การปลูกสับปะรด (Explicit Knowledg)


การปลูกสับปะรด
จากการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ เรื่องการปลูกสับปะรด ได้ข้อมูล ดังนี้

สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เล่ากันว่ามีแขกปาทาน มาซื้อขายโคกับชาวบ้านแถบตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำผลและต้นมาฝาก และได้มีการปลูกขยายพันธุ์กันมาก เนื่องจากสับปะรดในแหล่งนี้มีรสชาติดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนมากจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของสับปะรดปราณบุรี เป็นแหล่งผลิตสับปะรดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก


วิธีการปลูก
นิยมทำกันอยู่ 2 วิธี คือ
1. การปลูกแบบแถวเดียว ใช้ระยะการปลูกระหว่างต้น 40 ซม. ระหว่างแถว 100-125 ซม. ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 2,500-3,500 ต้น การปลูกแบบนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับปลูกเพื่อจำหน่ายผลสด เพราะได้ผลใหญ่ ราคาดี ให้หน่อมาก และไว้หน่อให้ออกผลสืบแทนต้นแม่ได้หลายรุ่น แต่มีข้อเสียคือให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เปลืองเนื้อที่ แรงงานและค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช การทรงตัวของลำต้นไม่สู้ดี
2. การปลูกแบบแถวคู่ ใช้ระยะปลูกระหว่างดินประมาณ 30 ซม. ระหว่างแถวประมาณ 50 ซม. กลับฟันปลาระยะระหว่างแถวของคู่ 1 เมตร ในหนึ่งไร่จะปลูกได้ประมาณ 6,500-8,000 ต้น บางแห่งอาจถึง 10,000 ต้น ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของโรงงานว่าจะต้องการผลขนาดไหน การปลูกแบบนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับปลูกเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม เพราะให้ผลที่มีขนาดเล็กตามความต้องการของโรงงาน และให้ผลผลิตต่อไร่สูง เสียค่าใช้จ่าย แรงงานและเวลาในการกำจัดวัชพืชน้อยกว่าการปลูกแบบแถวเดียว การทรงตัวของลำต้นดี เพราะต้นสับปะรดจะเจริญเติบโตเบียดเสียดกันไว้ไม่ให้ล้ม


การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยสับปะรดนั้น ไม่อาจจะระบุให้แน่ชัดลงไปได้ว่า จะต้องใส่เท่าไรจึงจะเป็นการเหมาะสมและให้ผลดี เพราะสภาพของดินแต่ละแห่งแตกต่างกัน ธาตุในดินก็มีอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นจำนวนปุ๋ยที่จะใส่จึงแตกต่างกันไปด้วย โดยทั่วไปการใส่ปุ๋ยอาจแบ่งออกไปได้ราว 2-3 ครั้ง นับแต่ปลูกจนเก็บผล โดยมากมักใช้เป็นปุ๋ยแต่งหน้า การใส่ปุ๋ยครั้งแรกควรใส่เมื่อสับปะรดอายุได้ 3 เดือน ต่อจากนั้นอีก 2-3 เดือนจึงควรใส่อีกครั้ง เว้นระยะเช่นนี้เรื่อยไป หรือจะใส่ปีละ 2 ครั้งก็ได้ ตามความต้องการ การใส่ปุ๋ยไม่ควรใส่เมื่อใกล้เวลาจะออกผล เพราะจะไม่เกิดผลอะไรมากนัก ปุ๋ยที่สำคัญสำหรับสับปะรดคือ ธาตุไนโตรเจน และโปแตชเซี่ยม ปุ๋ยไนโตรเจนโดยมากมักใช้แอมโมเนียซัลเฟตมากกว่าจะใช้โซเดี่ยมไนเตรท เพราะโซเดี่ยมไนเตรทเมื่อละลายน้ำแล้วน้ำจะเหลือด่างทิ้งไว้ในดิน ซึ่งสับปะรดชอบดินค่อนข้างเป็นกรดดังได้กล่าวมาแล้ว ธาตุโปแตชเซี่ยม สับปะรดต้องการมาก ดังนั้นปุ๋ยสับปะรดที่ใช้กันทั่วไปมักจะมีไนโตรเจนและโปแตชเซี่ยมสูง สูตรที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไปมักจะเป็น 10-4-15 หรือ 12-2-10 หรือ 12-2-8 การใช้ปุ๋ยส่วนมากใช้หยอดรอบๆ โคนต้น ใช้ปุ๋ยประมาณ 35 กก.ต่อสับปะรด 1,000 ต้นต่อครั้ง ซึ่งอาจจะใช้ปีละ 2 ครั้งก็พอ


การบังคับให้สับปะรดออกผล
สับปะรดจะออกผลทยอยกันตลอดปี แต่ในปีหนึ่งๆ จะได้ผลมากอยู่สองครั้ง คือประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม และประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ในไร่หนึ่งๆ จะออกผลไม่ค่อยสม่ำเสมอ บางฤดูจะมีสับปะรดมากทำให้ราคาถูก การใช้สารเคมีบังคับให้สับปะรดออกก่อนกำหนดจึงเป็นวิธีที่ชาวไร่นิยมทำกันอยู่ในขณะนี้ โดยใช้แคลเซี่ยมคาร์ไบด์ หรือชาวไร่เรียกว่า ถ่านแก๊ส หยอดลงที่ยอดแบ่งวิธีการออกได้เป็น 3 แบบ คือ
1. ใช้แคลเซี่ยมคาร์ไบด์ 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 1-2 ปี๊บ แล้วใส่ส่วนผสมนี้ 1 กระป๋องนมข้น ต่อสับปะรด 3-4 ต้น ในไร่หนึ่งจะใช้สารนี้ประมาณ 4-5 กิโลกรัม วิธีนี้ทำได้รวดเร็ว เหมาะในการปฏิบติในฤดูแล้ง แต่เปลืองสารเคมีมาก
2. โดยวิธีบดก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ให้เป็นผง นำมาใส่ที่ยอดสับปะรดแล้วใส่น้ำตามลงไป ใช้สารเคมีประมาณต้นละ 0.5-1.0 กรัม ไร่หนึ่งจะใช้ประมาณ 1-2 กิโลกรัม วิธีนี้สิ้นเปลืองน้อยกว่าวิธีแรก แต่เสียเวลาและเปลืองแรงงาน
3. โดยใช้ก้อนแคลเซี่ยมคาร์ไบด์ใส่ลงในกรวย แล้วเทน้ำลงไปให้ผ่านก้อนแคลเซี่ยมคาร์ไบด์ในกรวย ให้น้ำไหลลงไปยังยอดสับปะรด แต่วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมเช่น 2 วิธีแรก
การหยอดสารแคลเซี่ยมคาไบด์นั้น ต้องเลือกต้นที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ควรมีอายุประมาณ 8-10 เดือน หลังจากใส่สารเคมีนี้แล้วประมาณ 40-45 วัน จะสังเกตเห็นดอกสีแดงโผล่ขึ้นมาจากยอด จากนั้นอีก 3-5 เดือน ผลจะแก่จัดก็เก็บได้


การกำจัดวัชพืช
สับปะรดเป็นพืชที่มีรากตื้น วัชพืชจะแย่งน้ำและอาหารจากสับปะรด ทำให้ใบสับปะรดมีสีแดง ต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ให้ผลเล็ก ในปีหนึ่งๆ ควรกำจัดวัชพืชประมาณ 5-10 ครั้ง สำหรับในฤดูฝนต้องทำบ่อยกว่าในฤดูแล้ง ส่วนมากชาวไร่ใช้จอบถาก ที่ใช้เครื่องมือตัดหญ้ามีน้อย เพราะการกำจัดวัชพืชวิธีนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแรงงานมาก ขณะถากหญ้าจอบอาจไปถากเอารากตามผิวดินขาดไปด้วยทำให้ต้นเฉา และดินอาจกระเด็นไปถูกเอายอดสับปะรด ทำให้ต้นเน่าตายได้
การกำจัดวัชพืชในไร่สับปะรด โดยใช้สารเคมีทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ผลพอสรุปได้ดังนี้
ใช้ยากำจัดวัชพืช ซิมาซีน (Simazine) แอตราซิน (Atrazine) โมนูรอน (Monuron) และไดยูรอน (Diuron) พ่นบนดินในอัตรา (ตัวยาสุทธิ) 0.36 กก. ต่อไร่ กำจัดวัชพืชได้ตลอด 2 เดือน ถ้าในอัตรา 0.72 กก. ต่อไร่ จะกำจัดได้นาน 3 เดือน ถ้าพ่นในฤดูแล้งจะให้ผลนานกว่านี้


หมายเลขบันทึก: 605638เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2016 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2016 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นประโยชน์มากครับ

สนใจค้ะ ขอจองสัก2กระบะรถน่ะค่ะ

สนใจข้อมมูลมากเลยค่ะ

ข้อมูลน่าสนใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท