ชีวิตจริงของอินเทอร์น : สมาธิกับการเรียนรู้


"กายเคลื่อนไหวแต่ใจนิ่ง" กับ "กายนิ่งแต่ใจเคลื่อนไหว"

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ พ.ย.๔๙  ดิฉันมีโอกาสตามไปฟังคุณหมออุดม เพชรสังหาร (ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก) และ อาจารย์กรองทอง บุญประคอง (คุณครูก้า - ผอ.โรงเรียนเพลินพัฒนา)สนทนากันเรื่อง "สมาธิกับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก" ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก ตรงสวนจตุจักร

เวทีที่คุณหมอและคุณครูหันหน้ามาจับเข่าคุยกัน ชวนกันพูดคุยในเรื่องเดียวกันแบบนี้ จึงมีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

คนในยุคดิจิตัลนี้มักมีปัญหาว่าลูกไม่ค่อยมีสมาธิ ดังนั้นศักยภาพของความเป็นมนุษย์จึงปรากฏออกมาได้ไม่เต็มที่ พาลให้มีปัญหาในการเรียนรู้ ทั้งกับการเรียนที่โรงเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันไปด้วย

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจังหวะในชีวิตของเราไม่ได้เนิบช้าเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในครั้งอดีตอีกต่อไปแล้ว

คุณหมออุดมได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับสมาธิไว้ว่า สมาธิคือศักยภาพในการจดจ่อ และเมื่อเป็นศักยภาพก็แปลว่าเป็นสิ่งที่ฝึกได้ และหากเราไม่มีสมาธิแล้วก็จะไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้ จึงทำให้ไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้

ในการฝึกฝนนั้นก็ย่อมต้องมีวิธีการ หรืออุบาย ซึ่งคุณครูก้าได้แนะนำว่าการฝึกสมาธิในเด็กเล็กไม่ใช่การนั่งหลับตา แต่เป็นการมีสมาธิแบบที่ "กายเคลื่อนไหว แต่ใจหยุดนิ่ง" เช่นการจัดกิจกรรมให้เด็กได้จดจ่ออยู่กับการทำงานที่เหมาะสมกับวัย อาจเป็นการร้อยลูกปัด การระบายสี การเล่นดนตรี การฟังนิทาน

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ บุคคลที่อยู่แวดล้อมจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการมีสมาธิในการทำงานต่างๆ ให้เด็กได้รู้ได้เห็นอยู่เสมอ

สมาธิจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีจุดสนใจเริ่มต้น(focus) และ โดยธรรมชาติแล้วเด็กมักจะสนใจทุกเรื่อง จึงต้องมีการขยายความสนใจ(sustain)เฉพาะบางเรื่องให้ยาวออกไป ด้วยการเสริมแรงจากพ่อแม่ คุณครู และผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง ด้วยการหมั่นสังเกตว่าเขาสนใจอะไรเป็นพิเศษ อยู่กับอะไรได้นานๆบ้าง เมื่อพบแล้วก็อาศัยสื่อนั้นเป็นเครื่องสร้างสมาธิต่อไป

โทรทัศน์และคอมพิวเตอร์เป็นสื่อที่เป็น multistimuli จึงไม่สามารถสร้างทักษะความมีสมาธิให้เกิดขึ้นได้ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กนั่งอยู่หน้าจอจึงเป็นอาการ "กายนิ่งแต่ใจเคลื่อนไหว" จึงไม่เหมาะกับเด็กในวัยก่อน ๓ ขวบเลย

 

 

หมายเลขบันทึก: 60722เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท