เมื่อเด็กพิเศษอยากเข้าเรียน ^^



ทุกวันนี้ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในสังคม หรือที่เราได้ยินกันคุ้นหูว่า “เด็กพิเศษ”

“เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึง เด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษจากปกติ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และ การเข้าสังคม ซึ่งปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในวัยเด็ก คือ “การเรียน” เนื่องจากในช่วงวัยเด็ก สิ่งที่ควรส่งเสริมก็คือ “การเล่น” และ “การเรียน” ในฐานะนักกิจกรรมบำบัดซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมและบำบัดรักษาเด็กพิเศษ ก็ได้รวบรวมคำถามที่พบจากผู้ปกครองบ่อย ๆ เรื่องเกี่ยวกับการเรียนในเด็กพิเศษ ...

ที่มา

Q1 เด็กพิเศษจะสามารถเรียนแบบไหนได้บ้าง

คำตอบ มีด้วยกัน 3 แบบคือ การเรียนร่วม การศึกษาพิเศษ และการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือHome school

การเรียนร่วมหรือการเรียนร่วมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Inclusive education for children with special needs) เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่างๆ โดยจัดให้เด็กเหล่านี้เข้ามาเรียนในชั้นเรียนปกติ เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก อีกทั้งยังช่วยให้เด็กปกติมีการยอมรับ และปรับตัว เพื่อสามารถเรียนร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ เพิ่มเติม

การศึกษาพิเศษ (Special Education) หมายถึง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม เด็กปัญญาเลิศ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเด็กพิเศษเหล่านี้ จะไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดการศึกษาแบบเดียวกันกับเด็กปกติ รวมถึงด้านกระบวนการ สอน วิธีการสอน เนื้อหาวิชา (หลักสูตร) เครื่องมือและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนที่สนองตอบต่อความสามารถ และความต้องการของเด็กพิเศษเป็นรายบุคคล เพิ่มเติม

การจัดการศึกษาโดยครอบครัว(Home school) หมายถึง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบครัวจัดโดยสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบ ของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างมีการเทียบโอนผลการศึกษาได้ เพิ่มเติม

ที่มา

Q2 การเรียนแต่ละแบบต่างกันอย่างไร

การเรียนร่วม

ข้อดี : เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษใช้ชีวิตร่วมกับเด็กปกติโดยไม่แบ่งแยก เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ตามรูปแบบที่เหมาะสม เกิดการพัฒนาตนเอง มีสังคมกว้างขึ้น และได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ครู และผู้ปกครอง

ข้อเสีย : การเรียนร่วมอาจต้องมีความสามารถระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เด็กที่มีความต้องการพิเศษรุนแรง

การศึกษาพิเศษ

ข้อดี : เป็นโรงเรียนที่จัดเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่ค้องการความพิเศษด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเรียนเต็มที่ ทั้งวิธีการสอน หลักสูตร อุปกรณ์ที่ตอบสนองต่อความสามารถและความต้องการของเด็กพิเศษรายบุคคล

ข้อเสีย : การจัดการสอนไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องระยะยาว แม้ว่าจะช่วยให้เด็กมีทักษะวิชาการมากขึ้น แต่ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมน้อยลง

การจัดการศึกษาโดยครอบครัว

ข้อดี : มุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเด็กเป็นรายบุคคลแท้จริง ให้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจและ ความต้องการของเด็ก ผสมกับวิถีการดำเนินชีวิต

ข้อเสีย : การเรียนที่โรงเรียนมีสังคมหลากหลายกว่า มีตัวอย่างเปรียบเทียบให้เด็กรู้จริง มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และทรัพยากรด้านการเรียนรู้

Q3 ถ้าสนใจอยากจะเรียน ต้องทำยังไง

หากสนใจต้องการส่งเด็กพิเศษเข้าเรียนโรงเรียนร่วมกับเด็กปกติ มีแยกตามสังกัดต่างๆโดยในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่แบ่งเป็นเขตการศึกษาของแต่ละจังหวัด ซึ่งรวมมีทั้งหมด 3007 แห่ง และในสังกัดสำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 67แห่ง สำหรับโรงเรียนการศึกษาพิเศษสามารถติดต่อไปที่สังกัดสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ และในครอบครัวที่ตัดสินใจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับลูกจะต้องนำชื่อลูกไปจดทะเบียนกับโรงเรียนที่ยินดีรับและทำความตกลงร่วมกันในเรื่องการเรียนการสอน การจัดการเรียนรู้ การวัดประเมินผล รวมทั้งหลักฐานการเรียนที่จำเป็น

Q4 ถ้าถูกโรงเรียนปฏิเสธจะทำอย่างไร

พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการฯ ได้กำหนดให้คนพิการได้รับสิทธิ ทางการศึกษา ดังนี้

(1) ให้สิทธิคนพิการในการได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่แรกเกิดหรือพบ ความพิการจนตลอดชีวิต

(2) ให้สิทธิคนพิการในการ ได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและ ความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา (3) ให้สิทธิคนพิการในการ ได้รับบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบ การศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษ ของบุคคลนั้น และสิทธิได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัด หลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษา ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ จำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล เพิ่มเติม1 เพิ่มเติม2

สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ต้องการเข้าศึกษาในสถานศึกษา ทั้งการเรียนร่วม การศึกษาพิเศษ และการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home school) ผู้ปกครองสามารถเลือกได้ตามความสะดวกและเหมาะสม เพราะเด็กพิเศษทุกคนมีศักยภาพและความพิเศษในตัวเอง

จัดทำโดย นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4

ตริตาภรณ์ ชูนาวา 5523007

ธัญญารัตน์ บรรณวงศิลป์ 5523008

โปรดปราน เลาะวิธี 5523010

พิพัฒนา อนันติโย 5523012

รัตนากร สันตะวาลิ้ม 5523014

สุชานันท์ พันธุ์เพ็ง 5523017

หมายเลขบันทึก: 600362เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท