เลาะเกล็ดร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 3


เลาะเกล็ดร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 3

25 กุมภาพันธ์ 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การมีบทบัญญัติของกฎหมายสูงสุดที่สร้างความเข้มแข็งในการปกครองบ้านเมืองให้ตลอดรอดฝั่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ทุกฝ่ายต่างปรารถนา แม้แนวทางหรือมุมมอง กรอบความคิดในการแก้ไขปัญหาย่อมมีแนวทางที่แตกต่างกันไป เพราะความไม่สมดุลในประโยชน์ได้เสียที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มและฝ่ายต่าง ๆ

โดยเฉพาะเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่มีผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม ที่สำคัญได้แก่ (1) ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น (2) ฝ่ายข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่เป็นฝ่ายประจำ (3) ฝ่ายประชาชนและประชาสังคม (4) ฝ่ายผู้กำกับดูแล และ (5) ฝ่ายอื่น ๆ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ รวมถึง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และฝ่ายองค์กรเอกชน เป็นต้น

แม้แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังห่วงกังวลว่า การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจมีปัญหาเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงมีความพยายามหาหนทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า [2] ฉะนั้น การพิจารณาถึงบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น คงมิได้มองในเพียงมิติเดียว หรือมองเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องมองในภาพรวมในเชิงบูรณาการ (Integrated) เป็นที่ตั้ง

ร่างรัฐธรรมนูญด้านท้องถิ่นที่ถูกละเลย

ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำเสนอคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) (8 กุมภาพันธ์ 2559) [3] สรุปสิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 (ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2559) ได้ละเลยในสาระสำคัญอย่างยิ่งรวม 2 ประการ คือ (1) การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และ (2) การพัฒนา/ปรับปรุง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในด้านระบบ, กลไก และกระบวนการปกครองท้องถิ่น

กล่าวโดยสรุปในภาพรวมหมายความว่า “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) ตามหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น ยังมีปัญหาในเชิง “เนื้อหา” (Substantive) และ ในเชิง “กลไก” (Mechanism) ที่ถือเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อนการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ไปสู่เป้าหมายสำคัญในการ “จัดบริการสาธารณะ” (Public Service) ที่ยั่งยืน (Sustainable) นั่นเอง ซึ่งยังไม่ได้พิจารณาไปถึงรายละเอียดในเรื่อง “รูปแบบ” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตสมาชิก สปช. 61 คน (15 กุมภาพันธ์ 2559) [4] ที่ได้เสนอแนะแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเบื้องต้นต่อ กรธ. รวม 9 ประเด็น โดยมีประเด็นที่ 6 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญยังขาดสาระสำคัญในการวางหลักการเพื่อพัฒนาการปกครองท้องถิ่น เพราะไม่มีกล่าวถึงการกระจายอำนาจและการเติมกลไกปกครองท้องถิ่นทั้งระดับชาติและจังหวัด

โจทย์สำคัญของท้องถิ่นที่รอการแก้ไขอยู่

ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าของท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสะสมมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ (1) รูปแบบการปกครองท้องถิ่นจะมีทิศทางไปทางใด จะมีการยุบรวมหรือควบรวมเพื่อให้ อปท. มีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร (2) เมื่อใดจะมีการปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) และ (3) การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และอิทธิพลในท้องถิ่น

ปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวพันกัน

ปัญหาเร่งด่วนทั้งสามประการดังกล่าว เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยังไม่สามารถขจัดปัญหา แล้วสร้างรูปแบบที่เป็นมาตรฐานในการแก้ไขได้ เพราะ ปัญหาทั้งสามปัญหา คือเรื่องรูปแบบของ อปท. ปัญหาการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และปัญหาการทุจริตฯในท้องถิ่น จะเกี่ยวเนื่องขึ้นแก่กันและกัน เหมือนไก่กับไข่ว่าอะไรเกิดก่อนกัน จนแยกแยะไม่ออก

ปัญหาการตรากฎหมายในสองระดับ

ปัญหาสำคัญใน 3 ปัญหาดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาในการตรากฎหมายในสองระดับ คือ (1) การตราบทบัญญัติใน “รัฐธรรมนูญ” และ (2) การตราบทบัญญัติในกฎหมายลูกในระดับ “พระราชบัญญัติ” ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงเกิดการล่าช้าและเกิดความสับสนในการตรากฎหมาย กล่าวคือ หากรูปแบบของ อปท. ยังไม่ชัดเจนแน่นอน หรือไม่สามารถกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้แน่นอน ก็อาจไม่สามารถตรากฎหมายลูกในระดับ “พระราชบัญญัติ” หรือ “ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ได้เลย ซึ่งจะส่งผลไปถึง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง “สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น” ซึ่งผูกติดในรูปแบบ อปท. เสมือนของคู่กันเป็นปาท่องโก๋

ทางออกในการแก้ไขปัญหา

จากสภาพปัญหาที่ผูกติดเป็นไก่กับไข่ที่ต้องไปพร้อมกัน จึงทำให้เกิดการชะงักงัน ในการปลดล็อคการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะแก้ปัญหาครั้งแรกโดยให้ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท. และ สมาชิกสภา อปท. ให้มาจากการแต่งตั้งจากข้าราชการระดับ 8 [5] แต่ก็ทานกระแสการรักษาการในหน้าที่ที่ไม่แน่นอนว่าจะยาวนานเพียงใดไม่ไหว ฝ่ายการเมืองท้องถิ่นเดิม ถือความได้เปรียบเรียกร้องขอแก้ไขให้ “นายก อปท.” คนเดิมที่หมดวาระปฏิบัติหน้าที่นายก อปท. ต่อไป [6] ซึ่งนับระยะเวลาจากวันนั้นตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันได้เกือบสองปี ยังไม่มีวี่แววว่าการรักษาการ หรือการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวของนายก อปท. และสมาชิก อปท. จะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะไก่กับไข่ยังไม่เกิด

จากปัญหาจุดนี้ อาจโยงไปถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในท้องถิ่น ก็อาจยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไก่กับไข่ยังไม่เกิด

ทางออกในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ มีอยู่ 2 ทางคือ (1) รอให้ตรารัฐธรรมนูญให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน จึงจะตรากฎหมายลูก คือ กฎหมาย อปท. และ กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และ (2) ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญให้เสร็จเรียบร้อย ที่เรียกว่า “การตรากฎหมายเร่งด่วน” (Quick win) กล่าวคือ เสนอกฎหมายลูก เป็น “ร่างพระราชบัญญัติ” ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้เลย คือ กฎหมาย อปท. และ กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และอาจมีกฎหมายท้องถิ่นอื่นที่ไม่จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ได้แก่ “กฎหมายการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” ด้วยก็ได้ เป็นต้น

การแก้ไขจุดบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ว่าด้วยท้องถิ่น

ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต เสนอควรเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างน้อยให้เทียบได้ไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนี้ [7]

(1) เพิ่มเติมเรื่อง การกระจายอำนาจเข้าไปในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยยกเอามาตรา 78 (3) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 มาเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 72 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2559 อีก 1 วรรค ดังนี้

“รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภค ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึง และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

(2) เพิ่มเติมเพื่อแสดงเจตนารมณ์เปิดทางให้มีการแก้ไข/ปรับปรุงจุดอ่อนของ “ระบบการปกครองท้องถิ่นของชาติ” ให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเติม มาตรา 246 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2559 อีกวรรคหนึ่ง ดังข้อความต่อไปนี้

“รัฐต้องพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่นของชาติให้เข้มแข็ง มีการบูรณาการ และมีเอกภาพเป็นระบบเดียวกัน โดยจัดให้มีคณะกรรมการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

(3) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายลูกจึงขอให้มีการบันทึกเจตนารมณ์การปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เอาไว้ในจดหมายเหตุ หรือบันทึกเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญปี 2559 เอาไว้ให้ชัดเจน

นี่เป็นเพียงทิศทางความน่าจะเป็นของร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ในสาระหลักเท่านั้น ยังมิได้พิจารณาในประเด็นอื่น ๆ

หลากหลายประเด็นท้องถิ่นที่รอความชัดเจน

ยังมีประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยอื่นที่กำลังอยู่ในกระแส เท่าที่พอเก็บตกรวบรวมได้ อาทิเช่น (1) ประเด็นการควบรวม อปท. การยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาล [8] (2) ประเด็น การไม่ยุบเลิกราชการบริหารส่วนภูมิภาค [9] (3) ประเด็นที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 249 วรรคสอง [10] (4) ประเด็น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี [11] (5) ประเด็น “สิทธิชุมชน” [12] (6) การเสนอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯ เป็นสมาชิกสมทบ อปท. [13] (7) การขอให้มีสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ(เทียบเท่ากระทรวง) [14] (8) การกำหนดบทบาทหน้าที่ และอำนาจท้องถิ่น ให้ชัดเจน ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับส่วนกลางและภูมิภาค ฯลฯ [15] (9) คนท้องถิ่นทุจริตต้องถูกตัดสิทธิ์ฯ [16] เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อท้องถิ่น

จากสาระดังกล่าวแล้วข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหมวดว่าด้วย “การปกครองท้องถิ่น” ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหมวดอื่นๆ เลย การสร้างความสมดุลให้ผู้มีส่วนได้เสียในหมวดว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่นยอมรับและพึงพอใจในร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง อย่างน้อยที่สุด จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องรวมญาติมิตรด้วยไม่ต่ำกว่า 6-10 ล้านคน (คาดการณ์จากจำนวน 3-5 เท่าของผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจาก 2 ล้านคน) [17] ได้ลงคะแนนผ่านประชามติรัฐธรรมนูญด้วยผลคะแนนที่สูงขึ้น



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22948 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 4– วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2559, หน้า 80, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] เปิด 16 ข้อเสนอครม. ดัน “กรธ.” ปรับ “ร่างรธน.”, 20 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/45142 & สุชาติ ศรีสุวรรณ, เหลือเกินจะ’ฮา!’, คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป มติชนรายวัน, 21 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/45788 & ธนกร วงษ์ปัญญา, ‘นันทวัฒน์ บรมานันท์’ สแกนยิบ รธน.ฉบับ’มีชัย’, มติชนรายวัน, 22 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/46486

[3] อุดม ทุมโฆสิต, ข้อคิดเห็น-ข้อเสนอแนะด้านกระจายอำนาจใน ร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย”, 8 กุมภาพันธ์ 2559,

http://www.isranews.org/isranews-article/item/44662-constitution_44662.html#.VruIVDtAc3J.facebook

[4] 61 อดีตสปช.ยื่น ‘มีชัย’แก้ร่างรธน. ชี้ เป็นฉบับรัฐเป็นใหญ่ ลดทอนอำนาจปชช., 15 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/38520

[5] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557, ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 12 - 14, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557, http://library2.parliament.go.th/giventake/ncpo.html & http://thainews.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=TNPOL5707150010062#sthash.8XfJOHz4.dpuf & http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/134/12.PDF

[6] คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยมิให้คําสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 48-52 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 1 ง วันที่ 5 มกราคม 2558, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order1-2557.pdf & http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/626872#sthash.Xeny62PQ.dpuf

[7] อุดม ทุมโฆสิต, ข้อคิดเห็น-ข้อเสนอแนะด้านกระจายอำนาจใน ร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย”, อ้างแล้ว.

[8] คณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป มีภารกิจหลัก คือ “การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”, ชุมชนคนท้องถิ่นรายงาน, 22 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,61292.0.html

แยกอนุกรรมการ 3 อนุกรรมการ คือ(1) อนุกรรมการฯ ท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ซึ่งภารกิจหลัก คือ “การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (2) อนุกรรมการฯ การบริหารงานบุคคลกำกับดูแลการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนการบริหารงานแก้ไขในท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนใน อปท. (3) อนุกรรมการฯ รูปแบบพิเศษ กทม. และเมืองพัทยา

[9] ปนัดดา เฟซบุ๊ก เชื่อไม่มีใครคิด ยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่น, 17 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.thairath.co.th/content/578806

โดยเฉพาะในประเด็น ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มาตรา 49 “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”

[10] ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มาตรา 249 วรรคสอง “ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

[11] “บิ๊กตู่” แจง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ คาด5ปีบ้านเมืองดีขึ้น, 20 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/45131

[12] ชำนาญ จันทร์เรือง, ประเด็นที่ถูกมองข้ามในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20/2, 17 กุมภาพันธ์ 2559,

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636957 & ชาวบ้านพึ่งใคร? “สิทธิชุมชน” หายไปในร่างรธน. 18 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.posttoday.com/analysis/report/416818

[13] เสนอให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิกสมทบ อปท., ThaiPBS, 20 กุมภาพันธ์ 2559, https://www.youtube.com/watch?v=qH66AGLJtmY

[14] ส.ขรก.ท้องถิ่นขอกรธ.สภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ, ข่าวการเมือง, 11 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.innnews.co.th/show/678039/ส.ขรก.ท้องถิ่นขอกรธ.สภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ

[15] รวมความเคลื่อนไหว กำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ตบเท้ายื่นแก้ร่างรธน., 17 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/41396 & 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.-เทศบาล-อบต.) ยื่นหนังสือขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “กำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น” ให้ชัดเจน, 16 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,61259.0

[16] มีชัยเข้มการเมืองท้องถิ่น คนทุจริตต้องถูกตัดสิทธิ์, ASTVผู้จัดการรายวัน, 3 พฤศจิกายน 2558, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000122689

[17] ข้อมูลจำนวนตำบลหมู่บ้านทั่วประเทศ จำนวน 7,255 ตำบล 74,965 หมู่บ้าน มีบุคลากรที่รับเงินค่าตอบแทนจากงบประมาณกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง(หมู่บ้านละ 2 คน) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.หมู่บ้านละ 1 คน เฉพาะในบางหมู่บ้าน) สารวัตรกำนัน (ตำบลละ 2 คน) สำหรับบุคลากรอื่นไม่มีค่าตอบแทน ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.หมู่บ้านละ 15 คน เฉพาะบางหมู่บ้าน) กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ (กม. จำนวนหมู่บ้านละ 2-10 คน)

จากข้อมูลดังกล่าว บุคลากรด้านการปกครองท้องที่ประจำทั่วประเทศ (ที่รับเงินค่าตอบแทน) มีจำนวนประมาณ 3-4 แสนคน หรือหากรวมบุคคลอื่นด้านการปกครองท้องที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ประมาณ 1.2 ล้านคน

ดู ข้อมูลตัวเลขสถิติประเทศไทย ปี 2558 (จำนวนประชากร,จังหวัด,อำเภอ,หมู่บ้าน), 12 มีนาคม 2558,

http://www.zcooby.com/thailand-information-number-statistics-year-2558/

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 และได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ดังนี้

ข้อมูลด้านประชากรทั้งประเทศ 65,124,716 คน ชาย 31,999,008 คน หญิง 33,125,708 คน

ข้อมูลการปกครองส่วนภูมิภาค

จำนวน 76 จังหวัด 878 อำเภอ7,255 ตำบล 74,965 หมู่บ้าน

ข้อมูลการปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,335 แห่ง การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) เทศบาล 2,440 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง, เทศบาลเมือง 176 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,234 แห่ง

จำนวนบุคลากรของ อปท. จากข้อมูล สถ. 23 มีนาคม 2558 (1) ผู้บริหารและสมาชิกสภา 153,601 คน (2) ข้าราชการประจำ (2.1) ข้าราชการ 173,547 คน (2.2) ลูกจ้างประจำ 19,687คน (2.3) พนักงานจ้าง 211,279 คน รวม 404,513 คน รวมบุคลากรทั้งหมด 558,114 คน

หมายเลขบันทึก: 602124เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2016 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2016 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท