ปรับวิธีเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ในหมวดการศึกษาทั่วไป เพื่อการคิดอย่างมีวิจารณญาณ



รายงานผลการวิจัย Matthew P. Rowe, B. Marcus Gillespie, Kevin R. Harris, et al. Redesigning a General Education Science Course to Promote Critical Thinking. CBE Life Sci Educ. 2015 Sep 3; 14(3): ar30. ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ บอกว่า ผู้เขียนได้ปรับเปลี่ยนวิธีสอนวิชา Foundation of Science ให้เป็นการเรียนแบบ สหสาขาวิชา และเรียนแบบ CBL – Case-Based Learning เขายกตัวอย่างกรณีศึกษา “ข้อโต้แย้งเรื่องวัคซีนเป็นต้นเหตุ ออทิสซึ่ม” เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดด้านการใช้เหตุผล ซึ่งมาจากปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยด้านความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์เท่านั้น

การเรียนแบบใหม่นี้ เน้นที่การประยุกต์ใช้ความรู้ ไม่ใช่แค่เพียงทำความเข้าใจสาระทางวิทยาศาสตร์ อย่างในวิธีการเรียนแบบเก่า และเป็นการตีความ science literacy ในความหมายใหม่ด้วย เป้าหมายสำคัญคือ บ่มเพาะทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์หมายถึง สามารถแยกแยะ วิทยาศาสตร์แท้ ออกจากวิทยาศาสตร์ปลอม (ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในชีวิตประจำวัน) ที่น่าตกใจคือเขาอ้างผลงานวิจัย ที่พบว่า ร้อยละ ๗๘ ของพลเมืองสหรัฐฯ ที่จบปริญญา ไม่มี science literacy สะท้อนความล้มเหลว ในการสอนวิทยาศาสตร์ในวิชา General Education ลองอ่านส่วนบทนำของรายงานผลการวิจัยนี้เถิดครับ แล้วจะตกใจ และหากหวนคิดมาถึงสังคมไทย เราจะดีกว่าหรือแย่กว่าเขาสักแค่ไหน

ขอย้ำว่า นี่คือการเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย สำหรับปูพื้นฐานความเข้าใจวิทยาศาสตร์ ในฐานะคนทั่วไป ไม่ใช่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่สำหรับการเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี

รายงานวิจัยนี้สอดคล้องกับคำแนะนำในหนังสือของ NAS ที่ผมบันทึกไว้ ในบันทึกชุด ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑ อ่านได้ ที่นี่ โดยที่ในรายงานวิจัยนี้เป็นเรื่องการเรียน ในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนในบันทึกชุดปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเรื่องการเรียน วิทยาศาสตร์ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย

กล่าวอย่างง่ายที่สุด คนเราเรียนวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยก็เพื่อให้ไม่ถูกหลอกด้วยหลักฐานปลอมๆ ทางวิทยาศาสตร์ ตามเป้าหมายที่ระบุใน บันทึกนี้ และรายงานผลการวิจัยวิธีเรียนวิทยาศาสตร์ ในหมวด การศึกษาทั่วไป ในระดับมหาวิทยาลัย ชิ้นนี้ บอกเราว่า การสอนแบบเก่าจะไม่บรรลุเป้าหมาย การเรียนวิทยาศาสตร์ คือคนจบมหาวิทยาลัยก็จะยังถูกหลอกด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ปลอมๆ และด้วยข่าวสารที่ไม่ควรเชื่อถือในสื่อมวลชน

ความผิดพลาดคือ หลงสอนเนื้อหา (fact) และสอบความจำ โปรดอ่านรายงานการวิจัยชิ้นนี้ อย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้แนวคิดสำหรับนำมาตั้งเป้าหมายหลักของการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป ซึ่งผมสรุปว่า หัวใจคือ ฝึกตั้งคำถาม ตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของข้ออ้าง ต่างๆ รอบตัว ในชีวิตประจำวัน แล้วฝึกหาคำตอบต่อคำถามเหล่านั้น

ผลงานวิจัยชิ้นนี้มาจากมหาวิทยาลัยที่ผมไม่แน่ใจว่าติดอันดับ top 100 ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา หรือไม่ แต่เป็นผลงานวิจัยที่บรรณาธิการของวารสาร Science แนะนำ (ที่นี่) ว่าเป็นรายงานผลงานวิจัยด้าน การศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่ดีเยี่ยม ซึ่งเมื่อผมอ่าน ก็เห็นจริง จึงนำมาบอกต่อ และขอแนะนำให้อาจารย์ มหาวิทยาลัยทุกคนอ่าน เพราะจะช่วยให้ท่านคิดปรับปรุงวิธีสอนของท่านได้ทุกวิชา ไม่เฉพาะใช้ในการสอน วิชาวิทยาศาสตร์ ในหมวดการศึกษาทั่วไปเท่านั้น


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.พ. ๕๙

โรงอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603251เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2016 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2016 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท