การจัดการความรู้ในหน่วยราชการ


การจัดการความรู้ต้องทำอยู่ภายใต้สภาพที่ผู้เข้ามาร่วมมองเห็นว่าผลประโยชน์ของตน กับผลประโยชน์ของหน่วยงาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การจัดการความรู้ในหน่วยราชการ

วิจารณ์ พานิช

๔ มิ.ย. ๔๘

           ควันหลงของการประชุมปฏิบัติการ คุณอำนวยผู้มีประสบการณ์ ที่บ้านผู้หว่าน     คุณทรงพล เจตนาวณิชย์   เล่าประสบการณ์การเข้าไปสัมผัสกับข้าราชการ ว่า ข้าราชการส่วนหนึ่งมีงานหลักของตน เช่นมีสวน มีบ่อปลา มีธุรกิจส่วนตัว    งานราชการเป็นเพียงส่วนเสริมไม่ใช่เป้าหมายหลักในชีวิต   ไม่ใช่ผลประโยชน์หลักของตน    คุณทรงพลให้ความเห็นว่า    ในการเข้าไปส่งเสริมการจัดการความรู้ คุณอำนวย จะต้องเข้าใจและตระหนักความจริงข้อนี้    และจะต้องหาทางทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ขององค์กร เป็นสิ่งเดียวกัน   ต้องทำความรู้จักข้าราชการแต่ละคน   วิเคราะห์ว่าข้าราชการแต่ละคนที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการความรู้มีเป้าหมายส่วนตัวอย่างไร   มีกระบวนทัศน์ที่เกี่ยวข้องอย่างไร     คุณอำนวย จะต้องโน้มน้าวให้เขาเห็นว่าเขาจะได้รับประโยชน์ส่วนตัวจากการทำกิจกรรม KM อย่างไร    การจัดการความรู้ต้องทำอยู่ภายใต้สภาพที่ผู้เข้ามาร่วมมองเห็นว่าผลประโยชน์ของตน กับผลประโยชน์ของหน่วยงาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

           คุณทรงพลมองว่า ต้องมี กระบวนการก่อนหน้า KM    ที่จะช่วยให้เกิด KM ของจริง     และเมื่อเกิดแล้วก็สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้      โดย คุณอำนวย ต้องทำหน้าที่ ร้อยประโยชน์ตนเอง (ของ คุณกิจ”) กับประโยชน์องค์กร เข้าด้วยกันให้ได้

           คุณประกิจ โพธิอาศน์ แห่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยา  บอกว่าปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการดำเนินการ KM ในหน่วยราชการ คือ

·        การกระตุ้นจากภายนอก    เช่น พรพ. (สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล) เข้าไปกระตุ้น จ. อยุธยา

·        การมีข้าราชการบางคน ที่มีใจรัก และต้องการปรับปรุงงานอยู่แล้ว     คนเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง  และการจัดการความรู้    เป็น ขาประจำ   และในบางเวที บางวง ก็จะมี ขาจร บ้าง

           คุณเกษราภรณ์ สุขทรัพย์ศรี  แห่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยาเช่นเดียวกัน บอกว่า  คนที่เข้ามาร่วมวง KM เข้ามาด้วยหลายเป้าหมาย    เมื่อเขาเห็นประโยชน์ เขาก็จะร่วมต่อ

           ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด  บอกว่าในหน่วยราชการ ผู้บริหารจะเรียกร้องผลงานที่เป็นรูปธรรม (result) และได้ผลเร็ว    แต่ KM เน้นที่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing)     ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริหาร    ผมมีความเห็นว่า นี่เป็นประเด็นที่ คุณอำนวย และ คุณกิจต้องร่วมกัน ตั้งเกณฑ์ผลงาน และส่งมอบผลงาน ในส่วนย่อยของตน ว่าเมื่อเวลาผ่านไป คุณกิจ ทั้งหลายได้ร่วมกันพัฒนางานอย่างไรบ้าง เกิดผลงานที่มีความสำเร็จสูงกว่าเดิมอย่างไร  โดยมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมชัดเจน    และเมื่อรวมผลงานของหลายๆ หน่วยย่อยเกิดการพัฒนางานขององค์กรในภาพรวมอย่างไร    นั่นหมายความว่า หัวปลา ของกิจกรรมจัดการความรู้ย่อยๆ ต้องไปทางเดียวกับ หัวปลา ใหญ่ขององค์กร

           ผมมีความเห็นว่า แม้การจัดการความรู้ที่ดีในหน่วยราชการไทยเกิดยากด้วยเหตุผลเชิงวัฒนธรรม    แต่เราก็มีตัวอย่างดีๆ อยู่แล้ว    เกิดขึ้นโดยที่หน่วยงานนั้นๆ ยังไม่รู้จัก KM ด้วยซ้ำ    การขับเคลื่อนขบวนการจัดการความรู้ในหน่วยราชการโดยการขยายผลจากหน่วยงานและกิจกรรมดีๆ เหล่านั้นออกไปยังหน่วยงานอื่น   น่าจะเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยได้มาก

           สิ่งที่จะต้องระวังก็คือไม่หลงอยู่ในภพภูมิ ของปลอม     คือการทำ KM เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำ KM     ให้ได้คะแนนจาก กพร. / ทริส โดยไม่แคร์เรื่องการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และผลงาน อย่างแท้จริง

 

วิจารณ์ พานิช

๔ มิ.ย. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 60เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2005 05:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท