​แม่ชีอินดี้ 5 :  คอร์สฝึกจิตสำหรับแม่ชี


การทำสมาธิหากไม่ตั้งใจก็เหมือนการมานั่งหลับตาเล่น พอนั่งเมื่อยก็พาลคิดไปว่า ตรูมานั่งหลับตาปวดหลังให้เมื่อยทำไม ทำไมไม่นอนซะเลยหล่ะ

การบริกรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเจริญสติ ภาวนา เป็นทักษะที่ต้องใช้ฝึกปฏิบัติร่วมกับการกำหนดรู้ แน่ใจว่าสถานฝึกปฏิบั ติเกือบทุกแห่ง หรือแม้แต่สถาบันพัฒนาจิตหลายๆ แห่ง ได้ใช้การบริกรรมเป็นเครื่องมือในคอร์สเจริญสติ ภาวนา ด้วยการบริกรรม เป็นการเจริญสมาธิ เพราะการบริกรรม จัดเป็นอารมณ์หนึ่งในจิต เมื่อใดที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน เรียกว่า สมาธิ

การบริกรรม คือ การกำหนดคำใดคำหนึ่งขึ้นมา ในใจแบบซ้ำ ๆ หรืออาจจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ การพูดในใจซ้ำๆ ด้วยคำเดิม เพื่อเป็นหลักยึดหรือกรอบให้จิตใจยึดเหนี่ยว เวลาปฏิบัติกรรมฐานเจริญสติ จิตจะได้เป็นสมาธิเร็วขึ้น

บางแห่งใช้ หนอ (ยุบหนอ พองหนอ, ซ้าย่างหนอ ขวาย่างหนอ) ร่วมกับการกำหนดรู้จังหวะหายใจเข้าออก

บางแห่งใช้ พุทโธ ร่วมกับการกำหนดรู้จังหวะหายใจเข้าออกเช่นกัน

บางแห่งใช้ อรหัง

วัดที่ฉันมาปฏิบัติธรรมแห่งนี้ไม่แคร์เลยว่า ฉัน-หรือญาติโยม จะใช้คำใดเป็นคำบริกรรม ถ้าเคยใช้คำใดแล้วปฏิบัติได้ หลวงตาท่านก็ให้ใช้คำคำนั้นไป ไม่จำเป็นต้องใช้คำเดียวกัน เพราะแก่นของมันคือ การมีสติกำกับ คำบริกรรมเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตใจจดจ่อ เกิดสติ หากมีความวอกแวกคำบริกรรมนั้นจะเป็นสิ่งที่ดึงจิตให้รวมลงเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น เป็นกรอบกั้นจิตส่งออกนอก ฉันชอบแนวปฏิบัติสั่งสอนของหลวงตา-ใจกว้างดี...แมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้เป็นพอ

หากญาติโยมท่านใดยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อน หลวงตาจะแนะนำให้ใช้ หนอ ร่วมกับการหายใจเข้าออก ฉันชอบที่นี่นะเพราะท่านบอกว่า การกำหนดลมหายใจเข้าออกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คนแต่ละคนหายใจช้าเร็ว ลึกตื้นไม่เหมือนกัน ไม่ต้องฝืน ฉันเคยไปฝึกกับบางแห่งแล้วฉันหายใจไม่ทัน ยืนนนนนนนนนนนนนนนน หนอออออออออออออออออ เมื่อทำคำบริกรรมให้รวมเป็นหนึ่งกับจังหวะการหายใจ เล่นเอาระบบรวนพานจะเป็นลมไปซะงั้น

ฉันมักจะเริ่มต้นการภาวนาด้วยการทำใจให้สงบ โดยอาศัยคำแผ่เมตตาเป็นตึวยึดจิต ฉันมักจะกล่าวคำว่า สัพเพ สัตตา อะเวราโหนตุ อัพยาปัชฌาโหนตุ อะนีฆาโหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ... ก่อนจะบริกรรมพุทโธ ฉันเคยอินดี้ที่จะเอาคำแผ่เมตตานี่ เป็นคำบริกรรม แต่ขอโทษ มันยาวไป เมื่อจิตวอกแวก กว่าจะบริกรรมจบ จิตของฉันมันก็ไปถึงปาดังเบซาร์แล้ว บางทีอาจจะไปไกลถึงดาวศุกร์เลยก็ได้ ดังนั้นเมื่อคำบริกรรมเป็นตัวเบรก (Breaker) หรือเป็นกรอบกั้นความคิดไม่ให้ออกไปข้างนอก เพื่อให้ดูจิตในจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น คำบริกรรมควรจะเป็นคำที่สั้น กระชับ ฉันจึงต้องบอกผ่านคำแผ่เมตตานี้ไป แล้วกลับมาสวามิภักดิ์กับคำว่า พุทโธ ต่อไป

เมื่อฉันฝึก คำบริกรรมหนอ กำกับอริยาบถ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ....เผลอแพล่บเดียวคำบริกรรมของฉันเปลี่ยนไปตอนไหนไม่รู้ ขวาย่างหนอ.... ไส้ย่างหนอ หุหุ ไส้ย่างมาจากไหน แล้ว ซ้ายย่างหนอของฉันหายไปไหน...ไส้ย่างมาไม่มาเปล่า กินหอมลอยมาพร้อม...ไส้ย่างหนอ หอมหนอ หิวหนอ หุหุ สติหนอ

เอาใหม่ ฉันเปลี่ยนคำบริกรรมเป็น พุทโธ หายใจเข้า-ออก ก็พุท-โธ พุท-โธ, เวลาก้าวเดิน ซ้าย-ย่าง ก็พุท-โธ ขวา-ย่าง ก็พุท-โธ ดีนะ พุทโธ ฉันชอบ สั้นดี เวลานั่งสมาธิพุทโธก็ไปกับลมหายใจ หายใจยาวก็พุท-โธ ยาวยาว หายใจสั้น ก็พุท-โธสั้นๆ ไปตามธรรมชาติของตนไม่ต้องฝืนตัวเอง

การฝึกบริกรรมกำกับอริยาบถนี่เป็นทักษะ (Skill) ต้องใช้เวลาในการสร้างให้เกิดความชำนาญ ความรู้ (Knowledge) ว่าทำอย่างไร ทำแบบไหนนี่หาวิธีการเรียนรู้ไม่ยากเลย เข้าสำนักไหน วัดไหนก็ได้ ในยูทูปก็ถมเถ อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างแต่เป้าหมายคงเหมือนกัน คือ ให้รู้ทันอริยาบถ หากวอกแวกคำบริกรรมจะเป็นตัวเบรก แต่ไงไม่รู้นะ ฉันบริกรรมไปเรื่อยๆ จาก พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ กลายเป็นพุทธา ไปเฉยเลย...พุทธา พุทธา พุทธา พุทธา พุทธา(ถ้าคนสนิทกับฉันจะหัวเราะก๊ากทันที...ด้วยพ่อของฉันชื่อพุทธาหน่ะสิ)

นึกไปแล้วก็ขำตัวเอง จะได้ดีทางนี้ไหมนะ...ดูเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ฉันก็ให้ความจริงจังกับการฝึกจิต ฉันไม่ได้หวังพระนิพพาน คนอย่างฉันคงห่างไกล แต่ฉันเสียดายเวลาที่ฉันลางานมานี่หล่ะ...จะมานั่งหายใจทิ้งก็กระไรอยู่ พระตัวท๊อปเคยว่า ไม่เคยเห็นโยมพี่แกทำอะไร ก็นะ...โลกของวัดเราแยกกันอยู่นี่นะ จะมีกิจกรรมร่วมกันก็ต่อเมื่อมีงานรวมพลเท่านั้น ท่านจึงไม่เคยรู้ว่าฉันทำอะไรบ้างในแต่ละวัน การฝึกจิตของฉันจะเป็นพื้นฐานให้ฉันมีจิตที่สมบูรณ์ จิตที่พึงประสงค์ แต่ดังที่ว่าแล้วว่าเรื่องการฝึกจิตนี่เป็นทักษะ อาจจะต้องใช้เวลาและจริต (ความชอบ ถูกใจ) แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กัความเพียร ที่ตนเป็นต้นเหตุแห่งความเพียรนั้น

เมื่อมาอยู่วัดกิจกรรมหนึ่งที่เป็นกิจของสงฆ์และญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม รวมถึงแม่ชีอย่างฉันด้วยต้องปฏิบัติ คือ การสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น การสวดมนต์นับเป็นการทำสมาธิให้ใจมีความสงบตั้งมั่นอยู่กับคำสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง บางบทฉันสวดไม่ได้ก็หลับตาฟัง เสียงสวดไพเราะเพราะพริ้งทีเดียว เมื่อปล่อยใจไปกับเสียงสวดมนต์ ทำให้"จิตว่าง"ได้ง่ายขึ้นทีเดียว ในอินเตอร์เน็ตปรากฏประโยชน์ของการสวดมนต์ไว้หลายประการในการทำวัตรบางครั้งจะมีบทสวดมนต์พิเศษ ฉันเคยทึ่งที่โยมหลายๆคนท่องปากเปล่าได้ ฉันก็เริ่มได้บ้างแล้วนะ

ฉันใดฉันนั้น ทางไปกรุงเทพฯ มีทางไปได้หลายทาง การทำสมาธิก็เช่นเดียวกัน อาจจะสวดมนต์ก็ได้ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็ได้ทั้งนั้น หรือจะทำทั้งหมดด้วยกันก็ยิ่งดีใหญ่

หลังจากการฝึกสมาธิมาเกือบ 3 เดือน ผลของมันคือ ฉันอ่านหนังสือสวดมนต์ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ภาษาที่ถ่ายเสียงมาจากบาลีนี่ถึงจะเป็นภาษาไทยแต่ก็สะกดยาก พอสะกดยากก็ออกเสียงยากค่ะ เช่น อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง, ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ หุหุ ไม่ใครก็ใครมีโอกาสลิ้นพันกันแน่ๆ แต่สมาธิช่วยฉันได้ ฉันสวดมนต์ได้มากขึ้นแบบไม่ต้องดูหนังสือ ฉันเชื่อว่าไม่ใช่เพราะสมองฉันดีอย่างเดียว (แอบเข้าช้างตัวเอง ฮึฮึ) แต่เพราะการฝึกสมาธิของฉันมันทำให้ใจจดจ่อและมีประสิทธิภาพ มันเหมือนคอมพ์พิวเตอร์ แม้สมรรถนะดีเท่าไหร่ หากแต่ไม่ลบไฟล์ขยะ ไม่มีการจัดการระบบความจำใหม่ เค้าเรียกว่าอะไรนะ Clear temp, Clear cache, Defragement มันก็ทำงานได้ไม่เต็มที่...เช่นเดียวกับจิตคนเราที่สัมพันธ์กับระบบสมอง...การฝึกจิต ทำสมาธิจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดจิตสมบูรณ์ได้ นอกจากนั้นฉันยังนอนกรนเบาลง นอนไวขึ้น(หมายถึงรู้สึกตัวไวขึ้นจากการนอนหลับที่เดิมเหมือนนอนในระบบในแคปซูลของยานอวกาศ) นอนหลับสนิท เต็มอิ่มแม้จะนอนน้อยชั่วโมงกว่าโลกที่ฉันจากมาก และตื่นนอนขึ้นแบบไม่งัวเงีย

จิตสมบูรณ์ ฉันหาความหมายในแหล่งอ้างอิงต่างๆ ยังไม่เจอ ไม่แน่ใจว่าจะคล้าย Mature Mind หรือไม่ แต่ฉันจะหมายถึง จิตที่สามารถรับรู้สภาวะที่เกิดได้อย่างผู้ตั้งรับ มีคนตายก็เสียใจ มีเรื่องดีใจก็เบิกบาน ก็ยังเป็นคนนี่คะไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่ต้องไม่ติดอยู่กับสภาวะนั้นนานเกินไป เสียใจก็ไม่น่าจะจ่อมจมถึงขั้นทำงานทำการไม่ได้ เบิกบานก็ไม่น่าจะหลงใหลและ”ติดกับ” อยู่กับมัน หนักใจกับปัญหาที่มาให้แก้ไข ก็มีเหตุผลมาช่วยไม่ให้จิตแบกรับความหนักใจนั้นจนชีวิตหดหู่ เป็นต้น 555 ขำตัวเอง...พี่ชายตายพอลอยอังคารเสร็จ กลับมาวัด ปิดประตูร้องไห้ด้วยตอนงานศพยุ่งมากไม่มีเวลาแม้จะร้องไห้...คุณเณรมาเล่นด้วยถึงกับเหวอ...ป้าเป็นอะไร บอกเณรไปว่า อยากร้องไห้...มันร้องไม่อิ่ม แต่หลังจากนั้นก็หัวเราะแฮ่นๆๆๆ ได้ทุกวัน...เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ขอแค่ความคิดถึงทำงานแป๊บ แล้วชีวิตก็เข้าโหมดปกติวิถี นี่ก็อยู่งายขึ้นทำใจได้ง่ายขึ้น เพราะสมาธิช่วย

เขียนออกมาง่าย แต่ทำยากค่ะ การฝึกจิต ฝึกการควบคุมจึงจะช่วยได้ ความเป็นชำนาญการพิเศษไม่ได้มาง่ายๆ โดยเฉพาะความชำนาญการพิเศษแห่งจิตแต่หากไม่เริ่มฝึกวันนี้ กว่าจิตจะเข้มแข็งคงไม่รู้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ไม่สามารถตั้งรับได้ทันในสถานการณ์ที่ต้องการ มีแต่รอให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วค่อยว่าไปตามเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้น พึงประสงค์ก็ดีไป ไม่พึงประสงค์นี่สิ คนร้อยคนพันคนแม้แต่พระยังช่วยไม่ได้ นอกจากตัวเอง...กิกิ คิดไปก็เหมือนคนกลัวผี รู้ตัวว่าตัวเองกลัวก็ไม่พยายามฝึกจิตให้เข้มแข็ง ฝึกวิธีคิด แม้มีคนมานอนเป็นเพื่อนก็ยังกลัวอยู่ดี เพราะความกลัวมันกลัวที่จิตใจ โหวงงงงงงงงง แล้วงานนี้ใครจะช่วยหล่ะ

ลองเอาวิธีการฝึกจิตไปช่วยดีไหมคะ

คอร์สฝึกจิตของแม่ชี เริ่มด้วยการทำวัตรสวดมนต์เช้า หากวัดไม่มีกิจอะไรก็จะได้ฝึกหลังทำวัตรประมาณ 45 นาที- 1 ชม. หลังฉันเช้าฉันจะมีเวลาฝึกตนตามจริตประมาณ 1 ชม. ฉันชอบการเดินมากกว่านั่งค่ะ รูปร่างของฉันใหญ่โตมโหฬารจึงมีปัญหากับกายภาพของการนั่ง ฉันชอบแอบไปเดินที่ถนนรอบสระน้ำท้ายวัด หรือไม่ก้ใช้กุฏิหลังน้อยของฉันนั้นแหล่ะ การปฏิบัติของฉันมีเอนหลังสมาธิ ไม่นั่งไม่นอน-แต่เอน หรือนั่งรับเก้าอี้ปฏิบัติหน้ากุฏิรับลมเย็นๆ (อันนี้ไม่ค่อย work คนผ่านไปมาชอบทัก เลยเป็นอันไม่เป็นสมาธิ และหลายคนคิดว่าฉันนั่งเล่น) ภาคบ่ายจะมีนอนสมาธิ ก่อนจะนอนกลางวัน ค่ะนอนกลางวัน ฉันจะนอนกลางวันประมาณ 1 ชม. และได้ทำสมาธิประมาณ 1 ชม. บางวันก็แอบไปปฏิบัติและนอนกลางวันในโบสถ์ ตื่นมาหลังจากไปโฆษณาหรือช่วยงานวัด ฉันจะนั่งสมาธิในกุฏิก่อนออกไปทำวัตรเย็น จนหลวงตาและญาติโยมถามว่าฉันทำอะไรอยู่ในกุฏิ ฉันได้ปฏิบัติการสมาธิอีกครั้งจากการทำวัตรเย็นอีกครั้ง หลังจากนั้นหากหลวงตาพาปฏิบัติก็จะใช้เวลากับหลวงตาประมาณ 2 ชม. ในตอนเย็นฉันไม่ชอบนั่งรอกันเพื่อฝึกปฏิบัติ รอกันไปรอกันมาดูสบายนะคะแต่อาจจะมีปัญหาเรื่องของการบริหารเวลา ฉันชอบเวลาที่แน่นอนว่าเริ่มปฏิบัติร่วมกันกี่โมง เพราะมันทำให้ฉันบริหารเวลาส่วนตัวฉันได้ ฉันจึงคิดว่าค่ายปฏิบัติธรรมควรกำหนดระยะเวลาปฏิบัติร่วมกันและมอบหมายผู้นำปฏิบัติให้ชัดเจน ชี้แจงให้ผู้มาปฏิบัติได้เข้าใจ เช่น ทำวัตรเย็นเวลา 18.30-19.30 น. ปฏิบัติร่วมกันเวลา 20.00-21.30 น. เป็นต้น

การปฏิบัติแบบเป็นหมู่คณะนี้ก็มีจุดเด่นตรงมีพลังร่วม มีแรงกระตุ้น ส่วนการปฏิบัติเดี่ยวนั้นก็ดีในส่วนของการเรียนรู้ตามความสนใจ

ฉันจึงมักปฏิบัติเองก็จะมาทำที่กุฏิ อาบน้ำแล้ว สวดมนต์อีกรอบ นั่งสมาธิได้ก็นั่ง แล้วนอนสมาธิก่อนหลับ ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ฉันก็ไปเรียนสมาธิเพิ่มเติมที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ ฉันเป็นคนค่อนข้างขี้เบื่อ เบื่อนั่งพุทโธกำกับอริยาบถนานๆ ก็เพิ่มการนับคู่การหายใจเข้าไปด้วย (หลวงพี่เค้าสอนมา) เล่นเอาสนุกสนานและท้าทายการมีสติของตนอย่างมาก...บอกแล้วว่าฉันมาหาของเล่น

จากเวลาที่ปฏิบัติจะครบ 3 เดือน สรุปได้ว่า KPI มาตรฐานเวลาการปฏิบัติสมาธิของฉันนั้น ไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง/ 1 วัน...มากไปดี...น้อยไปคงต้องตั้งคำถามว่า...วันนั้นทำอะไร...มีนะคะบางวันได้ทำแค่ 1 ชั่วโมง เช่น ช่วงสงกรานต์ ช่วงบุญผเวส ช่วงที่เดินทางติดตามไปทำกิจกับหลวงตาแล้วนอนทบต้นทบดอก....ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องทำทด เพราะสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ไม่ใช่โรงงานนรก....เอาพอสมดุล และความเพียรเป็นเหตุแห่งตน

สิ่งที่ฉันไม่ให้ความสำคัญ คือ การกำหนดท่าทางอริยาบถแห่งสมาธิ ทำไมต้องมือขวาทับมือซ้าย ทำไมต้องขาขวาทับขาซ้าย ทำไมต้องประสานมือไว้ด้านหน้าเอาไว้บั้นเอวด้านหลังไม่ได้ เหล่านั้นอาจจะเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (ฺBest Practice) ที่ทำแล้วเมื่อยน้อยกว่าท่าอื่นๆ แต่ฉันคิดว่าเราเรียนรู้หลักการไว้ ส่วนการปฏิบัตินั้นให้เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละคนไป สิ่งสำคัญมากที่สุด คือ การกำหนดรู้ต่างหาก แต่ฉันก็ให้ความเคารพในวิธีปฏิบัติของหลายๆสถาบัน เพียงแต่แอบฉงนนิดหน่อยว่า น่าจะอธิบายเพิ่มให้ผู้เรียนรู้มีปัญญาและเข้าใจว่า สมาธิไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดท่าทางเป็นสำคัญ ขอบคุณวัดแห่งนี้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติแต่ละคนปฏิบัติโดยตาม "ที่ชอบ ที่ชอบ" ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งผิดจากปกติธรรมเนียม

ส่วนการสนทนาธรรม และการสอบอารมณ์ก็จะมีบ่อยๆ มักจะเป็นตอนค่ำหลังจากทำวัตรเย็น หรือช่วงเช้า หลังทำวัตรเช้า มักจะดำเนินการโดยหลวงตา หากเป็นการสนทนาเป็นหมู่คณะก็จะเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ความคิดของผู้อื่นด้วย

กรณีที่จะมาปฏิบัติเป็นหมู่คณะในนามหน่วยงานนั้น ทางวัดจะมีตารางกำหนดตารางในการปฏิบัติ กิน นอน และมีเวลาส่วนตัว เป็นเวลชัดเจนา มีบรรยายพิเศษร่วมด้วย มี 2 วัน 1 คืน/ 3 วัน 2 คืน / 5 วัน 4 คืน มีคณะวิทยากรที่ประกอบด้วยพระสงฆ์ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

สำหรับผู้ที่จะปฏิบัติในลักษณะบุคคลก็โทรศัพท์เรียนเจ้าอาวาส ท่านเมตตาสูง กรณีอิป้านี่เป็นผู้หญิงมาคนเดียว ท่านก็ประสานงานให้คุณยาย แม่ออกค้ำวัดมาอยู่เป็นเพื่อน พร้อมคำว่า มาเลย...ไม่มีอะไรต้องกังวล

ว่างๆ ก็มาสนุกกับการเข้าคอร์สฝึกจิตด้วยกันนะคะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เจ้าอาวาสวัดขุนพรหมดำริ พระครูสารกิจประยุต (หลวงตากาบ วังหอม) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองจังหวัดมหาสารคาม

สำนักปฏิบัติธรรมแห่งที่ 23 ของจังหวัดมหาสารคาม สำนักปฏิบัติดีระดับตำบลดีเด่นประจำปี 2557 บ้านอุปราช อำเภอเมือง จ.มหาสารคาม

โทร. 0816705130 บอกท่านว่าอ่านเจอให้บล๊อกของแม่ชีตุ่นค่ะ

ขออนุโมทนานะคะ เค้าว่าชวนคนเข้าวัดได้กุศลแรงนักแล...ให้สิริพรได้บุญร่วมกับท่านด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 605508เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2016 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2016 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุๆ

หายไปนานมากเลยครับ

ขอบคุณค่ะที่ยังจำกันได้ คิดถึงเสมอค่ะ ไม่อยากโทษใครเลยค่ะ มีอะไรเยอะแนะ แต่บริหารเวลาไม่ได้...หวังว่าชีวิตจะมีเวลาว่างพอที่จะแบ่งปันเรื่องราวระหว่างเพื่อนๆ ใน G2K บ่อยๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท