๑๘๑. งดเผาตอซัง..แต่ก็ยัง..หนีไม่พ้นหิมะสีดำ


สนองนโยบายรัฐบาลในการบรรเทาภาวะโลกร้อน และให้ความสำคัญกับการจัดการดิน และเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของเกษตรกร ที่แต่เดิมต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเป็นจำนวนมาก ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ..

วันนี้..ได้รับหนังสือเชิญจากพัฒนาที่ดินจังหวัด..ให้เข้าร่วมงานโครงการรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช..ในหนังสือ..ยังได้ขอความอนุเคราะห์ให้นำนักเรียน จำนวน ๓๐ คน หรือ ๑ ห้องเรียน..ให้เข้าร่วมงานด้วย.....

ผมมีนักเรียนไม่มากนัก จึงต้องนำนักเรียนไปถึง ๓ ห้อง ก็มี ป.๔ ป.๕ และ ป.๖ รวมกันแล้วก็ได้นักเรียนไปร่วมงานเพียง ๒๕ คน..เท่านั้น

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน..บอกว่า..สนองนโยบายรัฐบาลในการบรรเทาภาวะโลกร้อน และให้ความสำคัญกับการจัดการดิน และเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของเกษตรกร ที่แต่เดิมต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเป็นจำนวนมาก ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ..

ผมกับนักเรียน..ถึงห้องประชุม..เก้าโมง...ท่านนายอำเภอมาเปิดเก้าโมงครึ่ง..หลังพิธีเปิดผ่านไป กิจกรรมการบรรยายและสาธิต..ดูเร่งรีบไปหมด..เพราะกิจกรรมดีๆในโครงการนี้..จะต้องให้เสร็จก่อนเที่ยง.. กิจกรรมแรก..สาธิตการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เพื่อช่วยให้การย่อยสลายง่ายขึ้น ใช้ร่วมกับการไถกลบตอซัง กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในดิน..

โดยปกติ..ชาวบ้านในชุมชน..เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะไม่เผาฟาง เหมือนเมื่อก่อน จะมัดฟางเป็นก้อนให้วัว หรือไม่ก็เก็บไว้ขาย ส่วนการไถกลบ..ก็จะไม่ใช้น้ำหมักชีวภาพแต่อย่างใด..

เรื่องต่อไป..จึงมีความสำคัญ..วิทยากร..ได้สาธิต.การทำน้ำหมักจากผักและผลไม้ บอกส่วนผสมจนครบหมดทุกอย่าง สิ่งที่จะขาดไม่ได้ ก็คือ กากน้ำตาล..และ พด.๒....

ผมเห็นว่า..วิทยากรรีบสาธิต..ผมจึงต้องคอยถาม เพื่อให้นักเรียนคิดตามไปด้วย และบางเรื่อง ผมเองก็ไม่รู้..เช่น..กากน้ำตาล..ไม่ต้องใช้มากก็ได้..ถ้าเปลือกผลไม้มีรสส้ม และ พด.๒ ฉีกซองแล้วต้องใช้ให้หมดในคราวเดียว ..

วิทยากร..บอกวิธีการใช้ พด.๑...เพื่อใช้ในกิจกรรม ปุ๋ยหมักใบไม้..โดยที่ไม่ต้องรอการย่อยสลายถึง ๕ – ๖ เดือน...จะต้องใส่ ยูเรีย หมั่นพลิกกลับใบไม้ทุกๆ ๗ วันและควรใช้พลาสติกคลุมทุกครั้ง

กิจกรรมสุดท้าย..การใช้ สารเร่ง พด.๖ เพื่อทำน้ำยาฆ่าแมลง โดยใช้สารสะเดาและยาสูบ วิทยากรให้ผมกับนักเรียน..เข้าไปชมใกล้ๆ ใส่ส่วนผสมและคนให้เข้ากัน..ผมสอบถามกระบวนการขั้นตอนจนเข้าใจวิธีการเป็นอย่างดี...

วิทยากร..บอกว่า..ถึงเวลาจะน้อย..แต่ก็ประทับใจ..ที่ครูและนักเรียนให้ความสนใจ..อย่างที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน..ว่าแล้วก็เลยมอบ..อุปกรณ์การสาธิต พร้อม พด.๑ จำนวน ๑ ลัง ให้โรงเรียนได้เก็บไว้ใช้นานๆ......

งานเลิกแล้ว..ผมกับนักเรียนเดินกลับโรงเรียน..หิมะสีดำ..โปรยมาจากฟากฟ้า..เต็มสนามและถนนหนทาง...อยากบอกวิทยากรของจังหวัด..จังเลย..ว่าแถวนี้..เขาไม่ได้เผาตอซังกันหรอกครับ..เขาเผาอ้อยกันเป็นประจำทุกปี...เป็นเช่นนี้มาหลายทศวรรษแล้ว..

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 601784เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2016 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Yes. Sugarcane growers have not joined the campaign on climate change and better environment yet. Why don't we ask พัฒนาที่ดินจังหวัด to invite them?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท