Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

“กรณีศึกษาครอบครัวแซ่ตั้ง : บทเรียนเพื่อทบทวนความเข้าใจในปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ตลอดจนความเป็นไปได้ในการแก้ไข”


กรณีศึกษาครอบครัวแซ่ตั้ง แห่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

: จากคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีเชื้อสายจีนที่เกิดในประเทศเมียนมา มาสู่ราษฎรของรัฐไทยประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔)

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งปรับปรุงเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=1032345596836858

---------------------------

ประเด็นแห่งความคิด

--------------------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นายฟูหยวนและนางซิวหยิน และบุตรทั้งสามยังประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายอยู่หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? จะแก้ไขได้อย่างไร ?[1]

---------------

ข้อเท็จจริง[2]

----------------

ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องของนางสาวน้ำค้าง แซ่ตั้ง และครอบครัว ต่อศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังต่อไปนี้

นายยี่คัว แซ่ตั้ง และนางซิวเก๋า แซ่ตั้ง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่เกิดในประเทศจีน ภายหลังอพยพเข้าไปในประเทศพม่า และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ บุคคลทั้งสองได้ให้กำเนิดบุตรชาย ๑ คนในประเทศพม่า กล่าวคือ นายฟูหยวน แซ่ตั้ง ในขณะที่ฟูหยวนเกิด นายยี่คัวและนางซิวเก๋าถือสถานะคนต่างด้าวทั้งครอบครัว และนายยี่คัวประกอบอาชีพเป็นเสมียนให้กับผู้ประกอบการชาวจีนในประเทศพม่า

ส่วนนายคะเหลี่ยง แซ่โหย่ว เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่เกิดที่มณฑลฟู่เจี้ยน ประเทศจีน และอพยพเข้าไปในประเทศพม่าเมื่อตอนอายุประมาณ ๑๗ ปี ภายหลังได้พบเจอกับ นางด่อเส่ง แซ่โหย่ว ซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่เกิดที่ประเทศจีน และอพยพเข้าไปในประเทศพม่าเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบกว่า และบุคคลทั้งสองได้ให้กำเนิดบุตรสาว ๑ คนในประเทศพม่า กล่าวคือ นางซิวหยิน แซ่ตั้ง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๐ ครอบครัวของนายคะเหลี่ยงมีอาชีพรับซื้อพืชผลทางการเกษตร

ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศพม่าจากระบอบการปกครองจากประชาธิปไตย เป็นสังคมนิยมโดยมีรัฐบาลทหารเป็นผู้ปกครองประเทศ เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๒

ในปี ค.ศ.๑๙๖๔ รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการยึดกิจการและทรัพย์สินของคนเชื้อสายจีนและเชื้อสายแขก กิจการของนายคะเหลี่ยงและของเจ้านายของนายยี่คัว ได้ถูกยึดไปในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้นายคะเหลี่ยงตัดสินใจส่งนางซิวหยินบุตรสาวกลับไปประเทศจีนเพื่อศึกษาต่อเมื่อราว พ.ศ.๒๕๐๘ (ค.ศ.๑๙๖๕) และตั้งใจที่จะอพยพทั้งครอบครัวกลับไปประเทศจีนในเวลาต่อไป การเดินทางออกจากประเทศพม่าเพื่อไปยังประเทศจีนของนางซิวหยินมีผลทำให้นางซิวหยินถูกถอนสัญชาติพม่าจากการกลับไปเมืองจีนในคราวนั้น

ต่อมา ครอบครัวของนายยี่คัวอพยพกลับไปประเทศจีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นายฟูหยวนจึงถูกถอนสัญชาติพม่าเช่นกัน

ประเทศจีนในขณะนั้น มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ครอบครัวของนายยี่คัวได้ไปอาศัยอยู่ที่ฮกเกี้ยน อำเภอหลงไห่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวันในปัจจุบัน ประกอบอาชีพโดยการใช้แรงงานรับจ้างทำไร่ทำนา ส่วนนางซิวหยินหลังจากถูกส่งไปเมืองจีนก็ไม่ได้มีโอกาสศึกษาต่อดังหวัง เนื่องจากเกิดความวุ่นวายภายในประเทศจีนหรือเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙

นายฟูหยวนและนางซิวหยินได้พบเจอกันที่ประเทศจีนในภายหลัง เมื่อคราวนางซิวหยินไปเยี่ยมญาติห่างๆ ที่หลงไห่

เมื่อราวๆ ต้นปี พ.ศ.๒๕๑๒ นางซิวหยินได้ตัดสินใจกลับมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของนายคะเหลี่ยงบิดาที่ยังอาศัยอยู่ที่ประเทศพม่า โดยมีนายฟูหยวนมาด้วย ซึ่งในการกลับเข้ามาในประเทศพม่าครั้งนี้ นางซิวหยินมีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองเพราะมิได้รับการอนุญาตให้เข้าเมืองตามกฎหมายพม่า

นายฟูหยวนและนางซิวหยินได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๑๒ ด้วยความกังวลใจว่าจะถูกจับเนื่องจากทางรัฐบาลพม่าตรวจจับอย่างเข้มงวด ปรากฏมีการจับกุมชาวจีนหลายๆ คนและตัดสินจำคุกหลายสิบปีหากปรากฏว่า บุคคลนั้นเกิดในประเทศพม่าแต่ไม่มีสัญชาติพม่าเนื่องจากถูกถอนหรือไม่มีแต่แรก และได้กลับเข้ามาในประเทศพม่าโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในราว พ.ศ.๒๕๑๒ นายฟูหยวนและนางซิวหยินได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และประกอบอาชีพค้าขาย แม้นายฟูหยวนและนางซิวหยินมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยก็มิได้ผลักดันออกไปจากประเทศไทย ด้วยตระหนักในภัยต่อชีวิตที่บุคคลทั้งสองเผชิญอยู่ โดยผลของนโยบายดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงได้บันทึกชื่อของบุคคลทั้งสองในทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายดังกล่าวให้ถือเพื่อการแสดงตน บัตรประจำตัวดังกล่าวมีชื่อว่า “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ซึ่งมีสีชมพู จึงถูกเรียกโดยทั่วไปว่า “บัตรสีชมพู” อีกด้วย และในเวลาต่อมา เมื่อรัฐบาลได้ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้บุคคลทั้งสองอาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว นายฟูหยวนและนางซิวหยินก็ได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรของรัฐไทย แต่ขอให้สังเกตว่า รัฐบาลไทยก็ยังถือว่า นายฟูหยวนและนางซิวหยินยังมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

อนึ่ง ยังฟังไม่ได้ว่า นายฟูหยวนและนางซิวหยินถูกบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก นอกจากในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

ต่อมา นายฟูหยวนและนางซิวหยินมีบุตรด้วยกัน ๓ คน ซึ่งบุตรทุกคนเกิดในประเทศไทย บุตรคนหนึ่ง ก็คือ นางสาวน้ำค้าง แซ่ตั้งซึ่งเกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๗ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ปรากฏตามหนังสือรับรองสถานที่เกิด เลขที่ ๘๗/๒๕๔๔ ออกโดยอำเภอแม่สอด) บุตรทั้งสามคนไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ทั้งนี้ เพราะตกอยู่ในข้อยกเว้นของการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ บุตรทั้งสามจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม โดยผลของมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ บุตรทั้งสามของนายฟูหยวนและนางซิวหยินก็ถูกถือเป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

บุตรทั้งสามคนของนายฟูหยวนและนางซิวหยินได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

นางสาวน้ำค้าง แซ่ตั้งมีประวัติการศึกษาดังต่อไปนี้ (๑) จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนภัทรวิทยา อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ (๒) จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ (๓) จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก อ.เมืองตาก จ.ตาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ (๔) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (เกียรตินิยมอันดับ๒) จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ และ (๕) จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (เกรดเฉลี่ย ๓.๙๑) จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔

ใน พ.ศ.๒๕๕๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวน้ำค้างและพี่น้องอีก ๒ คน มีสัญชาติไทย อันเป็นผลให้นางสาวน้ำค้างจึงได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประชาชน ส่วนนายฟูหยวนและนางซิวหยินได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว

--------------------------

หลักคิด/หลักกฎหมาย

---------------------------

ประเด็นที่ชวนคิดเป็นเรื่องของการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่อดีตคนหนีภัยความตายมาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่และประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่า พวกเขาย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวกับ ๓ ประเทศ กล่าวคือ (๑) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือ “จีนแผ่นดินใหญ่” (๒) ประเทศเมียนมา และ (๓) ประเทศไทย โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จึงอาจสรุปได้ว่า ประเทศทั้งสามนี้ย่อมมีหน้าที่ในเบื้องต้นในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่ครอบครัวแซ่ตั้ง แต่เมื่อในปัจจุบันนี้ ครอบครัวแซ่ตั้งมีภูมิลำเนาอยู่บนแผ่นดินไทย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐไทยมากกว่าที่จะต้องรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่ครอบครัวแซ่ตั้งในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เราอาจมีข้อพิจารณาถึงการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของครอบครัวแซ่ตั้งได้เป็น ๔ ประการดังต่อไปนี้

ในประการแรก เราอาจสรุปได้ว่า สมาชิกในครอบครัวแซ่ตั้งย่อมไม่ประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน ทั้งนี้ เพราะในความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นบุคคลตามธรรมชาติของครอบครัวแซ่ตั้ง พวกเขาย่อมได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ปรากฏชัดเจนตามมาตรา ๑๕ วรรค ๑ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย พ.ศ.๒๔๖๘/ค.ศ.๑๙๒๕ ซึ่งบัญญัติว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย และสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนในสถานการณ์อื่นๆ ก็ได้รับการรับรองในกฎหมายฉบับนี้ไว้แล้วเช่นกัน

ในประการที่สอง เราอาจสรุปได้ว่า สมาชิกในครอบครัวแซ่ตั้งย่อมไม่ประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนประเภทกฎหมายการทะเบียนราษฎร โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นานารัฐควรจะต้องรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินของตนเอง หากมนุษย์ผู้ใดไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก มนุษย์ผู้นั้นก็ย่อมประสบความไร้รัฐ (Statelessness) โดยสิ้นเชิง ถือเป็นความไร้สถานะทางกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร จะเห็นว่า นายฟูหยวนและนางซิวหยิน และบุตรทั้งสามมิได้ประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายนี้ เนื่องจากได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

ขอให้ตระหนักว่า การแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของนายฟูหยวนและนางซิวหยินย่อมทำได้โดยการรับรองให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติแก่บุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา ๑๐ - ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และวิธีการที่กำหนดในมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ นอกจากนั้น เมื่อฟังได้ว่า นายฟูหยวนและนางซิวหยินเป็นคนไร้สัญชาติ รัฐไทยซึ่งยอมรับที่จะขจัดปัญหาความไร้สัญชาติโดยแนวคิดและวิธีการที่กำหนดในยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ จึงมีความเป็นไปได้มากที่จะผลักดันการร้องขอใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติให้แก่บุคคลทั้งสอง

ในประการที่สาม เราอาจสรุปได้ว่า สมาชิกบางคนในครอบครัวแซ่ตั้ง กล่าวคือ นายฟูหยวนและนางซิวหยิน ยังประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนประเภทกฎหมายสัญชาติ ทั้งนี้ เพราะว่า หากมนุษย์ผู้ใดไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกในสถานะคนชาติหรือคนสัญชาติ มนุษย์ผู้นั้นก็ย่อมประสบความไร้สัญชาติ (Nationalitylessness) ถือเป็นความไร้สถานะทางกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทย จะเห็นว่า ในปัจจุบัน นายฟูหยวนและนางซิวหยินยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ เพราะรัฐไทยตลอดถึงรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองก็ยังไม่ได้รับรองสถานะคนสัญชาติให้แก่บุคคลทั้งสอง ขอให้ตระหนักว่า ในราว พ.ศ.๒๕๕๐ รัฐไทยรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดให้แต่เฉพาะบุตรทั้งสามซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติเฉกเช่นบุพการีในช่วงต้นๆ ของชีวิตเท่านั้น บุตรทั้งสามจึงไม่มีสถานะเป็นคนไร้สัญชาตินับแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา เหลือเพียงบิดาและมารดาที่ยังมีปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ

ในประการที่สี่ เราอาจสรุปได้ว่า สมาชิกในครอบครัวแซ่ตั้งย่อมไม่ประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนประเภทกฎหมายการเข้าเมือง ทั้งนี้ เราจะพบว่า ทุกคนในครอบครัวแซ่ตั้งย่อมได้รับการรับรองสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยการเข้าเมือง หรืออาจได้รับการรับรองสถานะบุคคลนี้โดยรัฐต่างประเทศที่บุคคลดังกล่าวจะไปทำการเข้าเมือง

แม้ว่า ในช่วงแรกของชีวิตของนายฟูหยวนและนางซิวหยิน ซึ่งยังตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของทุกัฐบนโลก เขาจะมีสถานะเป็นคนผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของทุกรัฐบนโลก ดังที่เราจะต้องตระหนักว่า โดยทางปฏิบัติของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของนานาประเทศ หากคนต่างด้าวผู้ใดไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกในสถานะคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย มนุษย์ผู้นั้นก็ย่อมมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย (Unlawful People) แต่หากคนดังกล่าวได้รับการปรับสถานะให้เป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไม่อาจถือว่า พวกเขาตกอยู่ภายใต้ความไร้สถานะทางกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในปัจจุบัน จะเห็นว่า แม้นายฟูหยวนและนางซิวหยินยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ แต่บุคคลทั้งสองก็มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองและตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ บุตรทั้งสามได้รับสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน จึงไม่มีสถานะเป็นคนเข้าเมือง ซึ่งตกอยู่ภายใต้ความไร้สถานะทางกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง สิทธิในการเข้าเมืองของบุตรทั้งสามคนย่อมเป็นไปภายใต้หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ บุตรทั้งสามย่อมมีสิทธิเข้าเมืองไทยซึ่งมีลักษณะเด็ดขาด จึงไม่มีอาจมีเงื่อนไขใดๆ เพื่อการนี้ และสิทธิอาศัยในประเทศไทยก็ย่อมมีลักษณะถาวรและเด็ดขาดเช่นกัน

โดยสรุป ในปัจจุบัน บุตรทั้งสามได้รับสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน จึงไม่มีสถานะเป็นคนไร้สถานะทางกฎหมายเลย ในขณะที่นายฟูหยวนและนางซิวหยินยังถูกฟังว่า เป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และยังไร้สัญชาติหรือไร้สถานะทางกฎหมายสัญชาติอยู่ต่อไป



[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ปีการศึกษาที่ ๒๕๕๑ ภาคที่ ๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์

[2] เป็นเรื่องจริง ซึ่งมีการร้องทุกข์มายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๗

หมายเลขบันทึก: 604476เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2016 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2016 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท