การสังเกตพฤติกรรมเด็ก


แนวทางการสังเกตพฤติกรรมเด็ก

เด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้และ บกพร่องทางสติปัญญา (LD และ MR)

ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออก เด็กที่มีปัญหาการอ่าน การเขียน การสะกดคำ และการคำนวณมักรู้สึกหงุดหงิด และรู้สึกด้อยที่ตนเองทำไม่ได้ทัดเทียมเพื่อนๆ ดังนั้นเด็กอาจแสดงพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ดังเช่น

-หลีกเลี่ยงการอ่านการเขียน ทำสมุดการบ้านหายบ่อย ๆ

- ต่อต้านคำสั่งแบบดื้อเงียบ ไม่ทำตามที่ครูสั่งหรือปฏิเสธโดยตรง ทำให้ดูเป็นเด็กเกียจคร้าน

-ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จในชั้นเรียน

-ทำงานสะเพร่า ความจำไม่ดี เรียนได้หน้าลืมหลัง

-รู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง รู้สึกด้อย และไม่มั่นใจในตนเอง มักตอบคำถามว่า “ทำไม่ได้” “ไม่รู้”

“ไม่ทราบ”

-รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน

เด็กที่มีปัญหา Attention Deficit / Hyperactivity Disorder (ADHD)

ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออก

- พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ลุกจากที่นั่งบ่อยครั้ง ก่อกวนเพื่อนในชั้นเรียน

-หุนหันพลันแล่น มักวอกแวกง่าย สนใจ ตามสิ่งเร้าภายนอก

-ทำของหายบ่อย ไม่มีความรอบครอบในการทำงาน

-ทำงานเสร็จช้า หลีกเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม

-มีสมาธิเพียงช่วงเวลาสั้นๆ

-ไม่สนใจฟังคำสั่ง

-รอคอยไม่ได้ หงุดหงิดง่าย

เด็ก Autism

พฤติกรรมที่แสดงออก

-ไม่เข้าใจฟังคำสั่ง

-ต่อต้านคำสั่ง

-ก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง ในบางรายอาจทำร้ายผู้อื่น ร่วมด้วย

-มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว

-ไม่สามารถบอกความต้องการของตนองได้

-หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตนเอง

เด็กที่มีปัญหาด้านสังคม และด้านอื่นๆ

ลักษณะของบุคคลที่มีปัญหาทางพฤติกรรม และอารมณ์คือ บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเช่นเด็กปกติทั่วไป และการที่เด็กไม่สามารถเรียนได้นั้นมิได้มีสาเหตุมาจากองค์ประกอบทางสติปัญญา การรับรู้และสุขภาพหรือความบกพร่องทางร่างกายเท่านั้น

2.ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนนักเรียนด้วยกันหรือครูได้

3.มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กปกติ ในวัยเดียวกัน

4.มีความคับข้องใจและมีความเก็บกดทางอารมณ์

5.แสดงอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามส่วนต่างๆของร่างกาย หรือมีความหวาดกลัวเมื่อมีปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางด้านการเรียน เด็กอาจมีลักษณะเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ได้ ปัญหาด้านพฤติกรรม และอารมณ์ที่แสดงออก จะต้องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีระยะเวลาติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน

แนวทางการช่วยเหลือในห้องเรียน สำหรับครู

1. การช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ การสอน ในชั้นเรียน

1) ตำแหน่งโต๊ะเรียนไม่ควรให้เด็กนั่ง ติดหน้าต่างหรือประตู เพราะเด็กจะวอกแวกเสียสมาธิง่าย ควรให้ เด็กนั่งแถวหน้าสุดใกล้โต๊ะครู เพื่อคุณครูจะได้สามารถเตือนเรียกสมาธิเด็กได้ และควรจัดให้เด็กนั่งติดกับนักเรียน ที่ไม่ชอบเล่น ไม่ชอบคุยระหว่างเรียน

2) เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิจริงๆ ควรให้เด็กมีกิจกรรม เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่น ช่วงครึ่งหลังของ คาบ เรียน ควรอนุญาตให้เด็กลุกจากที่ได้บ้าง แต่ในทางสร้างสรรค์ เช่น ให้ไปล้างหน้า มาช่วยคุณครูลบกระดาน หรือ ช่วยแจกสมุดเป็นต้น จะช่วยลดความเบื่อของเด็กลง และเรียนได้นานขึ้น

3) ในกรณีที่เด็กมีสมาธิสั้นมาก สามารถใช้วิธีลดระยะการทำงานให้สั้นลง แต่ทำบ่อยกว่าคนอื่น โดย เน้นในเรื่องความรับผิดชอบ และความสามารถในการทำงานให้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายครั้ง

4) ไม่ควรประจาน ประณาม หรือตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่ดี และไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงหากเป็น พฤติกรรมจากโรคสมาธิสั้นเพราะเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ดีแม้ว่าจะพยายามแล้วก็ตาม เช่น ซุ่มซ่าม ทำของ เสียหาย หุนหันพลันแล่น แต่ควรจะปราม เตือน และสอนอย่างสม่ำเสมอ ว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม และ พฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น เก็บของเข้าที่ใหม่ ชดใช้ของที่เสียหาย หรือลงโทษเมื่อทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

4.1 การตำหนิเด็ก

- การตำหนิที่ดีควรควรตำหนิที่พฤติกรรมอย่าตำหนิที่ตัวบุคคล เช่น เธอเป็นเด็กดื้อ ( บุคคล ) เด็กจะต่อต้าน ควรตำหนิที่พฤติกรรม เช่นครูไม่ชอบที่เธอโกหก ( ตำหนิที่พฤติกรรม )

- บอกความรู้สึกของผู้พูด เช่น ครูรู้สึกโกรธมาก ครูเสียใจมาก ( การที่บุคคลรับรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องที่ใหญ่สำหรับใคร เด็กจะเกิดการปรับตัวสูงบวกการทานยา )

- บอกสิ่งที่อยากให้เกิด (พฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำ )

5) บรรยากาศที่เข้าใจ และเป็นกำลังใจจะช่วยให้เด็กพยายาม ปรับปรุงตัวเองมากขึ้น ควรให้ความสนใจ และชื่นชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี เช่น สนใจเรียนได้นาน ไม่รบกวนเพื่อน ช่วยงานครู พยามยามทำงาน และเมื่อ เด็กทำผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ควรใช้คำพูดปลอบใจ มีท่าทีเห็นใจ แนะนำวิธีแก้ไข

6) การสื่อสารกับเด็ก ควรสังเกตว่าเด็กอยู่ในภาวะที่พร้อม หรือมีสมาธิ ที่จะให้ความสนใจสิ่งที่คุณครูกำลัง จะพูดอยู่หรือไม่ หากสนใจอยู่ ก็สามารถพูดกับเด็กโดยใช้คำพูดที่กระชับ ได้ใจความชัดเจนได้ทันที หากเด็กกำลัง อยู่ในช่วงเหม่อ วอกแวก หรือไม่ได้สนใจ ควรเรียกหรือแตะตัวอย่างนุ่มนวล ให้เด็กรู้สึกตัว และหันมาสนใจ เสียก่อน จึงสื่อกับเด็ก ในเด็กที่มีสมาธิสั้นในบางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรืออธิบายอย่างเดียว เด็กอาจไม่ฟัง หรือไม่ทำตาม คุณครูควรเข้าไปหาเด็ก และใช้การกระทำร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมตามที่คุณครูต้องการ เช่น เมื่อต้องการให้เด็กเข้ามาในห้องเรียน หากใช้วิธีเรียกประกอบการโอบ หรือจูงตัวเด็กให้เข้าห้องด้วย จะได้ผลดีกว่า เรียกเด็กอย่างเดียว ซึ่งวิธีนี้ จะเป็นการฝึกให้เด็กรับฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่ได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา

7) เด็กอาจมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับเพื่อน เพราะเด็กมักจะใจร้อน หุนหัน เล่นแรง จนเพื่อนไม่อยากเข้า ใกล้หรือเล่นด้วย ในช่วงแรกอาจต้องอาศัยคุณครูช่วยให้คำตักเตือน แนะนำด้วยท่าทีที่เข้าใจ เพื่อให้เด็กปรับตัว ได้ และเข้าใจกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

8) ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นพิเศษ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะต้องการความเข้าใจ และช่วยเหลือจากคุณครูเพิ่มเติม ซึ่งแนวทางการสอนควรมีลักษณะดังนี้

8.1 มีการแบ่งขั้นตอนเริ่มจากง่ายและจำนวนน้อยก่อน แล้วจึงเพิ่มความยาก และจำนวนขึ้นใน เวลาต่อมาเมื่อเด็กเรียนรู้ขั้นต้นได้ดีแล้ว

8.2 ใช้คำอธิบายง่ายๆ สั้นๆ พอที่เด็กจะเข้าใจ และให้ความสนใจฟังได้เต็มที่ ซึ่งหากมีการสาธิต ตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายกว่าคำพูดอธิบายอย่างเดียว

8.3 ควรสอนที่ละเรื่อง หรือเปรียบเทียบเป็นคู่ ไม่ควรสอนเชื่อมโยงหลายเรื่องพร้อมๆ กัน

8.4 ให้เวลาในการทำงานในเด็กกลุ่มนี้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น และค่อย ๆลเวลาลง ตามความเหมาะสมของความสามารถที่เด็กสามารถจำเรียนรู้ และปฏิบัติงานได้

2. การปรับพฤติกรรม

เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลโดยการวางเงื่อนไข มีวัตถุประสงค์คือ ลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพิ่มที่พฤติกรรมที่ดี และสร้างพฤติกรรมที่ถาวรให้กับบุคคล ซึ่งมีหลักการวางเงื่อนไขอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้

1. การเสริมแรงทางบวก

2. การเสริมแรงทางลบ

การปรับพฤติกรรมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1. ปัญหาด้านพัฒนาการ

2. Low Function

สาเหตุของปัญหาพฤติกรรม

-สาเหตุของปัญหาในพฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง ซึ่งเด็กจะอยู่และใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดูโดยจะมีลักษณะการเลี้ยงดูแบบครอบครัวใหญ่ ทำให้มีการเลี้ยงดูที่หลายรูปแบบ

-เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่ง มีสาเหตุมาจากการวางเงื่อนไขที่ผิดให้กับเด็ก โดยมักจะเป็นวิธีการเลี้ยงดูที่ให้ตามใจในสิ่งที่เด็กต้องการและมาไม่ให้ในภายหลังและไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ

-เด็กที่มีพฤติกรรม อาระวาด ลงมือลงเท้า ผู้ปกครองมักจะควบคุมเด็กด้วยการและควบคุมให้เด็กเชื่อฟังโดยการใช้เสียงที่ดัง พุ่งพลังในการควบคุมที่มากขึ้นเลื่อยๆ รวมถึงพฤติกรรมการบ่นของผู้ปกครอง ซึ่งส่งผลให้เด็กต่อต้าน

-วงจรปัญหาการเรียน (วัยเรียน )

อยากเรียน ⇒ อ่านไม่ดี ⇒ ทำไม่ได้
สอบได้คะแนนไม่ดี ⇒ถูกตำหนิ⇒ เกิดพฤติกรรม

หลักการปรับพฤติกรรม คือ ต้องสร้างให้เด็กเชื่อในคำพูดของ ครู และผู้ปกครองให้ได้

-ขั้นแรก คือ ต้องให้เด็กเชื่อว่าคำพูดของ ครู และผู้ปกครอง ศักสิทธิ์

-วิธีการ คือ ให้ ครู และผู้ปกครอง รักษาสัญญา พูดคำไหนคำนั้น ซึ่งเด็กจะเชื่อก็ต่อเมื่อเด็กได้รับผลประโยชน์

-เมื่อเด็กยากได้ แต่ผิดหวังจากครู แล ผู้ปกครอง จะส่งผลให้เด็กไม่พอใจ โกรธ ผิดหวัง ทำให้เด็กมีพฤติกรรม ก้าวร้าว หรือแสดงพฤติกรรมแบบเด็กๆ เช่น เรียกร้องความสนใจ น่าสงสาร แต่ในส่วนลึกของเด็ก คือ ดื้อ

สรุป

ปัญหาพฤติกรรมเกิดจาก “ไม่ แล้ว ให้” ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเอาแต่ใจ ไม่สนใจฟังคำสั่ง รอคอยไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

ต้องอธิบายในส่วนนี้ให้ผู้ปกครองเข้าใจและยอมรับสาเหตุ ว่าการ ปฏิเสธแล้วมาให้ในภายหลัง จะส่งผลให้เด็ก งอแง ขาดความมั่นใจในตนเอง เอาแต่ใจตนเอง ความอดทนน้อย เจ้าอารมณ์ เนื่องมาจากเป้าหมายถูกปฏิเสธ

การวางเงื่อนไข

เวลาไม่ได้ตามใจในสิ่งที่เด็กต้องการ ผู้ปกครองและครูไม่ควรไปกระตุ้น จะส่งผลกระทบต่อด้าน อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม

-ต้องควบคุมอารมณ์ของผู้ปกครอง และครู เงียบเฉย

-โดยการนิ่งจะทำให้เด็กมีสติ ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที โดยไม่มีการกระตุ้น หรือเสนอสิ่งเร้าใหม่ให้ทันที

-เวลาเด็กแสดงพฤติกรรมโกรธ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การ เงียบและให้อยู่คนเดียว ห้ามใช้เสียง ไม่ควรกระตุ้น ด้วยน้ำเสียง หรือ การเข้าไปปลอบโยน ด ซึ่งโดยปกติเด็กมักกลัวการไม่สนใจ

-เมื่ออยู่เฉยๆ บ่อยให้เด็กอยู่คนเดียว อาการและพฤติกรรมที่แสดงออกของเด็กเริ่ม อารมณ์สงบลง ส่งผลให้เด็ก มีความคิด/มีเหตุผลมากขึ้นกว่าเดิม

วิธีการ

คือ ถามความต้องการของเด็กว่าต้องการอะไรในตอนนี้ ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องสร้างความเป็นพวกเดียวกับเด็กก่อน สนใจในสิ่งที่เขาต้องการ เปลี่ยนทัศนคติให้เด็กคิดว่าเขาจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ

ถ้าเป้าหมายที่เด็กต้องการถูกปฏิเสธ โตขึ้นเด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มีเป้าหมายเพราะไม่เคยได้รับความสำเร็จจากการหวัง

-การปฏิเสธแล้วมาสอนในภายหลังจะไม่เกิดผลประโยชน์

-การแสดงความเป็นพวกเดียวกับเด็ก และใช้เหตุผล จะทำให้เกิดผลประโยชน์

-ให้ในสิ่งที่เด็กต้องการ โดยการวางเงื่อนไขให้รอเวลา ใช้การตกลงร่วมกันที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายของเด็ก

-หาจุดเด่นของเด็ก เน้นที่ตรงส่วนนี้มาก (ให้เวลามาก )กว่าส่วนด้อยของเด็ก จุดด้อยใช้การ Ignore (ใช้เวลาน้อย)

-เบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ไปตำหนิหรือให้ความสนใจกับเรื่องนั้นมาก

-เน้นการแก้ไขปัญหาของเด็กในอดีต แต่ ไม่นำมาพูดถึง

-พัฒนาศักยภาพในปัจจุบัน

-เน้นการกำหนดเป้าหมายในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 602156เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2016 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2016 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท