การจัดการความรู้ _ ความจำเป็น(needs) กับ ความต้องการ(demand)


เมื่อครั้งที่แล้ว ชวนคุยเรื่อง การจัดการความรู้ KM3.0 สรุปว่า ถ้าจะให้เกิดประโยชน์กับผู้คนในสังคมภายใต้สภาวะที่ข้อมูลมีมากมาย แต่ผู้คนอาจเข้าไม่ถึง หรือไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ในขณะเดียวกันก็มีผู้คน หรือหน่วยงาน “จัดการส่งข้อมูลและความรู้” ที่มีเป้าหมายเฉพาะของ องค์กร หรือกลุ่มคน เกิดความเชื่อ และพฤติกรรม บริโภคนิยม ซึ่งส่วนหนึ่งกระทบต่อสุขภาพ และอีกปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือการ จัดการข้อมูลและความรู้ที่สร้างความแตกแยก แทนที่จะส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ภายใต้ความแตกต่าง

เกิดคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการจัดการความรู้ เพื่อสร้าง การเรียนรู้ สู่สมดุลย์แห่งการบริโภค และสร้างทักษะ ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง

และมีคำถามตามมาว่า การทำเช่นนั้นจะเข้าสูตรทำตัวเป็นคุณพ่อ/คุณแม่ รู้ดี ไปหรือเปล่า

ทำให้ย้อนคิดถึง แนวคิดว่าด้วยความแตกต่างระหว่าง ความต้องการ กับ ความจำเป็น ที่เคยเรียนมาจากสาธารณสุขศาสตร์ ที่จะมาขอขยายความต่อไป

นักวิชาการด้านสาธารณสุขเชื่อว่า คนทั่วไปจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า ความต้องการทางสุขภาพ (health demand) รูปธรรมคือ การอยากหายจากความเจ็บป่วย

แต่ในความเป็นจริง มีความจำเป็นทางสุขภาพ (health needs) มากมาย ที่คนทั่วไปไม่มี ความต้องการ(no demand)

สรุปง่ายๆว่า คนทั่วไปมี อวิชชาทางสุขภาพ เพราะชินกับการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า มองไม่เห็นการจัดการเพื่อผลในระยะยาว แทนที่จะสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค จึงมักรอซ่อมสุขภาพเป็นส่วนใหญ่

มีการใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายว่า สิ่งที่เป็นความจำเป็นทางสุขภาพ ที่ประชาชนไม่มีความต้องการ เป็นเรื่องที่ รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงตลาด เช่นให้บริการฟรี หรือแม้กระทั่งออกกฎหมายบังคับ ให้ผู้คนปฎิบัติ ไม่เช่นนั้นคนจะมองไม่เห็นประโยชน์ หรือความจำเป็น

การฉีดวัคซีน การคุมกำเนิด เป็นตัวอย่างที่สมัยหนึ่ง รัฐต้องลงทุนจัดบริการไปให้ บางประเทศถึงกับออกกฎหมายบังคับ

การคาดเข็มขัดนิรภัย การตรวจจับความเร็ว การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ

จนมีการกล่าวหาว่า คนทำงานด้านสาธารณสุข เป็นคุณพ่อรู้ดี และเป็นแนวคิดที่แตกต่างระหว่างผู้ที่นิยมแนวคิดเสรีนิยม กับแนวคิดสาธารณสุข

เพราะคนที่มีแนวคิดเสรีนิยม เชื่อว่า รัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด ควรปล่อยให้ทุกคนตัดสินใจเองว่า จะทำหรือไม่ทำอะไร

แต่แนวคิดสาธารณสุขบอกว่า ถ้าการตัดสินใจนั้น มีผลต่อส่วนตัวคงไม่เป็นไร แต่ถ้ากระทบคนอื่นด้วย (ไม่ฉีดวัคซีนแยะๆ จะทำให้โรคระบาดง่าย) และต่อมาก็ไปถึงแนวคิดว่า ถ้ารัฐไม่แทรกแซงตลาด จะเกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ แม้จะเป็นประโยชน์ในระดับปัจเจก แต่ก็เป็นเรื่องของความเป็นธรรมเป็นต้น

วกไปยกตัวอย่างเรื่องสาธารณสุข ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การทำงานเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนเห็นและจัดการกับ “ความจำเป็นทางสุขภาพ” แทนที่จะปล่อยให้ ประชาชนรู้จักเพียง “ความต้องการทางสุขภาพ” เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป้าหมายคือสุขภาพดี

สิ่งสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวัง คือ “การคิดแทนคนอื่น” ไปทุกเรื่อง

ความสำคัญอยู่ที่การเลือกว่า “จะทำอะไรบ้าง” เพื่อให้ประชาชนรู้จัก และสามารถจัดการ กับ ความจำเป็น (ที่เห็นเองได้ยาก) แทนที่จะใช้เวลาและทรัพยากรที่มีอยู่ไปกับการจัดการ ความต้องการ (ซึ่งเห็นได้ง่ายกว่า) แต่เพียงอย่างเดียว

นักเศรษฐศาสตร์(และน่าจะเห็นตรงกับนักสาธารณสุข) บอกว่า “น้อยสุด” คือการให้ความรู้ที่ถูกต้อง แล้วให้ประชาชนไปจัดการกับพฤติกรรมตัวเอง ไม่ควรถึงขั้นไป บังคับให้เกิดพฤติกรรม เพียงเพราะนักวิชาการเห็นว่า เหมาะสม

การจัดการความรู้เพื่อให้ไปถึงกลุ่มต่างๆ จะได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดการบริโภคที่มีสมดุลย์ กับ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นภายใต้ความแตกต่าง จึงน่าจะเป็นเป้าหมายการทำงานในยุค KM3.0 ที่ต้องระดมผู้คนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้เกิดขึ้น

การจัดการความรู้ จนเกิดการเรียนรู้ ต่างกับการจัดการความรู้ เพื่อส่งต่อความรู้เป็นก้อนๆ เป็นเรื่องๆ

อย่างแรกทำได้ยากกว่าอย่างหลัง แต่น่าจะเกิดผลยั่งยืนกว่า

อย่างหลังคือการให้สุขศึกษา เพราะเชื่อว่า ประชาชน “ขาดความรู้”

แต่ทุกคนคงเห็นตรงกันว่า การให้ความรู้ หรือการพูดซ้ำๆในทำนองสั่งสอน ทำกันมามาก แต่เกิดผลน้อย

ลองคิดถึงเรื่องการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง น่าจะเห็นชัดว่า ไม่อาจทำได้ด้วยการให้ความรู้ ข้อเท็จจริง

การจัดการความรู้ โดยมุ่งผลให้เกิดการเรียนรู้ จึงน่าจะได้ประโยชน์หากทำความเข้าใจกับ ธรรมชาติ 4 อย่างต่อไปนี้

ธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า “ความต้องการ” กับ “ความจำเป็น”

ธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า ความรู้กับการเรียนรู้

ธรรมชาติของ กระบวนการเรียนรู้ที่สุดท้ายต้องเกิดขึ้นภายในตัวตนของแต่ละคน

ธรรมชาติของการรับ การเก็บข้อมูลความรู้ในสมอง และการทำงานเชื่อมโยงของสมองส่วนต่างๆ ที่นำไปสู่ดึงข้อมูลความรู้มาใช้ ประกอบการตัดสินใจ

แล้วจะได้ข้อสรุปที่ว่า การจัดการความรู้(ที่อยู่ภายนอก) ต้องสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วิธีคิด และทักษะ ในการตั้งคำถาม และแสวงหาความรู้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่รู้ ที่อาจอยู่ลึกถึงขั้นอวิชชา ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่ “ขาดความรู้”

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจมากขึ้นถึงความแตกต่างของ สองอย่างนี้ ก็อาจอ้างอิงธรรมชาติการทำงานของสมอง

สมองมีอย่างน้อย 3 ส่วนที่ทำงานเชื่อมโยงกัน

ส่วนหนึ่งรับและเก็บข้อมูล (สมองส่วนนี้มีกระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของสมอง)

ส่วนหนึ่งดูแลการตอบโต้อัตโนมัติ (อันเป็นผลมาจากการจัดการความรู้ ที่มนุษย์สะสมจากการประสบมาซ้ำๆ) เป็นสมองส่วนล่างและส่วนกลาง ที่ภาษาวิชาการเรียกว่าสมองของสัตว์เลื้อยคลาน (reptilian brain)

ส่วนที่สามทำหน้าที่พิจารณาไตร่ตรอง เพื่อให้ข้อมูล/ความรู้ที่เก็บสะสมไว้ ถูกนำไปใช้ในลักษณะที่ไม่ใช่โดยอัตโนมัติ เป็นบทบาทของสมองส่วนหน้า (fore brain) ที่มีพัฒนาการสูงสุดในมนุษย์ แต่พบว่า โดยเฉลี่ยยังมีการใช้งานน้อยมาก

การให้ความรู้เป็นการทำงานกัยสมองส่วนที่หนึ่งเพื่อเพิ่มเนื้อหาสาระ

การสร้างการเรียนรู้ เป็นการทำงานกับสมองทั้งสามส่วน โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า (ซึ่งถ้าทำงานได้ดี จะไปเสริมส่วนเก็บข้อมูล และควบคุมส่วนอัตโนมัติ)

KM 3.0 จึงเป็นการชวนทุกฝ่ายในสังคมมาสร้างกลไกและเครื่องมือ ที่จะสร้างสัมมาทิฎฐิ ไม่ใช่แค่เพิ่มความรู้

เป็นการทำงานที่มีเป้า เพื่อพัฒนาสมองส่วนหน้า ไม่ใช่แค่ป้อนเนื้อหาให้กับการตัดสินใจ เป็นเรื่องๆ แยกๆกันไป

หมายเลขบันทึก: 600230เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2016 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2016 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"...KM 3.0 จึงเป็นการชวนทุกฝ่ายในสังคมมาสร้างกลไกและเครื่องมือ ที่จะสร้างสัมมาทิฎฐิ ไม่ใช่แค่เพิ่มความรู้

เป็นการทำงานที่มีเป้า เพื่อพัฒนาสมองส่วนหน้า ไม่ใช่แค่ป้อนเนื้อหาให้กับการตัดสินใจ เป็นเรื่องๆ แยกๆกันไป...." is beautifully stated!

And at the same time we also like to see both สัมมาทิฎฐิ and development of สมองส่วนหน้า in the target population and among KM actors/organizations. ;-)

การจัดการความรู้ต้องการความช่วยเหลือจากทุกๆฝ่ายจริงๆครับ

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท