สานฝันคนสร้างป่า : เพาะต้นกล้ากิจกรรม


การไม่สามารถเชื่อมโยง “นายช่าง” จากชุมชนมาช่วยสร้างโรงเรือนเพาะชำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็พลิกแพลงแก้ปัญหาผ่านการ “แก้แบบ” และ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง” ร่วมกับสมาชิกและศิษย์เก่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป - โดยไม่ฟูมฟาย บ่น-ท้อ หรือถอดใจพ่ายพับไปกับปัญหา

เสน่ห์ของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมเสริมหลักสูตร) มีหลายประการ แต่ที่แน่ๆ สำหรับผมแล้วก็คือ “การได้คิด ได้ลงมือทำในสิ่งที่คิด และได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบกับสิ่งที่เราได้คิดและได้ทำ”


โครงการ “สานฝันเพาะต้นกล้า” ที่จัดขึ้นโดย “ชมรมสานฝันคนสร้างป่า” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมอยากจะนำมากล่าวถึง เพราะมีประเด็นบางประเด็นที่ผมชื่นชมและเฝ้ามองอยู่อย่างเงียบๆ มาหลายแรมปี

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2559 ณ อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ซับซ้อนอันใดมากมาย เช่น

  • สร้างกระบวนการการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์กล้าไม้
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในชมรม





เรื่องราวแต่ก่อนเก่า : เติมเต็มความรู้จากชุมชนรอบมหาวิทยาลัย

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ผมเคยหนุนเสริมให้ชมรมสานฝันคนสร้างป่าชะลอฝีเท้าของการจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในต่างจังหวัด โดยเสนอทางเลือกให้ปักหมุดการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย

ครั้งนั้นผมแนะนำ “บ้านดอนหน่อง” เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของการเรียนรู้ เพราะเป็นชุมชนติดกับมหาวิทยาลัย และมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปัจจุบันกำลังมีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่เติบโตขึ้นราวกับดอกเห็ด รวมถึงชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่มีประเด็นหลายประเด็นน่าศึกษา เช่น ภูมิปัญญาการทอเสื่อกก ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องสมุนไพร หลากหลายผักสวนครัวในแต่ละครัวเรือน ระบบการระบายน้ำในชุมชน ฯลฯ



ครั้นนั้น - ผมและแกนนำชมรมฯ รวมถึงชุมชน ช่วยกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แก่นิสิต โดยเน้นไปในเรื่องของการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านดอนหน่อง มีทั้งการสำรวจพืชพันธุ์แมกไม้และสมุนไพรในชุมชน ทั้งที่มีอยู่และสูญหายไป สถานที่ของทรัพยากร ทั้งในครัวเรือน สถานที่ราชการ ป่าสาธารณะ หัวไร่ปลายนา ฯลฯ

กระบวนการเหล่านี้ผมมีเจตนาชัดเจนที่จะสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความเป็น “องค์ประกอบของป่า” ให้กับนิสิตได้รับรู้ เพราะผมได้ประเมินแล้วว่านิสิตชมรมสานฝันคนสร้างป่าที่มักจะจัดกิจกรรมการบวชป่า สร้างฝายชะลอน้ำในผืนป่า ทำโป่งเทียมในผืนป่า ทำทางป้องกันไฟป่า แต่น้อยนักที่จะเข้าใจ หรือมีความรู้ในเรื่องพืชไม้พันธุ์ไม้ในป่าว่าประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร และพืชพันธุ์เหล่านั้น มีสรรพคุณต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนและสัตว์อย่างไร หรือกระทั่งยึดโยงสู่สมดุลกับระบบนิเวศน์อย่างไร



ดังนั้นกระบวนการอันเป็นแนวคิดหลักจึงมุ่งเน้นให้นิสิตได้หวนกลับมาตั้งต้นเพื่อเติมเต็มฐานความรู้ของตนเองก่อนออกสู่กิจกรรมหลักในช่วงปิดเทอมใหญ่กันอีกรอบ รวมถึงการโสเหล่ถึงประเด็นการเพาะพันธุ์กล้าไม้ในอนาคตด้วยตนเอง เพราะหากสามารถทำได้จริง กิจกรรมที่ว่านี้ จะช่วยให้สมาชิกในชมรมได้มีพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

  • เรียกได้ว่าเรียนรู้ร่วมกันเป็นระยะๆ เสมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ปาน เพราะต้องหมั่นเพียรหมุนเปลี่ยนกันมาดูแลและประเมินผลเป็นระยะๆ ไม่ใช่ไปปลูกต้นไม้ไว้ในชุมชนแล้วถอนตัวออกมา โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสได้กลับไปดูแล หรือประเมินผล หรือกระทั่งชุมชนเหล่านั้น จะให้ความสำคัญดูแลกันอย่างจริงจังแค่ไหน

เช่นเดียวกับการตั้งประเด็นให้นิสิตได้คิดคำนึงถึงการเข้าไปหนุนเสริมสวนป่าในมหาวิทยาลัยฯ ทั้งในรูปแบบของการเข้าไปเรียนรู้และการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยและชุมชน





บูรณาการเครือข่ายและศิษย์เก่า

กิจกรรมครั้งนี้สะท้อนถึงแนวคิดการทำงานในแบบบูรณาการ "เครือข่าย" ที่น่าสนใจ นับตั้งแต่การได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ในวงเงิน 30,000 บาท


นอกจากนั้นยังได้รับความอนุเคราะห์เรื่องวิทยากรจากศูนย์เพาะพันธุ์ต้นกล้าโกสุมพิสัย (นายปัญญา บุตะกะ : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ) มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะกล้าไม้ การดูแลรักษา การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ

ขณะที่ "ศิษย์เก่า" ที่เป็นรุ่นพี่ชมรมก็ไม่ได้ดูดาย ส่วนหนึ่งหวนกลับมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับน้องๆ ในชมรม ตลอดจนการทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” นำพาน้องๆ สร้างโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้อย่างน่ายกย่อง สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมครั้งนี้มีสถานะของการเป็นสะพานเชื่อมให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเองและการพัฒนาสังคมควบคู่กันไป ซึ่งนำโดยนายธนากรณ์ สมเตชะ และคณะ

กรณีดังกล่าวนี้สื่อให้เห็นสายสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดี่ยวระหว่างสมาชิกในชมรมทั้งเก่าและใหม่ที่ยังไม่ผุกร่อนไปตามกาลเวลา มีการไปมาหาสู่ช่วยเหลือและแบ่งปันกันเป็นระยะๆ เสมือนการตอกย้ำว่านี่คือ “เครือญาติในวิถีกิจกรรม” (ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้) เพราะชมรมเองก็เปรียบประดุจบ้านหลังหนึ่งที่สมาชิกได้ใช้ชีวิตร่วมกันมายาวนานเกินหนึ่งทศวรรษเข้าไปแล้ว






เพาะกล้าไม้ : เพาะจิตวิญญาณและการเรียนรู้ป่าชุมชนในมหาวิทยาลัย


โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า - กิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ว่านิสิตได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะกล้าไม้ ดูแลกล้าไม้ เพื่อนำไปขยายผลในมิติต่างๆ เท่านั้น ทว่ายังหมายถึงการเพาะต้นกล้าที่หมายถึง “คน” ไปพร้อมๆ กัน เป็นกระบวนการของการสร้าง “จิตสำนึก” ของการเป็น “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” แบบง่ายงามตามครรลองวันและวัยของนิสิต หรือนักกิจกรรม

ดังัน้น จึงนับได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นเสมือนเวทีของการเพาะ "ต้นกล้านักกิจกรรม" ในอีกเวทีหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องบ่มเพาะผ่านค่ายอาสานอกมหาวิทยาลัยเหมือนที่มักคุ้นกันมาเนิ่นนาน -

ส่วนกรณีเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ที่ได้มาในครั้งนี้ หลักๆ ได้มาจากสองส่วน กล่าวคือ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เพาะพันธุ์ต้นกล้าโกสุมพิสัย และการเดินเท้าเข้าเสาะหาในบริเวณสวนป่าของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งที่ได้มาก็มีทั้ง มะค่า กฐินณรงค์ ยางนา พะยุง ฯลฯ


เอากันจริงๆ เลยนะ - ผมชอบกิจกรรมที่นิสิตได้เดินเท้าเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ หรือต้นหล้าในสวนป่ามหาวิทยาลัยฯ เป็นที่สุด เพียง เพราะเป็นกิจกรรมการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของป่า (โคกหนองไผ่) ในมหาวิทยาลัยไปในตัว และนั่นอาจหมายถึงการสะกิดให้นิสิตเกิดความสนใจที่จะสืบเค้าถึงประวัติศาสตร์ป่าชุมชนชุมชนอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฯ ในปัจจุบันด้วยก็เป็นได้






ความเป็นรูปธรรมที่แตะต้องและต่อเนื่อง


จวบจนวันนี้ ถึงแม้กิจกรรมจะผ่านพ้นมาร่วมเดือนแล้ว แต่ก็ยังน่ามีประเด็นควรค่าต่อการเกาะติดและถกคิดในมุมของผมอยู่วันยังค่ำ-


วันนี้มีโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้เล็กๆ หนึ่งหลังที่สมาชิกชมรมหมุนเวียนเข้ามาดูแลร่วมกันอย่างไม่ขาดห้วง มีกล้าไม้เกิน 100 ต้นที่กำลังหยั่งราก-ยืนลำต้นและผลิใบตามวาระ ซึ่งบางส่วนถูกนำออกไปปลูกที่ค่ายครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสดๆ ร้อน (ค่าย ฅ.สร้างฝายครั้งที่ 5) อีกส่วนรอเวลาแบ่งปันสู่นิสิต และองค์กรอื่นๆ หรือกระทั่งการต่อยอดเป็นกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชน !



น่นอนครับ ผมคงไม่พูดว่ากิจกรรมนี้สอดรับกับยุทธศาสตร์ "มหาวิทยาลัยสีเขียว" หรือตัวชี้วัดของสถาบันอย่างไร เพราะผมไม่อยากให้นิสิตต้องมาแบกรับเรื่องเหล่านี้จนเกินไปนัก เดี๋ยวจะพาลรู้สึกไม่สนุกกับกิจกรรมที่ที่กำลังจะขับเคลื่อน

ตรงกันข้าม- ผมจะชอบตั้งประเด็นให้นิสิตได้คิดตามเสียมากกว่า รวมถึงการเสริมกำลังใจให้พวกเขาได้จัดกิจกรรมตามครรลองอันสร้างสรรค์ของตนเองให้ได้มากที่สุด ถัดจากนั้นจึงค่อยๆ แทรกแนวคิด (บางอย่าง) เข้าไปเป็นระยะๆ รวมถึงเมื่อจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้วจะเลียบๆ เคียงๆ ชักชวนมาสรุปงาน หรือถอดบทเรียนเล็กๆ ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่นิสิตพึงสะดวกใจ (โดยไม่บังคับว่านิสิตต้องให้ความร่วมมือกับผมเสียทุกเรื่อง)





ผลพวงการเรียนรู้ : เสียงสะท้อนจากนิสิต

การงานในครั้งนี้ โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเห็นมิติการทำงานที่แตกต่างไปจากอดีตมากขึ้น เช่น ชมรมสานฝันคนสร้างป่ามิได้ปิดตัวรอคอยแต่เฉพาะ “ง่ายค่าย” ในช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น หากแต่คิดใหม่ทำใหม่ด้วยการหันกลับมา “เพาะเมล็ดพันธุ์ทางความคิด” ผ่านการเพาะพันธุ์กล้าไม้ด้วยตนเอง เพื่อเติมความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมๆ กับการจัดวางเป็นรากฐานสู่กิจกรรมอื่นๆ อย่างสมถะ

เช่นเดียวกับการเห็นมุมมองการประสานเครือข่ายจากภายนอก ทั้งที่เป็นส่วนราชการในท้องถิ่นและส่วนกลาง รวมถึงภาคีเครือข่ายศิษย์เก่าเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอย่างน่าชื่นชม ผสมผสานกับการไม่จำนนต่อจำนวนกล้าไม้ที่มีอย่างจำกัด ทว่าแก้ปัญหาด้วยการ “เดินเท้าเข้าสวนป่า” ในมหาวิทยาลัยเพื่อเก็บเอาเมล็ดพันธุ์ในสวนป่ามาเพาะปลูกเป็นกล้าไม้

หรือกระทั้งการไม่สามารถเชื่อมโยง “นายช่าง” จากชุมชนมาช่วยสร้างโรงเรือนเพาะชำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็พลิกแพลงแก้ปัญหาผ่านการ “แก้แบบ” และ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง” ร่วมกับสมาชิกและศิษย์เก่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป - โดยไม่ฟูมฟาย บ่น-ท้อ หรือถอดใจพ่ายพับไปกับปัญหา

ใช่ครับ กรณีที่กล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่านิสิตได้คิดตามที่ใจอยากคิด ได้ทำดังที่ใจคิดและอยากจะทำ ครั้นพอลงมือทำก็ทำกันอย่างเป็นทีม ทำไปเรียนรู้ไป ต่อเมื่อเผชิญปัญหาก็ค่อยๆ คลี่คลายปัญหาร่วมกัน พองานเสร็จก็เรียนรู้ที่จะประเมินผลความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างจริงจังและจริงใจ รวมถึงการวางแผนสู่การต่อยอด มิใช่ทำให้เสร็จๆ แล้วทิ้งร้าง ซึ่งผมมองว่าค่ายครั้งนี้ “ง่าย-งาม” หรือ “แตะต้องสัมผัสได้จริง”





ครับ-จากนี้ไป คือส่วนหนึ่งจากแบบประเมินผลที่นิสิตได้เขียนสะท้อนกลับมายังชมรมสานฝันคนสร้างป่า เป็น AAR ที่เกิดขึ้นหลังการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้นว่านิสิตได้เรียนรู้อะไรบ้าง เช่น

ความรู้และทักษะ

  • การเพาะกล้าไม้
  • การสร้างโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้
  • ความเป็นทีม
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • การประสานเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ชุมชน และศิษย์เก่า
  • สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในสังคมไทย
  • พันธุ์ไม้สำคัญในมหาวิทยาลัยและสังคมไทย สังคมโลก
  • ต่อยอดในการปลูกดอกไม้ไว้ในห้องพัก

ประสบการณ์ชีวิต

  • เพื่อนใหม่
  • รู้จักรุ่นพี่ชมรม ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน
  • ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
  • เห็นศักยภาพตนเองและศักยภาพของผู้อื่น
  • รู้นิสิตใจคอเพื่อนร่วมชมรมและเพื่อนร่วมค่ายมากขึ้น

อื่นๆ

  • มุมมองค่ายที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะชุมชนนอกมหาวิทยาลัย
  • ความสนุกสนาน
  • ความเหนื่อยบนความมีสาระ (บันเทิงเริงปัญญา)
  • มีแรงบันดาลใจอยากไปสำรวจค่าย-ออกค่าย




เหนือสิ่งอื่นใด

สำหรับผมแล้ว ผมอยากจะยืนยันว่าโครงการ “สานฝันเพาะพันธุ์ต้นกล้า” เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร (เสริมหลักสูตร) ง่ายงามและแตะต้องสัมผัสได้จริง เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ในรั้วมหาวิทยาลัยและสัมพันธ์กับการใช้วันหยุดเพียงไม่กี่วันสู่การจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม


สำหรับผมแล้ว มันสำเร็จตั้งแต่การกล้าลงมือทำแล้ว ไม่ใช่คิดแล้วแต่ไม่ลงมือทำ ส่วนจะเข้มแข็ง ยั่งยืน หรือต่อยอดไปได้ไกลแค่ไหน ยังเป็นเรื่องท้าทายและทุกฝ่ายต้องร่วมหนุนเสริมกำลังใจ หรือเป็นลมใต้ปีกให้กันและกันอย่างต่อเนื่อง

บางทีกิจกรรมนี้อาจรองรับการจัดกิจกรรมในรายวิชาพัฒนานิสิต –วิชาภาวะผู้นำ หรือกระทั่งกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่เว้นกระทั่งการเพาะกล้าไม้ประจำมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม เพื่อนำมาปลูกในกิจกรรมเทา-งามสัมพันธ์ครั้งที่ 20 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามกำลังจะเป็นเจ้าภาพในปีการศึกษา 2559

ในทำนองเดียวกัน - บางทีผมก็ยังอยากเห็นเรือนเพาะกล้าไม้ตรงนี้เป็นสถานที่รับน้องอย่างสร้างสรรค์ในวิถีกิจกรรม หรือกระทั่งการผูกโยงการเรียนรู้เข้าสู่สวนป่ามหาวิทยาลัยฯ อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเห็นการทำงานของชมรมฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช คณะสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี ฯลฯ

ใช่ครับ- มันเป็นวิธีคิด หรือมุมมองของผม เป็นไปได้เมื่อมีวาระอันควรก็คงแลกเปลี่ยนกับพวกเขาอีกครั้ง ส่วนนิสิตจะทำหรือไม่ นั่นเป็นสิทธิ์ของเขา ----

ให้กำลังใจครับ



หมายเหตุ

1.ข้อมูล : พรรณิดา ราชรีแสนชัย วรรณศิริ สุนทร ธรรมวงษ์ และสมาชิกชมรมสานฝันคนสร้างป่า
2.ภาพ : ชมรมสานฝันคนสร้างป่า



หมายเลขบันทึก: 607001เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากเข้ามามีส่วนร่วม..สานฝัน..เจ้าค่ะ..ยายธีกลับเมืองไทยคราวนี้..คงพบกันนะเจ้าคะ

ให้ดอกไม้ไปก่อน เดี่ยวกลับมาอ่าน

ชอบใจการทำกิจกรรม

มีการปลูกและเพาะเมล็ดพืชด้วย

ขอชื่นชมทีมงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท