พลังการเรียนรู้สร้างสรรค์สู่การเปลี่ยนแปลงใน "ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย" สู่การฟื้นคืนสุขภาวะทางสังคมไทย


พลังการเรียนรู้สร้างสรรค์สู่การเปลี่ยนแปลงใน "ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย" สู่การฟื้นคืนสุขภาวะทางสังคมไทย

โรคหลอดเลือดสมองและมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยในผุ้สูงอายุ

โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก จัดเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพต่อไป

ซึ่งโรคดังกล่าวจัดเป็นปัญหาทางกายที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตทางจิตใจร่วมด้วยเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวต่อโรคที่เกิดขึ้น(การสูญเสียการทำงาน การเสียโฉม มีอาการเจ็บปวด หรือปัญหาทางเศรษฐานะ) เรียกได้ว่าเป็น ปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากการปรับตัวกับการเจ็บป่วยทางกายส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนี้

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยโดยตรง

ต้องเผชิญการความทุกข์ทรมาน การพิการ เสียโฉม ตลอดจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ

ต้องเผชิญกับการรักษาด้วยวิธีต่างๆที่ซับซ้อน เข้าใจได้ยาก ทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย จนรู้สึกกลัว อึดอัด สับสนวุ่นวาย

ต้องสร้างความสัมพันธ์กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่รู้จะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม และในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็อาจจะยิ่งเกรงใจที่ต้องรบกวนคนอื่นอยู่บ่อยๆ

ปัญหาอื่นที่เป็นผลกระทบจากความเจ็บป่วย

ต้องพยายามรักษาอารมณ์ความรู้สึกของตนเองให้เป็นปกติ พยายามทำให้จิตใจเข้มแข็ง มีความหวัง ไม่ท้อถอย

ต้องปรับใจกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป

ต้องเตรียมใจสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน โรคหลายๆชนิดมีการพยากรณ์โรคที่ไม่แน่นอน

ต้องรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อฝูง จากความห่างเหิน

ต้องจัดการกับปัญหาอื่นในชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย เช่น การเรียน การทำงาน

ต้องปรับตัวกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยอาการทางจิตใจที่เป็นผลมาจากความเจ็บป่วยทางกายที่พบได้บ่อยคือ อาการซึมเศร้า(22-24 %) และอาการวิตกกังวล(4-14%)

ภาวะซึมเศร้า .. ต่างจากความเศร้าปกติตรงที่อาจไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์จริง แต่อาจเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้าหรือคิดไปเอง และถ้าเกิดเหตุการณ์สูญเสียจริงก็มักจะมีอาการเศร้ามากเกินควรและนานเกินไป ไม่ดีขึ้นแม้ได้รับกำลังใจหรืออธิบายด้วยเหตุผล มักมีความรู้สึกด้อยค่า รู้สึกผิด อยากตาย และพบว่ามีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน กิจวัตรประจำวัน และการสังคมทั่วไป ในรายที่รุนแรงก็จะมีอาการทางกายด้วย เช่นมีความผิดปกติของการนอน(นอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออยากอาหารมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 ข้อ โดยอย่างน้อยต้องมีข้อ 1) หรือ ข้อ 2) หนึ่งข้อ ทั้งนี้ต้องมีอาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

o ซึมเศร้า

o ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆลดลงอย่างมาก

o บื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดลงมากกว่า 5% ใน 1 เดือน

o นอนไม่หลับ หรือ นอนมากกว่าปกติ

o Psychomotor agitation หรือ retardation (อาการทางจิตประสาท เช่น หวาดระ แวง เห็นภาพหลอน หรือ หูแว่ว)

o อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

o รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิด

o สมาธิลดลง ลังเลใจ

o คิดเรื่องการตาย หรือการฆ่าตัวตาย

• อาการเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญ บกพร่องลงอย่างชัดเจน

การประเมินทางกิจกรรมบำบัดโดยอ้างอิงจาก PEOP Model

P(Person) : ประเมินถึงสภาพร่างกาย(โรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย พิการ และส่งผลต่อจิตใจ)และจิตใจของผู้รับบริการโดยจะเน้นในการประเมินถึงสภาวะทางจิตใจของผู้รับบริการ

E(Environment) : สิ่งแวดล้อมที่ผู้รับบริการอาศัยอยู่ มีความเหมาะสมให้ความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจหรือไม่เช่น การอาศัยอยู่ในโรงพยาบาล ครอบครัว ที่ทำงาน มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า

O(Occupation) : ความเครียดจากการทำงาน การเรียน ส่งผลให้ผู้รับบริการที่มีภาวะซึมเศร้าไม่สามารถทำงาน หรือกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือทำได้น้อยลง

P(Performance) : ประเมินจากกิจกรรมหรืองานที่ผู้รับบริการทำ ความสามารถในการประกอบอาชีพ การทำงาน การเรียน การเข้าสังคมน้อยลง แรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงาน

วิเคราะห์โดยใช้ PEOP

ส่งเสริมในการทำกิจวัตรประจำวันให้ผู้รับบริการสามารถช่วยเหลือตนเองได้(person) และส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้ทำกิจกรรมที่มีความผ่อนคลายที่สามารถทำได้ในเวลาว่างโดยเลือกกิจกรรมที่อยู่ในระดับที่ผู้รับบริการสามารถทำได้สำเร็จ และสอนเทคนิคการใช้อวัยวะอื่นทดแทน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม(environment)ในการทำกิจกรรมนั้นๆแก่ผู้รับบริการ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้รับบริการเกิดแรงจูงใจ(motivation)ในการทำกิจกรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากจะส่งเสริมทั้งความสามารถและการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมแล้ว ยังสามารถปรับในด้านของกิจกรรมให้มีความเหมาะสมต่อตัวผู้รับบริการเพื่อให้เกิดความสามารถในการทำกิจกรรมได้สำเร็จ

การออกแบบโปรแกรมการรักษาโดยใช้ 5 สื่อ

ก่อนทำการรักษา นักกิจกรรมบำบัดควรสร้างปฏิสัมพันธ์(Therapeutic relation) ให้มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจและให้ความรู้ในเรื่องโรคที่ผู้รับบริการต้องเผชิญ ทั้งโรคทางกาย และทางจิตใจ โดยโดยบอกให้ผู้รับบริการทราบถึงภาวะของโรค โดยพิจารณาตามความเหมาะสมว่าควรบอกรายละเอียดมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา วิธีการที่ใช้ในการรักษา ผลดีและผลเสียจากการรักษา และให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการรักษา

พูดคุยและรับฟังผู้รับบริการ เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการได้พูดแสดงความรู้สึก หรือสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ โดยนักกิจกรรมบำบัดอาจเป็นผู้เริ่มต้นถามคำถาม จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการเล่า นักกิจกรรมบำบัดแสดงท่าทีที่เป็นมิตร เข้าใจในความรู้สึกและรับฟังปัญหาของผู้รับบริการ (empathy) แต่ต้องไม่เข้าถึงอารมณ์ของผู้รับบริการมากเกินไป แสดงความน่าเชื่อถือและความน่าไว้วางใจในการรักษา

ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในขณะนั้น(therapeutic environment) ให้ผู้รับบริการได้ออกไปยังสภาพแวดล้อมใหม่ๆที่ให้ความรู้สึกสบาย และผ่อนคลาย เพื่อลดความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย และความซึมเศร้า

ค้นหากิจกรรมที่ผู้รับบริการมีความสนใจ หรือเคยทำได้ดีในอดีต นำผู้รับบริการออกไปทำกิจกรรมดังกล่าว

สอนเทคนิคการใช้อวัยวะอื่นทดแทนความสามารถที่สูญเสียไป(Compensation technique) แนะนำให้ผู้รับบริการใช้งานอวัยวะอื่นๆที่ยังเหลือความสามารถอยู่เพื่อคงความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตหรือการใช้การรับความรู้สึกอื่นๆทดแทนความรู้สึกที่เสียไป (เช่น สูญเสียการรับความรู้สึกเจ็บ ก็ใช้การมอง การฟัง เพื่อระวังถึงความปลอดภัย)

โดยส่งเสริมให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆมากยิ่งขึ้น ให้ผู้รับบริการรู้สึกภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้ดี โดยให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำกิจกรรม รวมทั้งมีส่วนรับผิดชอบในกิจกรรมนั้นๆ

ส่งเสริมทักษะการทำกิจกรรมทางสังคมมากยิ่งขึ้น(social skill) เช่น จัดกลุ่มทำกิจกรรม ให้ผู้รับบริการได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในกลุ่ม

อ้างอิง

ธนา นิลชัยโกวิทย์. ปัญหาจิตเวชในผู้ป่วยทางกาย. ใน: นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล, นายแพทย์ปราโมทย์ สุคนิชย์, บรรณาธิการ. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. พิมพ์ครั้งที่8. กรุงเทพฯ: สวิชาญการพิมพ์; 2546. หน้า 291-313.

นพ.ทรงภูมิ เบญญากร. โรคซึมเศร้า[อินเทอร์เน็ต]. [2556 พฤษภาคม] เข้าถึงได้จาก:http://haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B22/#article1

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603327เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2016 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2016 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท