Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุคคลใดจะมีสิทธิถือบัตรประชาชนไทย ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย


ตอบคุณเหมยเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีสิทธิถือบัตรประชาชนไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

-------------------------------------

๑. บทนำ - ความเป็นมาของข้อหารือ

---------------------------------------

เมื่อ ๓ ปีก่อน ซึ่งก็น่าจะเป็นราว พ.ศ.๒๕๕๖ คุณเหมยได้เข้ามาตั้งคำถามในบันทึกของผู้เขียนเรื่องคนที่ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (คนบัตรเลข ๐) : มีสิทธิทำใบขับขี่ตามกฎหมายไทยหรือไม่ ? . ว่า “หนูมีบัตร ๑๐ ปีอยู่ค่ะ มันจะหมดอายุในปี ๖๐ ถ้ามันหมดแล้ว หนูจะมีโอกาสได้ต่อบัตรหรือได้บัตรประชาชนมั้ยคะ ในเมื่อพ่อแม่หนูก็มีบัตรแบบนี้ ครอบครัวหนูมีกันทั้งบ้านเลยค่ะ แต่ว่าของหนูกับพี่หนูจะเป็นคนละจังหวัดกับพ่อแม่นะคะ เพราะว่าบัตรที่หนูกับพี่หนูมีได้เมื่อตอนเรียนประถมอ่ค่ะ ส่วนพ่อกับแม่หนูพึ่งจะได้ทำอ่ค่ะ ช่วยหนูตอบหนูหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ”

ในช่วงเวลานั้น ผู้เขียนตอบคุณเหมยว่า “บัตรดังกล่าวนี้ เป็นเพียงการรับรองว่า พวกคุณมีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลกรับรองให้สิทธิในสัญชาติ ดังนั้น พวกคุณจะมีสถานะบุคคลเป็นอย่างไร จึงเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่แต่ละคนมีค่ะ จึงต้องย้อนถามว่า คุณเหมยเป็นใครมาจากไหน ? เกิดที่ไหน ? พ่อแม่เป็นใครเกิดที่ไหน ? ค่ะ โปรดบอกมาก่อน แล้วจะตอบคำถามของคุณค่ะ

สาเหตุที่คุณมีบัตรในขณะเรียนนั้น เป็นเพราะในปี พ.ศ.๒๕๔๘ รัฐบาลไทยมีนโยบายสำรวจปัญหาเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในโรงเรียน จึงออกบัตรให้ เมื่อพบว่า คุณไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกค่ะ”

ต่อมา คุณเหมยจึงให้ข้อเท็จจริงของตนเองและครอบครัวว่า “หนูเกิดที่ฉะเชิงเทราค่ะ ตอนนั้น พ่อแม่หนูทำงานอยู่ที่นั่นค่ะ แม่กับพ่อและพี่หนูเกิดที่เชียงรายอ่ค่ะ เป็นชาวเขาเผ่าอาข่าอ่ะค่ะ พ่อกับแม่หนูออกมาหางานทำต่างจังหวัดไปเรื่อยๆ เลยไม่ได้ทราบเรื่องที่เขามีการสำรวจคนในแต่ก่อนอ่ะค่ะ” และผู้เขียนยังถามย้ำคุณเหมยไปอีกครั้งว่า “ถามคุณเหมยต่อดังนี้นะคะ (๑.) หากคุณตอบว่า คุณหนูเกิดที่ฉะเชิงเทรา ขอถามต่อว่า คุณเกิดเมื่อไหร่ ? ที่ไหนแน่ในฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลอะไร ? มีเอกสารรับรองการเกิดหรือไม่ ? (๒.) พ่อและแม่เกิดเมื่อไหร่ ? ที่ไหนแน่ในเชียงราย โรงพยาบาลอะไร ? มีเอกสารรับรองการเกิดหรือไม่ ? (๓.) พ่อแม่เป็นคนชาติพันธุ์อะไร ? ปู่ย่าตายายเป็นใครมาจากไหน ? (๔.) ตอนนี้ พ่อแม่ทำงานอะไร ? อยู่ที่ไหน ? โปรดช่วยตอบคำถามด้วยค่ะ”

คุณเหมยตอบมาทันทีว่า “๑. เกิดวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ค่ะ ที่โรงพยาบาลบางปะกงอ่ะค่ะ มีเอกสารประมาณแบบว่าสมุดฝากครรภ์อะไรประมานเนี้ยอ่ะค่ะ ๒.พ่อแม่หนูเกิดที่เชียงรายอ่ะค่ะ ปี ๒๕๑๕ กับ ๒๕๑๘ ของพ่อกับแม่หนูไม่มีหลักฐานการเกิดเลยค่ะ เกิดที่บ้านไม่ได้ไปโรงพยาบาลอ่ค่ะ ๓. พ่อแม่เป็นชาวเขาเผ่าอาข่าอ่ะค่ะ ส่วนปูย่าตายายหนูเสียไปตั้งนานแล้วอ่ะค่ะ ตั้งแต่พ่อแม่หนูเด็กๆ ปู่ย่าตายายหนูก็เป็นคนเชียงรายนี่แหละค่ะ ชาวเขาเผ่าอาข่าเหมือนกัน ๔. ตอนนี้ทำงานรับจ้างทั่วไปอ่ะค่ะ อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรค่ะ”

ผู้เขียนพยายามถามต่อไปว่า “ถามคุณเหมยต่อนะคะ (๑.) พ่อแม่ถือบัตรเลข ๐ ใช่ไหมคะ ?? (๒.) ช่วยตอบอีกครั้งว่า บัตรเลข ๐ ของแต่ละคนออกโดยอำเภออะไรบ้างนะคะ ? (๓.) แล้วทุกคนอาศัยอยู่ที่กำแพงเพชรหรือคะ ? (๔.) ทุกคนมีใบอนุญาตทำงานไหมคะ ?”

คุณเหมยตอบมาว่า “๑. ค่ะ พ่อแม่หนูถือบัตรเลข ๐ อยู่ค่ะ ๒.บัตรของหนูกับพี่หนูออกที่อำเภอโกสัมพีนคร ที่กำแพงเพชรอ่ค่ะ ส่วนของพ่อแม่หนูเป็นของอำเภอแม่จัน เชียงรายอ่ค่ะ ๓. ตอนนี่ทุกคนอยู่ที่กำแพงเพชรอ่ะค่ะ ๔. ไม่แน่ใจว่าใบอนุญาตทำงานมันเป็นยังไงคะ เพราะหนูกับพี่ยังเรียนอยู่เลยอ่ะค่ะ”

เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ คุณเหมยส่งข้อความเข้ามาในบันทึกฉบับเดิมเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเธออีกครั้งว่า

“๑.เกิด ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ค่ะ โรงพยาบาลบางปะกง มีเป็นเอกสารการฝากท้อง แล้วก็มีอีกใบหนึ่งค่ะอาจารย์ แต่ไม่ทราบว่าเรียกว่าอะไร พอดีเก็บไว้ที่บ้าน แต่ไม่ใช่สูติบัตรแน่นอนค่ะ เพราะตอนนั้น พ่อแม่ไม่มีบัตร แจ้งเกิดไม่ได้ค่ะ ๒. พ่อเกิด ๒๕๑๕ ค่ะ ส่วนแม่ ๒๕๑๘ ไม่ทราบวันเกิดแน่นอนของตัวเองค่ะ เกิดภายในหมู่บ้านเผ่าอาข่าที่เชียงรายค่ะ ไม่มีเอกสารรับรองอะไรเลยค่ะอาจารย์ ๓.พ่อแม่เป็นชาวเขาเผ่าอาข่าค่ะ ส่วนปู่ยาตายายอพยพมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ อาจารย์ ตอนนี้ปู่ย่าตายายเสียหมดแล้วค่ะ ๔.พ่อแม่ทำงานรับจ้างทั่วไปค่ะ เช่าที่ทำไร่บ้าง ตอนนี้ทั้งครอบครัวพ่อแม่พี่ชายแล้วก็ตัวหนูอาศัยอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรค่ะ

อีกอย่างที่หนูอยากทราบคือ ถ้าทางอำเภอเค้าเรียกดูเอกสารทุกอย่างที่เรามี คือแบบเค้าบอกว่ามีเรื่องยื่นมาแล้วมีชื่อหนูกับพี่ชาย เลยขอเอกสารเหล่านั้นไปเพื่อพิสูจน์ มีการสอบปากเปล่าด้วยค่ะ นี่เป็นการพิสูจน์สัญชาติทางหนึ่งป่ะคะอาจารย์

ตอนนี้หนูเรียนจบ ปวส แล้วค่ะ ถ้าจะไปสมัครงานตามบริษัท หนูสามารถเขียนโปรไฟล์สมัครงานของหนูเองเพื่อให้ทางบริษัทต่างๆ เข้าใจในเรื่องบัตรและสิทธิของหนูยังไงดีคะ เผื่อทางบริษัทจะเข้าใจแล้วรับหนูเข้าทำงานอ่ะค่ะอาจารย์ รบกวนอาจารย์ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ”

--------------------------------

๒. ข้อเท็จจริงของคุณเหมยที่สรุปได้จากคำบอกเล่าของเธอเอง

-------------------------------

คุณเหมยเกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ณ โรงพยาบาลบางปะกง จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าอาข่า ซึ่งคุณเหมยเล่าว่า เกิดที่จังหวัดเชียงราย โดยมีบุพการีชั้นปู่ย่าตายายอพยพมาจากประเทศเมียนม่า

บิดาและมารดาของคุณเหมยมิได้จดทะเบียนคนเกิดจนครบขั้นตอนให้แก่คุณเหมย เธอจึงไม่มีสูติบัตรตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และตกหล่นจากทะเบียนราษฎรตั้งแต่เกิด เธอมีเพียงแต่ “เอกสารการฝากท้อง” และเอกสารอีกอย่าง ซึ่งไม่ใช่สูติบัตร เธออธิบายว่า เนื่องจาก “พ่อแม่ไม่มีบัตร แจ้งเกิดไม่ได้” ซึ่งก็น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของบุพการี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เราก็หวังว่า เอกสารอีกฉบับหนึ่งที่เธอมีอยู่ ก็น่าจะได้แก่ หนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยโรงพยาบาลปางปะกง ซึ่งคุณเหมยก็ควรรีบไปหาเอกสารให้เจอ และถ้าไม่ใช่ ก็ควรจะย้อนกลับไปที่โรงพยาบาลบางปะกง เพื่อขอให้โรงพยาบาลดังกล่าวออกให้ เนื่องจากโรงพยาบาลดังกล่าวมีหน้าที่ตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ที่จะออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่คุณเหมย

นอกจากนั้น แม้ว่า คุณเหมยจะอ้างว่า บิดาและมารดาเกิดที่จังหวัดเชียงราย ก็ตาม แต่การกล่าวอ้างลอยๆ ก็ย่อมไม่มีน้ำหนักใดๆ เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังไม่ได้ จึงต้องพยายามไปแสวงหาพยานหลักฐานที่ชี้ได้ว่า บิดาและมารดาเกิดที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งอาจจะเป็นพยานเอกสาร หรือพยานบุคคล หรือพยานวัตถุ

-------------------------------------

๓. ประเด็นสำคัญที่จะต้องตอบคำถามของคุณเหมย

---------------------------------------

ผู้เขียนเห็นว่า ผู้เขียนควรจะให้ความรู้กฎหมายแก่คุณเหมยผ่าน ๖ คำถามดังต่อไปนี้ กล่าวคือ

(๑) คุณเหมยจะต้องมีข้อเท็จจริงอย่างใดจึงจะมีสิทธิถือบัตรประชาชนตามกฎหมายไทย

(๒) คุณเหมยมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยหรือไม่ ?

(๓) คุณเหมยจะมีสิทธิย้ายชื่อจากทะเบียนประวัติไปไว้ในทะเบียนบ้านได้หรือไม่ ?

(๔) คุณเหมยมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? เป็นสัญชาติที่มีผลโดยพลัน หรือเป็นแบบที่มีเงื่อนไข ?

(๕) คุณเหมยควรทำอย่างไรเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของเธอและครอบครัว ?

(๖) คุณเหมยควรจะแสดงตนอย่างไรในระหว่างที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทยยังไม่แล้วเสร็จ ?

-------------------------------------

๔. คุณเหมยจะต้องมีข้อเท็จจริงอย่างใดจึงจะมีสิทธิถือบัตรประชาชนตามกฎหมายไทย ?

---------------------------------------

คำว่า “บัตรประชาชน” ตามกฎหมายไทยเป็นไปตาม “พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖” ซึ่งในปัจจุบัน ถูกแก้ไขและเพิ่มเติมมาแล้ว ๒ ครั้ง กล่าวคือ ครั้งที่ ๑ โดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และ ครั้งที่ ๒ โดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังนั้น กฎหมายไทยในเรื่องบัตรประชาชนที่มีผลในปัจจุบัน ก็คือ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔

เมื่อมาตรา ๕ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.บัตรประชาชนข้างต้น บัญญัติว่า “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้” ดังนั้น บุคคลที่จะมีสิทธิในบัตรประชาชนตามกฎหมายไทยจึงต้องมีคุณสมบัติ ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) มีชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะคนสัญชาติไทย และ (๒) เป็นบุคคลมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

ดังนั้น คุณเหมยจะมีสิทธิในบัตรประชาชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า คุณเหมยมีชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะคนสัญชาติไทยหรือไม่ ?

-------------------------------------

๕. คุณเหมยมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือไม่ ?

---------------------------------------

คุณเหมยเคยตอบมาว่า เธอ รวมถึงพี่สาว ตลอดจนบิดาและมารดาถือ “บัตรเลข ๐” กล่าวคือ บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งออกโดยกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนกลาง เพื่อบุคคลที่ฟังไม่ได้ว่า มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่จริงในประเทศไทย และไม่อาจส่งกลับหรือไม่ควรส่งกลับประเทศต้นทาง การออกบัตรดังกล่าวจะทำภายหลังจากการบันทึกบุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งก็คือ มาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ คุณเหมยให้ข้อมูลว่า เธอและพี่สาวถือบัตรเลขศูนย์ที่ออกโดยอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ในขณะที่บิดาและมารดาถือบัตรเลขศูนย์ที่ออกโดยอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แต่ทุกคนอาศัยอยู่จริงที่จังหวัดกำแพงเพชร

โดยสรุป คุณเหมยจึงไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) ตามกฎหมายไทยลักษณะเดียวกัน กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า คุณเหมยจะมีสิทธิที่จะย้ายชื่อจากทะเบียนประวัติดังกล่าวไปยังทะเบียนบ้านหรือไม่ ? อย่างไร ?

-------------------------------------

๖. คุณเหมยจะมีสิทธิย้ายชื่อจากทะเบียนประวัติไปไว้ยังทะเบียนบ้านได้หรือไม่ ?

---------------------------------------

หากคุณเหมยต้องการใช้สิทธิที่จะถือบัตรประชาชน เธอก็จะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะคนสัญชาติไทย ดังที่ได้ศึกษากันมาข้างต้น จึงต้องมาพิจารณาว่า คุณเหมยจะต้องทำอย่างไรที่จะสามารถย้ายชื่อจากทะเบียนประวัติไปยังทะเบียนบ้าน และทำอย่างไรจึงจะถูกบันทึกในทะเบียนบ้านนี้ในสถานะคนสัญชาติไทย

เราพบว่า ทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยเป็นเอกสารที่รัฐไทยใช้บันทึกคนที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย โดยรัฐไทยใช้ทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) สำหรับบันทึกคนที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๓๖ วรรคแรก แห่ง แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ แต่การบันทึกคนที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยนั้น รัฐไทยจะบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ไม่ถาวร (ท.ร.๑๓) ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๓๘ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

เราพบต่อไปว่า คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะถูกบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ดังนั้น คุณเหมยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เธอมีสิทธิในสัญชาติไทย เธอจึงจะถูกบันทึกในทะเบียนบ้านดังกล่าว ดังนั้น เราจึงต้องมาพิจารณาต่อไปว่า คุณเหมยมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? และเป็นสัญชาติประเภทมีผลโดยพลันหรือแบบมีเงื่อนไข

-------------------------------------

๗. คุณเหมยมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? และเป็นแบบมีผลโดยพลัน หรือแบบมีเงื่อนไข ?

---------------------------------------

เพื่อพิจารณาว่า คุณเหมยจะมีชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะคนสัญชาติไทยหรือไม่ ก็จะต้องมาพิจารณาว่า คุณเหมยมีสมบัติของคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่

โดยหลักกฎหมายสัญชาติไทย บุคคลจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดภายใต้ ๓ สถานการณ์ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลนั้นเกิดจากบิดาที่มีสิทธิในสัญชาติไทย หรือ (๒) บุคคลนั้นเกิดจากมารดาที่มีสิทธิในสัญชาติไทย หรือ (๓) บุคคลนั้นเกิดในประเทศไทย

เมื่อเราย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของคุณเหมย เราก็อาจมีข้อวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

ในประการแรก บิดาของคุณเหมยน่าจะมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ เพราะเขายังมีสถานะเป็น “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” เขาจึงยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะคนสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก ดังนั้น คุณเหมยจึงยังไม่อาจสืบสิทธิในสัญชาติไทยจากบิดา แต่อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์ได้ว่า เขาเกิดจริงที่เชียงรายใน พ.ศ.๒๕๑๕ เขาก็น่าจะเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ และกลับคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

ในประการที่สอง มารดาของคุณเหมยน่าจะมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะเธอยังมีสถานะเป็น “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” เธอจึงยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะคนสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก ดังนั้น คุณเหมยจึงยังไม่อาจสืบสิทธิในสัญชาติไทยจากมารดา แต่อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์ได้ว่า เธอเกิดจริงที่เชียงรายใน พ.ศ.๒๕๑๘ เธอก็น่าจะไม่ได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของข้อ ๒ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ และกลับคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

ในประการที่สาม หากว่า ฟังได้ว่า เธอเป็นคนที่เกิดจริงที่โรงพยาบาลบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณเหมยก็จะ “ไม่มี” สิทธิในสัญชาติไทยโดยพลัน กล่าวคือ โดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แต่อย่างไรก็ตาม คุณเหมยก็ยังมีสิทธิขอรับรองสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งการขอรับรองดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หากมีการกำหนดหลักเกณฑ์โดยคณะรัฐมนตรี เพื่อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอาจมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สัญชาติไทย

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อต้องสังเกตว่า หากบิดาหรือมารดาพิสูจน์ได้ว่า เกิดในประเทศไทย คุณเหมยก็น่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ตามบิดาหรือมารดา ซึ่งสัญชาติไทยในลักษณะนี้ เป็นสัญชาติไทยโดยพลัน กล่าวคือ เป็นไปโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย

โดยสรุป คุณเหมยก็จะยังไม่สามารถถือบัตรประชาชนไทยได้ จนกว่ากระบวนการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจะแล้วเสร็จลง ซึ่งอาจจะเป็นไปตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หรืออาจจะเป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

-------------------------------------

๘. บทสรุป - คุณเหมยควรทำอย่างไรเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของเธอและครอบครัว ?

---------------------------------------

ในที่สุด คุณเหมยก็คงจะตระหนักได้ว่า ความสำเร็จในการพิสูจน์สัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ของคุณเหมยย่อมขึ้นอยู่กับการมีพยานหลักฐาน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑) การมีพยานหลักฐานแสดงการเกิดของคุณเองในประเทศไทย ดังนั้น การค้นหาว่า โรงพยาบาลบางปะกงได้ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้แก่คุณเหมยหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ และการกลับไปที่โรงพยาบาลบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอให้มีการรับรองสมุดฝากครรภ์ ตลอดจนการหารือเทศบาลหรืออำเภอเจ้าของพื้นที่โรงพยาบาลบางปะกงตั้งอยู่เพื่อขอทำสูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิด ทั้งนี้ เพื่อให้การจดทะเบียนการเกิดของคุณเหมยเป็นไปอย่างครบขั้นตอน อันนำไปสู่เอกสารรับรองการเกิดในประเทศไทยที่น่าเชื่อถือได้

(๒) การมีพยานหลักฐานที่แสดงการเกิดของบิดาหรือมารดาของคุณในประเทศไทย ซึ่งคุณเหมยคงจะต้องซักถามบิดาและมารดาให้ได้ว่า ท่านทั้งสองเกิดในหมู่บ้านไหน อำเภออะไร ของจังหวัดเชียงราย การเรียบเรียงความเป็นมาของบิดาและมารดาตั้งแต่เกิดจะทำให้ท่านทั้งสองอาจจะนึกออกถึงบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของท่านทั้งสอง และอาจใช้เป็นพยานบุคคลที่จะเข้ามารับรองการเกิดของบุคคลทั้งสองในประเทศไทยได้ อนึ่ง การกลับไปยังสถานที่นั้นก็อาจเป็นอีกทางหนึ่งของการแสวงหาพยานหลักฐานในข้อนี้

ดังนั้น คุณเหมยจึงควรจะเอาใจใส่เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานทั้ง ๒ ลักษณะดังกล่าว ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า อาจจะเป็นพยานเอกสาร หรือพยานบุคคล หรือพยานวัตถุ ก็เป็นไปได้

ดังที่คุณเหมยเล่าว่า “อีกอย่างที่หนูอยากทราบคือ ถ้าทางอำเภอเค้าเรียกดูเอกสารทุกอย่างที่เรามี คือแบบเค้าบอกว่ามีเรื่องยื่นมาแล้วมีชื่อหนูกับพี่ชาย เลยขอเอกสารเหล่านั้นไปเพื่อพิสูจน์ มีการสอบปากเปล่าด้วยค่ะ นี่เป็นการพิสูจน์สัญชาติทางหนึ่งป่ะคะอาจารย์” ผู้เขียนก็ตอบคำถามในส่วนนี้ขอคุณเหมยไม่ได้ เพราะคุณเหมยไม่ได้เล่าว่า เจ้าหน้าที่ของอำเภอสอบปากคำอะไรบ้าง แต่ที่สรุปได้ ก็คือ คุณเหมยอาจร้องขอให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวช่วยคุณเหมยในการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์สถานที่เกิดของคุณเหมย ตลอดจนบุพการี

ขอให้ตระหนักว่า ในสถานการณ์ที่คุณเหมยประสบผลสำเร็จในการพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของบิดาและมารดา ตลอดจนของคุณเหมยเอง คุณเหมยก็จะสามารถร้องขอต่อเทศบาลหรืออำเภอเจ้าของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของภูมิลำเนาของคุณเหมยเพื่อลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และเมื่อการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านแล้วเสร็จ คุณเหมยก็จะได้รับการออกบัตรประชาชนให้ถือเพื่อแสดงตน

แต่ในสถานการณ์ที่การพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของบิดาและมารดาไม่อาจทำได้สำเร็จ แต่การพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของคุณเหมยทำได้ คุณเหมยก็จะต้องใช้สิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ อันหมายถึง (๑) ร้องขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอรับรองการใช้สิทธิในสัญชาติไทยของคนในสถานการณ์ของคุณเหมย (๒) เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว คุณเหมยก็จะต้องยื่นคำขอรับรองสิทธิในสัญชาติไทยดังกล่าวต่อเทศบาลหรืออำเภอเจ้าของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของภูมิลำเนาของคุณเหมย และ (๓) เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอแล้ว คุณเหมยก็อาจไปร้องขอให้เทศบาลหรืออำเภอเจ้าของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของภูมิลำเนาของคุณเหมยดำเนินการบันทึกคุณเหมยในทะเบียนบ้าน และเมื่อการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านแล้วเสร็จ คุณเหมยก็จะได้รับการออกบัตรประชาชนให้ถือเพื่อแสดงตน

โดยสรุป จะเห็นว่า การพิสูจน์สัญชาติไทยดังกล่าวมาจะเป็นไปได้ ก็ด้วยความเข้าใจในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำลังใจในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน หากพวกคุณเกิดในประเทศไทยจริง ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ให้ปรากฏ

-------------------------------------

๙. บทสรุป - คุณเหมยควรจะแสดงตนอย่างไรในระหว่างที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทยยังไม่แล้วเสร็จ ?

---------------------------------------

ในระหว่างที่กระบวนการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของคุณเหมยยังไม่แล้วเสร็จ คุณเหมยก็มีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้น สิทธิในการประกอบอาชีพ ก็เป็นทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิในคุณภาพชีวิตของมนุษย์

เมื่อคุณเหมยก็คือมนุษย์ คุณเหมยจึงมีสิทธิในการประกอบอาชีพ เพียงอาจมีข้อจำกัดในการเลือกสาขาวิชาชีพในการทำงานหรือลงทุน ตราบเท่าที่ยังพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยไม่ได้ คุณเหมยจึงถูกถือเป็นคนต่างด้าว อันทำให้ต้องมีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย และทำงานในสาขาวิชาชีพที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งการทำงานในประเทศไทยของคุณเหมยย่อมตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ในขณะที่การลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยของคุณเหมยย่อมตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒

ในการเขียนโปรไฟล์สมัครงานของคุณเหมยเพื่อต่อบริษัทต่างๆ ก็ใช้เอกสารรับรองตัวบุคคลที่กรมการปกครองออกให้แก่คุณเหมย กล่าวคือ (๑) บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานทางทะเบียน และ (๒) ทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) หากบริษัทดังกล่าวไม่เข้าใจในเอกสารดังกล่าว ก็อาจแนะนำให้เจ้าหน้าที่บริษัทนั้นตรวจสอบข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ก็อาจจะมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักคนไร้สัญชาติ จึงอาจมีความยากลำบากอยู่ไม่น้อยเช่นกันที่คุณเหมยจะแสวงหางานทำ ดังนั้น การลุกขึ้นมาศึกษาข้อกฎหมายและข้อนโยบายเพื่อจัดการปัญหาสัญชาติของตนเองจึงเป็นสิ่งที่คนไร้สัญชาติควรรีบทำ แม้การจัดการนี้จะไม่ง่ายนัก แต่จะรอให้ทางราชการเข้ามาจัดการให้แต่อย่างเดียว ก็คงจะต้องรอกันไปอีกนานมาก และสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็คือ การใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย ยอมรับความช่วยเหลือจากกระบวนทุจริต ซึ่งการถูกจับในเวลาต่อไปว่า กระทำความผิดกฎหมาย ก็จะยิ่งเดือดร้อนจนแทบไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อีกเลย

------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 606045เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2016 03:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2016 03:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท