ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑: ๒. ทักษะวิทยาศาสตร์สำหรับคนทุกคน


 

          ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกชุดนี้จากการอ่านหนังสือ A Framework for K-12 Science Education : Practices, Crosscutting Concepts and Core Ideas ซึ่งจัดพิมพ์โดย The National Academies ของสหรัฐอเมริกา  ผมขอเสนอให้นักการศึกษาและครูอาจารย์ไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน   อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์   เพื่อเอามาใช้ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของไทย   โดยที่หนังสือเล่มนี้เขาอนุญาตให้ ดาวน์โหลดมาอ่านได้ฟรี

          ผมตีความหนังสือเล่มนี้ ลงเป็นบันทึกชุด “ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑” นี้เพื่อเป็นบรรณาการแก่ “ครูเพื่อศิษย์”

          จำเป็นต้องมีกรอบแนวคิดใหม่ เป็นแนวทางชี้นำการเรียนวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑   เพราะกรอบความคิดเดิมที่ใช้กันในปัจจุบันล้าสมัย    ไม่เหมาะสำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน

          การเรียนวิทยาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ “รู้วิชา”   แต่ต้องการให้เป็นพื้นฐานความเข้าใจสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวทั้งที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและวิธีการเรียนรู้ (การสอน) ที่ถูกต้องจะเป็นตัวจุดประกายความพิศวง (fascination) หรือความใคร่รู้ (inquiry mind)  และความหลงใหล (passion) หรือแรงบันดาลใจ (inspiration) ต่อการเรียนรู้นี่คือความยิ่งใหญ่ของการจัดรูปแบบการเรียนรู้ ให้ถูกต้อง    มันจะเป็นเสมือนการตัดถนนหรือเส้นทางชีวิตของเด็ก ไปสู่ชีวิตที่มีความสุข สนุก และรักที่จะเรียนรู้ ตลอดชีวิต

          ตัวอย่างของมิติทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัว ได้แก่สภาพแวดล้อม พลังงาน ยานพาหนะ สุขภาวะ   ลองมองไปรอบๆ ตัว จะเห็นมิติทางวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนได้เรียนอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน    และเมื่อเข้า โรงเรียนแล้ว เด็กก็ยังคงเรียนรู้มิติต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ จากชีวิตนอกโรงเรียนต่อเนื่องไปอีก    คำถามคือ จะทำให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้อย่างไร  

          กรอบแนวคิด ๓ มิติ ตามที่ได้ระบุไว้ในตอนที่แล้ว เป็นเครื่องมือที่ The National Academies ของสหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือเปลี่ยนการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศให้ทันสมัยขึ้น โดยดำเนินการเป็นสองขั้นตอน   กรอบแนวคิดนี้เป็นขั้นตอนแรก  ขั้นตอนต่อไปคือ แต่ละรัฐจะดำเนินการ กำหนดมาตรฐาน (standards) ของการเรียนรู้โดยมีAchieve, Incทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐต่างๆ  จะเห็นว่า สหรัฐอเมริกาใช้หน่วยงานอิสระในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของประเทศ ดังกรณีการศึกษาวิทยาศาสตร์นี้   The National Academies เป็นองค์กรอิสระและ Achieve, Incก็เป็นองค์กรอิสระ

           ตอนหนึ่งในเอกสาร A Framework … ระบุว่า “Throughout grades K-12, students should have the opportunity to carry out scientific investigations and engineering design projects related to the disciplinary core ideas.”   ซึ่งตีความได้ว่า ต้องเรียนโดยลงมือทำ (Learning by Doing) ตามแนวทางของ 21st Century Learning และสิ่งที่ทำคือโครงงาน (project)   นั่นคือเขาแนะนำให้จัดการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning)   เพื่อให้เด็กเกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ (และวิศวกรรมศาสตร์) ตามที่แนะนำในกรอบแนวคิด ๓ มิติ ที่ระบุในบันทึกชุดนี้ตอนที่แล้ว 

          ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เด็กมีมาบ้างแล้วก่อนเข้าโรงเรียน   และเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว เด็กก็ค้นหาเนื้อ วิชาความรู้ได้เองไม่ยาก   แต่การเรียนให้เกิดทักษะ (และฉันทะ) นั้นเด็กต้องการความช่วยเหลือ    และครูที่รักเด็ก ด้วยมีทักษะในการเป็นโค้ชต่อการฝึกฝนทักษะวิทยาศาสตร์ด้วยหาไม่ง่าย   ผมจึงมองว่า ต้องมียุทธศาสตร์ระดับ ประเทศ ที่จะช่วยยกระดับทักษะ (และคุณค่า) ของครูวิทยาศาสตร์ที่จัดการเรียนการสอนแบบ PBL   โดยตนเองเปลี่ยนแนวทำหน้าที่ครู จาก “ครูสอน” เปลี่ยนเป็น “ครูฝึก” ผมจึงพยายามชักชวนให้มีหน่วยงานอิสระเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองโดยการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้

          อีกย่อหน้าหนึ่งของเอกสารระบุดังนี้   “By the end of the 12th grade, students should have gained sufficient knowledge of the practices, crosscutting concepts, and core ideas of science and engineering to engage in public discussions on science-related issues, to be critical consumers of scientific information related to their everyday lives, and to continue to learn about science throughout their lives. They should come to appreciate
that science and the current scientific understanding of the world are the result of many hundreds of years of creative human endeavor. It is especially important to note that the above goals are for all students, not just those who pursue careers in science, engineering, or technology or those who continue on to higher education.”

          เขาระบุทักษะที่ต้องการให้บรรลุเมื่อเรียนจบ ม. ๖ (เกรด ๑๒) ว่า “สามารถเข้าร่วมการอภิปราย สาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์   มีทักษะของการเป็นผู้บริโภคข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับชีวิตประจำวัน อย่างมีวิจารณญาณ   และมีฉันทะและทักษะในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต่อเนื่องตลอดชีวิต     มีความเข้าใจว่าความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลของการสร้างสรรค์ของมนุษย์ต่อเนื่องมาหลายร้อยปี”

 

          ที่สำคัญที่สุดคือ เขาบอกว่า มุ่งให้นักเรียนทุกคนมีทักษะเหล่านั้น ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือนักเรียนที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มี.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 484663เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท