ผลกระทบของมาตรการQE ต่อธุรกิจในไทย


จากข่าวของสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ผลกระทบภายหลังจากการประกาศของ Fed เมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. ที่ผ่านมาถึงการทยอยถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing)

หรือ “มาตรการคิวอี” โดยลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์จาก 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ได้ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจไทย

มาตรการคิวอีเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินนโยบายการเงินแบบพิเศษ (Unconventional Monetary Policy) ถูกนำมาใช้เมื่อธนาคารกลางไม่สามารถใช้เครื่องมือดำเนินนโยบายทางการเงินแบบดั้งเดิมเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ในภาวะปกติ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองธนาคารกลางก็จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น แต่อย่างในกรณีของสหรัฐฯ ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจและได้ดำเนินนโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ยจนเป็นศูนย์แล้วแต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งพานโยบายการเงินแบบพิเศษ ทั้งมาตรการคิวอีที่อาศัยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน และมาตรการ Forward Guidance คือการสื่อสารทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตว่าจะรักษาให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อปรับการคาดการณ์ของประชาชนให้เป็นไปตามที่ธนาคารกลางต้องการซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

จากผลการศึกษาล่าสุดของ IMF เมื่อเดือน ต.ค. 2556 นี้ พบว่าการใช้นโยบายการเงินแบบพิเศษของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากในโลกปัจจุบันเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยรูปแบบของการใช้นโยบายการเงินแบบพิเศษที่ต่างกันจะส่งผลกระทบผ่านกลไกที่ต่างกัน เช่น มาตรการคิวอี ที่ Fed เข้าซื้อสินทรัพย์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดโลกลดลง ราคาตราสารทุนเพิ่มขึ้น และสกุลเงินท้องถิ่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น ขณะที่มาตรการ Forward Guidance กลับมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อผลตอบแทนพันธบัตร แต่มีผลต่อราคาตราสารทุนในตลาดโลกมากกว่า โดยทำให้ราคาตราสารทุนสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนไม่ต้องคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต และทำให้สกุลเงินท้องถิ่นเทียบกับดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้นโยบายการเงินแบบพิเศษที่มีรูปแบบเหมือนกันอาจก่อให้เกิดผลที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะเงื่อนไขของตลาดในขณะนั้นๆ จึงทำให้ประเมินและคาดเดาผลกระทบจากนโยบายการเงินแบบพิเศษได้ยาก เช่น มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Large Scale Asset Purchases: LSAP) แต่ละครั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่างกัน โดยมาตรการ LSAP1 ที่เข้าซื้อ Mortgage-Backed Securities เพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้เงินทุนภาคเอกชนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างมาก แต่มาตรการ LSAP2 และ LSAP3 ที่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่กลับมีผลให้เงินทุนไหลออกสู่ตลาดโลก

ในกรณีของไทย มาตรการคิวอีทำให้มีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงคิวอี 2 (พ.ย. 2553 - มิ.ย. 2554) และในช่วงคิวอี 3 (ก.ย. 2555 ถึงปัจจุบัน) โดยในไตรมาสแรกของปี 2556 มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์รวมกันถึง 6.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เมื่อ Fed ประกาศในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าจะมีการลดมาตรการคิวอีลง ทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยโดยส่วนใหญ่กลับสู่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักสูงถึง 4.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. และ 4.2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน ส.ค. ส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย

หลัง Fed แถลงการณ์ลดมาตรการคิวอี ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่บ้าง แต่เนื่องจากตลาดได้มีการคาดการณ์และปรับตัวไปแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ประกอบกับวงเงินการลดซื้อสินทรัพย์ไม่มากนักและการลดทอนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่รุนแรงนัก สำหรับกรณีของไทยได้ผ่านบททดสอบในเรื่องนี้มาแล้วในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ย.ปีนี้เป็นเงินทุนไหลออกสุทธิจำนวน 2.9 พันล้านดอลลาร์ แต่ไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 อยู่ที่ 191 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เป็นตัวช่วยรองรับความเสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกและสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ธปท. ได้เตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะเกิดขึ้น โดยจะดำเนินนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นและใช้เครื่องมือดำเนินนโยบายการเงินอย่างผสมผสานไปกับเครื่องมือปกติอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ควรปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น



ที่มาข้อมูล:http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/blog/553...

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603183เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2016 07:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2016 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท