราได้หยุดหายใจหายคอกันบ้างเถอะครับ" เป็นเวทีที่ท่านผู้นำชุมชนฝากบอกผ่านในเวทีเสวนาเกี่ยวกับข้อคิดภาคประชาชนของจังหวัดอุตรดิตถ์ฝากบอกผ่านไปถึงผู้นำหน่วยงานราชการทั้งในจังหวัดและส่วนกลาง โดยเฉพาะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต่าง ๆ

แต่ที่ผมเอ่ยขึ้นมานี้มิใช่กล่าวว่าหน่วยงานที่ลงไปทำงานกับชุมชนไม่ดีทั้งหมดนะครับ แต่ยังมีบางทีมหรือบางกลุ่มที่ยังทำแบบฉาบฉวย "ทำไร่เลื่อนลอยทางวิชาการ" อ้ะ เขียนไปเขียนมาจากเรื่องปลาทูกลายเป็นเรื่องนี้ได้อย่างไร ต้องกราบขออภัยด้วยนะครับ

แต่การใช้ความรู้ให้เหมาะสมกับบริบทเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบันครับ เพราะบางครั้งเราจะพบว่า "การแก้ปัญหาที่ดีสุด ก็คือการไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเลย เพียงแค่ทำหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่ายแต่ละองค์กรให้ดีที่สุดเท่านั้น" ครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 60870เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2006 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คนอีสานนั้นมีคำถามเชิงปรัชญาอยู่ว่า ถ้าได้ปลาทูมาหนึ่งตัวทำอย่างไรจะกินได้นาน?

คำตอบคือต้องเอามาทำป่น(น้ำพริกปลาทูแบบอีสาน)และแจกจ่ายปลาป่นเหล่านั้นให้คนอื่นกินด้วย เพราะเมื่อเขามีปลาทูเขาก็จะป่นมาให้เรากินเพื่อตอบแทนเป็นอย่างนี้เรื่อยไปนานเท่านาน

นี่เป็นแนวคิดเรื่องการพึ่งพา  การสร้างเครือข่ายพันธมิตร การปรุงปลาทู(KM)ให้ถูกปากในแต่องค์กรเพราะเขามีวัฒนธรรมในองค์กรของเขา

"เห็นด้วยกับคุณออต ครับ ....วัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่าง ภาษาถิ่นย่อมแตกต่างเช่นกัน แต่นี่คือผืนแผ่นดินไทย ดินแดนแห่งเมืองสวรรค์ครับ

  • สวัสดีครับคุณออต
  • ปลาทูที่คุณออตเล่ามาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ดีเยี่ยมมาก ๆ เลยทั้งสร้างเครือข่ายและพันธมิตร เป็นดังเช่นที่คุณออตบอกน่ะครับเป็น KM ภูมิปัญญาท้องถิ่นเลย แถวบ้านผมก็อาจจะพูดถึงปลาช่อนหนึ่งตัวทำอย่างไรให้แกงกินได้นานที่สุด วันนั้นพ่อก็บอกว่าต้องแกงแล้วนำไปแจกคนข้างบ้านทานด้วย แล้ววันต่อมา เดือนต่อมาเราจะได้ทานปลาตัวนั้นตลอดปีครับ
  • ขอบพระคุณคุณออตที่เข้ามาเติมเต็มครับ

สิ่งที่สำคัญที่ขอฝากไว้นิดนึงครับ สิ่งที่ผมเล่ามาข้างไม่ "ไม่เกี่ยวกับ Model ปลาทูของท่านอาจารย์ประพนธ์ ดร.จันทวรรณ หรือ สคส.เลยนะครับ" พอดีได้ไปอ่านเรื่องปลาทูของดร.แสวงแล้วนึกถึงสมัยก่อนที่เคยซื้อปลาทูตัวยักษ์ไปเลี้ยงพระ จึงนำมาเปรียบเปรยกับบริบทการทำวิจัยชุมชนครับ เกรงว่าถ้าท่านอื่นมาอ่านแล้วจะเข้าใจไปว่าผมไปติหรือวิพากษ์ Model ปลาทูของ สคส.ครับ ไม่มีการเกี่ยวข้องกันใด ๆ ทั้งสิ้นครับ

 

  • สวัสดีครับคุณ น.เมืองสรวง ผมก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณออตเช่นกันครับ และชื่นชมกับวัฒนธรรมที่แตกต่างที่เหมาะสมและดีงามในแต่ละบริบทมาก ๆ ครับ เมืองไทยเป็นเมืองมหัศจรรย์ดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ที่น่าอยู่มากที่สุดในโลกเลยครับ
  • ขอขอบพระคุณคุณ น.เมืองสรวงเป็นอย่างสูงที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มครับ
สวัสดีครับอาจารย์ปภังกร หลังจากที่ผมได้อ่านบทความนี้ผมจึงเกิดคำถามขึ้นว่า เมื่อเราไปเป็นครูเราจะมีบทบาทอย่างไรในการทำให้ ปลาทู ของเราทานให้นานที่สุดครับ 
  • ไม่ได้ตอบแทนอาจารย์ปภังกรนะครับ แต่แสดง
  • ความคิดเห็นว่ายังไงก็ต้องปรุงให้ถูกปากนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน คนในชุมชนของนักเรียน เพื่อนครูและผู้บริหาร ปรุงให้ถูกปากและเผื่อแผ่ปลาทูให้คนเหล่านี้ทานถ้วนหน้ากัน
  • จริง ๆแล้วต้องใช้เวลา ต้องรอบ้างนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท