PMAC 2016 : 6. การจัดลำดับความสำคัญ


ดังนั้น หากรัฐจัดลำดับความสำคัญในการบริหารประเทศ และในการใช้ทรัพยากรของรัฐ ในการสร้างระบบสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย (อย่างในญี่ปุ่น และในสแกนดิเนเวีย) สุขภาพของพลเมืองก็จะดีขึ้นเอง แนวทางนี้น่าจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด

PMAC 2016 : 6. การจัดลำดับความสำคัญ

ผมเขียนบันทึกนี้ก่อนเริ่มประชุม PMAC 2016 ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙ อันเป็นผลจากการอ่านเอกสารการประชุมล่วงหน้า ทำให้ผมเกิดความคิดว่า สาระของการประชุมนี้ กว้างกว่าชื่อของการประชุม Priority Setting for Universal Health Coverage เพราะมองภาพรวมแล้ว มันไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรเพื่อผลลัพธ์ด้านอื่นๆ ของสังคมด้วย หากทุ่มเงินและทรัพยากร มาใช้เพื่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพมาก ก็จะมีทรัพยากรเพื่อผลลัพธ์ด้านอื่นๆ เช่นด้านการทำมาหากินและเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านดูแลสิ่งแวดล้อม ด้านคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ น้อยลงไป

เราต้องการความพอดี และต้องการการดำเนินการอย่างบูรณาการ เพราะประเด็นข้างบนที่จัดว่าเป็น non-health นั้น จริงๆ แล้วก่อผลกระทบต่อ “สุขภาวะ” ของคนทั้งสิ้น

การจัดลำดับความสำคัญ (Priority Setting) ในการใช้ทรัพยากร จึงมีทั้งลำดับความสำคัญในการ ใช้ทรัพยากรของ Health Sector และการจัดลำดับความสำคัญในการใช้ทรัพยากรทั้งหมดของประเทศ

การใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพ หากทำอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากให้ผลลัพธ์สูงในด้านสุขภาพแล้ว ยังอาจให้ผลลัพธ์ต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ของสังคมด้วย เข้าทำนอง ก่อสัมมาทิฐิทางสังคม แต่ในทางตรงกันข้าม หากใช้อย่างไม่เหมาะสม นอกจากสูญเสียทรัพยากรอย่างไม่ก่อประโยชน์แล้ว ยังอาจก่อผลเสียด้วย ดังกรณีกฎหมายของอินเดียใน บันทึกนี้ คือก่อมิจฉาทิฐิทางสังคม ว่ายาราคาแพงย่อมมีผลดีเสมอ รวมทั้งผลร้ายที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือนักการเมือง ว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง

เรื่องนี้มีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด ตรงตามที่ Professor Sir Michael Marmot ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๕๘ (คือปีนี้) ชี้ให้เห็นว่า สุขภาพของผู้คนดีขึ้น มาโดยลำดับในประเทศต่างๆ (รวมทั้งประเทศไทย) มีสาเหตุจากปัจจัยด้านอื่น มากกว่าปัจจัยด้านสาธารณสุข และเวลานี้ตัวต้นเหตุใหญ่ที่สุด ที่เป็นต้นตอ ของปัญหาสุขภาพ คือความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ผลการศึกษาในโครงการ Whitehall Study บอกชัดเจน ว่าความยากจน การศึกษาต่ำ และตำแหน่งหน้าที่การงานต่ำ คือสาเหตุที่เป็นต้นตอ (root cause) ของปัญหาสุขภาพ ดังนั้น หากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม (social problems) ปัญหาด้านสุขภาพ (health problems) ส่วนสำคัญก็จะแก้ไขตัวเอง ไปโดยปริยาย เรื่องสุขภาพ จึงเป็นผลของปัญหาทางสังคม หรือปัจจัยทางสังคม ที่เรียกว่า Social Determinants of Health (ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ)

ดังนั้น หากรัฐจัดลำดับความสำคัญในการบริหารประเทศ และในการใช้ทรัพยากรของรัฐ ในการสร้างระบบสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย (อย่างในญี่ปุ่น และในสแกนดิเนเวีย) สุขภาพของพลเมืองก็จะดีขึ้นเอง แนวทางนี้น่าจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด

สาระในบันทึกนี้น่าจะชื่อ Priority Setting for Healthy Population โดย priority คือการลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ม.ค. ๒๕๕๙

ห้อง ๔๕๑๔ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอ็ท เซนทรัลเวิร์ล

หมายเลขบันทึก: 600132เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2016 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2016 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท