รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์


The Model of Buddhist Leaning Management in The Buddhist Sunday Center Wat Prong MaduaNakhon Pathom Province.

บทนำ

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หรือ ศพอ.เป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาองค์กรหนึ่งที่พระสงฆ์ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นการจัดการศึกษาสงเคราะห์นอกระบบโรงเรียน ให้การศึกษาอบรมประชาชนซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยแห่งการศึกษาขึ้นพื้นฐานเพื่อให้รู้จักใช้เวลาว่างในวันหยุดเรียนเข้ามาศึกษาหาความรู้ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข

ความเป็นมาของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์นั้น เริ่มจากการที่กรมการศาสนาได้ให้การสนับสนุนให้เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2520และได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียน” เป็น “ศูนย์ศึกษา” ใน พ.ศ. 2523 เพื่อให้มีเอกลักษณ์เป็นเฉพาะและสอดคล้องกันระเบียบทางราชการ 2523 นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงใช้ชื่อ “ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์” จนถึงปัจจุบัน และใช้อักษรย่อว่า“ศพอ.” และเพื่อให้การอุปถัมภ์ของกรมการศาสนาเป็นไปอย่างมีระบบจึงได้มีการออกระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ.2534เป็นครั้งแรก และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ทำให้การบริหารงานมีทิศทาง เอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 จึงได่มีการปรับปรุงระเบียบดังกล่าวเป็นครั้งแรกแต่ยังคงบทบาทเป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์อยู่ดังเดิม (กรมการศาสนา, 2554: 1-3)

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์นับเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งดำเนินการโดยพระภิกษุสงฆ์ในความสนับสนุนและให้การอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา การมีแหล่งหรือสถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในรูปแบบศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์นี้จึงนับเป็นอุบายวิธีเชิงปฏิบัติการที่ดียิ่งอย่างหนึ่งในสังคมปัจจุบันเพราะสามารถชักนำเด็กและเยาวชนเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนาเพื่อการศึกษาอบรมบ่มนิสัยและสร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาแต่แรกเริ่มนับเป็นวิธีการในรูปแบบประเพณีไทยอย่างหนึ่งได้ได้รักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นคงอยู่ได้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.เพื่ออบรมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสมกับเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี 2.เพื่อเสริมความรู้ และปลูกฝังศีลธรรม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติไทยแก่เด็กและเยาวชน 3.เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักปฏิบัติตนในสังคม และรู้จักดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยถูกต้อง 4.เพื่อหาโอกาสฝึกฝนให้เด็ก และเยาวชนเป็นผู้มีใจกว้าง รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น และ 5.เพื่อให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษแก่เด็กและเยาวชน

กรมการศาสนา มุ่งหวังให้วัดดำเนินภารกิจด้านการศึกษาสงเคราะห์อันเป็นหนึ่งในภาระกิจของคณะสงฆ์ให้เด่นชัดด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน โดยการจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เพราะได้ตระหนักว่า วัดคือสถาบันทางพระพุทธศาสนาที่มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการดำเนินงานด้านพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสู่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จึงส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศเปิดดำเนินการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มูลนิธิ สมาคม สถานศึกษา หรือหน่วยงานของรัฐ จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเพื่อสร้างแหล่งให้การศึกษา อบรม ปลูกฝังศีลธรรม วัฒนธรรม และ ประเพณีอันดีงามของไทยแก่เด็กและเยาวชนอีกด้วยโดยปัจจุบันมีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทั่วประเทศ จำนวน 3,262 แห่ง (กรมการศาสนา, 2554: 3)

ทั้งนี้ ในท่ามกลางสังคมปัจจุบันนี้ที่สังคมไทยเผชิญวิกฤตความเสื่อมถอยด้านคุณธรรมและจริยธรรมและมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งสะท้อนได้จากคนในสังคมมีความถี่ในการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหามากขึ้นทั้งปัญหาครอบครัวการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชุมชนและความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองขณะที่กระบวนการยุติธรรมแก้ไขปัญหาได้ไม่เต็มที่ผู้ที่ใช้ความรุนแรงมักขาดความยับยั้งชั่งใจมีพฤติกรรมเลียนแบบหรืออาจเกิดจากการเลี้ยงดูขาดการใช้เหตุใช้ผลขาดความเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรส่งผลให้ความมีคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคมลดน้อยลง (คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2555: 9)จึงเป็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนรวมทั้งวัดจะต้องมีบทบาทในการร่วมกันป้องกัน แก้ไขและพัฒนาสังคมด้วยเช่นกัน

วัดโพรงมะเดื่อ ตั้งอยู่ที่ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นวัดหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จังได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อขึ้นซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2557 โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ โรงเรียนในเขตตำบลโพรงมะเดื่อชุมชนโพรงมะเดื่อและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมมาอย่างต่อเนื่องและได้รับความสนใจจากประชาชนในท้องถิ่นในการส่งเสริมสนับสนุนบุตรหลานให้เข้าเรียนในศูนย์ฯ เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม จากรายงานผลการประชุมเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2556 ซึ่งสนับสนุนโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาจังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับวัดโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พบว่า การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ยังประสบปัญหาหลายด้าน เช่น บุคลากร งบประมาณ หลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนรู้แต่ก็มีจุดแข็งในด้านปณิธานของเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่สอน ประกอบกับเยาวชนที่มีความสนใจเรียนในศูนย์ฯ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมประเด็นปัญหาจากการประชุมนั้น เพื่อนำไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา โดยประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ คือ ปัญหาการขาดแนวทางการจัดการเรียนรู้ธรรมศึกษาที่ชัดเจน ทั้งที่การศึกษาธรรมศึกษานั้น เป็นภาระหลักของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่จะต้องจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เข้าสอบธรรมศึกษาในการสอบแต่ละปีซึ่งจัดสอบโดย สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง และสถิติในปีที่ผ่านมามีนักเรียนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สอบตกมากกว่าร้อยละ 50 (พระวิจิตร ทินฺนวํโส, 2556: สัมภาษณ์)

ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้จัดทำโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนานวัตกรรมการสอนธรรมศึกษาในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้สร้างขึ้นจากแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการกับแนวคิดทางการศึกษาของพระพุทธศาสนา เรียกว่า การจัดการเรียนรู้เชิงพุทธซึ่งในบทความนี้ จะได้นำเสนอเป็นลำดับไป โดยในเบื้องต้นจะได้กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อก่อน จากนั้นจะได้นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อเป็นลำดับไป

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552โดยความริเริ่มของพระมหาประสิทธิชัย ปณฺฑิโต เจ้าอาวาสวัดโพรงมะเดื่อและเจ้าคณะตำบลโพรงมะเดื่อที่เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางด้านศีลธรรมและเป็นการสืบสานอายุพระพุทธศาสนาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เข้ามามีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ได้รับการประกาศจัดตั้งศูนย์อย่างเป็นทางการโดยประกาศของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 และได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ กรมการศาสนาตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นมา โดยมีโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 5 โรงเรียน สนับสนุนนักเรียนเข้าเรียนในวันอาทิตย์ ได้แก่ 1) โรงเรียนโพรงมะเดื่อวิทยาคม 2) โรงเรียนวัดโพรงมะเดื่อ(ศรีวิทยากร)3) โรงเรียนวัดหุบรัก(ไพรประชาอุปถัมภ์)4) โรงเรียนวัดหว้าเอน และ 5) โรงเรียนวัดศรีวิสารวาจา

ในด้านจำนวนนักเรียนในระยะเริ่มต้น มีนักเรียนจำนวน 93 คน มีการจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6) และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ซึ่งมีการเรียนแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ

1)ภาคเช้า เวลา 08.30-11.30 น. เน้นการสอนธรรมศึกษาตามหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาวิชาต่างๆ ได้แก่ วิชาพุทธประวัติและศาสนพิธีวิชาธรรมวิชาวินัย(เบญจศีล-เบญจธรรม)และวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

2) ภาคบ่าย เวลา 12.30-15.30 น. เป็นการสอนเสริมรายวิชาสามัญและกิจกรรมธรรมนันทนาการ

การเปิดการเรียนการสอนนั้นแบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษา คล้อยตามการศึกษาในโรงเรียนตามปกติ (แต่ในภาคการศึกษาที่ 1 เมื่อสอบธรรมศึกษาเสร็จแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายนก็จะปิดภาคการศึกษา)

ด้านงบประมาณ ศูนย์ฯ ได้รับงบประมาณโดยตรงจากงบประมาณของวัดโพรงมะเดื่อ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัดโพรงมะเดื่อ และได้รับงบประมาณอุดหนุนรายปีจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ด้านการดูแลนักเรียน ทางศูนย์ฯ ได้กำหนดระเบียบปฏิบัติของนักเรียนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อไว้อย่างชัดเจนและมีการประกาศให้นักเรียนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างเสริมจิตสำนึกด้านระเบียบวินัยเพื่อให้นักเรียนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกันในศูนย์ฯ นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้มีการเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนและมีการจัดรถรับ-ส่งนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่หางไกลจากศูนย์ฯ ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน

ส่วนด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นนั้น เมื่อปีการศึกษา 2554 ศูนย์ฯ ได้รับการสนับสนุนครูอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมมาปฏิบัติงานสอนตลอดทั้งปีการศึกษา ทำให้มีกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องและเป็นที่สนใจของนักเรียน เช่น กิจกรรมวาดภาพ กิจกรรมกระบี่กระบอง กิจกรรมนาฏศิลป์ และกิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น แต่ได้ขาดระยะการสนับสนุนไปเนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดเรื่องเวลาของโครงการและงบประมาณสนับสนุน

นับจากปี พ.ศ.2553 จนปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ได้ดำเนินการเรียนการสอนมาแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีนักเรียนเฉลี่ยปีละ 120 คน และในปัจจุบัน(ปีการศึกษา 2557) มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนที่ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จำนวน 93 คน มีพระสงฆ์ทำหน้าที่สอน จำนวน 1 รูป ครูอาสา จำนวน 4 คน และมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 8 กิจกรรม(สลับกันไป) ได้แก่กิจกรรมธรรมศึกษากิจกรรมอาเซียนศึกษากิจกรรมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษกิจกรรมพัฒนาทักษะภาษาจีนกิจกรรมนิทานธรรมะกิจกรรมธรรมะภาคภาษาอังกฤษกิจกรรมส่งเสริมสุขอนามัย และกิจกรรมส่งเสริมวิถีชีวิตพอเพียง

กล่าวเฉพาะกิจกรรมธรรมศึกษา ซึ่งเป็นที่มาของสาระสำคัญของบทความนี้ เพราะผู้เขียนได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนานวัตกรรมการสอนธรรมศึกษาในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม โดยได้บูรณาการแนวคิดการจัดการเรียนรู้กับแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาในพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธขึ้น และได้ทดลองใช้ในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในศูนย์ฯ ดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา คือ ในปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา รูปแบบดังกล่าวเกิดจากการทบทวนแนวคิดที่สำคัญต่างๆ ดังจะได้นำเสนอไว้ในบทความนี้โดยสังเขป ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ และแนวคิดการศึกษาตามแนวพุทธ

........ (ข้อมูลแนวคิดดังกล่าวนี้อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความฉบับเต็ม)........

รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ

จากแนวคิดดังกล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนได้นำมาเป็นกรอบในการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ธรรมศึกษาในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยคำว่า “รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธ” ในที่นี้ หมายถึง แนวทางการจัดการเรียนรู้ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะ คือ บูรณาการแนวคิดทางพระพุทธศาสนาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆรูปแบบดังกล่าวนี้มีองค์ประกอบ ดังนี้

1. กรอบแนวคิดของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธ

จากการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้กรอบแนวคิดในการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดสำคัญ ดังนี้

1)แนวคิดการจัดการเรียนรู้

2)หลักไตรสิกขา (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)

3)หลักอภิญญาเทสิตธรรม (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ)

4)หลักวุฒิธรรม 4 ( คือ สัปปุริสูปสังเสวะ สัทธัมมัสสวนะ โยนิโสมนสิการ และธัมมานุธัมมปฏิบัติ)

5)หลักหัวใจนักปราชญ์ ( คือ สุ จิ ปุ ลิ)

กรอบแนวคิดนี้ เขียนเป็นแผนผังกรอบแนวคิดรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธได้ ดังนี้


จากแผนผังกรอบความคิดนี้ สามารถอธิบายได้ดังนี้

1) เป้าประสงค์การเรียนรู้ และองค์ความรู้หรือเนื้อหาการเรียนรู้ คือ สิ่งที่ผู้สอนต้องการนำมาจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยในการจัดการเรียนรู้ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อนั้น ได้เน้นใช้กับกิจกรรมธรรมศึกษาซึ่งนำองค์ความรู้ธรรมศึกษาชั้นตรีและหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องมาจัดเป็นเนื้อหาการเรียนรู้ 6 หน่อย ดังนี้

เป้าประสงค์ของการเรียนรู้มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพุทธประวัติหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิต หลักเบญจศีลและเบญจธรรมและพุทธศาสนสุภาษิตที่สำคัญสามารถปฏิบัติตนตามหลักศาสนพิธีเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสมและมีประสบการณ์ในการเจริญภาวนาเบื้องต้น

เนื้อหาการเรียนรู้ เนื้อหาการเรียนรู้ธรรมศึกษา ประกอบด้วย 6หน่วยการเรียนรู้โดยมีสาระสำคัญของเนื้อหาการเรียนรู้ในแต่ละหน่วย ดังนี้

หน่วยที่ 1พุทธประวัติ

หน่วยที่ 2ธรรมะ

หน่วยที่ 3เบญจศีล-เบญจธรรม

หน่วยที่ 4ศาสนพิธี

หน่วยที่ 5พุทธศาสนสุภาษิต

หน่วยที่ 6การเจริญภาวนา

2) การประยุกต์หลักไตรสิกขาในการจัดการเรียนรู้ กรอบแนวคิดไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิปัญญา เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้นี้ กล่าวคือ

2.1) การสร้างความพร้อมคือ การใช้หลักศีลและสมาธิในการสร้างความพร้อมในการพัฒนาปัญญาของผู้เรียน ดังนี้

ขั้นศีลเป็นขั้นสร้างความพร้อมทั้งสภาพแวดล้อมและตัวผู้เรียน โดยที่ผู้สอนจะต้องจัดบรรยากาศแวดล้อมของการเรียนรู้ให้เรียบร้อยเหมาะสมมีการกำหนดวินัยหรือกติกาในการเรียนรู้และตอกย้ำกติกาต่างๆ อยู่เสมออาทิการแต่งกายการตรงต่อเวลาและความตั้งใจใฝ่เรียนรู้รวมทั้งการตอกย้ำเรื่องศีล 5เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันด้วย

ขั้นสมาธิเป็นขั้นเสริมศักยภาพในการเรียนรู้โดยการพัฒนาจิตของผู้เรียนให้มีความแน่วแน่ มั่นคง เป็นสมาธิตัดสิ่งรบกวนต่างๆ เพื่อมุ่งมั่นอยู่กับการเรียนรู้โดยที่ผู้สอนจะต้องจัดให้มีการบูชาพระรัตนตรัย การกล่าวสมาทานศีล 5 การเจริญภาวนาและการแผ่เมตตาอย่างย่อทุกครั้งก่อนมีการเรียนการสอน

2.2)การสร้างปัญญา เป็นขั้นพัฒนาความรู้ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะทางปัญญา คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นซึ่งผู้สอนจะต้องดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยอาศัยกรอบแนวคิดการสร้างเสริมปัญญาตามหลักวุฒิ 4 มาเป็นขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้

(1) ขั้นเสวนาผู้รู้ (สัปปุริสูปสังเสวะ)

(2) ขั้นสดับคำสอน (สัทธัมมัสสวนะ)

(3) ขั้นสร้างสรรค์ความคิด (โยนิโสมนสิการ)

(4) ขั้นสรุปและนำเสนอ (ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ)

โดยเน้นให้ผู้เรียนใช้หลักหัวใจนักปราชญ์เป็นทักษะ ได้แก่ สุ จิ ปุ ลิ

3) การวัดผลและการประเมินผล ในกรอบแนวคิดนี้ใช้หลักอภิญญาเทสิตธรรม คือ เมื่อได้รับการฝึกฝนพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ย่อมบังเกิดวิมุตติ อันเป็นผลขั้นสูงสุด ซึ่งผู้ที่บรรลุเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนานั้น มีบุคลิกสำคัญ คือ มีความรู้คู่คุณธรรม (สอดคล้องกับคุณลักษณะของพระอรหันต์ที่ว่า “วิชชาจรณสัมปันโน” คือ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ)ในการวัดผลและประเมินผล จึงมุ่งวัดทั้งความรู้ที่ได้รับ และความประพฤติที่ได้ฝึกฝนมา จึงมีการวัดผลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป

2. ตัวอย่างแนวการจัดการเรียนรู้

ตามกรอบแนวคิดข้างต้นนี้ มีตัวอย่างแนวการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมีกิจกรรม ดังนี้

ตัวอย่าง กิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง พุทธประวัติเบื้องต้น ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายผู้สอนมีแนวทางการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1) การสร้างความพร้อม

(1) ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสร้างกติกาในการเรียนรู้เพื่อถือปฏิบัติร่วมกันเป็น “วินัยประจำวิชา” เช่น แต่งกายเรียบร้อยตรงต่อเวลาตั้งใจเรียน ฯลฯเพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้

(2) อธิบายเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งจะต้องมีการบูชาพระรัตนตรัย สมาทานศีล นั่งสมาธิและแผ่เมตตาก่อนการเรียน ประมาณ 5 นาทีในทุกชั่วโมงเรียน โดยเน้นให้เห็นผู้เรียนคุณค่าและความสำคัญของการกระทำดังกล่าว

(3) ให้ผู้เรียน 1 คน เป็นผู้นำกล่าวบูชาพระรัตนตรัยและสมาทานศีลในแต่ละครั้งต้องวนเวียนกันไปไม่ซ้ำบุคคลเพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์อย่างทั่วถึง

(4) สาธิต อธิบายและนำผู้เรียนเจริญภาวนาด้วยวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายและแผ่เมตตาตามแนวปฏิบัติในหน่วยการเรียนรู้เรื่องการเจริญภาวนาซึ่งจะเป็นหน่วยการเรียนรู้สุดท้ายที่จะเรียน(ยกมาอธิบายพอเป็นแนวปฏิบัติ)

2) การสร้างปัญญา

(1) ขั้นเสวนาผู้รู้

-ชื่นชมและอนุโมทนาในการทำความดีของผู้เรียน

-แจ้งรายละเอียดของเนื้อหาโดยภาพรวมทั้งหมดว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง

-นำให้ผู้เรียนสนใจใคร่รู้ด้วยการซักถามให้ผู้เรียนอธิบายตามคำในบัตรคำ เน้นชื่อบุคคลต่าง ๆเช่น สิทธัตถะสุทโธทนะสิริมหามายายโสธราปชาบดีอานนท์ฉันนะพิมพิสารเป็นต้น บุคคลเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร

(2) ขั้นสดับคำสอน

- ฉายภาพ ภาพเคลื่อนไหวหรือวีดิทัศน์การ์ตูนพุทธประวัติให้ผู้เรียนดู

- อธิบายโดยภาพรวมตามรายละเอียดของเนื้อหาในหน่วยนี้

- ผู้เรียนอ่านใบความรู้ (ซึ่งผู้สอนสร้างขึ้นจากเนื้อหาการเรียนรู้)

(3) ขั้นสร้างสรรค์ความคิด

- แบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 4กลุ่มโดยแบ่งเนื้อหาให้เหมาะสมกัน ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันออกข้อสอบแบบเติมคำพร้อมเฉลย กลุ่มละ 10ข้อ(พร้อมเฉลย)เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ................................. พระราชมารดา พระนามว่า ................................

- จับคู่กลุ่มที่ 1 กับ 2 และ 3 กับ 4แลกคำถามกันและช่วยกันตอบ

- แต่ละกลุ่มเฉลยคำตอบ

- ครูชื่นชมกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดและอธิบายเพิ่มเติมเสริมข้อสอบแต่ละเรื่องให้ชัดเจนในส่วนที่เห็นว่ายังไม่สมบูรณ์

- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย

- ผู้เรียนทำใบงานที่ 1.1เรื่อง ประวัติของพระพุทธเจ้า และ ใบงานที่ 1.2 เรื่อง บุคคลสำคัญในพระพุทธประวัติ

(4) ขั้นนำเสนอและสรุป

-สุ่มตัวแทนผู้เรียน 3-4คน ออกนำเสนอใบงานหน้าชั้น

-ร่วมกันเฉลยใบงานและสรุปความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติโดยการถามตอบทบทวนความรู้

-กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาและตระหนักในคุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อโลก

-สวดมนต์ไหว้พระและแผ่เมตตา

ทั้งนี้ ในการจัดการเรียนรู้ ยังมีสื่อการเรียนรู้ต่างๆ และการวัดผลและการประเมินผล ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วย กล่าวโดยสรุป คือ สื่อการเรียนการสอนประกอบด้วยใบความรู้ใบงานภาพประกอบวีดิทัศน์Power Point เพลงนิทาน และแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ส่วนการวัดและประเมินผลการเรียนการสอนเน้นการประเมินตามสภาพจริงครอบคลุมความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่พุทธิพิสัยทักษะพิสัย และจิตพิสัยโดยใช้วิธีการประเมิน ได้แก่ การซักถามการตรวจใบงานการตรวจงานมอบหมายรายบุคคลการตรวจงานมอบหมายรายกลุ่มการตรวจแบบทดสอบการประเมินผลชิ้นงานการประเมินตนเอง การสังเกตพฤติกรรม

3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพรงมะเดื่อ

จากผลการวิจัยเรื่อง นวัตกรรมการสอนธรรมศึกษาในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม (ญาณภัทร ยอดแก้ว:2558) ซึ่งได้ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในการจัดการเรียนรู้ธรรมศึกษา พบว่า การประเมินคุณภาพของนวัตกรรมดังกล่าวในด้านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ประเด็นกิจกรรมการเรียนรู้มีความน่าสนใจ มีคุณภาพระดับมากที่สุด และประเด็นกิจกรรมการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีระดับคุณภาพมากที่สุดและเมื่อพิจารณาผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เรียน พบว่า ในด้านกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดเช่นกัน

ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพและการประเมินความพึงพอใจนั้น ผู้เขียนในฐานะผู้วิจัย ได้ใช้ผู้ทรงคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนา จำนวน 3 ท่าน ในการประเมินคุณภาพของนวัตกรรมการสอนธรรมศึกษา แต่นำผลการประเมินเฉพาะด้านกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ซึ่งได้ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธมานำเสนอผลดังข้อมูลข้างต้น

ส่วนในด้านการประเมินความพึงพอใจของผู้เรียน ผู้เขียนก็ได้นำผลเฉพาะในส่วนความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ในเรื่องกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้นี้เช่นกัน ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นผู้ตอบแบบประเมินจำนวน 52 คน

จากผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ควรมีการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธที่สร้างขึ้นไปใช้ในการจัดการเรียนรู้รายวิชาอื่นๆ หรือในแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เพื่อเป็นการทดลองใช้ ปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาในลักษณะของการศึกษาวิจัยต่อไป อันจะเป็น

บทสรุป

การจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม เป็นการนำเอาแนวคิดการจัดการเรียนรู้มาบูรณาการกับแนวคิดการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา เพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้และการปฏิบัติในทางที่ดีขึ้น รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธนี้ มีแนวคิดหลักซึ่งเป็นกรอบในการสร้างรูปแบบ ได้แก่ แนวคิดการจัดการเรียนรู้ แนวคิดการศึกษาตามแนวพุทธ ซึ่งมีหลักธรรมต่างๆ ที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ หลักไตรสิกขา อภิญญาเทสิตธรรม วุฒิธรรม 4 และหลักหัวใจนักปราชญ์(สุ จิ ปุ ลิ)

ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงพุทธในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ มีระดับคุณภาพจากการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิในระดับมากที่สุด และระดับความพึงพอใจของผู้เรียนในระดับมากที่สุด จึงควรมีการนำไปขยายผลสู่การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาอื่นๆ หรือแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กรมการศาสนา. (2544). แนวทางการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประจำปีงบประมาณ 2544. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด


หมายเลขบันทึก: 604401เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2016 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2016 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

เยี่ยมมากเลย

น่าสนใจมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท